Contact and Follow me at Facebook Fan Page or Govivigo Blog



เมืองอู่ทอง, สุพรรณบุรี

“อู่ทองเมืองโบราณ ต้นกำเนิดประวัติศาสตร์ อารยธรรมสุวรรณภูมิ”

สุพรรณบุรีเป็นอีกจังหวัดนึงที่แพนเดินทางไปเยือนอยู่บ่อยครั้ง เพราะเป็นจังหวัดที่ใกล้กรุงเทพฯมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ขับรถไปแค่ 2 ชั่วโมงก็ถึงแล้ว และยังเป็นจังหวัดเล็กๆ ที่มีอะไรซ่อนอยู่เยอะแยะเขียว อย่างครั้งนี้แพนก็กลับไปสุพรรณบุรีอีกครั้งเพราะกระแส "ออเจ้าการะเกด" ฮร่า อย่าเพิ่งรีบขมวดคิ้วเกาหัว งงว่าถ้าดูละครเรื่องนี้ก็น่าจะไปอยุธยาสิจะมาโผล่เมืองอู่ทองได้เยี่ยงไร

ตอบ!!!!!!! ......

ก็เห็นคนแห่ไปอยุธยากันเยอะแล้ว แพนอยากย้อนอดีตเอาให้ไกลกว่ายุคอยุธยาอีก ขอแบบไกลเป็นพันๆปีเลย อู้วหูวววววววว และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของทริปนี้ค่ะ หลักๆที่แพนจะต้องไปเยือนให้ได้ก็มี 2 ที่ค่ะ คือ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง" และ "สวนหินพุหางนาค" อันนี้คือตั้งใจว่ายังไงก็ต้องไปให้ได้ แต่ถ้าคำนวนเวลาจริงแล้วยังสามารถแวะที่อื่นได้อีกก็จะแวะแน่นอน เพราะเมืองโบราณอู่ทองที่แพนกำลังจะพาไปทำความรู้จักนี้ ยังมีที่เที่ยวน่าสนใจหลายแห่ง ทั้งวัดวาอารามที่มีประวัติยาวนาน เหมาะกับสายวัดสายบุญทั้งหลาย แล้วก็พิพิธภัณฑ์ที่สายแกลอรี่อย่างแพนโคตรปลื้ม มีธรรมชาติต่างๆที่น่าสนใจ รวมถึงชาวสุพรรณฯที่ทำให้เราสามารถหลงรักเมืองนี้ได้ไม่ยากเลย


การเดินทางค่ะ

รถโดยสาร : อยากจะบอกว่ายอมใจจริงๆค่ะ เพราะที่สุพรรณบุนีไม่ได้มีรถมอไซด์เช่าเหมือนจังหวัดอื่น การจะนั่งสองแถวจากขนส่งเพื่อไปยังอู่ทองก็สามารถค่ะ แต่รถจะนานมากๆๆๆๆๆๆ ทางที่ดีลองถามพวกพี่ๆรถสองแถวในตัวเมืองขอเหมารถเที่ยวอู่ทอง จะดีสุดนะจ๊ะ

รถส่วนตัว : เปิด Google Maps ว้าบมาสุพรรณบุรีเลยจร้า พิมพ์ว่าอู่ทองนะคะอาจจะเริ่มต้นที่ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง" เหมือนแพนก็ได้แล้วค่อยไปตามจุดท่องเที่ยวอื่นๆ ลองดูอ้างอิงจากแผนที่ต่อไปนี้นะคะ

ภาพจาก "ระบบสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)"


เข้าสู่เมืองโบราณกัน!!!

