กลางเดือนเมษา ผมขับรถฝ่าคลื่นความร้อนจากกรุงเทพขึ้นไปสุโขทัย เพื่อรำลึกความหลังที่จากมา 40 กว่าปีแล้วไม่เคยกลับไปอีกเลย และถือโอกาสพักผ่อนกับครอบครัวหลังสงกรานต์ที่ชาวบ้านเขากลับมากันหมดแล้ว ทริปนี้ผมใช้เวลา 3 วัน 2 คืนในการทำรีวิวที่กิน ที่เที่ยว ที่พัก ในจ.สุโขทัย ในส่วนที่พักผมพักที่ สุโขทัยเทรเชอร์รีสอร์ทแอนสปา ติดตามรีวิวที่พักได้ ตาม link นี้ พักผ่อนบนรอยอารยธรรมแห่งเมืองเก่า สุโขทัยเทรเชอร์ รีสอร์ท แอน สปา

มาว่ากันด้วยสถานที่ท่องเที่ยวกันเลย อันดับแรกที่จะพาไปเมื่อมาถึงเมืองสุโขทัยแล้ว อย่าคิดว่าเป็นทางผ่านแล้วคุณอาจจะพลาดสิ่งดีๆ

1.ศาลพระแม่ย่า

สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันป็นที่เคารพของชาวสุโขทัยกันก่อน ตามประวัติความเป็นมาที่หาอ่านตามเน็ทเขาเล่าว่า พระแม่ย่านั้น เชื่อกันว่าคือพระนางเสือง มเหสีของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และเป็นมารดาของพ่อขุนรามคำแหง คนสมัยก่อนนับถือกษัตริย์ว่าเป็นพ่อ ดังนั้นแม่ของพ่อ (พ่อขุนรามคำแหง) ก็คือ ย่า ชาวบ้านให้ความนับถือ เป็นพระแม่ย่า แล้วรูปปั้นพระแม่ย่ามีที่มาอย่างไร จากศิลาจารึก มีการกล่าวถึงการสักการะเทวรูปพระขพุงผี ที่เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ในเมือง และพระขพุงผีนี้นักวิชาการก็สันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นนางเสือง ซึ่งเป็นสิ่งที่เคารพสักการะสูงสุด ของพ่อขุนรามคำแหง ต่อมามีการค้นพบเทวรูปพระขพุงผีที่ว่านี้ สันนิษฐานว่าเป็นรูปสลักนางเสืองอยู่ที่ถ้ำพระแม่ย่าบนเขาพระแม่ย่า ในอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ก็เลยนำมาประดิษฐานไว้ที่ศาลพระแม่ย่าที่หน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย และเชื่อกันว่าใครมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ หรืออยากจะเสี่ยงโชคมาขอพรจากแม่ย่ามักจะประสพความสำเร็จตามที่ขอ

ด้านหลังศาลพระแม่ย่าจะเป็น พระพุทธอุทยานสุโขทัยซึ่งแต่ก่อนพระพุทธรูปสุโขทัยจะขึ้นชื่อเรื่องพุทธลักษณะที่มีความงดงามเป็นอย่างมาก หลังอาณาจักรล่มสลาย พระพุทธรูปจึงถูกปล่อยทิ้งร้างต่อมาจึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานยังวัดต่างๆในกรุงเทพจำนวนมาก เป็นที่น่าเสียดายที่มีพระพุทธรูปเก่าองค์จริงๆที่ยังคงอยู่ใน จ.สุโขทัยเหลืออยู่น้อยมาก จึงได้มีการจัดสร้างเป็นพระพุทธรูปจำลองจำนวน 9 องค์เพื่อรำลึกและเป็นอนุสรณ์ว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ประกอบด้วย

  • พระพุทธรูปปางลีลา องค์จริงอยู่วัดเบญจมบพิตร
  • พระร่วงโรจนฤทธิ์ องค์จริงอยู่วัดพระปฐมเจดีย์
  • พระศาสดา องค์จริงอยู่วัดสุวรรณาราม
  • พระพุทธชินสีห์หรือพระนาคปรก องค์จริงอยู่วัดพระเชตุพน
  • พระพุทธสิหิงค์ องค์จริงอยู่พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร
  • หลวงพ่อร่วง องค์จริงอยู่วัดมหรรรณพ
  • พระสุโขทัยไตรมิตร องค์จริงอยู่วัดไตรมิตร
  • พระศรีศากยมุณี องค์จริงอยู่วัดสุทัศน์
  • พระพุทธไสยาสน์ องค์จริงอยู่วัดบวรนิเวศน์วิหาร

