หลงรัก…เลย ตามรอย วิถีชีวิต อัตลักษณ์ถิ่นเลย
หลังทานมื้อเที่ยงเราเดินทางออกจากหมู่บ้านไทดำ บ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ จะเรียกชื่อไหนก็ได้เนาะ เป้าหมายข้างหน้า แพนพิมโฮมสเตย์ ซอย8 อำเภอเชียงคาน เรามีนัดกับป้านาง กับกิจกรรมทำ ผาสาดลอยเคราะห์…
เรือบินลำเล็กนำเรามุ่งหน้าสู่ท่าอากาศยาน จังหวัดเลย เพื่อเข้าร่วมเส้นทางสายวัฒนธรรมและธรรมชาติ นำพาเรามารู้จักจังหวัดเลย แบบลึกลงไป เวลาหกวันเต็มๆ คงเพียงพอที่จะทำให้เรา…หลงรักเลย
บอกกล่าวเล่าก่อนถึงที่มาที่ไปทาง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ชื่อย่อ อพท เราจะเรียกแบบสั้นๆดีกว่าเนอะ ได้ให้เกียรติเราได้ร่วมเดินทางท่องเที่ยวจังหวัดเลยแบบเน้นๆ ย้ำอีกที เน้นๆเลยครับผม หกวันแยกเป็น 3 รูปแบบเส้นทาง เส้นทางท่องเที่ยววิถีชีวิต อัตลักษณ์ถิ่นเลย เส้นทางท่องเที่ยวมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติและภูผา และเส้นทางท่องเที่ยวสีเขียว ไม้ดอกเมืองหนาว เออออ…ก็คิดนะว่ามันน่าจะจบครบทุกกระบวนท่าแล้วล่ะ ป่ะ…ได้เวลาไปเที่ยวแล้ว ไปกัน
ตามกำหนดการต้องมาถึงเลย เก้าโมงเช้าแต่เรามาถึงสิบโมงกว่า เรามาเครื่องบินนะ ไม่ได้ขับรถมาแล้วทำไมถึงมาช้าล่ะ.…ข้ามๆๆๆๆ
ภูพุทโธ……
รถตู้ของทาง อพท นำเราออกจากสนามบินจุดหมายแรก สำนักสงฆ์ดำรงธรรม ค่ายศรีสองรัก ตำบลศรีสองรัก อำเภอเมือง ที่ตั้งของ ภูพุทธโธ ที่นี่จะมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ พระพุทโธ หรือพระพุทธมารวิชัยสิริตรัยรัตนคุณ (พิชิตมาร) ซึ่งเป็นชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ทางเดินขึ้นสู่ภูพุทโธ ร่มรื่น เขียวขจี…
พระพุทโธ หรือพระพุทธมารวิชัยสิริตรัยรัตนคุณ (พิชิตมาร)
ชาวเลยจะขึ้นมา เครพ สักการะ และประกอบพิธีทางศาสนาอยู่เป็นประจำ ผู้เดินทางที่ผ่านเข้ามาในจังหวัดเลยต้องมากราบไหว้ ขอพรกันเกือบทุคน ไหว้พระขอพรกันแล้วก็เริ่มต้นเส้นทางสายแรกล่ะนะ…
ชุมชนบ้านไทดำ
สิบเอ็ดโมงกว่า เรามาอยู่ที่ บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน ที่ตั้งของหมู่บ้านไทดำ เราได้พบกับ อาจารย์ เพชรตระบอง ไพศูนย์ ยอดปราชญ์แห่งชาติพันธ์ไทดำ ผู้นำชุมชน ผู้นำวิถีชีวิตชาวไทดำอย่างแท้จริง
อาจารย์ เพชรตระบอง ไพศูนย์ ยอดปราชญ์แห่งชาติพันธ์ไทดำ
ด้วยมีความรักและความภูมิใจในความเป็นตัวตนตั้งแต่เด็ก จึงได้มีการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ประวัติศาสตร์ชาติพันธ์ุบอกเล่าเรื่องราวรวมทั้งบันทึกทุกสิ่งอย่าง สร้างพิพิธภัณฑ์ สร้างชุมชนบ้านไทดำจนเข้มแข็ง ที่สำคัญมีความรักและสำนึกในบุญคุณแห่งแผ่นดินไทย ที่ให้ที่อยู่ที่พักพิงเมื่อครั้งในอดีตที่บรรพบุรุษหนีภัยสงครามเข้ามายังประเทศไทยในหลายยุคหลายสมัย…