นาทีนี้แพนขอยกให้ สุพรรณบุรี เป็นจังหวัดที่มีหอนาฬิกาเยอะที่สุดในประเทศเลยมั้ง ฮร่า.... ไปทางไหนก็เจอแต่นาฬิกา ทำให้คนจังหวัดนี้กลายเป็นคนมีเวลาเยอะนั่นเอง แฮร่! สำหรับการจราจรที่เมืองโบราณอู่ทอง รถราจะไม่หนาแน่นมาก มีติดบ้างก็ตามแยกไฟแดงค่ะ

และต่อจากนี้ไปแพนจะนำทุกคนค่อยๆนั่งรถเข้าสู่เมืองโบราณสมัยทวารวดีกันค่ะ ออกจากตัวเมืองมาไม่ไกลมากก็เข้าสู่อำเภออู่ทองตาม Google maps มาจุดแรกที่แพนค่อนข้างให้ความสนใจอยู่พอสมควรและแพนคิดว่าก่อนที่เราจะทำการสำรวจเมืองนี้ ก็ควรจะมาหาข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ อย่างที่นี่ค่ะ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง" มาดูกันว่าพันกว่าปีที่แล้วพื้นที่เมืองอู่ทองนี่มีหน้าตายังไง ผู้คนเค้าใช้ชีวิตอยู่แบบไหนกัน


แพนแนะนำกดดูคลิปวีดีโิอ ก่อนอ่านบทความนะคะ

*-*


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกสร้างเพื่อเป็นสถานที่เก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุต่างๆ ที่มีการขุดพบ ณ เมืองโบราณอู่ทองรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ เพราะการค้นพบซากข้าวของเครื่องใช้ และร่องรอยการเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (1900 ปีที่แล้ว) ที่มากมายและชัดเจนในต้นกำเนิดมากกว่าบริเวณเขตพื้นที่อื่นทำให้ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ถูกยกให้เป็น "เมืองโบราณอู่ทอง" อย่างที่แพนกล่าวถึงในตอนต้น

ในวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จนางเจ้าสิริกิต ก็เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

ภายในพิพิธภัณฑ์จะแบ่งพื้นที่จัดแสดงงาน 2 อาคารด้วยกันค่ะ จะมีบันไดเชื่อมต่อกัน ตอนเราเข้าไปไม่ต้องกลัวงงว่าจะไปทางไหนก่อน หลัง เพราะเค้ามีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำตั้งแต่ตอนซื้อบัตรเข้าชมเลยค่ะ อย่างห้องแรกที่เจ้าหน้าที่นำทางมาก็จะเป็นห้องที่มีการฉายวีดีทัศน์ เป็นวีดีโอที่สรุปเรื่องราวสั้นๆเกี่ยวกับเมืองอู่ทอง เราก็สามารถนั่งชมจนจบแล้วค่อยไปชมห้องต่อๆไป


ในส่วนของห้องจัดแสดงงาน มีทั้งหมด 6 ห้อง

ห้องจัดแสดงที่ 1 บรรพชนคนอู่ทอง

จัดแสดงเกี่ยวกับการพัฒนาการของเมืองโบราณอู่ทอง ตั้งแต่การใช้ชีวิตแบบสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มาจนถึงถึงยุคโลหะ

ห้องจัดแสดง 2 อู่ทองศรีทวารวดี

เล่าถึงเรื่องราวเมื่อครั้งที่เมืองอู่ทองเคยเป็นศูนย์กลางการค้าและศูนย์กลางพระพุทธศาสนา เพราะผังเมืองที่ดี มีคูน้ำคันดินล้อมรอบภายในตัวเมืองเหมาะแก่การสัญจรค้าขายและการเกษตร รวมถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ห้องจัดแสดง 3 พัฒนาการทางประวัติศาสตร์บนผืนแผ่นดินสุวรรณภูมิ

ห้องนี้จะจัดแสดงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองอู่ทองในสมัยก่อน ที่มีการเรียกอีกชื่อนึงว่า "ดินแดนสุวรรณภูมิ" สุวรรณที่แปลว่าทองนั่นแหละค่ะ ห้องนี้จะได้รู้ว่าทำไมถึงได้มีการยกย่องว่าเป็นผืนแผ่นดินแห่งทอง

ห้องจัดแสดง 4 สุวรรณภูมิการค้าของโลกยุคโบราณ

ส่วนในห้องนี้ก็จะมีการจำลองเหตุการณ์การค้าทางทะเลจากคาบสมุทรอินเดียสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ เป็นเรื่องราวที่ยาวนานเว่อร์ เมื่อราวๆ 3,000 กว่าปีที่แล้วโน้นนนนนนนน

