"กลุ่มอาสามาด้วยกัน"
7.30 น. ของเช้าวันที่ 21 เมษายน หนุ่มน้อย สาวสวย "กลุ่มอาสามาด้วยกัน" ยืนรอต้อนรับพวกเราด้วยชุดไทยสวยงาม ตระการตา ทั้งประยุกต์ และประหยัด ฯลฯ ที่ปั๊ม ปตท. สาขา สนามเป้า
เมื่อสมาชิกครบถ้วน พวกเราก็เริ่มออกเดินทาง จากกรุงเทพมหานคร มุ่งหน้าไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ราชธานีเก่า ระหว่างนั้น น้อง ๆ อาสาฯ ก็ขึ้นมากล่าวแนะนำตัวร่วมถึงพูดถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้
น้องเล่าคร่าว ๆ ว่า ด้วย 13 เมษายน ของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุ ทางกลุ่มฯ ก็เลยอยากจัดกิจกรรม เลี้ยงข้าวและมอบสิ่งของที่
และที่เลือกที่อยุธยานี้ ก็เพราะว่า เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรม ณ ศูนย์ผู้สูงอายุฯ แล้ว อาสาจะได้พาไปท่องเที่ยวศึกษาปร
ปกติแล้ว การจัดกิจกรรมในแต่ละครั้งของกลุ่ม จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 500 - 600 บาท เช่น กิจกรรมปลูกป่าชายเลน เป็นต้น แต่เนื่องด้วยการเลี้ยงอาหารผู้สูงอายุนั้น มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทำให้ทริปนี้มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ ท่าน 1,150 บาท ซึ่งร่วมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการทำกิจกรรมแล้ว
รถแล่นพาเรามาตามเส้นทาง จุดหมายแรกของเราในวันนี้คือ วัดไชยวัฒนาราม ทันทีที่รถของเราจอด น้องอาสาฯ ก็ลงมายืนตั้งแถว กล่าวต้อนรับและเดินนำหน้ากลุ่มของพวกเราเพื่อไปยังโมเดลของวัดไชยวัฒนาราม พร้อมบรรยายให้ทราบคร่าว ๆ ของประวัติความเป็นมา
วัดไชยวัฒนาราม ได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2173 โดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนที่ที่เป็นบ้านเดิมของพระองค์เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายพระราชมารดา แต่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือนครละแวกโดยจำลองแบบมาจากปราสาทนครวัด
วัดไชยวัฒนาราม
วัดไชยวัฒนาราม มีปรางค์ประธานและปรางค์มุมอยู่บนฐานเดียวกัน พระปรางค์ประธานนำรูปแบบของพระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้นมาก่อสร้าง แต่ปรางค์ประธานที่วัดไชยวัฒนารามทำมุขทิศยื่นออกมามากกว่า บนยอดองค์พระปรางค์ใหญ่อาจเคยประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็ก สื่อถึงพระเจดีย์จุฬามณีบนยอดเขาพระสุเมรุ
พระอุโบสถ หน้าปรางค์ประธาน
รอบพระปรางค์ใหญ่ล้อมรอบไปด้วยระเบียงคตที่เดิมนั้นมีหลังคา ภายในระเบียงคตประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่เคยลงรักปิดทองจำนวน 120 องค์ เป็นเสมือนกำแพงเขตศักดิ์สิทธิ์ ตามแนวระเบียงคตตรงทิศทั้งแปดสร้างเมรุทิศ และ เมรุมุม (เจดีย์รอบๆพระปรางค์ใหญ่) ภายในเมรุทุกองค์ประดิษฐานพระพุทธรูป ภายในซุ้มเรือนแก้วล้วนลงรักปิดทอง ฝาเพดานทำด้วยไม้ประดับลวดลายลงรักปิดทองเช่นกัน
ระเบียงคตประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่เคยลงรักปิดทองจำนวน 120 องค์
