อิหร่าน หนึ่งดินแดนลึกลับในสายตาของชาวตะวันออก อารยธรรมแห่งจักรวรรดิเปอร์เซียที่รุ่งโรจน์ในอดีตก่อนพุทธกาล สู่ดินแดนที่ซ้อนเร้นหลังม่านการปฏิวัติอิสลามเมื่อปลายทศวรรษที่ 70 ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่กับสหรัฐอเมริกาจนนำมาสู่การตัดสัมพันธ์ทางการฑูตมานานจนถึงปัจจุบัน
(อดีตสถานฑูตสหรัฐที่กลายเป็นจุดรวมศิลปะสตรีทอาร์ตต่อต้านอเมริกาหลังความขัดแย้งเมื่อปี ค.ศ.1979)
ช่วงศตวรรษที่ผ่านมาคนไทยไม่มากไม่น้อยเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศอิหร่านซึ่งเกือบร้อยทั้งร้อยจะเบนเข็มไปยังเมืองยอดนิยม อย่าง อิสฟาฮาน นครเก่าแก่ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นจุดกึ่งกลางของโลก และ ซีราช มหานครของชาวเปอร์เซียในยุคทองซึ่งมีแหล่งโบราณคดีมากมาย อาทิเช่น Persepolis เมืองหลวงเก่าสมัยพระเจ้าไซรัสมหาราชเมื่อราว 2600 ปีก่อน ครั้งนี้เราจะขอข้ามสองเมืองยอดฮิตไปยังสถานที่อื่นๆที่บางคนอาจเคยผ่านตา บางคนอาจเคยไปเยือน แต่หลายๆคนไม่เคยแม้แต่ได้ยินมาก่อน
Kashan (คาชาน)
(มัสยิด Agha Bozorg เก่าแก่กว่า 200ปี ตั้งอยู่กลางเมืองคาชาน)
เมืองเล็กๆที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองหลวงเตหะราน และ นครอิสฟาฮาน เมืองแห่งน้ำกุหลาบและแหล่งผลิตพรมเปอร์เซียชื่อก้องโลก
เราออกเดินทางจากเตหะรานใช้เวลาบนรถบัสราว 3-4 ชั่วโมงกับระยะทางเพียง 250 กิโลเมตรผ่านชุมชนน้อยใหญ่สลับกับพื้นที่แห้งแล้งที่รกร้างว่างเปล่าไกลสุดสายตา
คาชานเป็นเมืองที่มี หนึ่งในมรดกโลกนั่นคือ Fin Garden และยังมีหมู่บ้านเล็กๆที่มีประวัติยาวนานกว่า 5,000ปี นามว่า อาบิยาเน่ห์ ตั้งอยู่ห่างออกไปไม่กี่สิบกิโลเมตร
(ชาวอาบิยาเน่ห์มีเครื่องแต่งกายที่แตกต่างออกไปโดยเฉพาะผ้าคลุมชาร์ดอร์ของที่นี่มีลายเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครในอิหร่าน - ภาพจาก https://suitcasemag.com)
ในเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นใจกลางฤดูร้อน นักท่องเที่ยวบางตา มีเพียงพวกเราสองคน กับกับนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นไม่กี่กลุ่มที่มักมากันเป็นคู่ ทั้งคู่รักและบัดดี้แบกเป้เดินทาง ส่วนกรุ๊ปทัวร์นั้นค่อนข้างหาได้ยากในฤดูกาลนี้ ขนส่งมวลชนภายในเมืองมีรถบัส(ต้องซื้อบัสการ์ด ซึ่งเราซื้อไม่เป็น) และ แท๊กซี่ (ซึ่งเราขอแนะนำให้ใช้เฉพาะยามจำเป็นเพราะราคาไม่ถูกเลย) แต่ด้วยความที่เป็นเมืองเล็กๆ หากคุณมีเวลา การเดินก็เพียงพอที่จะพาคุณไปทุกที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเมืองนี้แล้ว