ห้องจัดแสดง 5 อู่ทองศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนา

ในส่วนของห้องที่ 5 ก็จะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในอดีตเมื่อประมาณ 1,600-1,800 ปีที่ผ่านมา ที่เมืองอู่ทองกลายเป็นเมืองสำคัญยุคแรกที่รับอิทธิพลทางศาสนาพุทธมาจากอินเดีย และได้กลายมาเป็นจุดกำเนิดวัฒนธรรมทวารวดีในเวลาต่อมา ในส่วนนี้เราสามารถสังเกตุได้จากงานศิลปะของยุคนั้นค่ะที่มีลักษณะของงานศิลปะอินเดียผสมด้วย

ห้องจัดแสดง 6 นิทรรศการหมุนเวียน

เป็นห้องสุดท้ายที่จะมีการหมุนเวียนงานแสดงด้านในไปตามโอกาสต่างๆ ทำให้ตัวพิพิธภัณฑ์ไม่น่าเบื่อหรือซ้ำซาก หากมีโอกาศมาครั้งหน้าก็จะได้ชมนิทรรศการเรื่องใหม่หมุนเวียนไปเรื่อยๆ

วัตถุโบราณที่นำมาจัดแสดงทั้งหมดนี้ มีทั้งของจริงแล้วก็ของจำลองนะคะ ในแต่ละห้องจะมีเจ้าหน้าที่ประจำห้องคอยให้ความรู้เรา ถ้าสงสัยในส่วนไหนก็สามารถเรียกพี่เจ้าหน้าที่มาไขข้อข้องใจได้แบบรวดเร็วและใจดีมากๆเลยค่ะ แต่ขอเตือนไว้อีกอย่างต่อให้เป็นของที่จัดแสดงในลักษณะวางเปลือยไม่มีกรอบกระจกกั้น แต่อย่าได้ซนเอามือไปจับ ไปเคาะ ให้ของเค้าสึกหรอนะจ๊ะ เป็นผู้ชมที่ดี ดูแต่ตาแล้วใช้ปากถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่เค้าจะดีกว่านะเออออออออออ

แต่ที่ทำให้แพนเสียดายมากๆๆๆๆๆๆๆ T^T

คือการที่แพนไม่ได้เข้าชมอาคารแสดงอีกจุดนึง คือ "เรือนลาวโซ่งค่ะ" เพราะไม่รู้ว่าสามารถเข้าชมได้ แถมด้านในก็มีอะไรที่น่าสนใจ น่าเข้าไปถ่ายรูปตั้งเยอะ พอกลับมาถึงบ้านนั่งหาข้อมูลเลยได้รู้ว่า เอ้ย..... พิพิธภัณฑ์ไม่ได้มีแค่ในอาคารนะ

เรือนลาวโซ่ง

จะอยู่ถัดจากอาคารแสดงงานมาไม่ไกลมาก ภายในเป็นการจำลองเรือนไทยโบราณที่เรียกว่า "เรือนลาวโซ่ง" หรืออีกชื่อคือ "เรือนไทยทรงดำ" แล้วก็จะมีพวกปูนปั้นและข้าวของจำลองการใช้ชีวิตของผู้คนในสมัยนั้นด้วย เดี๋ยวแพนแปะรูปที่ยืมจากเว็บอื่นให้ดู


ภาพจาก http://www.thainewsvision.com/%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E...


ข้อมูลการติดต่อ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ถนนมาลัยแมน ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 72160
โทรศัพท์/โทรสาร 035-551021

เวลาทำการ

วันพุธ-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ปิดวันจันทร์-วันอังคาร)

เวลา 9.00 น.-16.00 น.