2.อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

จุด check in ที่พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวงเมื่อมาเยือนเมืองสุโขทัยนั่นก็คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานแห่งนี้เป็นแหล่งมรดกโลกร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์ที่กำแพงเพชรและศรีสัชนาลัยภายใต้ชื่อว่า "เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร" (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) ถือได้ว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในยุคสมัยอาณาจักรสุโขทัยได้เป็นอย่างดี นอกจากจะให้ความรู้แล้ว ภายในอุทยานยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย จะปั่นจักรยานหรือจะมาจ๊อกกิ้งก็ยังได้ (ปัจจุบันนี้ห้ามรถยนต์เข้า) ภายในอุทยานมีโบราณสถานสำคัญๆหลายอย่าง แต่ก่อนอื่นเสียค่าบัตรผ่านประตูคนล่ะ 20 บาท ด้วยพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 600 กว่าไร่ บริเวณด้านหน้าอุทยานจึงมีร้านเช่าจักรยานจักรยานไว้บริการ ส่วนผมเลือกใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 3 ล้อพร้อมคนขับของอุทยาน ในอัตราค่าบริการ 200 บาทต่อ 1 ชม.และต้องเสียค่าเข้าของรถด้วยอีก 30 บาทเพราะเนื่องจากคุณแม่เพิ่งผ่าตัดมายังต้องนั่งรถเข็น และมาถึงก็เย็นมากแล้วต้องรีบทำเวลาก่อนแสงจะหมด หากมีเวลาเช่าจักรยานเที่ยวชมอุทยานจะได้อรรถรสมากกว่า

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ครอบคลุมพื้นที่โบราณสถานกรุงสุโขทัย ศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยซึ่งมีอำนาจอยู่บริเวณภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 - 19 ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า (เขตเทศบาลตำบลเมืองเก่า) อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ห่างจากตัวเมืองสุโขทัยปัจจุบัน (เขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี) ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ถนนจรดวิถีถ่อง)

โบราณสถานที่สำคัญภายในอุทยานได้แก่

วัดมหาธาตุ, วัดตระพังเงิน, วัดศรีสวาย, วัดสระศรี, วัดชนะสงคราม, วัดตระกวน, อนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง เป็นต้น

วัดมหาธาตุ คือจุดแรกที่รถสามล้อพาเราไป ซึ่งถือว่าเป็น Hightlight สำคัญที่สุดภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ก็ว่าได้ เพราะมีซากโบราณวัตถุเกาะกลุ่มกันอยู่มากที่สุด ทั้งเจดีย์ วิหาร มณฑป อุโบสถ วัดนี้เป็นวัดขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางเมือง และเป็นวัดสำคัญของกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุทรงดอกบัวตูม หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นศิลปะแบบสุโขทัยแท้ ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์ บนฐานเดียวกัน คือ ปรางค์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่ทิศทั้ง 4 และเจดีย์ทรงปราสาทก่อด้วยอิฐที่ได้รับอิทธิพลมาจากล้านนา จากการสำรวจ พบว่าบริเวณวัดมหาธาตุมีเจดีย์แบบต่าง ๆ มากถึง 200 องค์ วิหาร 10 แห่ง ซุ้มพระ (มณฑป) 8 ซุ้ม พระอุโบสถ 1 แห่ง ตระพัง 4 แห่ง

ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานมีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี ปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพมหานคร ที่ด้านเหนือ และด้านใต้ของเจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระ เรียกว่า "พระอัฏฐารศ"ซึ่งตรงมุมวัดมหาธาตุจะเป็นมุมที่ถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกดินที่สวยที่สุดจุดหนึ่งของสุโขทัย

วัดศรีสวาย จุดต่อไปที่รถพาเรามาจอดให้เข้าไปชม ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของวัดมหาธาตุ ห่างออกไปประมาณ 350 เมตร โบราณสถานที่สำคัญตั้งอยู่ในกำแพงแก้ว ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ รูปแบบศิลปะลพบุรี ลักษณะของปรางค์ค่อนข้างเพรียว ตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ ลวดลายปูนปั้นบางส่วนเหมือนลายบนเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หยวน ได้พบทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นส่วนของเทวรูป และศิวลึงค์ที่แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูมาก่อน แล้วแปลงเป็นพุทธสถานโดยต่อเติมวิหารขึ้นที่ด้านหน้า แล้วเป็นวัดในพุทธศาสนาภายหลัง

วัดตระกวนเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2450 เป็นอย่างน้อย ซึ่งน่าจะเป็นชื่อเดิมของวัดตระกวน ที่ปรากฏในศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ ซึ่งจารึกเล่าเรื่องราวเมื่อกลางพุทธศตวรรษ ที่ 20 กล่าวถึงมหาเถรธรรมไตรโลกฯ จากตำบลดาวขอน ขึ้นมาเยี่ยมหลานซึ่งเป็นพระมหาธรรมราชาองค์หนึ่งผู้ครองเมืองสุโขทัยท่าน ได้มาพำนักที่วัดตระกวนแห่งนี้ ชื่อตระกวน นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานว่า เป็นภาษาเขมรแปลว่าผักบุ้ง สิ่งก่อสร้างสำคัญที่ปรากฏ มีเจดีย์ทรงระฆัง และอุโบสถ มีการค้นพบพระพุทธรูปสุโขทัยศิลปกรรมรุ่น แรก ๆ ที่นี่ ทำให้ ได้ชื่อลักษณะศิลปกรรมแบบนี้ (แม้ไปพบในที่อื่น) ว่า พระพุทธรูปแบบหมวดวัดตระกวน

วัดตระพังเงิน ตั้งอยู่ทางตะวันตกของวัดมหาธาตุมีระยะห่างประมาณ 300 เมตร (คำว่า “ตระพัง” หมายถึง สระน้ำ หรือหนองน้ำ) เป็นโบราณสถานสำคัญ โบราณสถานนี้ไม่มีกำแพงแก้ว ประกอบด้วยเจดีย์ทรงดอกบัวตูมเป็นประธาน ลักษณะเด่นของเจดีย์ทรงดอกบัวตูม คือ มีจระนำที่เรือนธาตุทั้งสี่ด้านประดิษฐานพระพุทธรูปยืน และพระพุทธรูปปางลีลา (จระนำ หมายถึง ชื่อซุ้มท้ายวิหาร หรือท้ายโบสถ์ มักเป็นช่องตัน) วิหารประกอบอยู่ด้านหน้า และทางด้านตะวันออกของเจดีย์เป็นเกาะมีโบสถ์ตั้งอยู่กลางน้ำ ตามคติ อุทกสีมา คือการใช้น้ำเป็นสีมาของโบสถ์ หรือเขต สังฆกรรมของโบสถ์ เช่นเดียวกับวัดสระศรี โบสถ์นี้ตั้งอยู่ในสระน้ำที่มีชื่อว่า ตระพังเงิน

วัดสระศรี เป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดมหาธาตุ เป็นโบราณสถานสำคัญอยู่บริเวณกลางสระน้ำที่มีขนาดใหญ่ ชื่อว่า ตระพังตระกวน และสิ่งสำคัญของวัดประกอบด้วยเจดีย์ประธานทรงลังกา ด้านหน้าวิหารขนาดใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย มีเจดีย์ขนาดเล็ก ศิลปศรีวิชัยผสมลังกา ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ มีซุ้มพระพุทธรูป 4 ทิศ ด้านหน้ามีเกาะกลางน้ำขนาดย่อมเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถขนาดเล็ก วัดแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นจุดที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม

วัดชนะสงคราม ตั้งอยู่ทางเหนือของวัดมหาธาตุ ระหว่างวัดมหาธาตุ และวัดสระศรี ประวัติการสร้างไม่ชัดเจน และอยู่ใกล้กับโบราณสถานที่เรียกว่าศาลหลักเมืองด้วย วัดนี้เดิมเรียกกันว่าวัดราชบูรณะ ลักษณะเด่นก็คือ มีเจดีย์ทรงระฆังกลมขนาดใหญ่เป็นเจดีย์ประธาน ขนาบข้างด้วยเจดีย์รายทรงวิมานทั้งสององค์ ซึ่งเป็นทรงเจดีย์ที่มักจะพบได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ส่วนที่สุโขทัยนั้นยังมีปรากฏอยู่ที่วัดตระพังเงินและวัดเจดีย์เจ็ดแถว ด้านตะวันออกมีวิหาร โบสถ์ และเจดีย์รายต่าง ๆ น่าจะเป็นเจดีย์ที่สร้างเพิ่มเติมขึ้นในระยะเวลาต่อมา ที่บริเวณด้านหน้าเจดีย์ประธานเป็นที่ตั้งของพระวิหาร ปรากฏเฉพาะส่วนฐานและเสาก่อที่ด้วยศิลาแลง

พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ตั้งอยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง ทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ลักษณะพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงรมดำ ขนาด 2 เท่าขององค์จริง สูง ๓ เมตร ประทับนั่งห้อยพระบาทบนแท่นมนังคศิลาบาตร พระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าทรงสั่งสอนประชาชน แท่นด้านซ้ายมีพานวางพระขรรค์ไว้ข้าง ๆ ลักษณะพระพักตร์เหมือนอย่างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยตอนต้น ที่ถ่ายทอดความรู้สึกว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีน้ำพระทัยเมตตากรุณา ยุติธรรม มีความเด็ดขาดในการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ที่ด้านข้างมีภาพแผ่นจำหลักจารึกเหตุการณ์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ตามที่อ้างถึงในจารึกสุโขทัย


วัดตระพังทอง รุ่งรุณของวันใหม่ ผมตั้งใจว่าจะเก็บภาพวัดหลักๆในเขตกำแพงเมืองก่อน แล้วค่อยออกไปนอกเขตกำแพงเมือง เริ่มต้นที่จุดใส่บาตรสะพานบุญของวัดตระพังทอง โดยการมารอเก็บภาพบรรยากาศการใส่บาตรพระสงฆ์ยามเช้า ซึ่งจะมีทัวร์นำนักท่องเที่ยวต่างชาติมาลงเพื่อใส่บาตร คล้ายๆทางหลวงพระบาง วัดตระพังทองสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1826 ได้นามจากสระน้ำที่อยู่ในบริเวณวัดว่าตระพังทอง ตามประวัติศาสตร์สร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ต่อมาสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ และต่อมาประมาณ พ.ศ. 2450 พระยารณชัยชาญยุทธ (ครุฑ) ได้นำประชาชนบูรณะอุโบสถ ครั้นปี พ.ศ. 2473 พระราชประสิทธิคุณ เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ได้นำรอยพระพุทธบาทที่เขาพระบาทใหญ่มาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้ และได้จัดงานมนัสการเป็นประจำทุกปี วัดตระพังทองนับเป็นวัดชนิดได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมาแล้ว ตามทะเบียนวัดระบุปี พ.ศ. 1830 ไว้เป็นหลักฐาน มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา 20 รูป สามเณร 34 รูป ทางวัดเปิดสอนปริยัติธรรมตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา

ศาลตาผาแดง ...ตั้งอยู่ติดกับตระพังตระกวน วัดสระศรี ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และใกล้กับประตูเมืองด้านเหนือ ปรากฏในแผนที่สมัย รัชกาลที่ ๕ เรียกว่า ศาลเทพารักษ์ใหญ่ หรือศาลตาผ้าแดง...ลักษณะโบราณสถานเป็นแบบปราสาทขอม หลังเดี่ยว ก่อด้วยศิลาแลงทั้งองค์ ส่วนล่างเป็นฐานบัวลูกฟัก ส่วนเรือนธาตุมีห้องยาว ยื่นออกไปจากตัวปราสาททางด้านตะวันออกและตะวันตก โดยห้องด้านตะวันออกมีความยาวกว่าด้านตรงข้าม ส่วนยอดปราสาทพังทลาย...เมื่อกรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งและบูรณะศาลตาผาแดง ได้พบชิ้นส่วนประติมากรรมรูปเคารพสลักจากศิลาลอยตัว จำนวน ๔ องค์ มีทั้งรูปบุรุษและสตรี สันนิษฐานว่าเป็นรูปเคารพเนื่องในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู อาทิ พระศิวะ นางอัปสร และทวารบาล ประดับด้วยเครื่องทรงตกแต่งอย่างงดงาม เมื่อได้ศึกษาเปรียบเทียบแล้วอาจเทียบได้กับศิลปะแบบเขมรสมัยบายนตอนต้น ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง สุโขทัย...โบราณสถานแห่งนี้เป็นหลักฐานยืนยันถึง การมีชุมชนที่มีวัฒนธรรมเขมรนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูปะปนในแถบนี้แล้ว เมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘

วัดสรศักดิ์ ตั้งอยู่ที่ด้านเหนือของกำแพงเมืองที่มีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง หรือเป็นเมืองใหม่ที่มีมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (เมืองเก่าในระยะแรกตั้งกรุงสุโขทัยอยู่ที่วัดพระพายหลวง central37) โบราณสถานประกอบด้วย วหาร ๑ หลัง แท่นบูชาซึ่งอยู่ ๔ ด้านของเจดีย์ และเจดีย์ทรงลังกา หรือทรงกลม ซึ่งสมัยสุโขทัยมักนิยมสร้างเป็นรูปช้างแบกเจดีย์ (เจดีย์ทรงกลมที่มีช้างล้อมรอบฐาน) ตามความเชื่อที่ว่าช้างเป็นสัตว์พาหะนะของพระเจ้าจักพรรดิ์ ที่ควรคู่กับการเป็นพาหะนะค้ำจุลพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนตลอด ๕,๐๐๐ ปี ที่ทางทิศตะวันตกเยื้องไปทางทิศใต้ของวัด มีศาลตาผาแดงตั้งอยู่ ศาลนี้กรมศิลปากรได้พบชิ้นส่วนเทวรูปและเทวสตรีประดับด้วยเตรื่องตกแต่งอย่างงดงาม อาจเทียบได้กับศิลปเขมรแบบบายนรุ่นแรก ๆ

วัดซอนข้าว ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองด้านเหนือใกล้กับประตูศาลหลวง และวัดสรศักดิ์ โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือทรงดอกบัวตูม ที่มีลักษณะของเรือนธาตุทีบตัน เพื่อรองรับรูปดอกบัวตูม ปัจจุบันส่วนยอดพังทลาย อันเป็นลักษณะทั่วไปของเจดีย์แบบนี้ นอกจากนี้ยังมีวิหารมณฑป และฐานเจดีย์ โบราณสถานทั้งหมดกำแพงมีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบ

วัดซ่อนข้าวไม่มีชื่อและหลักฐานปรากฏ ศิลาจารึก แต่เป็นชื่อเรียกของคนในท้องถิ่น กรมศิลปากรขุดแต่งและบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2508 (1965)

ออกนอกกำแพงเมืองไปจะมีวัดต่างๆอยู่มากมาย ทั้งริมทาง ทั้งบนเนินเขา หรือตามทุ่งนา รอบๆอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยทั้ง 4 ทิศ

วัดแม่โจน ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยทางด้านทิศเหนือ ติดกับประตูศาลหลวง ทางทิศตะวันออกของวัดพระพายหลวง ริมถนนสายเมืองเก่า - หนองตาโชติ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของโบราณสถานมีบ่อน้ำซึ่งใช้หินชนวนกรุเป็นผนังมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร

โบราณสถานประกอบด้วย วิหารขนาด 5 ห้อง ฐานกว้าง 7.50 X 11.45 เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางมารวิชัยตอนท้ายของวิหารมีเจดีย์รายจำนวน 3 องค์

วัดพระพายหลวง เป็นวัดคณะสงฆ์เถรวาท สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และมีประวัติการก่อสร้างนับตั้งแต่กรุงสุโขทัย เป็นวัดโบราณสถานที่มีพระสงฆ์อยู่อาศัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ ฝังบริเวณวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น คูชั้นนอกเรียก "คูแม่โจน" วัดพระพายหลวงนี้เป็นศูนย์กลางของชุมชนในระยะแรกก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย โบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดของวัดคือ พระปรางค์ 3 องค์ ก่อด้วยศิลาแลง ลักษณะแผนผังและรูปศิลปะเป็นแบบเขมรบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

วัดศรีชุม เป็นศาสนโบราณสถานแห่งหนึ่งในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือนอกกำแพงเมืองเดิม ใน ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ซึ่งมีนามว่า "พระอจนะ" องค์พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในมณฑป ซึ่งปัจจุบันยอดพระมณฑปได้พังทลายหมดแล้ว เหลือแต่เพียงผนังกำแพงโดยรอบ ไม่มีหลังคาปกคลุม เป็นพระพุทธรูปกลางแจ้งจนถึงทุกวันนี้

