สิม หรือ อุโบสถวัดขุนก้อง

รถรับจ้างที่เราเรียกไว้มารอเราที่หน้าโรงแรมพนมรุ้งปุรีแต่เช้าตรู่ กินข้าวกินปลากันเรียบร้อย ก็ได้เวลาเดินทางเที่ยวต่อ ก่อนที่วันนี้จะต้องเดินทางกลับกันแล้ว ทำให้เรามีเวลาในการเที่ยวแค่เพียงในช่วงเช้าเท่านั้น

ครุฑหน้าโบสถ

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราเลยเลือกเที่ยวกันในอำเภอนางรอง เพราะเฉพาะที่อำเภอนี้อำเภอเดียวก็มีที่เที่ยวให้เราศึกษาความเป็นอยู่และอารยธรรมโบราณต่าง ๆ ได้มากมายอยู่แล้ว

วัดแรกที่เราเลือกแวะไปเยี่ยมเยียนนี้ คือ วัดขุนก้อง

วัดขุนก้อง (ชื่อเดิม “ขุนกอง” ) เป็นวัดในพุทธศาสนา และเป็นวัดราษฏร์ อันหมายถึง วัดที่ราษฏรสร้างขึ้น และมิได้ถวายให้เป็นของหลวง สร้างในสมัยอยุธยาปีพ.ศ. 2150 ครั้งสมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปปราบเขมร ขุนกองซึ่งเป็นนายทหารควบเสบียงมีจิตศรัทธาสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นแล้วให้ชื่อว่า “วัดขุนกอง” ทว่าภายหลังเพี้ยนเป็น”วัดขุนก้อง” ภายในวัด มีอุโบสถและกุฎิที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามน่าชม

เสมาธรรมจักร และแนวกำแพงแก้ว

นาคห้าเศียรขนดอยู่ที่หน้าประตูทั้งสองด้านแต่ละด้านเป็นนาคที่ต่างกัน

ทั้งนี้ สร้างโดย “ขุนกอง” ซึ่งเป็นนายทหารผู้ควบคุมเสบียงตอนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ขณะที่ยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ ได้ยกกองทัพไปปราบเขมร ได้มาตั้งทัพพักอยู่ในเมืองนางรองเป็นผู้สร้างขึ้นและเรียกว่า “วัดขุนกอง” เมื่อกาลเวลาล่วงมานานเข้าชื่อเรียกวัดก็เพี้ยนมาเป็น “วัดขุนก้อง” แต่บัดนั้นมา วัดนี้สร้างมาก่อนพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ. 121 ประกาศใช้มีอายุยาวนานถึงปัจจุบันเป็นเวลา 405 ปี

ด้านนี้เป็นนาคหัวลิง และบางเศียรแลบลิ้นยาว

จุดเด่น : การปั้นรูปนายทหารยืนเฝ้าหน้าประตูวัด แทนที่จะเป็นยักษ์วัดแจ้ง หรือยักษ์วัดโพธิ์นั้น สืบเนื่องจากพระอุโบสถหลังเก่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2260 ซึ่งมีการสร้างกำแพงโดยรอบพระอุโบสถสูง 1.50 เมตร และที่ประตูกำแพงพระอุโบสถทางทิศใต้ได้มีการปั้นรูปทหาร 2 นาย ซึ่งเรียกว่า “เจ้าขุนซ้าย-ขวา” เป็นทหารโบราณยืนหันหน้าเข้าหากันเสมือนเป็นทหารเฝ้ายามเพื่อป้องกันเมืองจากอริราชศัตรูเนื่องจากรอบบริเวณวัดเป็นคูเมืองทั้งหมด

ผนังโบสถซึ่งทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

บรรยากาศภายในวัดค่อนข้างเงียบสงบ เหมาะแก่การมาปฏิบัติธรรม แม้นอุโบสถอายุเก่าแก่จะไม่ได้เปิดใช้งานแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเปิดให้ผู้คนที่สนใจเข้ามาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของบ้านเมืองได้อย่างง่ายได้

รูปนายทหารยืนเฝ้าหน้าประตูวัด เรียกว่า “เจ้าขุนซ้าย-ขวา”

เสมาธรรมจักร สิ่งที่บ่งบอกว่า ณ ที่นี่คือ โบสถ หรือสิม (คำเรียกโบสถของชาวอีสาน)

หอที่มุมกำแพงแก้วของอุโบสถ

นาคที่อีกด้านหนึ่งของทางเข้า เป็นนาคที่มีหงอน มีเหนียง

อุโบสถเก่าวัดขุนก้อง

ลวดลายฉลุไม้ที่หลังคาโบสถ

นอกจากโบสถเก่าแล้ว ภายในวัดขุนก้องยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย ทั้งรูปจำลองเกจิอาจารย์ต่าง ๆ หรือกระทั้งบ่อน้ำด้านหลังวัดที่มีขนาดใหญ่และสวยงาม แต่เนื่องจากเรามีเวลาไม่มากนัก เลยต้องจากวัดขุนก้องไปก่อนในโอกาสนี้ เพื่อมุ่งหน้าสู่วัดร่องมันเทศต่อไป

บ่อน้ำหลังวัดขุนก้อง

วัดถัดมาที่เราแวะไปเยี่ยมเยือนคือ วัดร่องมันเทศ เป็นวัดเก่านางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ (อยู่ติดกับตลาดสดเช้านางรอง) เมื่อย้อนประวัติศาสตร์ขึ้นไปจนถึง ปี พ.ศ.1895 ภายหลังจากขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งต่อมาภายหลังได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาที่ 1 ได้ทรงมีชัยชนะต่อขอมที่เป็นกบฏและแผ่ขยายอาณาเขตไทย ขับไล่ขอมให้ออกไปจากดินแดนแว่นแคว้นต่าง ๆ ในเขตอีสานตอนใต้