(คนขับแท็กซี่พาเราลัดเลาะเข้ามาในตรอกแคบๆที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวรถเพียงเล็กน้อย)
Yazd (ยาซด์)
(ภาพถ่ายเมืองยาซด์จากมุมสูง แสดงให้เห็นภูเขาที่ล้อมเมืองที่ถูกสร้างจากดินเผา)
เราใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อรถบัสจาก คาชานมายังยาซด์ โดยต้องเดินทางไปยังอิสฟาฮานก่อนเนื่องจากรถบัสที่วิ่งตรงยกเลิกไปเมื่อปี 2006 ยาซด์ เป็นเมืองทะเลทรายที่รักษาความเป็นอนุรักษ์นิยมไว้ได้อย่างดีเยี่ยม จนได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง (เขียนเมื่อ ส.ค. 2017)
(ทุกๆเช้าชาวยาซด์จะมารวมตัวกันละหมาดที่จตุรัส Amir Chakhmaq ซึ่งอยู่ใจกลางเมือง)
เสน่ห์ของยาซด์ อยู่ที่เมืองทั้งเมืองถูกสร้างจากดินเหนียว ตรอกซอกซอยมากมายที่ทะลุถึงกัน ทำให้ความรู้สึกตอนเดินอยู่ในตรอกของยาซด์ เหมือนเราเป็นมดที่กำลังเดินอยู่ในวงกตขนาดใหญ่ ซึ่งตื่นตาตื่นใจมากทีเดียวสำหรับพวกเรา
(สภาพตรอกซอกซอยในยาซด์ที่ชวนหลงจนต้องพึ่่ง GPS ในการเดินหาทางออก)สถานที่สำคัญในยาซด์ เด่นๆก็คือ มัสยิดแห่งจาเมห์ วิหารแห่งไฟ และ หอคอยแห่งความเงียบงัน ซึ่งสองอย่างหลังเป็นศาสนสถานสำคัญของศาสนิกโซโลอัสเตอร์ ศาสนาเก่าแก่ดั้งเดิมของชาวเปอร์เซียซึ่งยังคงหลงเหลือในอิหร่านหลังถูกพิชิตโดยจักวรรดิกาหลิบของชาวมุสลิม
(ภายในกำแพงมัสยิดแห่งจาเมห์ มัสยิดเก่าแก่สร้างเสร็จในคริสต์ศตวรรษที่ 14 และเป็นมัสยิดที่มีประตูใหญ่ทางเข้าที่สูงที่สุดในอิหร่าน)
(หอคอยแห่งความเงียบงัน ศาสนสถานสำหรับประกอบพิธีศพของชาวโซโรเอสเตอร์)
Kerman เคอร์มาน
(โรงน้ำชาแบบเปอร์เซียดั้งเดิมภายในเมือง Kerman)
เคอร์มานเป็นเมืองทะเลทรายอีกแห่งซึ่งอยู่ห่างจากยาซด์มาทางตะวันออกเกือบ 400 กิโลเมตร ใช้เวลาบนรถบัสราว 5 ชั่วโมง
และด้วยความที่เป็นเมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้พรมแดนตะวันออก ที่นี่จึงมีผู้คนที่ดูหลากหลายกว่าในเมืองหลวงอย่างเตหะรานและปริมณฑลใกล้ๆ คนท้องถิ่นดั้งเดิม ผู้อพยพจากอัฟกานิสถาน คนพื้นเมืองจากแคว้นซิสถานและบาลูจิสถาน หรือแม้แต่ผู้ที่ข้ามแดนหนีภัยจากความไม่สงบในฝั่งตะวันตกของปากีสถาน
(Qanat ทางน้ำใต้ดินระบบชลประทานเก่าแก่จากภูมิปัญญาชาวเปอร์เซียที่ได้รับการบรรจุเป็นมรดกโลก)
เคอร์มานเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาวอิหร่านตะวันออก ที่นี่เราสามารถพบหอศิลป์ และ พิพิธภัณฑ์อยู่ทุกมุมถนน และที่สำคัญที่นี่มี Grand Bazaar ที่หลายๆคนยกให้เป็น Bazaar ที่ดีที่สุดในอิหร่านอีกด้วย
(ร้านขายผลไม้อบแห้งสินค้าพื้นเมืองที่เป็นที่นิยมพบได้ทุกมุมของบาซาร์)