พระอุโบสถ สร้างอยู่ทางด้านหน้ากำแพงเมรุทิศเมรุราย นอกระเบียงคต ปัจจุบันเหลือแต่ฐาน ข้างๆมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง มีกำแพงล้อมรอบโบราณสถานสำคัญแหล่านี้ถึง 3 ชั้น และ มีปรางค์เจดีย์ขนาดย่อมอีกจำนวนหนึ่งซึ่งสร้างเพิ่มในภายหลัง
เมรุทิศเมรุราย ตั้งล้อมรอบพระปรางค์อยู่ทั้งสิ้น 8 องค์ โดยผนังภายในเมรุเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปใบไม้ใบกนก ซึ่งลบเลือนไปมากแล้ว ผนังด้านนอกของเมรุมีภาพปูนปั้นพุทธประวัติ จำนวน 12 ภาพ ซึ่งในปัจจุบันเลือนไปแล้วเช่นกัน แต่เมื่อ 20 ปีที่แล้วยังสามารถเห็นได้ชัด เมรุเป็นทรงปราสาท ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 7 ชั้น รองรับส่วนยอดที่ ชื่อที่มานั้นนำมาจากเมรุ พระบรมศพพระมหากษัตริย์สมัยพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีแนวความคิด มาจากคติเขาพระสุเมรุอีกต่อหนึ่ง
ถ่ายรูปหมู่ร่วมกัน
หลังจากบรรยาย และนัดหมายเวลาให้มาเจอกันเรียบร้อย น้อง ๆ ก็ให้เวลาอิสระแก่พวกเราในการจะเดินชม เดินเที่ยว และถ่ายภาพสวย ๆ กลับไปอวดกัน แต่ขอบอกเลยว่า วัดไชยวัฒนารามวันนี้ ผู้คนตื่นตัวกับประวัติศาสตร์ตามละครบุพเพสันนิวาสเป็นอย่างมาก ล้วนแต่ออกมาแต่ชุดไทยเป็นออเจ้า เดินสไบปลิวสไสวรอบวัดไชยฯ กันอย่างสวยงาม
พระบรมราชานุสาวรีย์พระปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้สร้างวัดพุทไธศวรรย์ (พระเจ้าอู่ทอง), พระมหากษัตริย์ผู้กู้ชาติ (สมเด็จพระนเรศวรมหาราช) และพระอนุชา (สมเด็จพระเอกาทศรถ) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓
ถัดจากวัดไชยวัฒนาราม เราก็มุ่งหน้าตามรอยละครมาอีกวัดหนึ่ง ซึ่งอยู่ในฉากที่แม่หญิงการะเกดเปิดประตูพยนต์ ต้านมนต์ที่พระอาจารย์ชีปะขาวกำกับไว้ เข้าไปยังค่ายซ้อมรบของหมื่นสุนทรเทวา และหมื่นเรืองราชภักดีได้ นั่นคือ วัดพุทไธศวรรย์
องค์พระพุทธไสยาสน์ แห่ง วิหารพระพุทไธศวรรย์ ด้วยพุทธศิลป์และลักษณะรูปแบบของอาคาร อาจกำหนดอายุของพระพุทธไสยาสน์และพระวิหารหลังนี้ อยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาวัดพุทไธศวรรย์ เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งมีฐานะเป็นพระอารามหลวง (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา, ๒๕๐๐, หน้า ๒๑๕) ซึงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว ๓ ปี โดยเลือกภูมิสถานบริเวณที่เรียกกันว่า ตำบลเวียงเหล็ก เรื่องราวของการสร้างวัดนี้ปรากฎอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า
"ศักราช ๗๑๕ ปีมะเส็ง เบญจศก (พ.ศ. ๑๘๙๖) วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑ ค่ำ เพลา ๒ นาฬิกา ๕ บาท ทรงพระกรุณาตรัสว่า ที่พระตำหนักเวียงเหล็กนั้นให้สถาปนาพระวิหารและพระมหาธาตุเป็นอารามแล้ว ให้นามชื่อ วัดพุทไธศวรรย์"