วัดร่องมันเทศ

ทรงตั้งเมืองนางรองให้ถือกำเนิดขึ้น อยู่ในขอบขัณฑสีมาแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พร้อมทั้งได้ทรงก่อตั้ง วัดให้เป็นวัดคู่เมืองนางรองขึ้นวัดหนึ่งให้ชื่อว่า “วัดอารามสามัคคี” ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า”วัดร่องมันเทศ” แต่ก่อสร้างยังไม่ทันเสร็จ พระองค์ก็ทรงยกทัพกลับคืนกรุงศรีอยุธยา เพราะมีข้าศึกมอญมาประชิดเมืองทางด้านประจิมทิศ

พระประธานศักดิ์สิทธ์คู่เมืองนางรอง

เหล่าชาวประชาผู้คนชาวเมืองนางรอง ก็ได้สืบสานก่อสร้างและทำนุบำรุงรักษากันต่อ ๆ มา แม้บางช่วงบางตอนจะถูกทอดทิ้งรกร้างไปบ้าง อาจจะเป็นด้วยเหตุผลจากการบ้านการเมืองก็ตาม แต่ในปัจจุบันก็เป็นวัดที่สมบูรณ์ไปด้วยศาสนสถานต่าง ๆ และเป็นศูนย์รวมแห่งชาวพุทธที่อยู่ในบริเวณนั้น และยังเป็นความภาคภูมิใจ และรำรึกถึงในพระมหากรุณาธิคุณขององค์ขุนหลวงพะงั่ว พระผู้ให้กำเนิดบ้านเมืองนี้ให้อยู่ในจิตใจของผู้คนพลเมืองนางรองตลอดไปและมีพระประธานศักดิ์สิทธ์คู่เมืองนางรองอีกด้วย

พระประธานองค์นี้มีมาก่อนโบสถ จึงเป็นการสร้างโบสถครอบองค์พระอีกที

ภาพหลักฐานเก่า ๆ แสดงว่าพระประธานนั้นมีมาก่อนการสร้างโบสถ

อุโบสถวัดร่องมันเทศ

บริเวณรอบ ๆ อุโบสถวัดร่องมันเทศ

ถัดจากวัดร่องมันเทศไปไม่ไกลนัก มีอีกวัดหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ วัดกลาง ๆ แห่งนี้เรียกได้ว่าอยู่กลางตลาดเลยก็ว่าได้ และน่าเสียดายที่ภายในอุโบสถนั่นปิด ไม่สามารถเข้าไปชมด้านในได้ แต่กระนั้น เราก็ยังสามารถมองเห็นบานหน้าต่าง บานประตูที่ทำจากไม้และแกะสลักลวดลายสวยงาม รวมถึงสถาปัตยกรรมที่งดงามอื่น ๆ โดยเฉพาะหอระฆังสูงที่ตั้งอยู่ข้างโบสถ ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังรูปนางฟ้าร่ายรำให้พร

วิหารวัดกลาง

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของวัดกลางคือ วิหารหลังสีขาวที่มีผนังลอย ตกแต่งเป็นรูปนูนต่ำของรามสูรกับเมฆขลาที่ด้านบน และนรสิงห์ นรสีห์กับต้นมัคนารีผลที่ด้านล่าง

พระอุโบสถวัดกลางที่ปิดอยู่ กับบานหน้าต่างประตูไม้แกะสลัก

เนื่องจากอุโบสถวัดกลางปิด เราเลยพอมีเวลาเหลืออีกเล็กน้อย ทำให้เรานึกถึงสถานที่อีกแห่งที่น่าสนใจไม่แพ้ัน นั่นคือ "ภูม่านฟ้า" ว่าแล้วก็ไปกันค่ะ


เรื่องที่เกี่ยวข้อง ::

Review...นางรอง บัดเจท แอนด์ บูทิค โฮเทล (โรงแรมนางรอง)

เทวาลัย ไร้ที่มา ......ปราสาทเมืองต่ำ

บวงสรวงเทวา "ปราสาทเมืองต่ำ" ตำนานนิรมิต....สายธารแห่งชีวา เดอะมิวสิคัล ที่ตลาด "วิถีชุมชน คนบุรีรัมย์"

วนรุง (พนมรุ้ง) วิไล ...... เทวาลัยแห่งเขาไกรลาส

ผ้าเอกลักษณ์พื้นถิ่น.....ฝ้ายย้อมดินภูเขาไฟ "ผ้าภูอัคนี"

บูชาพระอังคารธาตุ บนยอดภูเขาไฟ ชมใบเสมาพันปี ที่ "วัดเขาพระอังคาร" บุรีรัมย์

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง .....ความสดใส ในทุ่งกว้าง กับครูลี่ ณ บ้านถาวร บุรีรัมย์

"ตลาด" ถมหมืดถมมอ ..... นางรองบ้านเอ๋ง บุรีรัมย์

รีวิว....โรงแรมพนมรุ้งปุรี (Review Phanomrung puri Hotel)

เที่ยววัด....ที่นางรอง บุรีรัมย์ วัดขุนก้อง - วัดร่องมันเทศ - วัดกลาง

สำนักสงฆ์พุทธศิลา "ภูม่านฟ้า" อำเภอชำนิ บุรีรัมย์



ความคิดเห็น