อัตราค่าเข้าชม

ค่าธรรมเนียมเข้าชมชาวไทย 30 บาท

ชาวต่างชาติ 150 บาท

หมายเหตุ ยกเว้นค่าธรรมเนียม นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ พระภิกษุ สามเณร และนักบวชใน ศาสนา ต่างๆและผู้สูงอายุ เกิน 60 ปี




พระพุทธรูปแกะสลักภูผาใหญ่ที่สุดในโลก

สมเด็จพระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ

แพนดูจากแผนที่ของ อพท. เห็นว่ามีจุดน่าสนใจใกล้กับพิพิธภัณฑ์อยู่อีกจุด ซึ่งจะบอกว่าใกล้มากกกกก ออกมาจากพิพิธภัณฑ์มุ่งหน้าตามถนนเส้นเดิมไปอีกไม่ไกลมากจะเจอป้ายบอกทางมา "วัดเขาทำเทียม" แพนจะไปดูงานศิลปะชิ้นใหญ่ยักษ์ และคาดว่าในอนาคตถ้าก่อสร้างเสร็จที่นี่อาจจะได้เป็นอีกจุดแลนด์มาร์คสำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรีแน่นอนค่ะ

ข้อมูลน่ารู้ ชวนร้องว้าว ^0^

  • สมด็จพระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ เป็นพระพุทธรูปปางโปรดพุทธมารดา ที่เกิดจากการแกะสลักหน้าผาหินแบบลอยนูนตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาหน้าผามังกรบิน วัดเขาทำเทียม
  • มีความสูงประมาณ 108 เมตร ฐานกว้างประมาณ 88 เมตร หน้าตักกว้างประมาณ 65 เมตร
  • การสร้างพระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพุทธมณฑลจังหวัดสุพรรณบุรี ที่จะอยู่ในพื้นที่โดยรอบบริเวณนี้
  • ใช้พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 100 ไร่ ในการก่อสร้าง
  • ยังไม่ทราบระยะเวลาก่อสร้างเสร็จที่แน่นอน แต่สามารถแวะไปถ่ายรูปและทำบุญบริเวณทางเข้าด้านหน้าได้
  • ไม่ต้องถามถึงงบประมาณการสร้างค่ะ คงพอเดากันได้ว่าจะสูงขนาดไหน อู้วหูวววว

จากที่เห็นภาพด้านบนนี้คือการเจาะถ้ำค่ะ เค้าทำเป็นทางเดินทะลุถ้ำเลย แต่อีกฝั่งไม่รู้เป็นยังไงเหมือนกันเพราะเค้ากำลังก่อสร้างไม่อนุญาติให้เข้าไป แพนเลยได้แต่ถ่ายอยู่ไกลๆ งือออออ

แบบจำลองการก่อสร้าง

ภาพจำลองการก่อสร้างจาก พระประไพ นนท์แก้ว

แค่ได้เห็นภาพจำลองก็ตื่นตาจะแย่แล้วค่ะ รอวันที่การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ที่นี่ต้องอลังการงานเมดอินไทยแลนด์แน่นอน ฮร่า แต่ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนเนาะเพราะครั้งนี้แพนไปก็เห็นว่ากำลังแกะสลักพระพุทธรูปองค์แรกอยู่เลย แต่ยังไงก็จะรอแล้วกัน



วัดเขาดีสลัก

รอยพระพุทธบาทจำลอง

ก่อนอื่นต้องสารภาพก่อนว่าความจริงแล้ววัดนี้คือจุดท่องเที่ยวสุดท้ายที่แพนแวะก่อนกลับกรุงเทพฯ แต่ที่เอามาเขียนต่อจากวัดเขาทำเทียม และพระพุทธรูปแกะสลักด้านบนนี้ ก็เห็นว่าไหนๆก็เข้าเรื่องวัดเรื่องศาสนาแล้วเราก็ต่อด้วยที่นี่เลยแล้วกัน "วัดเขาดีสลัก"

เมื่อก่อนนั้นการที่จะขึ้นมาสักการะรอยพระพุทธบาทได้ต้องใช้การเดินเท้าค่ะ จากบริเวณวัดด้านล่างจะมีบันไดขึ้นมาเรียกว่า "บันไดนาค" แต่ปัจจุบันได้มีการตัดถนนขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อการเดินทางมากขึ้น