ในจดหมายเหตุโหรได้กล่าวถึง เหตุการณ์ครั้งที่พระเจ้าอู่ทอง ทรงอพยบพาไพร่พลหนีโรคภัยมาจากเมืองอู่ทองนั้น ในตอนแรกได้มาตั้งที่ตำบลเวียงหลัก เมื่อปีกุน จุลศักราช ๗๐๙ (พ.ศ. ๑๘๙๐) และได้พักไพร่พลอยู่ ณ ที่นี้ถึง ๓ ปี จนกระทั้งเห็นว่าไฟร่พลของพระองค์พ้นจากความอิดโรย มีความเข้มแข็งขึ้น จึงยกไพร่พลข้ามแม่น้ำมาสร้างพระนครศรีอยุธยา อยู่ในบริเวณปัจจุบันและทำพระราชพิธีราชาภิเษกสถาปนาพระนคร เมื่อปีเถาะ โทศก จุลศักราช ๗๑๒ (พ.ศ. ๑๘๙๓) (กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ พระราชหัตถเลขา เล่ม ๑, ๒๕๐๖, หน้า ๓๔๒)
ระเบียงคต และพระพุทธรูปรายล้อมรอบระเบียง ส่วนหนึ่งในฉากของละครดังบุพเพสันนิวาส
พระระเบียง พระพุทธรูปเหล่านี้แต่เดิมเป็นพระพุทธหินทราย ฉาบปูนและลงรักปิดทอง ต่อมาได้ชำรุดทรุดโทรมลง ต่อมาได้รับการบูรณะปั้นใหม่ขึ้นมาทั้งหมด โดยยึดเอาพุทธศิลปะแบบสุโขทัยเป็นหลัก
พระมหาธาตุ (ปรางค์ประธาน)
พระมหาธาตุ หรือพระปรางค์ประธานองค์นี้ จะมีห้องพระครรภธาตุ ภายในมีพระเจดีย์ทรงปราสาทยอด ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เริ่มสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น
เมื่อเดินผ่านวิหาร และองค์ปรางค์ประธานออกไปยังนอกกำแพงนั้น เราจะได้พบกับพื้นที่ ๆ เป็นสถานที่ถ่ายทำละครดังบุพเพสันนิวาส ในฉากสนามซ้อมรบ และการพบกันครั้งแรก ของอาจารย์และศิษย์ ท่านอาจารย์ชีปะขาว และการะเกด
ปรางค์ประธาน ยังคงลักษณะสถาปัตยกรรมที่สง่างาม
องค์พระปรางค์ซึ่งเป็นประธานของวัด ตั้งหันหน้าไปสู่ทิศตะวันออก อยู่บนฐานไฟทีที่รองรับไปถึงมณฑปที่อยู่ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้อีก ๒ หลัง ลักษณะโดยทั่วไปขององค์พระปรางค์ได้รับอิทธิพลรูปแบบของสถาปัตยกรรมมาจาก ปราสาทขอม ซึ่งเปรียบประดุจเขาพระสุเมรุ หรือเขาไกรลาสที่ประทับของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ในการสร้างปราสาทตามคติเดิมของขอม ได้จำลองตัวอาคารหรือเรีอนธาตุซ้อนกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไปตามลำดับ ซึ่งก็คือ วิมานของเทพเจ้า และมีเทพผู้รักษาทิศอยู่ครบทุกด้าน ประจำอยู่ตามทิศต่าง ๆ
ระเบียงคต
วิหารพระพุทไธศวรรย์
ลักษณะของพระวิหารมีลักษณะแอ่นท้องสำเภาเล็กน้อย เจาะช่องหน้าต่างสี่เหลี่ยมทางด้านยาวด้านละ ๓ ช่อง รวม ๖ ช่อง มีช่องประตูทางเข้า ๑ ช่อง เครื่องบนหลังคาหักพังไปหมดสิ้นแล้ว องค์พระพุทธไสยาสน์หันพระเศียรไปทางทิศตะวันตกตรงกับช่องประตูทางเข้าพอดี แม้พระพุทธไสยาสน์องค์นี้จะได้รับการบูรณะซ่อมแซมใหม่แล้วก็ตาม แต่จากพุทธศิลป์และลักษณะรูปแบบของอาคาร อาจกำหนดอายุของพระพุทธไสยาสน์และพระวิหารหลังนี้ อยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓
พระพุทธไสยาสน์
ออกจากวัดพุทไธสวรรย์ เราก็มุ่งหน้าไปยังวัตถุประสงค์หลักของการทำกิจกรรมในครั้งนี้ นั่นคือ "เลี้ยงข้าวคนชรา" ณ ศูนย์ผู้สูงอายุวาสนะเวศม์
ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ สร้างขึ้นเนื่องมาจาก คณะศิษยานุศิษย์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้สร้างถวายเพื่อถือเป็นสิริมงคลและพระบารมีธรรม เมื่อครั้งยังมีพระชนม์ได้ทรงหายประชวร ในปีพุทธศักราช 2528 เพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์คนชรา ที่ได้รับความยากลำบาก และประสบปัญหาทางสังคมให้ได้มีที่อยู่อาศัย
ขนข้าวของบริจาคไปรวมกัน