Dasht-e Lut (ทะเลทรายลูท)
(คาลูท (Kalut) แคนยอนที่เกิดจากการกร่อนโดยเกลือและทรายมานับล้านปี ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกปี 2016)
ทะเลทรายลูทคือจุดหมายหลักที่แท้จริงของพวกเราในการเดินทางครั้งนี้ เราเดินทางออกจากตัวเมืองเคอร์มานขึ้นเหนือ ราว 200 กิโลเมตร ผ่านทางที่ทอดยาวเลียบภูเขาหินที่ตั้งตระหง่านเสมือนกับแฝงนัยยะการเตือนว่านี่คือสุดเขตแดนที่มนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตใดๆพึงจะดำรงชีวิตอยู่
(ภูเขาสูงชันที่เป็นปราการธรรมชาติที่ป้องกันอันตรายจากทะเลทรายไม่ให้ย่างกรายสู่เมือง)
ทะเลทรายลูทถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลโดยภาพถ่ายจากดาวเทียมขององค์การนาซ่าว่าเป็นสถานที่บนพื้นผิวที่ร้อนที่สุดในโลก ในฤดูร้อน(ซึ่งคือฤดูที่เราไป) อุณหภูมิ ณ จุดสูงสุดสามารถพุ่งสูงขึ้นไปถึง 77 องศาเซลเซียส ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ แม้กระทั่งจุลชีพ ดำรงชีวิตที่นี่ในฤดูร้อน
(เนินทรายสุดลูกหูลูกตาที่ตอกย้ำชื่อของทะเลทรายนี้ Lut ในภาษาฟาร์ซีมีความหมายว่า "ว่างเปล่า")
ดังนั้นการ Trekking ในฤดูร้อนอาจจะฟังดูไม่เข้าท่าเหมือนที่ไกด์นำทางแซวพวกเราว่าเป็นเจ๊กสติเสีย เพราะเราต้องพบกับทั้งความร้อน การขาดน้ำ แสงแดดที่แรงกล้า รวมถึงพายุทะเลทราย ที่คาดเดาได้ยาก แต่ถึงอย่างนั้นก็มีคนจำนวนหนึ่งที่พยายามจะพิชิตมันให้ได้ในทุกๆปี
(แคมป์ขอองพวกเราถูกจู่โจมโดยพายุทะเลทรายในกลางดึกจึงต้องระหกระเหินหนีกันมาพักแรมในช่องเขา)
(การได้ดูพระอาทิตย์ตกจากสถานที่ที่ร้อนที่สุดในโลกเป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่การจ่ายเงินทองเพียงอย่างเดียวอาจซื้อไม่ได้)
Zahedan(ซาฮีดัน)
(สีสันจากร้านเครื่องแต่งกายในตลาดพื้นเมืองบาลูจทำให้นครแห่งนี้ไม่เคยขาดชีวิตชีวา)
เมืองหลวงแห่งแคว้นซิสถานและบาลูจิสถาน ซึ่งตั้งอยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ นครแห่งควันปืน ฝิ่น และเงินตรา หน้าด่านซึ่งมีพรมแดนติดกับสองประเทศ นั่นคือ ปากีสถาน และ อัฟกานิสถาน สถานการณ์ที่ซาฮีดันมีความอ่อนไหวค่อนข้างมากจากหลายปัจจัย ยาเสพติด ผู้อพยพ หัวขโมย และการก่อการร้าย โดยที่ผ่านมา มีข่าวลือที่รัฐบาลเตหะรานปฏิเสธต่อสาธารณะในกรณีที่มีการอ้างถึงที่ตั้งลับเพื่อฝึกและปฏิบัติการของกลุ่มกบฏตาลีบัน รวมถึงความเป็นศูนย์กลางและความเชื่อมโยงกับผู้นำระดับสูงในกลุ่มก่อการร้าย อัลกออิดะฮ์ ซึ่งเกิดขึ้นในมัสยิดแห่งเม็กกีที่ตั้งอยู่กลางเมืองนี้ จึงทำให้ประเทศอย่างสหราชอาณาจักรและออสเตรเลียประกาศเตือนพลเรือนของประเทศตนไม่ให้เดินทางเข้ามาในแคว้นนี้ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ความเสี่ยงสูงสุดหรือพื้นที่สีแดงบน Website คู่มือการเดินทางในอิหร่านของกระทรวงการต่างประเทศ
