พะเยา สุขแบบเบาเบา เพลิดเพลิน
เวลาใกล้ค่ำ อากาศเย็นสบาย ใกล้เคียงคำว่าหนาวปลายเดือนกุมภาพันธ์ เราอยู่ที่ เฮือนไทลื้อ อ.เชียงคำ ยืมชมการรำบายศรีของนางรำท้องถิ่น หน้าตาน่ารัก เป็นพิธีบายศรีสู่ขวัญที่ทางชาวบ้าน เชียงคำ ภูซาง ร่วมกันจัดเพื่อเป็นการรับขวัญนักวิ่งนักเที่ยวที่ได้เข้าร่วมงาน เที่ยวไปวิ่งไป Like A Local จากเชียงคำ ถึง ภูซาง (เรื่องราวเกี่ยวกับงานวิ่งอ่านได้จากที่นี่นะจ๊ะ https://www.facebook.com/runtravellers/ หรือจะดูจาก https://youtu.be/Lkz_B9joIEI ก็ได้นะ)
พิธีบายศรีสู่ขวัญ…
ก็จากการเดินทางมาวิ่งมาเที่ยวในครั้งนี้ เราก็เลยได้มารู้จัก พะเยา สุขแบบเบาเบา เพลิดเพลิน…
เรามาเริ่มต้นกันที่……จุดชมวิวภูลังกา กันดีกว่า เช้าวันใหม่หลังเสร็จสิ้นทุกภาระกิจเกี่ยวกับงานวิ่ง เราออกจากที่พักอำเภอเชียงคำ มุ่งหน้าสู่ ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา ระยะทางประมาณชั่วโมงครึ่ง คือไม่แน่ใจเรื่องระยะกี่กิโล เพราะหลับตลอดทาง แต่แน่ใจเรื่องเวลา ออกมาประมาณตีห้านิดๆถึงเกือบเจ็ดโมง…
รถจอดบริเวณจุดชมวิวภูลังการีสอร์ต เดินไปอีกนิดเดียว นิดเดียวจริงๆ ก็จะเห็นภาพที่นำมาฝากแล้ว ด้วย ณ ขณะนั้น เป็นเวลาที่โคตรดีงาม อากาศดี วิวดี บรรยากาศดี มันมาครบ มีทะเลหมอกเบาๆ ลอยอยู่ตรงหน้า สีขาวเป็นปุยโอบล้อมผาช้างน้อย ตัดสลับกันกับแนวเทือกเขาสันปันน้ำ ทันใดนั้นเองพระอาทิตย์ดวงกลมสีส้มแดง ก็ลอยเด่นพ้นยอดสันเขาเปล่งประกายยามเช้า ดีงามทุกขณะจิต…
หลงใหลในสายหมอกอยู่นานนับนาที ก็ต้องลากลับกันแล้ว ยังมีอีกหลายสถานที่ที่จะต้องไปเยือน แต่ต้องบอกเลยว่า ความงามของการชื่นชมทะเลหมอกที่นี่ ไม่แพ้ที่ใดๆในโลกเลยนะ คือ ได้รับยกย่องเป็นสถานที่ชมทะเลหมอกที่ติดอันดับหนึ่งใน 10 ของประเทศ ต้องมาเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้ง…
ออกจากจุดชมวิวภูลังกา นั่งหลับยาวๆกลับมาที่พัก เก็บข้าวของ คืนนี้จะไปนอนที่เมืองพะเยา แต่ยังไม่ถึงเวลาร่ำลา เชียงคำนะ ไปต่อกัน…
มีอีกสองสถานที่ ที่เราจะต้องไปเยือนเมื่อมาถึงเชียงคำ ที่แรกที่จะพาไปคือ วัดนันตาราม วัดเก่าแก่อายุเกินร้อยปีของเมืองเชียงคำ เดิมชื่อวัดจองคา เพราะหลังคามุงด้วยหญ้าคา แต่ชาวบ้านในอดีตเรียก วัดจองเหนือ เพราะตัววัดอยู่ทางด้านทิศเหนือของอำเภอเชียงคำ สุดท้ายเปลี่ยนชื่อเป็น วัดนันตาราม ตามชื่อของผู้ที่เริ่มเข้ามาสร้างวัดนี้ในยุคถัดมา
วัดนันตาราม เป็นศิลปแบบไทใหญ่ สร้างโดยใช้ไม้สักทั้งหลัง คาดว่าสมัยก่อนไม้สักน่าจะหาได้ง่ายมากมาก การตกแต่งลวดลายแบบไทใหญ่ ภายในโบสถ์จะดูทมึน เคร่งขึม ขึงขัง ออกแนวโทนดำแดง องค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากไม้สักทองลงรักปิดทอง ทรงเครื่องแบบไทยใหญ่ จุดเด่นอีกอย่างของวัดนี้คือ หลังคาโบสถ์จะมีลักษณะไม่เหมือนที่อื่น วางสลับซับซ้อนไปมา ก็แปลกดีเหมือนกัน
เรื่องราวประวัติความเป็นมา เมื่อไปถึงวัดก็สามารถรับชมได้ ทางวัดจะมีทีวี เตรียมไว้ฉายประวัติการก่อร่างสร้างวัดตั้งแต่แรก ไม่ยาวเกินไป นั่งฟังก็เพลิดเพลินดีนะ ได้รู้ประวัติศาสตร์ของทางเมืองเชียงคำไปด้วย ไหว้พระกันแล้วก็ไปกันต่อ…