สมเด็จพระสังฆราช ทรงโปรดประทานชื่อสถานสงเคราะห์แห่งนี้ว่า “วาสนะเวศม์” ซึ่งมีความหมายว่า “ที่อยู่ของผู้มีบุญ” โครงการนี้เป็นโครงการร่วมมือระหว่างมูลนิธิสมเด็จพระสังฆราช(วาสนะเวศม์ฯ) และกรมประชาสงเคราะห์เดิม และได้มีการปรับโครงสร้างส่วนราชการจึงได้มาอยู่สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ฟังบรรยายก่อนการเลี้ยงอาหาร
เมื่อมาถึงเราก็ต้องเข้าฟังบรรยายเล็ก ๆ เกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติในการเลี้ยงอาหารผู้สูงอายุ ณ สถานสงเคราะห์แห่งนี้ ก่อนที่จะเดินทางไปเลี้ยงอาหารพวกท่านตามอาคารต่าง ๆ ที่ท่านผู้สูงอายุเหล่านั้นพำนักอยู่
ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ แห่งนี้สามารถรองรับผู้สูงอายุได้ 200 ท่าน และครอบคลุมการสงเคราะห์เฉพาะ 8 จังหวัดในภาคกลาง ซึ่งส่วนหนึงได้รับงบประมาณช่วยเหลือจากภาครัฐ และส่วนหนึ่งเป็นการเรียกเก็บค่าบริการรายเดือนจากผู้สูงอายุและญาติที่พอมีกำลังในการสนับสนุนทางศูนย์
เจ้าหน้าที่แจ้งให้เราทราบว่า ทุกครั้งที่มีคนมาเลี้ยงอาหาร ผู้สูงอายุที่นี่ จะรู้สึกพิเศษมาก เพราะนอกจากจะได้กินอาหารพิเศษนอกเมนูประจำแล้ว ยังรู้สึกอบอุ่นใจเป็นพิเศษที่มีคนมาเยี่ยมมาหา พวกเราช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการเตรียมอาหาร ตักใส่ถาดหลุม และเสิร์ฟให้กับท่านผู้สูงอายุเหล่านั้น ด้วยความอิ่มเอิมใจ
รอคิวเสิร์ฟอาหารให้ผู้สูงอายุ
เสิร์ฟถึงมือ ผู้สูงอายุที่นี่ทุกท่านสุภาพ เรียบร้อย และน่ารัก
เมื่อเสิร์ฟอาหารให้ท่านเรียบร้อยแล้ว ท่านเหล่านั้น ยังไม่กินอาหารที่ได้รับ และเรียกให้เรามานั่งกันตรงกลางโรงอาหาร เพื่อรับคำขอบคุณ ให้ศิลให้พร และร้องเพลงให้เป็นสิ่งตอบแทน เล่นเอาหลาย ๆ คนน้ำตารืนกันเลยทีเดียว
รับคำขอบคุณ รับศิลรับพร จากผู้สูงอายุ
เสร็จแล้วคุณตา คุณยายก็ร้องเพลงให้ฟัง ก่อนกินข้าวกลางวันกันอย่างอร่อย
เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุที่ศูนย์แห่งนี้
เมื่อเลี้ยวข้าวคุณตา คุณยายเรียบร้อยแล้ว เราก็กลับมายังหอประชุมใหญ่ เพื่อฟังผู้อำนวยการศูนย์กล่าวรายงานถึงการปฏิบัติงาน และพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของศูนย์แห่งนี้ พร้อมรับมอบเงินช่วยเหลือที่รวบรวมได้จากผู้ร่วมทริปในครั้งนี้
ออกจากศูนย์ฯ วาสนะเวชศ์ แบบอิ่มใจ ครานี้มาอิ่มกายกันกับอาหารกลางวันบ้าง ที่ห้องอาหารจันทร์ลอย โรงแรมโต่บักเส็ง โดยมื้อนี้เป็นแบบบุฟเฟต์อาหารไทย บอกไว้ตรงนี้เลยค่ะว่ารสชาติดีจริง ๆ ผ่านไปผ่านมาก็ลองแวะมาชิมดูกันได้นะคะ
จบจากอาหารมื้อกลางวัน ก็มุ่งหน้าต่อมาที่วัดพนัญเชิง ไม่ได้มาเที่ยวชมวัดแต่อย่างใดค่ะ เพราะเวลาค่อนข้างจำกัด ใครว่าอยุธยาเล็ก วันเดียวเที่ยวไม่หมดนะเออ เรามาขึ้นเรือเพื่อล่องชมเกาะอยุธยากันที่นี่ค่ะ
ลงเรือล่องน้ำ ชมเกาะอยุธยา
อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า อยุธยานั้น มีลักษณะเป็นเกาะ รูปร่างคล้ายเรือสำเภา ดังนั้น ในเวลามีศึก ผู้คนก็จะอพยพเข้ามาในกำแพงเมือง หรือตัวเกาะอยุธยานั้นเอง และภายหลังจากเสร็จศึกสงคราม ก็อพยพกลับไปทำมาหากินรอบ ๆ พระนครเฉกเช่นเดิม
