"ตากใบ" เราเคยโดนหลอกด้วยภาพความรุนแรงมานาน จนครั้งนี้ได้มาสัมผัสเองถึงรู้ว่า "ตากใบ" มีดี
เราเดินทางด้วยรถไฟขบวน "ทักษิณารัถย์" ออกจากหัวลำโพง มาสุดปลายทางที่ชุมทางหาดใหญ่
พอถึงหาดใหญ่ก็รอชาวคณะมารับแล้วออกเดินทางตรงไปยังตากใบกันเลย เป็นอีกทริปที่ไม่ได้เที่ยวคนเดียว มาถึงจุดนัดหมายกับ ชุมชนท่องเที่ยวตากใบ ที่วัดชลธาราสิงเห หรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย บ่ายโมงกว่าแล้ว มาถึงก็กินมื้อเที่ยงกันก่อนเลย อาหารพื้นถิ่นอร่อยมาก ยิ่งขนมชั้นยิ่งอร่อย
พออิ่มแล้วก็เดินชมพิพิธภัณฑ์ภายในวัดชลธาราสิงเหกันต่อเลย ที่นี่จะมีของเก่าและประวัติเกี่ยวกับช่วงที่ทางไทยใช้วัดชลธาราสิงเห ใช้เป็นเหตุผลอ้างอิงในการปักปันเขตแดนในปี 2452 ในอดีตเมื่อมลายูตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ อังกฤษพยายามที่จะผนวกจังหวัดนราธิวาสให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคม ด้วยกุศโลบายอันแยบยล สยามนั้นได้ใช้ข้ออ้างว่าวัดชลธาราสิงเห เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอตากใบ มีอาคารสถานที่และถาวรวัตถุเป็นแบบไทย ที่สร้างมาอย่างวิจิตรพิสดารทรงคุณค่าในเชิงศิลป์ ยากยิ่งที่คนต่างชาติจะสร้างสรรค์ได้ ประกอบกับท้องที่อำเภอตากใบมีวัด และคนไทยพุทธอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สุดท้ายอังกฤษจึงได้ยอมรับให้เป็นจังหวัดนราธิวาสในประเทศไทยต่อไป มีผลให้ 4 อำเภอชายแดนไทยไม่ต้องผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย
หลังจากเดินชมและฟังการบรรยายจากไกด์ชุมชนแล้วก็เดินต่อมาที่อุโบสถ เป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ หลังคาซ้อน 3 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน ประดับลวดลายปูนปั้น เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเขียนโดยพระภิกษุชาวสงขลา เป็นลายเทพชุมนุม พุทธประวัติ และวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวบ้าน
ออกจากอุโบสถก็ตรงมาที่พลับพลาที่ประทับริมแม่น้ำตากใบ สร้างเมื่อ พ.ศ.2458 ในการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และได้ทรงทอดพระเนตรการแข่งเรือในแม่น้ำตากใบ ปัจจุบันบูรณะเพื่อเป็นจุดพักผ่อนและการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้
กินลมชมวิวกันพอสมควรก็มาถึงสะพานคอยร้อยปี ที่สร้างขนานกับสะพานไม้อันเก่าข้ามจากฝั่งตากใบไปเกาะยาว
