ถ่ายรูปที่ระลึกร่วมกัน
จบไปแล้วกับกิจกรรม "เพาะกล้า ให้เป็นป่า" โดย นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ได้เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิปลูกป่าในใจคน ตามศาสตร์พระราชา กับ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ในกิจกรรม “เพาะกล้า ให้เป็นป่า” เพื่อสนับสนุนโครงการ “ปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชา” ของกรุงเทพมหานคร อันเป็นการสนองพระราชดำริด้านการอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะแนวชายฝั่งบางขุนเทียน ปรับปรุงป่าชายเลนให้มีความสมบูรณ์ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และร่วมปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์
ปั้นเมล็ดพันธุ์เตรียมเอาไปยิง
“สำหรับกิจกรรม “เพาะกล้าให้เป็นป่า” ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายบริหารและพนักงานอาสากลุ่มเซ็นทรัล และภาคีเครือข่ายกว่า 250 คน เข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่า บนพื้นที่แปลงปลูกขนาด 13 ไร่ ในระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี เพื่อปลูกกล้าไม้โกงกางจำนวน 10,400 ต้น โดยจะมีการติดตามความต่อเนื่อง ทุก 3 – 6 เดือน ซึ่งนอกจากการลงพื้นที่ปลูกป่าโกงกางแล้ว ยังมีกิจกรรมปั้นเมล็ดพันธุ์ต้นแสม การเพาะต้นกล้า และการเก็บขยะในพื้นที่ป่าชายเลนอีกด้วย”
ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของกิจกรรมนี้ นอกจากคนเบื้องหน้าแล้ว ยังมีคนเบื้องหลังที่น่าสนใจอีกหลายคน วันนี้เราจะมาพูดคุยกับ “คุณดา-สุพนิดา คุณกิตติ” เจ้าของ บริษัท World iDea จำกัด บริษัทรับจัดงานอีเวนต์ทั่วไป ที่หันมาให้ความสนใจ และให้ความสำคัญงานสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในบทบาทนักบริหารของเธอ ได้ทำงานหลากหลาย จนเมื่อได้เริ่มทำงาน CSR ให้กับหลายหน่วยรวมถึงเซ็นทรัลกรุ๊ป ด้วยที่ผ่านมาทำให้เธอตระหนักและเริ่มคิดอยากปกป้องธรรมชาติที่ถูกคนรุกรานทันที
คุณดา สุพนิดา คุณกิตติ
โครงการแรกที่ได้ทำเป็นงานกิจกรรมเรื่องของขวดพลาสติก ที่เซ็นทรัลกรุ๊ปกำหนดให้ลูกค้านำขยะที่เป็นขวดพลาสติกมาแลกเพื่อเอาไปรีไซเคิล จากนั้นก็เริ่มมีกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมหลากหลายเข้ามาให้ได้สัมผัส ตั้งแต่งานเก็บขยะ ปลูกป่า ปลูกป่าชายเลน ดูแลทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางบก น้ำและทางทะเล ปล่อยปู ปลา คืนธรรมชาติ และนั่นทำให้เธอหลงรักและตระหนักถึงการช่วยกันดูแลด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ปักต้นกล้า ไม้ชายน้ำ
“จริงๆแล้วหลักสำคัญของ CSR ก็คือ ความรับผิดชอบทางสังคม โดยเฉพาะการทำธุรกิจกับสังคมจะต้องอยู่ร่วมกันช่วยเหลือเกื้อกูลเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน หน้าที่ของดาคือช่วยดูกิจกรรม รายละเอียด วิธีปฎิบัติ CSR ตามที่องค์กรต้องการหรือกำหนดว่า เหมาะสมกับองค์กรหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ช่วยคิดแนวทาง แต่ถ้าใช่ก็คิดรูปแบบและดำเนินกิจกรรมตามที่องค์กรกำหนด งานพวกนี้ค่อนข้างละอียดอ่อน ดาต่อยอดด้วยการไปเรียนเรื่องธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 6 ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญมาก เพราะเป็นหน่วยงานที่ริเริ่มทำโครงการ ต่อยอดเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมของไทย ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การงดรับถุงพลาสติกที่เกิดขึ้นในห้างสรรพสินค้า ตามปั๊มน้ำมัน และหน่วยงาน เราก็แนะนำให้ลูกค้าแจกถุงผ้าเพื่อนำมาใช้หมุนเวียน หรืออาจเปลี่ยนเป็นการแจกแต้ม แจกพ้อยท์ เพื่อดึงดูดให้คนสนใจ”