ป้อมเพชร หนึ่งในป้อมที่ถูกกล่าวถึงในเรื่องบุพเพสันนิวาส
เป็นป้อมสำคัญที่สุดในบรรดา 29 ป้อม สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา พ.ศ. 2123
เส้นทางล่องเรือของเราจึงเริ่มต้นที่วัดพนัญเชิง และไปสิ้นสุดลงที่วัดกษัตราธิราช ในจุดบรรจบของแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี โดยการล่องเรือดังกล่าว มีมัคคุเทศน์ประจำเรือ และพี่พลขับนิสัยดี ให้ความรู้เกี่ยวกับอยุธยาเทียบเคียงกับเรื่องราวในละครบุพเพสันนิวาสไปเรื่อย ๆ ตลอดลำนัำ
วัดนักบุญยอแซฟ ถือเป็นศูนย์กลางของคริสตชนชาวสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีประวัติมาตั้งแต่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อปีแยร์ ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต กับบาทหลวงอีก 2 องค์ ได้เข้ามาทูลขอสร้างโบสถ์คริสต์และโรงเรียน สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงพระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งให้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในสมัยนั้นว่า “ค่ายนักบุญยอแซฟ”
จนถึงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง โบสถ์ได้ถูกเผาทำลายและถูกปล้นสะดมทรัพย์สินไปหมด บาทหลวงฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว จึงได้กลับมาบูรณะวัดอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2374 และโบสถ์หลังปัจจุบันคือในสมัยคุณพ่อแปร์โร ที่ได้ทำพิธีเสกในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2426 โบสถ์ได้ทำการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2547 ปัจจุบันตัวโบสถ์หลังปัจจุบันนี้มีอายุแล้วกว่า 134 ปี
บรรยากาศบนเรือ และขนมที่น้อง ๆ จัดหามาให้ลองชิม
เรือล่องผ่าน วัดพุทไธสวรรย์
(ซ้ายบน) พระตำหนักของพระนางเจ้าสิริกิตต์ พระบรมราชินีนารถในรัชกาลที่ ๙
(ซ้ายล่าง) วัดพุทไธสวรรย์ (ขวา) เจดีย์ศรีสุริโยทัย
ขึ้นเรือที่ท่า วัดกษัตราธิราช
วัดกษัตราธิราช
วัดกษัตราธิราชวรวิหาร เดิมชื่อ "วัดกษัตรา" หรือ "วัดกษัตราราม" เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีพระปรางค์เป็นประธานของวัด ในสมัยรัชกาลที่ 1 เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวัง และกรมขุนอิศรานุรักษ์ (เกศ) ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดกษัตราธิราช" ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
คณะพร้อมเข้าชม และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดกษัตราธิราช
วิหารสมเด็จพระพนรัตน์
วิหารด้านใน ที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอายุกว่าร้อยปี
ที่วัดกษัตราธิราชแห่งนี้ น้อง ๆ อาสาฯ พาเราไปกราบพระประธานที่พระอุโบสถ และพาพวกเรานั่งรถต่อกันมายังวัดพระศรีสรรเพชญ์ หรือ วัดพระศรีสรรเพชญ ซึ่งเป็นวัดประจำพระราชวัง ในอาณาจักรอยุธยาโบราณ อีกทั้ง ยังได้รับการประกาศให้เป็น "มรดกโลก" แทนที่จะเป็นพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาา เพราะว่าเวลาไม่พอ ซึ่งฉันก็เห็นด้วย เพราะการเดินชมพิพิธภัณฑ์นั้น หากจะให้ได้อรรถรสต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ซึ่งต้องมีเวลามากกว่าที่เหลืออยู่นี้