แต่กาลก่อน ชาวไทดำอาศัยอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทย อยู่ทางตอนเหนือของ สปป.ลาวและอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของประเทศเวียดนาม ประวัติศาสตร์อันยาวนานของ ชาวไทดำ มีหลายสิ่งอย่างน่าสนใจ ไทดำ มีภาษา มีตัวอักษรของตัวเอง มีความเชื่อเรื่องผีบ้านผีเรือน ไม่ให้กระทำชั่วทำสิ่งไม่ดี ถ้าทำสิ่งชั่วร้ายผีเรือนจะลงโทษ ชีวิตจะไม่เจริญก้าวหน้า
รอยยิ้มที่อบอุ่นของ ผู้หญิงไทดำในวัยชรา…
บริเวณโดยรอบชุมชนไทดำ……
พิพิธภัณฑ์ไทดำ ด้านล่างจะไว้ขายของที่ระลึก ตัวพิพิธภัณฑ์จะอยู่ชั้นบน…
อาจารย์ เพชรตระบอง ไพศูนย์ ได้บอกเล่าเรื่องราวของชาวไทดำ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ จากนั้นได้นำชมพิพิธภัณฑ์ไทดำ ที่อยู่ในชุมชนบ้านไทดำ มีหลายเรื่องน่าสนใจเช่น การจะแต่งงานกันของชาวไทดำฝ่ายชายต้องมานอนที่นอกชานบ้านฝ่ายหญิงเป็นเวลาครึ่งปี การเสียชีวิตของคนในบ้านในอดีตจะฝังไว้บริเวณบ้านทันที แต่ทุกเรื่องราวความเชื่อล้วนเป็นเรื่องในอดีต ปัจจุบันก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย
ข้าวของเครื่องใช้อายุเกินร้อยปี ภายในพิพิธภัณฑ์…
เสร็จจากการเดินชมพิพิธภัณฑ์ก็ได้เวลางานฝีมือ เป็นกิจกรรมน่ารักๆ การทำตุ้มหัวใจไทดำ เป็นของที่ระลึกเล็กน้อย จากชุมชนไทดำ…
สนุกสนาน เพลดเพลินกับการทำตุ้ม…
อันนี้มีไว้ขาย เป็นของที่ระลึกจ๊ะ…
ระหว่างทำตุ้มก็จะมีการขับร้องประสานเสียงบทเพลงไทดำ จากน้องๆ…
เรื่องราวน่าสนใจอีกมากมายของชาวไทดำ ถ้านำมาบอกเล่ากันคงต้องเขียนกันอีกหลายตัวอักษร อยากเชื้อเชิญให้ไปสัมผัสไปเรียนรู้ ไปให้ถึงไปให้เห็นด้วยตัวเองจะดีกว่า การเข้าเยี่ยมชมหมู่บ้านไทดำ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ไทดำ ไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถติดต่อล่วงหน้าได้ที่ เบอร์ 083 3322828
หลังทานมื้อเที่ยงเราเดินทางออกจากหมู่บ้านไทดำ เป้าหมายข้างหน้า แพนพิมโฮมสเตย์ ซอย8 อำเภอเชียงคาน เรามีนัดกับป้านาง กับกิจกรรมทำ ผาสาดลอยเคราะห์…
ตลอดช่วงบ่ายวันนี้เราอยู่ที่บ้านป้านาง อยู่ใกล้กับถนนคนเดินเชียงคานหาไม่ยาก ป้านางเป็นกันเองน่ารักมากๆ มาถึงก็เลี้ยงน้ำเลี้ยงหนม บวชฟักทองอร่อยมาก เสียดายไม่ได้ถ่ายรูปเก็บเอาไว้ให้ชื่นชม เหตุน่าจะถ่ายไม่ทัน…
ที่นี่เรามีกิจกรรมทำ ผาสาดลอยเคราะห์ อืมมมม…จะว่าถึงที่มาหรือวิธีการทำก่อนดีล่ะ ไปที่ความเป็นมาก่อนดีกว่า
“เฮ็ดเวียก” เป็นชื่อเรียกตามภาษาถิ่น แปลว่า การทำผาสาดลอยเคราะห์ นับแต่โบราณนานมานับร้อยปี พิธีลอยเคราะห์ลอยโศก ลอยโรคภัยไข้เจ็บ ความโชคร้ายต่างๆ ลงสู่สายน้ำโขงของชาวเชียงคานจะทำกันในช่วงออกพรรษาของทุกๆปี แต่ในปัจจุบัน สามารถทำได้ทุกวันแล้ว อะไรที่มันดีงาม ทำแล้วรู้สึกว่ามันดีนะ มันไม่มีผิดถูกตายตัวไปตลอดกาลนานเทอญ…
