หลังจากวันแรก เราได้ทราบข้อมูลของเมืองเก่าสุโขทัยพอสังเขปแล้ว วันที่สองของการลงพื้นที่ชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย จ.สุโขทัย ก็เริ่มเผยมนต์เสน่ห์ความงามทางวัฒนธรรมมากขึ้นทีเดียว
วันที่2 - ตักบาตรรับอรุณ ณ วัดตระพังทอง เมืองเก่าสุโขทัย
เอกอีเอ้ก เอ้ก... เสียงไก่ขั้นดังขึ้น ในเวลาราวตี5.30น. ถึงเวลาที่ผมต้องตื่นจากการหลับไหล โดยเช้านี้ ชุมชนให้เราแต่งกายชุดพื้นเมืองให้เข้ากับวัฒนธรรมชาวสุโขทัยแท้ๆ ไปใส่บาตรยามเช้ากัน
6.00น. ล้อหมุน... อากาศเย็นสบายๆ กระทบกาย ทำให้เช้านี้ ปั่นจักรยานสุดคลาสสิก ไปวัดตระพังทอง ซึ่งไม่ไกลจากที่พักมากนัก
ผมปั่นจักรยานราว10นาทีครับ มาถึงหน้าวัดตระพังทอง ที่นี่มีสะพานไม้ทอดยาวข้ามคูน้ำรอบวัด มีชาวบ้านมาปูเสื่อพร้อมชุดใส่บาตรรอการบิณฑบาตรของพระสงฆ์
พวกเรารอไม่นานครับ พระสงฆ์ราว9รูปเดินตรงมารับของบิณฑบาตร เบื้องหลังคือเจดีย์ทรงลังกา ศิลปะสุโขทัย ทำให้ซึมซับบรรยากาศความเป็นสุโขทัยเต็มอิ่ม
หลังจากที่พวกเราใส่ของบิณฑบาตรแล้ว กลับโฮมสเตย์ทานอาหารเช้า มีข้าวผัดง่ายๆ และขนมกระแดกงาที่ทำจากข้าวเหนียวคลุกงา ขนมพื้นที่ชาวสุโขทัยให้ลิ้มลอง
เรียนรู้สุโขทัยผ่านโบราณสถาน
จากที่พักโฮมสเตย์ พวกนั่งรถคอกหมู รถพื้นที่ชาวสุโขทัยสุดคลาสสิค ออกมาที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ใช้เวลาไม่นานก็ถึงครับ
โดยที่นี่ ห้ามนำรถทุกชนิดขับเข้าไป ยกเว้นจักรยาน เราจึงถือโอกาสเช่าจักรยาน มีให้เลือกมากมาย ราคาเพียง30บาทเท่านั้นครับ ไกด์ท้องถิ่นรอพวกเราอยู่แล้ว
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่นี่มีพื้นที่มากมาย มีโบราณสถานให้ผมชมมากกว่า10แห่ง แต่เวลาน้อย จึงได้ชมเฉพาะบางที่โดยจุดแรกถือเป็นหัวใจของสุโขทัยคือวัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นวัดสำคัญสมัยนั้น ไกด์ท้องถิ่นได้เล่าให้ผมฟังว่า ที่นี่สร้างในสมัยพญาลิไท เป็นวัดประจำเมือง เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดใหญ่ ฐานลายปูนปั้นพระปางลีลา สัญลักษณ์แห่งสุโขทัย สูงใหญ่ ตั้งตระหง่านตรงหน้าผม ถือเป็นไฮไลท์ที่ควรห้ามพลาดเมื่อมาสุโขทัย
ไม่ไกลจากวัดมหาธาตุ เป็นอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ประดิษฐ์อักษรไทยให้คนไทยได้ใช้กันทุกวันนี้ครับ
อร่อยกับปิ่นโตปูเสื่อกลางวัน
หลังจากเที่ยวชุมในเขตอุทยาน ได้เวลาอาหารเที่ยงพอดี โดยวันนี้ชุมชนจัดปิ่นโตปูเสื่อ อาหาร5อย่างให้พวกเราได้ทานกันครับ
โดยเมนูที่ผมชอบคือ น้ำพริกหนุ่ม เปิดออกมาได้กลิ่นถึงความหอมของน้ำพริก พอได้ชิมต้องยกนิ้วโป้งให้ครับ รสชาติเผ็ด เปรี้ยว กลมกล่อมอย่างลงตัว ถือเป็นอีกหนึ่งเมนูที่ควรมาลิ้มลองกัน
แกงเลียงกุ้ง แกงเลียงสีสดใส ตัดกับสีกุ้งแดง รสชาติหอม หวาน อร่อย เผ็ดนำ หวานตาม ผักสดๆจากชุมชนที่นำมาใส่ มีความหวานมากๆครับ
สานปลาตะเพียน