มาถึงตรงนี้ก็ต้องสารภาพอีกเรื่องว่าแพนเองก็ขึ้นมาถึงบนนี้โดยใช้รถยนต์เหมือนกัน ก็อย่างที่บอกว่าแพนแวะมาที่นี่เป็นที่สุดท้ายก่อนกลับบ้าน นาทีนั้นแรงหมดจริงๆ ถ้าใครตามบล็อกแพนมาซักพักจะรู้ว่าแพนเป็นสายป่า สายเขา ชอบเดินอยู่แล้ว ถ้ารู้ว่ามีบันไดขึ้นเขาไรงี้แพนเลือกจะเดินแน่นอน แต่ครั้งนี้ไม่ไหวจริงๆ ต้องพึ่งรถล่ะค่ะ

รอยพระพุทธบาทจำลอง

สร้างด้วยหินทรายแดง ขนาดกว้างประมาณ 65.5 ซม. ยาว 141.5 ซม. ซึ่งนักโบราณคดีมีการโต้เถียงกันถึงที่มาของรอยพระพุทธบาทนี้ บางท่านว่าเป็นศิลปะสมัยทวาราวดี อายุหลายพันปีเลยค่ะ แต่ก็มีหลายเสียงที่แย้งว่าถึงรูปแบบลวดลายจะคล้ายกับศิลปะสมัยทวาราวดี แต่ก็มีรูปแบบอื่นเข้ามาปะปนที่ดูแล้วเหมือนงานศิลปะสมัยอยุธยา ถามว่าตอนนี้รู้แน่ชัดถึงที่มาแล้วหรือยัง ก็ยังล่ะค่ะ การถกเถียงนี้มีอยู่ร่ำไป หาข้อสรุปไม่ได้นะเออ แบบนี้คงต้องนั่งไทม์แมทชีนไปดูด้วยตาตัวเองแล้วมั้ง ฮร่า

ปกติแล้วที่วัดเขาดีสลักจะมีงานประจำปี "ประเพณีตักบาตรเทโว"

ซึ่งจะมีพระสงฆ์จำนวน 200 รูปจะลงมาจากมณฑปรอยพระพุทธบาทตามบันไดนาค โดยมีประธานสงฆ์พรมน้ำพระพุทธมนต์ มีขบวนเสลี่ยงพระพุทธ ขบวนเทวดา ขบวนนางฟ้า ขบวนกลองยาว ขบวนเปรต การแสดงพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีการจัดงานใหญ่โต แสดงนิทรรศการของดี การจัดจำหน่ายสินค้า OTOP ของอำเภออู่ทอง เรียกได้ว่าเป็นงานใหญ่อีกงานนึงที่ต้องแวะเวียนมาชมให้ได้ในทุกๆปีค่ะ



มาถึงจุดพีคสุดๆของแพน ที่แพนปักหมุดว่าทริปนี้ยังไงก็ต้องมาที่นี่ให้ได้

สวนหินธรรมชาติพุหางนาค

พุหางนาค เป็นพื้นที่ภูเขาในเขตการดูแลของวนอุทยานพุม่วง ที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์ผืนป่าและปกป้องพรรณไม้หายากต่างๆ

................ถ้าอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ก็งคงพอรู้แล้วว่าเมืองโบราณอู่ทองนั้นมีประวัติยาวนานเป็นพันกว่าปี แต่สวนหินธรรมชาติดึกดำบรรพ์แห่งนี้มีอายุนับหมื่นล้านปี มันคือสิ่งล่อใจให้แพนอยากมาอู่ทอง มาค้นหาปริศนาแห่งศาสนสถาน และเหล่าต้นไม้หินผาต่างๆ ที่ทำให้ต้องอึ้งว่าธรรมชาตินั้นหรือที่รังสรรค์สิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ที่นี่เต็มไปด้วยความงดงามทางธรรมชาติ สวนหินจะทำให้เราจินตนาการด้วยรูปทรงที่หลากหลาย และความแปลกตาที่ชวนให้คิดไปว่าเมื่อหลายปีที่ผ่านมานั้น ที่ตรงนี้คงจะเคยมีเมืองอะไรซ่อนอยู่เป็นแน่แท้ล่ะเจ้าค่ะ


สำนักสงฆ์ถ้ำพุหางนาค

ก่อนเข้าป่าไขปริศนาที่สงสัยต้องแวะในจุดแรกนี้ก่อนนะคะ เพื่อเข้ามากราบสักการะหลวงปู่ใหญ่ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ประดิษฐานภายในถ้ำที่มีแสงลอกผ่านจากผนังถ้ำด้านบนทำให้เกิดความสวยงามและดูขลังมากๆเลยนะแพนว่า