ป้านาง สวยสาวอารมณ์ดี ผู้สอนการทำ ผาสาดลอยเคราะห์…
ผาสาดจะมี 2 ขนาด ขนาดใหญ่เรียก ผาสาดสะเดาะเคราะห์ ไว้สำหรับปล่อยเคราะห์ใหญ่ ใครที่มีคิดว่าตัวเองมีเคราะห์ใหญ่ เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย อาการเจียนตาย ชะตาชีวิตจะขาด ก็ให้ลอย ผาสาดสะเดาะเคราะห์ ส่วนผาสาดขนาดเล็ก ก็เป็นเรื่องของการลอยทุกข์ลอยโศกทั่วๆไป มีเรื่องไม่สบายใจ ก็ปล่อยให้ลอยไปกับสายน้ำโขง ซึ่งในวันนี้เราจะมาทำผาสาดลอยเคราะห์กันเนาะ…
ป้านางกำลังอธิบายวิธีการขั้นตอนในการทำ…
เริ่มที่การนำแม่พิมพ์ไปจุ่มเทียนเหลว เพื่อขึ้นแบบดอกไม้…
ไม่ประสบความสำเร็จก็มีนะ…
ส่วนอีกด้านก็เตรียมทำกระทงรอ…
มาถึงวิธีการทำผาสาด เริ่มจากวัสดุอุปกรณ์ก่อน มีใบตอง กาบกล้วย ที่จะมาประกอบเป็นกระทง เทียน แบบแม่พิมพ์ดอกไม้ที่ทำจากมะละกอ เริ่มที่การตั้งกะทะหลอมเทียนให้ละลายเพื่อทำดอกไม้ นำแม่พิมพ์ที่ทำจากมะละกอแกะสลักให้สวยงามนำมาจุ่มในน้าเทียนไข ต้องจุ่มให้พอดี ในเวลาที่เหมาะสม แล้วน้ำไปจุ่มต่อในน้ำเย็น แล้วค่อยๆแกะเทียนที่ติดกับแบบ ก็จะได้เป็นดอกไม้สีสรรสวยงาม
นำมาประกอบกันเป็น ผาสาดลอยเคราะห์…
อีกด้านนึงก็นำกาบกล้วยมาเย็บเป็นกระทงทรงสี่เหลี่ยม เย็บใบตองเป็นทรงกล้วยส่วนสูงประมาณ 9 เซนติเมตร จากนั้นนำทั้งสองส่วนมาประกอบกัน ก็จะออกมาเป็น ผาสาดลอยเคราะห์ ส่วนใหญ่ดอกไม้ที่ใช้ในการทำจะมีจำนวน 9 ดอก เพื่อความเป็นสิริมงคล
จากนั้นก็จะมีพิธีพราหมณ์ มาช่วยปัดเป่าทุกข์ภัย ปลดปล่อยเคราะห์สิ่งไม่ดีออกจากชีวิต ก่อนจะนำผาสาดไปลอยที่แม่น้ำโขง ถือเป็นอันเสร็จพิธี โดยมีความเชื่อว่าเมื่อลอยไปแล้วก็จะหันหลังกลับทันที ไม่ต้องไปมองเหมือนกับการปลดปล่อยสิ่งไม่ดีไปแล้วถ้าเรายังหันกลับไปก็แสดงว่ายังไม่หมดเวรหมดกรรมกัน…จบ
พิธีพราหมณ์ ไล่เคราะห์ ปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัย…
ได้ทั้งความรู้ได้ทั้งทำพิธีลอยความชั่วร้ายลงแม่น้ำโขง ตามความเชื่อโบราณของชาวเชียงคาน ปลื้มปริ่มยิ้มละไม ได้เวลาหาอะไรลงท้อง มื้อเย็นเลยจัดปลาแม่น้ำที่ แพกลุ่มแม่บ้านอาหารพื้นเมืองเชียงคาน อร่อยมากมาก ก่อนไปเดินย่อยที่ถนนคนเดินเชียงคาน จบวันแบบเบาๆ พรุ่งนี้ยังมีอีกหลายเรื่องราวที่หลากวัฒนธรรมให้ค้นหากันต่อไป…
ร่ำลาวันนี้กันด้วยบรรยากาศ สายน้ำโขง แห่งเชียงคาน…