หลังจากที่เราทานข้าวกลางวันอิ่มแล้ว ถึงเวลามาฝึกการสานปลาตะเพียนจากชาวบ้าน โดยปลาตะเพียนถือเป็นสัตว์แห่งความมั่งคั่ง และเป็นสัตว์มงคลในสมัยสุโขทัย ที่บ่งบอกว่า " ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว " โดยการสาน ชาวบ้านสอนเราใกล้ชิดครับ ส่วนการสานนั้น ทำผมมึนไปชั่วขณะ ดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่าย ต้องใช้สมาธิเป็นอย่างมาก มีการสอดใบลานจนได้ปลาตะเพียนออกมา แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของผมครับ แอบสนุกเล็กน้อย ผมทำราว3ตัว ชาวบ้านจึงให้ร้อยเป็นโมบายสวยงาม นำกลับไปเป็นที่ระลึกอีกด้วย
พระอจนะ พระพูดได้
จากสานปลาตะเพียน ไม่ไกลเป็นที่ตั้งของวัดศรีชุม มีพระพุทธรูปนั่งองค์ใหญ่ในวิหารนามว่า " พระอจนะ " พระพุทธรูปองค์นี้พุทธลักษณะงดงามมากครับ อายุราว900ปี ส่วนที่ชื่อว่า " พระพูดได้ " เพราะกำแพงวิหารแห่งนี้มีช่องที่คนสามารถขึ้นไปด้านบน มีช่องหน้าต่าง ทำให้เป็นที่มาของพระพูดได้นั่นเอง
กระแดกงา ของดีเมืองสุโขทัย
จากวัดศรีชุม ไม่ไกลคือชุมชนทำขนมกระแดกงา ของดีเมืองสุโขทัย ที่ผมมีโอกาสได้ลงฝีมือทำครับ วิธีทำง่ายๆคือ นำผงงามาป่น นำข้าวเหนียวนึ่งร้อนมาตำให้ละเอียด ต้องทำขณะที่ยังร้อนนะครับ ไม่งั้นแข็ง โดยการตำ ต้องนำสากมาแช่น้ำเป็นระยะ เพื่อที่ข้าวเหนียวจะได้ไม่แข็งติดสาก พอตำจนได้ที่จึงใส่งาป่น คำว่ากระแดกงา มาจากที่นี่ คือ งาโดนข้าวเหนียวกลืนกลายเป็นอันเดียวครับ โดยเมื่อคลุกให้ได้ที่แล้ว จึงนำมาปั้นเป็นลูกพอดีคำ และคลุกงาอีกรอบ เพื่อเพิ่มความอร่อยครับ ส่วนรสชาติ หอม หวานจากงา ผนวกกับความนุ่มของข้าวเหนียว สมคำร่ำลือครับ
ดินเนอร์ในแบบโฮมสเตย์
หลังจากที่ทำขนมกระแดกงานเสร็จเรียบร้อย ถึงเวลากลับที่พักโฮมสเตย์ วันนี้พี่เจ้าของ ทำอาหารรอต้อนรับพวกเราอยู่ โดยมีเมนูที่ผมชอบอย่าง
ต้มโคล้งปลาย่าง รสชาติเปรี้ยวนำ เผ็ดตาม ผนึกความหอมของปลาย่างน่าลิ้มลอง ทำให้ผมติดใจไปเลยครับ
น้ำพริกปลาร้า ที่ใช้ปลาร้าต้มหอมชวนน้ำลายสอ กับรสชาติที่เผ็ดกลางๆ หวานตาม ทำเอาผมหลงเสน่ห์ปลายจวักของแม่ครัวกันเลยทีเดียว
วันที่2ของการเดินทาง ผมได้เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์สุโขทัยจากสถานที่จริงมากขึ้น รวมถึงการสานปลาตะเพียน ที่ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาที่หาชมได้ยาก รวมถึงการทำขนมกระแดกงา ขนมที่มีความโดดเด่นในความเป็นสุโขทัย
พรุ่งนี้ วันที่3ของการลงพื้นที่ชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย ผมแอบใบ้ให้ ผมจะพาไปทำพระพิมพ์แบบสุโขทัยแท้ๆที่หาชมได้ยากมาให้ทุกท่านได้สัมผัสถึงความเป็นชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย รวมถึงการทำกระทงไปลอยที่ท่าน้ำรับเสด็จ เขตเมืองเก่าสุโขทัย ถือเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่ดังไปทั่วโลก ทำให้คนรู้จักสุโขทัย " รุ่งอรุณแห่งความสุข " แล้วพบกันนะครับ EP.3 ตอน รู้ล้ำค่าพระพิมพ์-กระทงถวาย
บันทึกคนแบกเป้
วันพฤหัสที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เวลา 20.31 น.