บางคนเดินทางมาเพื่อไหว้พระขอพรแล้วกลับ แต่ก็มีบางคน (อย่างแพน) ที่มาเพราะอยากเข้าป่า แต่ก่อนที่เราจะเข้าสำรวจป่าหินได้ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่นำทางก่อนนะคะ วันนี้แพนได้พี่สมเกียรติเป็นไกด์นำทาง อยากจะบอกว่าพี่เค้าใจดีมากกกกก และใจเย็นสุดๆ ให้ความรู้ตลอดทางที่เดิน พี่เค้าจะคอยเล่าถึงความเป็นมาของต้นไม้หายากต่างๆ รวมถึงชี้ชวนให้ดูหินยักษ์ที่มีรูปร่างน่าสนใจต่างๆ พี่เค้าก็คือพี่คนนี้ในภาพด้านล่างนั่นเอง แทน แท่น แท้นนนนนนนน

ข้อมูลการติดต่อ

ที่พักสงฆ์พุหางนาค หมู่ 9 ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 72160
โทรศัพท์ 061 - 8985723

เวลาทำการ

วันจันทร์ - วันอาทิตย์ เวลา 8.00 น.-16.30 น.

อัตราค่าเข้าชม, ค่านำทาง

แล้วแต่จิตศรัทธา หย่อนตู้บริจาค

ช่วงเวลาเหมาะแก่การเดินสำรวจสวนหินพุหางนาค

มกราคม : ได้ชมภูเขาที่เต็มไปด้วยดอกงิ้วสีแดง

กุมภาพันธ์ : ได้พบดอกไม้สีเหลืองสะพรั่งตลอดถนนสองข้างทางและบนเขา "ดอกสุพรรณิกา"

มีนาคมและช่วงฤดูร้อน : ชมดอกมะกักสีขาวทั่วภูเขา

ช่วงฤดูฝน : ได้เดินทั่วเขาแบบอากาศเย็นฉ่ำชื่นใจและได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของป่าอย่างชัดเจนที่สุด


เดินเข้าสวนหิน

ระยะทางในการเดินนั้นจะมี 2 เส้นทางนะคะ แบบระยะสั้น 800 เมตรเดินเพียงส่วนเดียว และแบบเต็มวันเดิน 2 เส้นทาง แพนเลือกแบบระยะสั้นค่ะเพราะดูจากเวลาแล้วไม่น่าพอสำหรับการเดินแบบเต็มวัน

เมืองลับแล

เดินมาได้ซักพักพี่สมเกียรติก็ชี้ชวนให้แพนดูกับหินก้อนนึงที่มีรูปร่างธรรมดาๆมาก หินที่อยู่บนภาพด้านบนนี้ค่ะ และบอกว่าให้เดินมาดูอีกฝั่งนึง แพนเดินตามไปและหันหลังกลับมามองหินก้อนเดิมถึงได้ร้อง อู้วหูวววววว เหมือนหัวลิงเลย

มีเรื่องเล่าน่าสนใจถึงเมืองลับลับแลว่าหินที่รูปร่างคล้ายลิงนั้นเป็นผู้เฝ้าประตูเมืองลับแลค่ะ เมื่อสมัยก่อนโน้นพื้นที่ตรงนี้คือปากทางเข้าเมืองลับแล ส่วนทางเข้านั้นหรอคะก็ภาพต่อไปนี้เลย

ช่องว่างที่เกิดจากหินสองฝั่งชนกัน กลายเป็นอุโมงค์ทางเดินเล็กๆรูปสามเหลี่ยมทำให้คนเราจินตนาการไปว่านี่แหละทางเข้าเมืองลับแล

ก็จินตนาการตามไปนะคะว่าตอนนี้เราได้เดินเข้ามาสู่อีกมิตินึงแล้ว เราอยู่กันที่เมืองลับแล พอมองหันหลังกลับไปก็จะมองเห็นโลกมนุษย์อยู่ด้านหลังอย่างในภาพด้านบนนี้ล่ะค่ะ