เดินข้ามไปจนถึงฝั่งเกาะยาวไกด์ชุมชนบอกที่นี่ปลอดภัยอยู่กันอย่างพี่น้อง ถึงจะนับถือคนละศาสนาก็ตาม จุดที่ต้องมาถ่ายรูปด้วยก็คงเป็นเสาธงที่หาดเกาะยาว ไกด์ชุมชนบอกเปลี่ยนธงทุกเดือนแต่ลมแรงเลยขาดแบบที่เห็น
หลังจากนั้นย้อนกลับมาที่วัดชลธาราสิงเห ชุมชนมีการผูกข้อมือต้อนรับพวกเราในฐานะนักท่องเที่ยวที่มาเยือน บนกุฏิเจ้าอาวาสหลังเก่า
หลังเสร็จการผูกข้อมือก็ได้เวลาอาหารเย็นที่ชุมชนจัดไว้ให้ กินไปคุยไปสนุกสนาน (ขออภัยภาพไม่สวยนัก)
การพักโฮมสเตย์กับชุมชนท่องเที่ยวตากใบ เรามากลุ่มใหญ่ก็เลยต้องแยกนอนชาย-หญิง ห่างกันไม่ไกลนัก ที่นอนก็จะประมาณนี้
เช้าวันที่ 2 ของทริป ชุมชนพามาร้านน้ำชาแบดี ร้านขึ้นชื่อและเก่าแก่ที่สุดของตากใบ ที่นี่เป็นเหมือนสภากาแฟของชุมชน มานั่งฟังคนในชุมชนพูดคุย มาสัมผัสวิถีชีวิตคนที่นี่ มานั่งฟังนกเขาตัวละหลายแสนร้องกัน
อิ่มกันแล้วก็เดินข้ามสะพานคอยร้อยปีมาฝั่งเกาะยาวเพื่อที่จะนั่งเรือชมวิถีชีวิตสองฝั่งแม่น้ำตากใบไปจนถึงจุดเขตแดนไทย-มาเลเซีย
ขึ้นจากเรือก็มาดูม๊ะทำใบยาสูบกันก่อนกลับ ที่นี่ยังใช้วิธีรมควันเพื่อให้ใบยาสูบแห้ง ใบยาสูบจะหอมจากควันที่ใช้รมด้วย
จากนั้นไปดูงานสานสุ่มไก่ที่บ้านลุงบวร ลุงจะสานได้วันละ 2 ใบ ส่งขายฝั่งมาเลเซียได้ใบละ 700-1,000 บาท
ความพิเศษของบ้านลุงบวรคือเป็นบ้านแบบโบราณของตากใบ หลังคาเป็นอิฐที่สั่งมาจากเกาะยอ ปัจจุบันเหลือไม่กี่หลังเพราะอิฐแพง ดูแลซ่อมแซมยาก
คุณลุงบวรสอนสานสุ่มไก่ เราก็ขึ้นเรือนมานั่งคุยกับคุณป้าคู่ชีวิตลุงบวร (ลืมชื่อไปแล้ว ขออภัย) คุณป้าน่ารักมากอธิบายเกี่ยวกับบ้านโบราณตากใบให้ฟัง หยิบรูปสมัยคุณป้าสาวๆ มาให้ดู ได้เห็นวิถีสมัยก่อนจากภาพถ่ายและเรื่องเล่าจากคุณป้า
ที่บ้านลุงบวร ชุมชนท่องเที่ยวตากใบเตรียมขนมไทยและน้ำใบเตยไว้สำหรับทุกคน หอม อร่อย ชื่นใจ
ออกจากบ้านลุงบวรก็ไปกินมื้อเที่ยงที่ร้านขนมจีนเจ้าอร่อยของตากใบ อร่อยจริง รสจัดจ้าน ขนมหวานก็อร่อย
อิ่มหน่ำสำราญแล้วก็นั่งรถโชเล่ (มอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง) ไปวัดบางน้อย วัดนี้ก็สวยมากอีกเช่นกัน เจ้าอาวาสท่านรับกิจนิมนต์เลยไม่ได้เข้าโบสถ์
มาที่นี่เพื่อเรียนรู้การสานเสวียนหม้อจากก้านใบจาก ป้าแกสานได้หลายอย่าง ปกติขายที่หน้าบ้านมีคนมาซื้อทุกวัน