(รูปภาพที่แอบถ่ายจากภายในจุดตรวจที่เราโดนสอบสวน ตรงนี้จริงๆห้ามถ่ายภาพอย่างเด็ดขาด)
เรามาถึงซาฮีดันราว ตี 5 และถูกเรียกตัวลงจากรถบัสเพื่อสอบสวนที่ด่านตรวจก่อนเข้าเมืองถึงจุดประสงค์อย่างละเอียดที่เมืองนี้ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา ซึ่งเรามารู้ทีหลังว่า วันก่อนหน้านี้หนึ่งวันเกิดการระเบิดก่อการร้ายขึ้นที่เมืองเก็ตต้าเขตอำนาจของกลุ่มกบฎในปากีสถานซึ่งไม่ห่างจากพรมแดนมากนักทำให้ความเข้มงวดยิ่งทวีคูณสูงขึ้นไปอีก ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว(ที่ค่อนข้างหายากในเมืองนี้)อย่างพวกเรา เนื่องด้วยซาฮีดันไม่ใคร่จะเป็นเมืองท่องเที่ยวมากนัก นักเดินทางส่วนใหญ่ที่พบใช้ที่นี่เป็นจุดสำหรับการข้ามพรมแดน (Overland) ระหว่าง อิหร่านและปากีสถานซะมากกว่า
อาจเพราะเหตุนี้สถานที่ที่น่าสนใจในซาฮีดันจึงมีไม่มากนัก หนึ่งคือมัสยิดแห่งเม็กกี ซึ่งกำลังบูรณะครั้งใหญ่ ตลาดพื้นเมืองชาวบาลูจ และ ตลาดชายแดนปากีสถาน และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ท้าทายอย่างภูเขาไฟ Taftan
(มัสยิดเม็กกีในเวลากลางคืน - ภาพจาก https://www.baluchistanfoundation.org)
(ภูเขาไฟ Taftan ที่ยังไม่ดับสนิทเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในแคว้นซิสถานและบาลูจิสถาน - ภาพจาก https://www.mountain-forecast.com)
บทสรุป
อิหร่านเป็นประเทศที่ค่อนข้างปลอดภัยผู้คนเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว ค่าครองชีพใกล้เคียงกับบ้านเรา มีธรรมชาติที่สวยงามและวัฒนธรรมที่ยาวนานต่างจากภาพลักษณ์ที่เราเห็นในข่าวจากสื่อตะวันตกหรือภาพยนตร์ฮอลลิวูดอย่าง Argo และ อนิเมชั่นเชิงเสียดสีอย่าง Persepolis (ผู้เขียนไม่ได้ตัดสินว่าอย่างไหนจริงเท็จหรือดีกว่า เพียงแต่เห็นถึงความแตกต่างเมื่อมาสัมผัสด้วยตัวเอง)
ก็เหมือนๆกับการออกเดินทางทุกครั้งที่ทำให้เราพบว่าสิ่งที่เห็นในโทรทัศน์ สิ่งที่อ่านเจอในหนังสือ แตกต่างออกไปเมื่อเราจ้องมองสิ่งเหล่านั้นผ่านดวงตาทั้งคู่ของเรา บางครั้งอาจสวยงามจนเราไม่อยากแม้กระพริบตา บางครั้งอาจทำลายจินตภาพดีๆที่มีมาเนิ่นนาน แต่สิ่งนึงที่แน่ใจได้ว่าเราจะพบ นั่นก็คือ
”ความจริงในแบบที่มันควรจะเป็น”
Be The Nomad
วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2560 เวลา 15.25 น.