เฮือนไทลื้อของแม่แสงดา สมฤทธิ์ อีกหนึ่งสถานที่ที่เราต้องไป ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 10 นาที จากวัดนันตารามเราก็มายืนอยู่ หน้าเรือนไม้ยกสูง หลังคาทรงจั่วสถาปัตยกรรมชาวไทลื้อ ใต้ถุนมีกี่ทอผ้า ตัวปั่นฝ้าย ตัวกรอเส้นด้าย ขึ้นไปบนบ้าน จะแบ่งเป็นสองหลังเชื่อมติดกัน มีห้องครัว ห้องนอน ห้องเก็บของ ต้องบอกว่าเฮือนไทลื้อของแม่แสงดา สมฤทธิ์ เป็นบ้านไทลื้อเพียงหลังเดียวใน อำเภอเชียงคำ และยังได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ไทลื้อ เป็นแหล่งศึกษาวัฒนธรรมของ จังหวัดพะเยา
คุณยายแสงดา สมฤทธิ์
เราได้เจอกับ แม่แสงดา สมฤทธิ์ เจ้าของเฮือนไทลื้อ ในวัย 90 ต้องเรียกว่าคุณยายแสงดาแล้วล่ะ ยายยังดูแข็งแรง น่ารักน่าเอ็นดู ทุกวันนี้มีมีผู้คนมากมายมาเยี่ยมเยียนอยู่เป็นประจำ มีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวแทบทุกวัน เรามีโอกาสได้พูดคุยรับฟังเรื่องราวของยายแสงดา สรุปความว่า บ้านหลังนี้สร้างเมื่อคุณยายยังเป็นวัยรุ่นย่าง 17 ก็ช่วยๆกันสร้างจากชาวบ้านไม่ได้มีค่าแรงงาน เสียแต่ค่าไม้ ยายอยู่ที่นี่ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ มีความรักความผูกพันกับบ้านหลังนี้และจะไม่มีวันไปไหน…
พูดคุยกันไปก็มีเสียงหัวเราะสลับไปเรื่อยๆ คือคุณยายแสงดา เป็นคนอารมณ์ดีมาก ใจดีด้วย หลังจากสนทนา ปนสัมภาษณ์กันพักใหญ่ก็ชวนกันลงมาใต้ถุนบ้านให้คุณยายแสงดา โชว์การทอผ้า การกรอเส้นดายต้องบอกว่า ในวัย 90 ยังคงความแข็งแรงและกระฉับกระเฉงมากมาก
สมควรแก่เวลาก็ต้องร่ำลาคุณยายแสงดา เพื่อเดินทางเข้าสู่เมืองพะเยา วันนี้ยังไม่จบนะ ออกจากเชียงคำประมาณเกือบบ่ายโมง นั่งหลับไปแป๊บเดียว ใช้เวลาชั่วโมงกว่าก็ถึงพะเยาแล้ว ไปเที่ยวกันต่อ อืมมมม ไหว้พระกันอีกวัดเนาะ…
ออกจากตัวเมืองพะเยา 20 กิโล บนดอยบุษราคัม สถานที่ตั้ง วัดอนาลโยทิพยาราม ศาสนสถานที่มีความสวยงามแปลกตา เริ่มจากทางเข้าด้านหน้าเป็นอิฐแดงเปลือย ก่อเป็นซุ้มประตูมีรูปปั้นยืนเฝ้าทั้ง 2 ฝั่ง เดินเข้าไปด้านใน จะเป็นทางเดินพื้นปูนเป็นบล๊อก ขึ้นบันไดไปเรื่อยๆ เส้นทางที่เดินจะผ่าน โบสถ์เก่าแก่ องค์พระประธานขนาดใหญ่ พระพุทธรูปปางนาคปรก ไปจนสุดทางที่ หอพระแก้วมรกตจำลอง
ระหว่างทางเดินบางช่วงก็ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ เหมือนเดินอยู่กลางป่า สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งพระพุทธรูปต่างๆ มีความหลากหลายทางศิลปมากมาก มีทั้งแบบไทย จีน อินเดีย ยังมีจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นกว๊านพะเยา และตัวเมืองพะเยา เอาจริงๆต้องมาเดินด้วยตัวเองดีกว่า ถ้าใครมาถึงพะเยาต้องมา…
เสร็จสิ้นภาระกิจสำหรับวันนี้ ออกจากวัดอนาลโยทิพยาราม ก็เข้าสู่ที่พักในตัวเมือง เวลาดีใกล้จะหกโมงเย็น ก่อนจบการเดินทางในวันนี้จริงๆ จะไปที่ไหนไม่ได้เลยต้องไปชมวิวพระอาทิตย์ ที่กว๊านพะเยา วันนี้อากาศดีมาก ยืนชมพระอาทิตย์ลาขอบฟ้า ที่ริมน้ำกว๊านพะเยา สวยงามมาก
พรุ่งนี้เรายังมีนัดกับอีกหลายสถานที่ที่จะต้องไปเยือน และท้ายสุดของเรื่องราวการมาพะเยาครั้งนี้ คือ การเวียนเทียนทางน้ำ กลางกว๊านพะเยา ไว้มาว่ากันตอนที่สองดีกว่า อย่าลืมติดตามกันด้วยนะจ๊ะ…
ขอขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำพาไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆที่สวยงาม พะเยา เมืองรองต้องลอง จริงๆนะ…
คน ฟ้า ป่า น้ำ
วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2562 เวลา 16.28 น.