“CSR บางงานไม่เป็นต้องเพื่อสิ่งแวดล้อมเสมอไป หลายครั้งหลายองค์กร หลายธุรกิจที่เค้าเหมาะกับเด็กดาก็แนะนำลูกค้าว่า เด็ก ๆ ในถิ่นทุรกันดารก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย ยังมีเด็ก ๆ อีกมากมายที่เค้ายังรอความช่วยเหลือ ถ้าทุกคนมุ่งมาแต่เรื่องของสิ่งแวดล้อม เด็กเหล่านี้คงแย่ คงไม่มีโอกาสในการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ”
แม้นว่างาน CSR เป็นงานที่แต่ละบริษัทมีงบประมาณให้ไม่มากนัก แต่ด้วยทัศนคติที่ดีที่มีในงานของเธอ เธอจึงคิดเสมอว่า งานทุกชิ้น กิจกรรมทุกอย่าง หากใส่ใจไปในเนื้องานแล้วจะรู้ว่าเงินไม่ใช่คำตอบของชีวิต “ไม่ใช่ว่าเงินไม่สำคัญนะคะ สำคัญเพราะดาต้องดูแลลูกน้อง บางงานเงินไม่ได้มากเลย แต่พวกเราคือดากับน้องๆ ทำกันแล้วมีความสุขเท่านั้นเราก็แฮปปี้แล้ว”
“คุณดา-สุพนิดา คุณกิตติ” เจ้าของ บริษัท World iDea ผู้จัดอีเวนท์
“การดูแลสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นได้ง่าย ๆ โดยเริ่มจากตัวเอง สู่ส่วนงาน สู่องค์กร เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม ถ้าเราช่วยกันทุกอย่างจะดีขึ้น ตอนนี้ดาว่าเริ่มเห็นสัญญาณสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ตัวเลขจากองค์กรสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เริ่มบ่งชี้ให้เห็นว่าทรัพยากรถูกทำลายลดลง สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เริ่มดีขึ้น เอาง่าย ๆ ที่ดาสังเกตุเห็นจากคนใกล้ตัว แถวบ้านดาเริ่มมีการคัดแยกขยะแล้ว ขณะที่เด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ เริ่มรู้จักทิ้งขยะเป็นที่เป็นทาง รู้จักปลูกต้นไม้ ตรงนี้ทำให้ดาเชื่อว่าในอนาคตรุ่นลูกหลานคนไทย สังคมไทยจะเริ่มมีวินัยมากขึ้น
ณ วันนี้แม้การทำงานด้าน CSR ให้กับองค์กรต่าง ๆ ของ World iDea จะเป็นเพียงฟันเฟืองเล็ก ๆ ของสังคมใหญ่แต่เธอก็ภาคภูมิใจยิ่งนัก กับงานที่เธอทำ และได้ช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับโครงการ “ปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชา”
ยิงเมล็ดพันธุ์ไปเพาะกล้า
ปัจจุบัน ชายฝั่งทะเลของกรุงเทพมหานครประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งที่อยู่ในเขตบางขุนเทียน ทางด้านฝั่งอ่าวไทย เนื่องจากกระแสคลื่นและกระแสน้ำที่มีความรุนแรง ซึ่งได้กัดเซาะแนวชายฝั่งเดิมหายไปตลอดความยาวรวมกว่า 5.2 กิโลเมตร ทำให้ที่ดินเดิมของชายฝั่งกรุงเทพฯ ถูกกัดเซาะหายไปกว่า 3,000 ไร่ ประชาชนที่เคยอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นต้องอพยพหนีน้ำทะเลเข้ามาถึง 2 กิโลเมตรจากหลักเขตกรุงเทพฯ เดิม ซึ่งปัญหาเรื่องน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยเป็นปัญหาหนักและใหญ่มาก ที่ผ่านมาประเทศไทยสูญเสียที่ดินจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไปแล้วมากกว่า 1 แสนไร่ คิดเป็นมูลค่าราคาที่ดินประมาณ 1 แสนล้านบาท เหตุการณ์นี้ได้ก่อความเสียหายแก่ระบบนิเวศน์ป่าชายเลนอันเป็นแหล่งอาหาร และอนุบาลของสัตว์น้ำ ซึ่งในพื้นที่ป่าชายเลนนั้นมีสัตว์อาศัยอยู่มากถึง 74 ชนิด
ปลูกป่าชายเลน
หากป่าชายเลนหายไป สัตว์เหล่านี้ก็จะหายไปหมดด้วย ส่งผลทั้งต่อสภาพพื้นที่และก่อปัญหาต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในบริเวณดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ทำให้ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี โครงการ “ปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชา” จะช่วยแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน เพื่อฟื้นฟูและบำรุงรักษาทะเลกรุงเทพฯ ให้คงอยู่ต่อไป
สายลม ที่ผ่านมา
วันพฤหัสที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เวลา 17.39 น.