และถ้าเราเดินเข้ามาเรื่อยๆก็จะพบกับพันธุ์ไม้ต่างๆ บางต้นเราก็รู้จัก บางต้นไม่รู้จัก หรือบางต้นเคยได้ยินชื่อแต่ไม่รู้ว่าเป็นยังไง พี่สมเกียรติเค้าจะอธิบายให้เราฟังหมดเลยค่ะ อย่างต้นงิ้วต่อไปนี้

ต้นงิ้ว

เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงของลำต้นประมาณ 15-30 เมตร เลยนะคะ สูงเว่อร์ๆ ลำต้นมีลักษณะตรงแล้วก็มีหนามอยู่ทั่วทั้งต้นและกิ่งก้าน ส่วนใหญ่พบขึ้นในที่ราบและตามป่าเบญจพรรณ ตามเชิงเขาและไหล่เขา ปัจจุบันต้นงิ้วจะหาดูได้ยากมาก ที่สวนหินพุหางนาคเลยได้มีการอนุรักษ์ไว้ ทำให้แพนได้มีโอกาสเห็นครั้งนี้ล่ะค่ะ


ต้นจันผา

คือต้นไม้ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของสวนหินพุหางนาคค่ะ เป็นไม้ขนาดเล็กถึงกลาง แก่นไม้ด้านในเป็นสีแดง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย โดยปกติจะขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะกล้าจากเมล็ดหรือจากการแยกกอ ชอบดินปนทรายหรือหินที่มีการระบายน้ำดี ความชื้นปานกลาง ชอบแสงแดด เลยทำให้สวนหินพุหางนาคมีต้นจันผาอยู่ค่อนข้างเยอะทีเดียว นอกจากนั้นกลุ่มอาสาสมัครยังช่วยกันเพาะกล้าเพิ่มเพื่อเป็นการอนุรักษ์พรรณไม้นี้ด้วย

ปุษยคีรี

เมื่อเดินมาถึงครึ่งทางจะได้พักที่จุดชมวิวค่ะ จริงๆแล้วจะมีจุดชมวิว 3 จุดด้วยกัน พอมองไปด้านล่างจะเห็นเป็นทุ่งดอกไม้ตามช่วงเวลาของแต่ละฤดู ภูเขาแห่งนี้เลยได้ชื่อว่าเป็น "ปุษยคีรี" หรือแปลก็คือเขาแห่งดอกไม้นั่นเองค่ะ

อย่างถ้ามาช่วงเดือนมกราคมจะได้เห็นดอกงิ้วบานเต็มเขา ส่วนกุมภาพันธ์ ก็เป็นช่วงที่ดอกสุพรรณิกา (ดอกไม้ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี) บานเหลืองอร่าม พี่สมเกียรติบอกว่าถ้าแพนมาช่วงนั้นนะไม่จำเป็นต้องขึ้นมาถึงบนนี้ แค่ขับรถมาสองข้างทางก็จะได้เห็นถนนที่ถูกโปรยไปด้วยพรมสีเหลืองนวลจากดอกสุพรรณิกาแล้ว ส่วนช่วงที่แพนมานี้คือเดือนมีนาคมเข้าสู่ฤดูร้อนก็จะได้เห็นดอกขาวๆจากต้นมะกักแทน แต่แพนถ่ายรูปมาอาจเห็นไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ ดอกมะกักจะสีขาวขาวอมเขียวนิดๆ เลยดูกลืนไปกับสีใบไม้ซะส่วนใหญ่

นอกจากจะได้เห็นพรรณไม้หายากต่างๆแล้วที่แพนเห็นเยอะสุดคงจะเป็นต้นไผ่ทั้งหลาย เหมือนเดินเล่นในป่าไผ่เลย ทางเดินก็ถูกปูด้วยใบไผ่แห้งที่ร่วงลงจากต้น เดินแล้วนุ่มนิ่มๆดี ฮร่า ต่อไปนี้เรามาดูจุดเด่นเป็นเป็นจุดเรียกแขกของที่นี่ดีกว่าค่ะ เดินดูหินกัน

มีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่าพื้นที่บนเขาแห่งนี้เมื่อก่อนนั้นเป็นเมืองบาดาลค่ะ น้ำทะเลเคยสูงจนมิดเขา พวกหินต่างๆที่อยู่บนเขาจึงได้มีรูปร่างหน้าตาแปลกประหลาดไป เหมือนว่าเคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์ใต้บาดาลจริงๆ ถ้าไม่เชื่อก็ลองสังเกตุดูหินต่อไปนี้ดีดีสิคะ ^0^

(หินที่ซ้อนทับกันเป็นชั้นๆเหมือนตั้งใจจับวาง)

(หินรูปร่างคล้ายปลาคราฟ)

(หินรูปร่างคล้ายเรือไททานิคจมน้ำ)

(ภาพนี้คือการถ่ายหินแบบใกล้ๆจะเห็นเป็นชั้นๆซ้อนกัน)

(หินรูปร่างคล้ายเต่าเดินลงเขา แถมยิ้มซะด้วยนะ)

(หินรูปร่างคล้ายวาฬ แต่จริงๆแล้วแพนว่าเหมือนลูกอ๊อดมากกว่า)

(หินรูปร่างคล้ายหน้าคนหันข้าง)

(หินรูปร่างคล้ายไก่ไหว้เจ้า)

(หินรูปร่างคล้ายนก)

จบทริปหนึ่งวันที่เมืองโบราณอู่ทอง แพนเน้นไปตามจุดที่แพนสนใจและใช้เวลาอยู่กับที่นั่นค่อนข้างมาก ทำให้ One day trip ของแพนอาจไปได้ไม่กี่ที่ แต่แพนว่ามันก็เป็นการเที่ยวแบบอิ่มมากในแต่ละจุดที่แพนได้แวะ แพนไม่ได้อยากเที่ยวเพื่อเก็บแต้มต้องมาให้ครบทุกวัด ทุกจุดอะไนแบบนั้น เราเน้นความอิ่มใจ ไปเรื่อยๆ ชอบที่ไหนก็อยู่ที่นั่นยาวๆ อย่างเรื่องเมืองบาดาล เมืองลับแลที่สวนหินพุหางนาคก็เป็นเพียงตำนานเล่าต่อๆกันมานะคะ ไม่ได้มีหลักฐานว่าว่าเป็นเรื่องจริง แต่ยังไงซะมันก็ทำให้แพนรู็สึกสนุกกับการเดินทั่วป่าแห่งนี้เพราะได้เล่นจินตนาการไปเรื่อยแล้วแต่จะมโนเอา ฮร่าาาาาา เรามาสรุปกันดีกว่าว่าวันนี้แพนได้อะไรบ้าง


สรุปความเป็นเมืองโบราณอู่ทอง

  • อยู่ในเขตพื้นที่พิเศษ อพท.
  • อยากมาเที่ยวรถส่วนตัวสะดวกสุด ถ้าไม่มีต้องหาเหมารถสองแถวพาเที่ยว
  • ที่นี่เคยได้รับยกย่องให้เป็นเมืองที่รุ่งเรืองศาสนามากทำให้มีวัดน่าสนใจอยู่หลายแห่ง
  • สมญานาม "สุวรรณภูมิ" เพราะเป็นเมืองที่มีการติดต่อการค้าเจริญที่สุด
  • สถานที่แต่ละแห่งอยู่ไม่ไกลกันมาก
  • มีเส้นทางปั่นจักรยาน
  • มีเจดีย์โบราณอยู่รอบเมือง
  • คนสุพรรณใจดีนะจ๊ะ

ประเทศไทยยังมีอะไรซ่อนอยู่อีกมากมาย แค่เพราะเราไม่เคยเห็นตามโฆษณาใหญ่ยักษ์ไม่ได้แปลว่าไม่มีอยู่จริง ต้องออกเดินทางและตามหาด้วยตัวเอง จะได้พบกับความอันซีนที่ชาติไหนๆก็สู้ไทยไม่ได้

ขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ค่ะ บทความหน้าแพนจะพาไปเที่ยวที่ไหนต้องคอยติดตามนะคะ บ๊าย บายยยย


ความคิดเห็น