วัดพระศรีสรรเพชญ์ มรดกโลก
น้องมัคคุเทศน์ ของกลุ่มอาสาฯ ได้บรรยายให้เราฟังถึงประวัติ ความสำคัญต่าง ๆ ของราชธานีโบราณและวัดพระศรีสรรเพชญ์แห่งนี้ ได้อย่างน่าประทับใจ พร้อมเชิญชวนให้พวกเราเข้าไปกราบพระมงคลบพิตร ในวิหารพระมงคลบพิตร ที่อยู่ในบริเวณเดียวกันเพื่อเป็นสิริมงคล ก่อนที่จะให้เราใช้เวลาส่วนตัวในการดืมด่ำ ซึมซับประวัติศาสตร์ที่รายล้อมอยู่รอบกายเรานับร้อย ๆ ปี
พระมงคลบพิตร ในวิหารพระมงคลบพิตร
วัดพระศรีสรรเพชญ์ เดิมในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ใช้เป็นที่ประทับ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่ทางตอนเหนือ แล้วจึงโปรดฯ ให้ยกเป็นเขตพุทธาวาส เพื่อประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมือง จึงเป็นวัดในเขตพระราชวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ถูกสถาปนาขึ้นในมูลเหตุการสร้างวัด คือ สร้างเพื่อเป็นวัดประจำพระราชวัง
เจดีย์ทรงลังกา สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ,
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 และ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2
น่าเสียดายที่เวลาเดินทางของฉันกับกลุ่มน้อง ๆ อาสามาด้วยกัน ต้องจบลงก่อนเวลาอันควร เนื่องจากติดภาระกิจอื่นกระทันหัน ทั้ง ๆ ที่น้อง ๆ ยังมีกิจกรรมต่อให้เราได้ไปศึกษาวิถีชุมชน เดินเที่ยวเลือกซื้อของกินของใช้กันต่อที่ ตลาดถนนคนเดิน (หลังศาลากลางเก่า) ก่อนที่จะเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร และถือว่าเป็นการสิ้นสุดทริป “อาสาพาออเจ้า เลี้ยงข้าวคนชรา ทัศนศึกษาตามรอยละคร” อันน่าประทับใจ ทั้งโปรแกรมการเดินทาง ผู้ร่วมเดินทาง ที่ทุกคนต่างมีหัวใจจะมาทำสาธารณะประโยชน์ร่วมกันเป็นทุนอยู่แล้ว อีกทั้ง ยังได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากน้อง ๆ "กลุ่มอาสามาด้วยกัน" อีกด้วย
"กลุ่มอาสามาด้วยกัน" เป็นใคร ???
กลุ่มอาสามาด้วยกัน คือ กลุ่มเพื่อนที่เรียนหนังสือมาด้วยกัน และร่วมทำกิจกรรมมาด้วยกัน จนวันหนึ่ง เกิดความคิดที่ว่า การทำสาธารณะประโยชน์ ไม่ควรถูกจำกัดอยู่ที่กลุ่มเพื่อน ควรขยายโอกาสในการทำสาธารณะประโยชน์ ด้วยการจัดกิจกรรม เชิญชวนให้บุคคลทั่วไป ทั้งที่สนใจ และไม่สนใจ ได้รับรู้ว่า ยังมีกลุ่มคน กลุ่มเล็ก ๆ ชวนไปทำสาธารณะประโยชน์ร่วมกันอยู่ตรงนี้
ด้วยการจัดกิจกรรมสาธารณะประโยชน์อยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการ ปลูกป่าชายเลน, เพาะกล้าโกงกาง, สร้างฝาย และอื่น ๆ อีกมากมาย ไปแวะเยี่ยมชม ให้กำลังใจ ค้นหาตัวตนของพวกเขา หรือเข้าร่วมกิจกรรมกับพวกเขาได้ที่ เฟสบุ๊ค อาสามาด้วยกัน :: https://www.facebook.com/asa.kreate/ ลองดูนะคะ เผื่อคุณจะค้นพบอะไรดี ๆ ในตัวคุณเพิ่มขึ้นอีก
ขอบคุณที่รับชม
สายลม ที่ผ่านมา
วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2561 เวลา 10.39 น.