อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นหนึ่งในปราสาทหินกลุ่มราชมรรคา ตั้งอยู่ หมู่ที่ 2 (บ้านดอนหนองแหน) ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร ซึ่งตั้งอยู่บนยอดภเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตรจากพื้นราบ (ประมาณ 350 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) คำว่า พนมรุ้ง มาจากภาษาเขมร คำว่า วนํรุง แปลว่า ภูเขาใหญ่
ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นโบสถ์พราหมร์ลัทธิไศวะ สร้างขึ้นจากหินทรายสีชมพู มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขะแมร์ได้หันมานับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นวัดมหายาน
องค์ประกอบและแผนผังของปราสาทพนมรุ้งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นแนวเส้นตรง และเน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลาง นั่นคือปราสาทประธานซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านขวาของบันไดทางขึ้นสู่ศาสนสถานมีอาคารที่เรียกว่า พลับพลา อาคารนี้อาจจะเป็นอาคารที่เรียกกันในปัจจุบันว่า พลับพลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งเป็นที่พักจัดเตรียมองค์ของพระมหากษัตริย์ ก่อนเสด็จเข้าสู่การสักการะเทพเจ้าหรือประกอบพิธีกรรมในบริเวณศาสนสถาน
ทางเดินสู่ปราสาททั้งสองข้างประดับด้วยเสามียอดคล้ายดอกบัวตูมเรียกว่า เสานางเรียง จำนวนข้างละ 35 ต้น ทอดตัวไปยัง สะพานนาคราช
สะพานนาคราช
สะพานนาคราช เป็นรูปทรงกากบาทยกพื้นสูง ราวสะพานทำเป็นลำตัวพญานาค 5 เศียร สะพานนาคราชนี้ ตามความเชื่อเป็นทางที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับเทพเจ้า สิ่งที่น่าสนใจคือ จุดกึ่งกลางสะพาน มีภาพจำหลักรูปดอกบัวแปดกลีบ อาจหมายถึงเทพประจำทิศทั้งแปด ในศาสนาฮินดู หรือเป็นจุดที่ผู้มาทำการบูชา ตั้งจิตอธิษฐาน จากสะพานนาคราชชั้นที่ 1 มีบันไดจำนวน 52 ขั้นขึ้นไปยังลานบนยอดเขา
ตัวปราสาท
ปราสาทประธาน ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดจนกลีบขนุน ก่อด้วยหินทรายสีชมพูมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมกว้าง 8.20 เมตร สูง 27 เมตร ด้านหน้าทำเป็นมณฑป โดยมีอันตราละหรือฉนวนเชื่อมปราสาทประธานนี้ เชื่อว่า สร้างโดย นเรนทราทิตย์ ซึ่งเป็นผู้นำปกครองชุมชนที่มีปราสาทพนมรุ้งเป็นศูนย์กลาง ราว พุทธศตวรรษที่ 17
ภายในเรือนธาตุตรงกึ่งกลาง เรียกว่า ห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุด ในที่นี้คือ ศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์พระศิวะ เป็นที่น่าเสียดายว่า ประติมากรรมชิ้นนี้ได้สูญหายไป เหลือเพียงแต่ ท่อโสมสูตร คือร่องน้ำมนต์ที่ใช้รับน้ำสรงจากการสักการะศิวลึงค์เท่านั้น
ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์
ที่ทับหลังของมณฑปด้านทิศตะวันออกปราสาทประธาน เป็นภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ โดยพระนารายณ์บรรทมตะแคงขวาเหนือพระยาอนันตนาคราช ซึ่งทอดตัวอยุ่เหนือมังกรอีกต่อหนึ่งท่ามกลางเกษียรสมุทร มีก้านดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภีของพระองค์ มีพระพรหมประทับอยู่เหนือดอกบัวนั้น พระนารายณ์ทรงถือ คฑา สังข์ และจักรไว้ในพระหัตถ์หน้าซ้าย พระหัตถ์หลังซ้ายและพระหัตถ์หลังด้านขวาตามลำดับ ส่วนพระหัตถ์หน้าขวารอบพระเศียรของพระองค์ ทรงมงกุฏรูปกรวยกภณฑล กรองศอ และทรงผ้าจีบเป็นริ้ว มีชายผ้ารูปหางปลาซ้อนกันอยู่ 2 ชั้นด้านหน้าคาดด้วยสายรัดพระองค์ มีอุบะขนาดสั้นห้อยประดับ มีพระลักษณมีชายาพระองค์ประทับนั้นอยู่ตรงปลายพระบาท
โคนนทิ เป็นประติมากรรมวัว ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของปราสาทประธานเคียงข้างกับศิวลึงค์โคนนทิ (Nandin) คือ พาหนะของพระศิวะ เป็นบุตรของพระกัศยปกับโคสุรภี พระศิวะเห็นโคสุรภีก็อยากจะได้เป็นบริวารแต่รังเกียจว่าเป็นเพศเมีย พระกัศยปจึงอาสาผสมพันธุ์กับโคสุรภี จึงให้กำเนิดเป็นวัวเพศผู้ชื่อว่า "นนทิ" แล้วถวายเป็นบริวารของพระศิวะ ทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าประตูวิมานบนเขาไกรลาสด้านทิศตะวันออกคู่กับมหากาลและทำหน้าที่เป็นเทพพาหนะเมื่อพระศิวะเสด็จออกภายนอก
ปรางค์น้อย
ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน จากลวดลายบนหน้าบันและทับหลัง ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า เป็นการผสมผสานกันระหว่าง ศิลปะคลังและศิลปะบาปวน ดังนั้น ปรางค์น้อยน่าจะสร้างขึ้นในช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 16 ก่อนหน้าปราสาทประธาน ประมาณ 50 ปี หรือกว่านั้น
แบบอย่างนิยมของศิลปะบาปวนคือ นาคที่ปลายกรอบหน้าบันจะเป็นนาคหัวโล้น ส่วนลายสลักที่หน้าบันและทับหลังยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เห็นได้จากยังเป็นลวดลายที่ตื้น ส่วนที่สลักลงลึกยังไม่ได้เก็บรายละเอียด ยังมีเศษหินเล็กๆที่ยังไม่ได้สกัดออก
ภาพปราสาทหินที่ถ่ายโดยรอบ
ทางเดินมาปราสาท มุมมองจากลานด้านบน
การเดินทางมาปราสาท
- เดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 218 (บุรีรัมย์-นางรอง) เป็นระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 (สีคิ้ว-อุบลราชธานี) ไปจนถึงหมู่บ้านตะโก ประมาณ 14 กิโลเมตร แล้วจึงเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ผ่านบ้านตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติอีกประมาณ 12 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
- เดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 219 (บุรีรัมย์-ประโคนชัย) เป็นระยะทางประมาณ 44 กิโลเมตร ถึงตัวอำเภอประโคนชัย จะเห็นทางแยกที่จะไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ซึ่งใช้เวลาเดินทางอีกประมาณ 21 กิโลเมตร โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 2075 และเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
ถ้าเดินทางโดยใช้บริการรถโดยสารจากขนส่งบุรีรัมย์ ก็ให้ขึ้นรถโดยสารสายบุรีรัมย์-จันทบุรี พอถึงที่หมู่บ้านตะโก แล้วจึงลงจากรถ จากนั้นจะมีรถสองแถววิ่งไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือไม่ก็นั่งวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ได้
ค่าเข้าชม : คนไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท
ที่มาของข้อมูล : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Wit Sil
วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2562 เวลา 19.25 น.