เช้าวันใหม่…เรื่องราววันนี้ยังอยู่บนเส้นทางสายวิถีชีวิต ยังคงเดินตามรอยวัฒนธรรมเมืองเลยกันต่อ เริ่มกันตั้งแต่เช้าตรู่มากมาก กับการตักบาตรข้าวเหนียว ตามวิถีแห่งเชียงคานที่ใครได้มาพักค้างอ้างแรมที่เมืองนี้ต้องไม่พลาด เนื่องด้วยเราเคยได้สัมผัสและเคยปฎิบัติมาในครั้งก่อนที่เคยมาเที่ยวเชียงคาน จึงขอสละสิทธิ์ แต่ขอใช้เวลาช่วงเช้า ออกไปวิ่งเบาๆรับอากาศดีดี วิวสายน้ำโขง บรรยากาศยามเช้าฝั่งลาว-ไทย เส้นทางเลียบริมโขง ณ วันนี้กับเมื่อหลายปีที่เคยมา มีการพัฒนาไปมากจริงๆ เส้นทางดีมากๆ ปูพื้นเรียบร้อย ระยะทางทอดยาวเพลิดเพลินจริงๆ…
การเดินทางครั้งใดจะประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี มันต้องมีทั้งความพร้อม โชคชะตาราศีดี ไม่มีอุปสรรค แต่ครั้งนี้ เราโชคไม่ค่อยดีแฮะ และเป็นครั้งเดียวตลอดการเดินทาง 6 วันที่เจออุปสรรคที่เราไม่สามารถแก้ไขได้…
โปรแกรมวันนี้ ช่วงเช้าเราจะขึ้นภูทอกไปชมพระอาทิตย์ยามเช้า ต่อด้วยไปเที่ยวแก่งคุ้ดคู้ แก่งหินที่โผล่เหนือสายน้ำโขง แต่…ฝนตก ตกหนัก ตกนาน ตกไม่หยุด ตกไปบันยะบันยัง ตกตั้งแต่ยังไม่เจ็ดโมงเช้ายันเที่ยง โหดมากกกกก…จบทุกโปรแกรมช่วงเช้า
อันนี้ขออนุญาตนำภาพ ภูทอก ที่ตัวผมเองเคยถ่ายไว้เมื่อกาลครั้งก่อนมาให้ชมกันนะครับ…
ขอบอกอีกครั้งนี่คืออุปสรรคเดียวจริงๆตลอดการเดินทาง…
เสียดายก็เสียดายเสียใจก็เสียใจ อยากขึ้นภูทอกอ่ะ เพราะเคยมาครั้งนึงแล้วเมื่อหลายปีก่อน ความสวยงามยังติดตราตรึงใจ ไม่เคยลืมเลือน แต่ก็คงทำได้แค่เสียใจ ชีวิตต้องเดินไปข้างหน้า งั้นไปเที่ยวต่อ กับโปรแกรมสุดท้ายท้ายสุดของเส้นทางสายวิถีชีวิต อัตลักษณ์ถิ่นเลย…
หลังจากที่เราต้องยอมแพ้ให้กับสายฝน ช่วงบ่ายทั้งทีมก็เดินทางมาถึง ศูนย์สาธิตผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย แดนดินถิ่น “ผีขนน้ำ” วันนี้เราจะมาเรียนศิลปะกัน ก่อนไปถึงตรงนั้น เรามารู้จัก ผีขนน้ำ กันก่อน เค้าคือใคร ใช่เครือญาติเดียวกันกับผีตาโขนหรือป่าว เอาแบบย่อๆพอให้เข้าใจนะ ถ้าจะให้ได้เรื่องได้ราว น่าจะไปหาอ่านได้ไม่ยาก ความรู้มีอยู่ในอากาศ อันนี้เรามาสร้างแรงบันดาลใจให้พี่ออกมาเที่ยวกัน…
ผีขนน้ำ การละเล่นพื้นเมืองของชาวนาซ่าว ที่มีมาแต่โบราณกาล เป็นเรื่องราวความเชื่อเรื่องการไหว้ผีบรรพบุรุษ ชาวนาซ่าวแต่เดิมคือ ชนกลุ่มน้อยเผ่าไทยพวน ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองหลวงพระบาง มาปลูกบ้านสร้างเรือนกันที่ บ้านนาซำหว้า ในกาลครั้งนั้นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจยังไม่มีจึงยึดถือการไหว้ผีบรรพบุรุษ ผีปู่ย่า เป็นการแสดงความกตัญญู ความเคารพ ตอบแทนผู้มีพระคุณ ทั้งยังเป็นการขอพรให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ขอฟ้าขอฝนให้ตกตามฤดูกาล สมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธันยาหาร
ในยุคแรกเริ่มจะมีการฆ่าวัวฆ่าควายนำมาเป็นเครื่องเซ่นไหว้ ต่อมาร่างทรงผีปู่ บอกว่า วัว ควาย นั้นมีบุญคุณมากหลาย ให้ทำ “แมงหน้างาม” หรือ “ผีขน” ขึ้นมาแทนการฆ่าวัวฆ่าควาย จึงมีชื่อเรียกในยุคแรกๆว่า การเล่นผีขน แต่ทุกครั้งที่มีการเล่นผีขน จะมีฝนตกลงมาทุกครั้ง ชื่อเรียกก็เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ชาวบ้านมีความเชื่อว่า ผีขนน้ำมาจากฟ้าทำให้ฝนตก จากนั้นจึงเรียกกันว่า ผีขนน้ำ มาจนถึงปัจจุบัน
การละเล่นผีขนน้ำจะมีทั้งหมด 3 วัน อันนี้จะมีส่วนคล้ายกับการละเล่นผีตาโขน(จะมีการบอกกล่าวเล่าเรื่องกันในครั้งต่อไป) เป็นเหมือนการทำบุญประจำปีของชาวนาซ่าว ส่วนจะเป็นวันไหนเวลาใด ในอดีตจะใช้การสื่อสารระหว่าง “จ้ำ” (ผู้ประกอบพิธีกรรม) กับเจ้าปู่จิรมาณพ และเจ้าปู่ผ่านพิภพ ผ่านบัวนางหรือเจ้าแม่นางเทียม (ผู้เป็นร่างทรงของเจ้าปู่ทั้งสอง) เพื่อกำหนดวันทำพิธี ปัจจุบัน กำหนดเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 หรือคือวันที่ต่อจากวันวิสาขบูชา เป็นวันที่เริ่มจัดงาน…
เอาแค่นี้พอเนาะ ที่เหลือถ้าสนใจจริงๆก็ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ไม่ยาก…
ย้อนมาที่ศูนย์สาธิตผีขนน้ำ กิจกรรมวันนี้คือการวาดหน้ากากผีขนน้ำ ได้เวลารื้อฟื้นวิชาระบายสี เป็นกิจกรรมที่สนุกผสมความเครียดนิดๆ ฮ่าาาาาาา ก็วาดกันตั้งหลายคน มันก็มีกลัวว่าจะสวยน้อยกว่าคนอื่นอยู่บ้าง ใช้เวลาชั่วโมงกว่า ก็เป็นว่าจบคาบวิชาศิลปะระบายสี บอกเลยว่าสวยทุกอัน…
หลายเรื่องราวของวิถีชีวิตล้วนมีคุณค่า มีความหมาย มีแง่มุมมากมายให้ได้ศึกษา ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติพันธ์ุชาวเผ่า การทำพิธีกรรมตามความเชื่อโบราณจนกลายมาเป็นประเพณีปฎิบัติในปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่เห็นได้คือ กาลเวลาเปลี่ยนโลกเปลี่ยน วิถีความเป็นอยู่เปลี่ยน แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้ การถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น คือความสำคัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่จะรักษาความดีงามของความเป็นตัวตนได้สืบไป
จบบริบูรณ์กับเส้นทางท่องเที่ยววิถีชีวิต อัตลักษณ์ถิ่นเลย แต่นี่แค่บางส่วนของเรื่องราวอีกมากมาย ที่ยังรอให้นักเดินทางได้ผ่านเข้ามาเที่ยว มาเยี่ยมมาชม มาศึกษาหาความรู้ ไว้มีคราวหน้าจะมาใหม่ แต่แค่นี้ก็รู้สึกแล้วว่า…หลงรักเลยแล้วล่ะ
ใครตามมาจนถึงบรรทัดนี้ ต้องตามต่อนะ ครั้งหน้าจะพาไปสู่เส้นทางสายธรรมชาติ ไปปีนผาไปสัมผัสอากาศเย็น ไปดูดอกไม้เมืองหนาว เร็วนี้นะจ๊ะ……
ฝากติดตามด้วยนะครับ…https://www.facebook.com/wildlife.feelfree/
คน ฟ้า ป่า น้ำ
วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เวลา 17.05 น.