จริงๆ แล้วในไทยเรามีสถานที่ท่องเที่ยวแนวย้อนยุคอยู่มากมาย กระจายตัวอยู่หลายจังหวัด บางแห่งทำเป็นรูปแบบตลาดย้อนยุค หรือบางครั้งอาจเป็นการจำลองบรรยากาศให้พอรู้สึกถึงกลิ่นไอของอดีตตามงานเทศกาลประจำปีต่างๆ แต่สำหรับที่นี่ "เมืองมัลลิกา ร.ศ.124" ทำให้เราเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปสู่ยุคนั้นได้จริงๆ

จากที่เราได้อ่านเว็บไซต์ของเมืองมัลลิกา มีข้อมูลระบุไว้ว่า...

"เมืองมัลลิกา เป็นเมืองย้อนยุคของวิถีชีวิตชาวสยามบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ วิถีชีวิตของชาวสยามในยุค ร.ศ.๑๒๔ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายหลายด้าน ที่เด่นชัดมากคือการประกาศเลิกทาส เมื่อทาสได้รับความเป็นไทพวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่อาศัยและทำมาหากินด้วยตนเอง ไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติหรือการดูแลของบรรดาเจ้าขุนมูลนายอีกต่อไป พวกเขาต้องดำรงชีวิตให้อยู่รอด พึ่งตนเอง และอยู่ร่วมกับคนสยามทุกหมู่เหล่า การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเหล่านี้นับเป็นรากเหง้าสำคัญของคนไทยในยุคปัจจุบัน"

ทั้งหมดนี้สะท้อนออกมาให้เราเห็นได้ตั้งแต่รูปแบบการก่อสร้างและการตกแต่งของโซนต่างๆ เครื่องแต่งกายของเจ้าหน้าที่ วิธีการจับจ่ายใช้สอยยามเมื่อเราก้าวเข้าสู่ด้านใน ไปจนถึงคำพูดแบบย้อนยุคของพนักงาน "ทุกคน" ตั้งแต่ลานจอดรถเลยทีเดียว เรียกได้ว่าทางเมืองมัลลิกาใส่ใจในรายละเอียดมากๆ และยิ่งทึ่งหนักขึ้นไปอีกเมื่อได้รู้ว่า ก่อนการก่อสร้างเมืองมัลลิกาแห่งนี้ ทางอาจารย์ ชาตรี ปกิตนนทกานต์ ผู้ออกแบบทางสถาปัตยกรรม ได้มีการผูกเรื่องเพื่อการออกแบบที่สมจริงเอาไว้ด้วย โดยมีตัวละครหลักคือ "แม่มะลิ" หญิงสาวลูกชาวนาที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ผมนึกสนุก จึงขออนุญาติหยิบยกเอาโครงเรื่องที่อาจารย์ ชาตรี ปกิตนนทกานต์ ได้วางเอาไว้นี้ มาเขียนเป็นรีวิวเพื่อถ่ายทอดความอลังการของเมืองมัลลิกา แล้วมาลองดูกันว่าวิถีชีวิตชาวสยามบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ น่ามาสัมผัสเพียงใด


ย้อนไปในสมัย ร.ศ.124 ความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ได้เกิดขึ้นกับชีวิตของชาวสยาม นั่นคือการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงประกาศเลิกทาส เมื่อทาสได้รับความเป็นไท พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่อาศัยและทำมาหากินด้วยตนเอง ไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติหรือการดูแลของบรรดาเจ้าขุนมูลนายอีกต่อไป พวกเขาต้องดำรงชีวิตให้อยู่รอดด้วยการพึ่งพาตนเอง และอยู่ร่วมกับคนสยามทุกหมู่เหล่า ทำให้เกิดการประกอบอาชีพต่างๆ หลากหลาย รวมถึงเมืองมัลลิกา บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แห่งนี้ด้วยเช่นกัน


การสัญจรไปมาของผู้คนในสมัยนั้นมักจะเดินทางด้วยรถลาก เหล่าบรรดาชายอกสามศอกก็หันมาประกอบอาชีพรับจ้างลากรถกันมากมาย ผู้คนที่ต้องการเข้าไปติดต่อกิจธุระ หรือจับจ่ายซื้อของที่เมืองมัลลิกาแห่งนี้ก็สามารถเรียกใช้บริการรถลากที่จอดรออยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าเมืองกันได้อย่างสะดวกสบาย


ชุมชนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้มีความคึกคักครึกครื้น มีสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง จึงเป็นที่นิยมของผู้คนเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่นย่าน "สะพานหัน" ซึ่งเป็นการก่อสร้างตามแบบสะพานริอัลโตทีนครเวนิซ และที่ปองเตเวกคิโอ เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี คือ เป็นสะพานไม้โค้งกว้าง ตรงกลางเป็นทางเดิน ส่วนสองฟากสะพานมีห้องแถวเล็กๆ ให้ขายของต่างๆ มากมาย

ที่เมืองมัลลิกาแห่งนี้ มีหญิงสาวลูกชาวนาอยู่คนหนึ่งชื่อ "แม่มะลิ" ซึ่งชาวบ้านในชุมชนต่างรักใคร่เอ็นดูเป็นอย่างมาก เนื่องจากแม่มะลิมีกริยามารยาทอันอ่อนน้อม และเรียบร้อยงดงามตามแบบฉบับหญิงไทย