ออกจากวัดบางน้อยก็กลับโฮมสเตย์เพื่อทำกิจกรรมทำขนมจาก ช่วยกันห่อช่วยกันปิ้ง เราอยู่แผนกปิ้งได้รู้ว่าไม่ง่าย กลับเร็วไปก็ไม่สุก กลับช้าไปก็ไหม้ กว่าจะลงตัวออกมากินได้ก็เสียไปหลายอัน คุณป้าเป็นเจ้าดังที่ตากใบ
สนุกกับกิจกรรมมาตลอดวันแล้วก็ถึงฟรีไทม์ไปเดินตลาดชุมชนกัน
กลับมาถึงโฮมสเตย์ เครื่องสำหรับทำข้าวคลุกขมิ้นมาวางรอแล้ว ข้าวคลุกขมิ้นจะทำกินในช่วงฤดูฝนเพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย เครื่องสมุนไพรเยอะมาก ตอนโขลกต้องใส่ทุกอย่างโขลกให้เข้ากัน คลุกกับข้าวหอมกระดังงา ใส่ปลาทูเกาะเนื้อ และน้ำบูดู
เช้าวันสุดท้ายของชาวคณะแต่เราลืมจองตั๋วกลับเลยต้องนอนต่ออีกคืน เริ่มต้นวันใหม่ด้วยการไปดูอาทิตย์ขึ้นที่สะพานคอยร้อยปี
เราเห็นว่าจุดที่สวยต้องเป็นที่หาดเกาะยาวก็เลยเดินข้ามไป ไกด์ชุมชนบอกปลอดภัย ได้ภาพประมาณนี้ ช่วงฝนฟ้าไม่ค่อยเปิด
ข้ามกลับมาเจอทุกคนนั่งรอเราอยู่ ห้อยขากันสบายอารมณ์มาก (แต่จริงๆ กำลังโกรธที่เดินออกจากกลุ่ม ขอโทษที่ดื้อที่ซน)
มื้อเช้าง่ายๆ ที่ตลาดใกล้ด่านข้ามไปมาเลเซีย และได้สนุกเดินตลาด เราได้โสร่งจากที่นี่มาอีก 1 ตัว
ก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายกันกลับก็พากันไปบุกร้านขายปลากุเลา ปลากุเลาเค็มของฝากระดับพรีเมียมราคากิโลกรัมละ 1,600 บาท วิถีการห่อก็สุดแสนพรีเมียม กลิ่นไม่ออกสามารถนำขึ้นเครื่องบินได้เลย
ถึงเวลากลับมากินมื้อเที่ยง เอ้า...ชุมชนนำปลากุเลามาให้ชิม ปรุงรสด้วยการบีบมะนาว ใส่หอมแดง และพริก พร้อมข้าวหอมกระดังงาร้อนๆ กลิ่นหอมๆ แค่นี้ก็อร่อยมากแล้ว ทั้งปลากุเลาและข้าวหอมกระดังงาเป็นอาหารขึ้นโต๊ะเสวยสมเด็จพระเทพฯ ด้วย
กลุ่มใหญ่กลับไปแล้ว ส่วนเราชุมชนพามาเดินเล่นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว-เขาตันหยง
ขากลับพามาดูแหล่งปลูกข้าวหอมกระดังงาที่บ้านโคกอิฐ-โคกใน
เช้าวันสุดท้ายที่ตากใบ เราแวะทำบัตรประจำตัวประชาชนก่อน หายตอนอยู่หาดใหญ่ จากนั้นก็เดินเล่นชมเมืองตากใบด้วยตัวเอง
ถึงเวลาที่นัดรถตู้มารับไปส่งสนามบินนราธิวาส ขากลับได้ตั๋ว Thai smile
เป็นอีกทริปที่ดี ชุมชนท่องเที่ยวตากใบน่ารักมาก ดูแลดีมาก ถึงเราจะดื้อจะซนกว่าคนอื่นก็ยังไม่ว่า ขอบคุณที่ดูแล พาเที่ยว ถ่ายทอดสิ่งต่างๆ และขออภัยที่ดื้อที่ซน
ติดตามทริปเดินทางอื่นๆ ได้ที่:
IG: prapat / ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว
ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว
วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 15.48 น.