พระพุทธอจนะ เป็นที่เลื่องลือถึงความศักดิ์สิทธิ์และมีมนต์เสน่ห์และเอกลักษณ์ชวนให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมและสักการะอย่างไม่ขาดสาย และถือเป็นหนึ่งในสถานที่เที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย ในปัจจุบันทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ไม่ห่างจากตัวโบราณสถานนัก มีวัดสร้างใหม่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา ใช้ชื่อว่าวัดศรีชุมเช่นเดียวกัน

วัดตะพานหิน หรือ วัดสะพานหิน ตั้งอยู่นอกเขตกำแพงเมืองเก่าสุโขทัยทางทิศตะวันตก โดยอยู่ในเขตอรัญวาสี หรือวัดป่า วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาสูงประมาณ 200 เมตร บริเวณทางเดินขึ้นโบราณสถานมีทางเดินปูลาดด้วยหินชนวนจากตีนเขาขึ้นไปเป็นระยะทาง 300 เมตร สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระประธานเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระปางประทานอภัย สูง 12.50 เมตร เรียกว่า พระอัฏฐารส

วัดเจดีย์สี่ห้อง ตั้งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จัดเป็นโบราณสถานด้านนอกกำแพงเมืองทิศใต้ ตั้งอยู่ทางตะวันออกของวัดเชตุพน ห่างไปราว 100 เมตร มีคูน้ำเป็นอุทกสีมา ล้อมรอบบริเวณวัด ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด มีเพียงศิลปกรรมภายในวัด ที่สอดคล้องกับศิลปะสุโขทัย ช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20 ซึ่งเป็นศิลปะแบบลังกา

วัดเชตุพนไม่ปรากฏหลักฐานว่าวัดนี้สร้างในสมัยใด เชื่อว่าในสมัยพ่อขุนรามคำแหงคงยังไม่สร้างขึ้น จารึกวัดสรศักดิ์ กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ว่าเมื่อพระมหาเถรธรรมไตรโลกฯ มีศักดิ์เป็นน้าของพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองสุโขทัยพระองค์หนึ่ง มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสรศักดิ์ได้ร่วมชุมนุมกับพระวัดเชตุพน พิจารณาการสร้างเจดีย์ช้างรอบและศาสนสถานอื่น ๆ ที่วัดสรศักดิ์ จากข้อความที่ระบุชื่อวัดเชตุพนในศิลาจารึกหลักนี้ ประกอบกับรูปแบบทางศิลปกรรมของที่นี่แสดงให้เห็นว่า วัดเชตุพนคงเป็นวัดที่มีความสำคัญและเจริญรุ่งเรืองในช่วงสุโขทัยตอนปลาย ลักษณะโดดเด่นของโบราณสถานแห่งนี้เป็นพระพุทธรูปสี่อิริยาบท (นั่ง นอน ยืน เดิน) ขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถมองเห็นได้แต่ไกล โดยสร้างอยู่ภายในมณฑปจตุรมุข องค์พระพุทธรูปปั้นโดยรอบผนังอิฐซึ่งทำหน้าที่เป็นแกนรองรับหลังคาอันเป็นลักษณะที่พัฒนามาจากสถาปัตยกรรมของพม่าในเมืองพุกาม ถัดไปทางด้านตะวันตกของมณฑปจตุรมุขนี้มีมณฑปย่อมุมไม้ยี่สิบขนาดเล็กมีหลังคาก่อซ้อนกันเป็นเสา และใช้หินชนวนขนาดใหญ่ทำเป็นเพดาน ยังปรากฏร่องรอยของพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย แต่ชำรุดมากแล้ว ที่ผนังด้านนอกมีลายเขียนสีดำ แสดงลักษณะลายแบบที่ปรากฏบนเครื่องถ้วยจีนเป็นลายพันธุ์พฤกษา

วัดช้างล้อม (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย) เป็นวัดนอกเขตกำแพงเมืองฝั่งตะวันออก ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย มีประวัติความเป็นมาว่าได้สร้างอุทิศให้กับพระมหาธรรมราชาที่ 1 ราวศตวรรษที่ 20จุดเด่นที่ตัวเจดีย์ทรงลังกา หรือระฆังคว่ำ มีช้างล้อมรอบคล้ายคลึงกับเจดีย์วัดสรศักดิ์ (มีช้างล้อมชั้นเดียว)และเจดีย์วัดช้างล้อม อีกแห่งในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย แต่ต่างกันที่มีฐานช้างล้อมสูงสองชั้น ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โดยรอบฐานประกอบด้วยช้างจำนวน 32 เชือก และยังมีฐานกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบ


3.อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสารจิตร ตำบลหนองอ้อ และตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ค่าเข้าชม 20 บาท ค่าเช่ารถจักรยาน 30 บาท เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00 – 17.00 น โบราณสถานที่สำคัญภายในอุทยานได้แก่ วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดนางพญา วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ วัดสวนแก้ว ศาลหลักเมือง เป็นต้น

วัดนางพญาเป็นโบราณสถานที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อยู่ติดกำแพงเมืองด้านตะวันออก ในแนวเดียวกันกับวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ วัดเจดีย์เจ็ดแถว เป็นวัดที่มีลวดลายปูนปั้นงดงามมาก ปรากฏอยู่บนผนังวิหารด้านตะวันตกเฉียงเหนือภายในวิหาร ลวดลายปูนปั้นบนผนังวิหารวัดนางพญานี้ถือว่าเป็นประติมากรรมสุโขทัยยุคที่ 3 จากทั้งสิ้น 4 ยุค ซึ่งรูปแบบการปั้นในสมัยสุโขทัยยุคที่ 3 นี้เป็นการปั้นที่พัฒนาไปจากศิลปะสุโขทัยแบบบริสุทธิ์ มีความประณีต ประติมากรรมปูนปั้นประดับพุทธสถานเป็นภาพแบบอุดมคติ เพิ่งพัฒนารูปแบบตนเองให้หลุดพ้นไปจากธรรมชาติ โดยศิลปร่วมสมัยในประติมากรรมสุโขทัยยุคที่ 3 นี้ได้แก่ ภาพลวดลายสลักบนไม้ปลู ประดับเพดานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง สุโขทัยเป็นต้น

วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยอยู่ใกล้กับวัดเจดีย์เจ็ดแถว และวัดนางพญา เป็นวัดโบราณเก่าแก่ ก่อสร้างด้วยศิลาแลง ประวัติการสร้างไม่แน่ชัด แต่ปรากฏชื่อในพงศาวดารเหนือ โดยกล่าวถึงพระครูยาโชติ ซึ่งจำพรรษาอยู่ภายในวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่แห่งนี้

วัดเจดีย์เจ็ดแถวนี้น่าจะเป็นวัดที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่งในเมืองศรีสัชนาลัย เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในแนวแกนหลักของเมือง โดยดูได้จากแผนที่เมือง อีกทั้งยังมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ราษฎรธรรมดาจะเป็นผู้สร้างขึ้น ดังปรากฏในพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในหนังสือ เที่ยวเมืองพระร่วง ว่า "วัดเจดีย์เจ็ดแถวนี้เป็นวัดใหญ่ เพราะฉะนั้นจำจะต้องลองสันนิษฐานดูว่าเป็นของใคร นายเทียนกล่าวว่า วัดนี้เดิมเขาเรียกว่า วัดกัลยานิมิต เพราะว่านางพญาธิดาแห่งพระมหาธรรมราชา (บาธรรมราช) เป็นผู้สร้างขึ้น นายเทียนอ้างหนังสือที่ไฟไหม้นั้นเป็นพยานอีก" ส่วน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระวินิจฉัยว่าวัดนี้เป็นวัดที่มีความสวยงามกว่าวัดอื่นๆ อาจเป็นวัดของกษัตริย์ที่ครองเมืองนี้ และเจดีย์รายอื่นๆ คงเป็นที่บรรจุพระอัฐิของเจ้านายในราชวงศ์สุโขทัยลาวได้ปกครองแผ่นดินนาน20ปีเลยทีเดียว

วัดช้างล้อม เป็นโบราณสถานสำคัญ ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีเจดีย์ทรงลังกาที่ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีช้างปูนปั้นเต็มตัวล้อมรอบ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโดยรอบฐานทั้ง 4 ด้าน รวม 39 เชือก หมายถึง โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ซึ่งเป็นธรรมอันเป็นเครื่องหมายการตรัสรู้ ประกอบกับวิมุตติ 2 ประการ