แม่มะลิมีเพื่อนสนิทชื่อ "แม่พิม" ซึ่งเป็นลูกชาวนาเช่นเดียวกัน ทั้งสองครอบครัวอาศัยอยู่ใน "เรือนเดี่ยว" ซึ่งปลูกอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน


หญิงสาวทั้งสองจึงมักไปมาหาสู่ชวนกันไปจับจ่ายซื้อของและเก็บพืชผักผลไม้ด้วยกันอยู่เสมอ







ด้วยวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของผู้คนในสมัยนั้น กิจกรรมที่ทำเป็นประจำโดยเฉพาะหญิงสาวจึงหนีไม่พ้นการเข้าครัว และทำงานฝีมือต่างๆ ที่ต้องอาศัยความประณีต



ส่วนยามว่างจากงานในครัวเรือนนั้น "สะพานหัน" และ "ย่านการค้า" เป็นสถานที่หลักที่แม่มะลิ และแม่พิม มักจะมาเดินหาซื้อข้าวของเครื่องใช้จำเป็นต่างๆ รวมถึงขนมไทยนานาชนิดๆ ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความอร่อยเป็นอย่างมาก











ที่แห่งนี้เองทำให้แม่มะลิได้พบรักกับข้าราชการหนุ่ม ซึ่งต่อมาทั้งคู่ก็ได้แต่งงานกัน หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ช่วยกันทำมาหากินโดยสร้าง “เรือนแพ” ไว้สำหรับค้าขาย อาศัยที่มีสามีเป็นข้าราชการทำให้มีช่องทางในการค้า โดยเฉพาะการค้าขายน้ำตาล ซึ่งเริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามาซื้อมากขึ้น และจากที่แม่มะลิเอง มีความงดงามและเรียบร้อยตามแบบฉบับหญิงไทยทำให้ลูกค้าชื่นชอบ ส่งผลให้การค้าขายยิ่งเจริญงอกงาม


ด้วยความขยันและสื่อสัตย์สุจริต ไม่นานนักสามีของแม่มะลิซึ่งรับราชการก็มีบรรดาศักดิ์สูงขึ้น จึงได้สร้าง “เรือนคหบดี” เพื่อให้สมกับฐานะความเป็นอยู่ที่มีความมั่นคง

ด้วยความที่สามีของแม่มะลิเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยดี ทำให้รู้จักผู้คนมากมาย และหนึ่งในนั้นคือ "หลวงนพ" เพื่อนสนิทในแวดวงข้าราชด้วยกัน ซึ่งมักจะเดินทางมาเที่ยวชมเมืองมัลลิกา และเยี่ยมเยียนเพื่อนสนิทในฐานะคนคุ้นเคยที่เรือนคหบดีแห่งนี้อยู่เป็นประจำ



ครั้งหนึ่งในขณะที่หลวงนพเดินทางมาหารือเรื่องราชการกับสามีของแม่มะลิ ประจวบเหมาะกับแม่พิมก็ได้เดินทางมาหาแม่มะลิในเวลาเดียวกันพอดี ทั้งสองจึงได้พบกัน


เพียงครั้งแรกที่หลวงนพได้พบกับแม่พิมก็เกิดพึงพอใจเป็นอย่างมาก จนสุดท้ายทั้งสองก็ได้รักกันในที่สุด


กาลเวลาล่วงเลยผ่านไป ตำแหน่งหน้าที่การงานของสามีแม่มะลิก็เจริญรุ่งเรือง มีบรรดาศักดิ์ที่สูงขึ้นประกอบกับธุรกิจการค้าที่มีความก้าวหน้าไปมาก ทำให้ครอบครัวของแม่มะลิต้องมีการติดต่อกับต่างชาติมากขึ้น รวมถึงมีการไปมาหาสู่กับบรรดาข้าราชการผู้สูงศักดิ์บ่อยครั้ง จึงได้ทำการสร้าง “เรือนหมู่” เพื่อไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองอย่างสมศักดิ์ศรี



บนเรือนหมู่แห่งนี้มีคณะนาฎศิลป์ไทยเป็นของตนเอง รวมถึงแม่ครัวยอดฝีมือคอยเตรียมอาหารไทยโบราณซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยอันล้ำค่า ไว้คอยต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองอยู่เสมอ





ด้วยความขยันหมั่นเพียรของแม่มะลิและสามี ทำให้ชีวิตของทั้งคู่เจริญรุ่งเรืองและครองรักกันด้วยความผาสุขตราบนานเท่านาน

ทั้งหมดนี้คือ "เมืองมัลลิกา ร.ศ. 124" เมืองย้อนยุคของวิถีชีวิตชาวสยามบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ควรมาสัมผัสให้ได้สักครั้ง

........

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณโครงเรื่องทั้งหมดจาก "เมืองมัลลิกา ร.ศ. 124" หากมีข้อผิดพลาดหรือไม่เหมาะสมประการใดต้องขออภัยเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมของเมืองมัลลิกา ติดตามได้ที่ http://www.mallika124.com/

ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ หากมีข้อแนะนำติชม สามารถไปพูดคุยกันต่อได้ที่นี่ครับ https://www.facebook.com/TheJourneyLover/

แล้วเจอกันใหม่นะ ^^





ความคิดเห็น