ศาลหลักเมือง

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง เป็นโบราณสถานที่อยู่นอกกำแพงเมือง ภายในในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดที่มีความสำคัญมาแต่โบราณกาล สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ โดยวัดนี้เป็นวัดสำคัญในเขตเมืองเชลียงมาแต่เดิม ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ ๑ และในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จไปปราบชุมชนพระฝางเมืองสวางคบุรี แล้วได้เสด็จสมโภชพระบรมธาตุเมืองเชลียงนี้ด้วย และวัดนี้ยังเป็นที่สรงน้ำมูรธาภิเษก สำหรับพระเจ้าแผ่นดินใหม่ที่จะขึ้นเสวยราชสมบัติมาแต่ครั้งโบราณกาล

4.Street Art สวรรคโลก

จุดเช็คอินแห่งใหม่ใจกลางเมืองสวรรคโลกตั้งอยู่ในซอยถนนพิศาลสุนทรกิจ ซอยตรงข้ามสถานีตำรวจสวรรคโลก หรือถ้ามาตามถนนเข้าเมืองสังเกตุเห็นสถานีรถไฟสวรรคโลก ก็เลี้ยวเข้าซอยฝั่งตรงข้ามสถานีได้เลย มีภาพ street art ราวๆ 5-6 ภาพอยู่ใกลๆกัน ผลงานของศิลปินรอบๆบ้านเราอย่าง มาเลย์ สิงโปร กัมพูชา และชาวไทย


5.ร้านก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยรสเด็ด 3 ร้านแนะนำ

- ร้านวันเพ็ญก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย ตั้งอยู่ริมสะพานปูนท่าชัย-ศรีสัชนาลัย บ้านวังวน หมู่ 1 ตำบลศรีสัชนาลัยอำเภอศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เปิดตั้งแต่ 9:00-17:00 เป็นร้านอร่อยของคนท้องถิ่น ทำเลดีติดลำน้ำยม นอกจากเมนูประจำถิ่นอย่างก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยแล้วยังมีเมนูอื่นๆที่น่ากินอีกหลายอย่างจำพวกข้าว และอาหารอีสาน ต้องมาลองหากผ่านมาทางศรีสัชนาลัย-สวรรคโลก

- ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยบ้านนา ขนมจีนบ้านนา ตั้งอยู่ถนนจรดวิถีถ่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย อยู่ระหว่างอ.เมืองกับ อุทยานประวัติศาสตร์สุโทัย จากตัวเมืองไปประมาณ 10 กิโลจะเจอร้านอยู่ด้านซ้ายมือ ร้านนี้การันตีความอร่อยด้วยรางวัลมากมายจากหลายแห่ง เปิดเวลา 06.00 – 17.00 น. เมนูขึ้นชื่อนอกจากก๋วยเตี๋ยวแล้ว หลักๆคือ ขนมจีนสมุนไพร 5 สี พร้อมเครื่องเคียงมาเป็นเซ็ท และยังมัผัดไทกุ้งสด และอาหารตามสั่งทั้งของคาวของหวาน หรือจะซื้อสินค้าโอท็อปติดไม้ติดมือกลับบ้านทางร้านก็มีจำหน่าย

- ร้านเจ๊แฮ ตั้งอยู่ถนนจรดวิถีถ่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย อยู่ระหว่างอ.เมืองกับ อุทยานประวัติศาสตร์สุโทัย ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 300 เมตร เปิด 8:00 - 16:00 ส่วนตัวเป็นร้านผมชอบที่สุดจากการตระเวณชิมก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยทั้ง 3 ร้านแล้ว ผมคิดว่ารสชาติของก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยต้องร้านนี้เลย รสชาติเข้มข้นกลมกล่อมกำลังดี เส้นเหนียวนุ่มมาก และยังมีเมนูอื่นจำพวกต้มเลือดหมู หมูสะเต๊ะ ปอเปี๊ยะทอด และอื่นๆอีกมากมายไว้บริการอีกด้วย

และก็ขอจบรีวิวทริปสุโขทัยไว้เพียงเท่านี้ ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม


-ขอขอบคุณเพื่อนๆที่ได้เข้ามาชม และ กด like กด share เป็นกำลังใจน่ะครับ

-แลกเปลี่ยนข้อมูล หรือพูดคุย สอบถามข้อมูลการเดินทาง สตั๊ดดอยร้อยเรื่องราว

-ติดตามบทความเก่าๆ ได้ที่นี่ครับ ทริปเดินทางทั้งหมด






ความคิดเห็น