"เพียงเป็นคนชอบเสพย์งานศิลป์ จึงผ่านมามิวเซียมสยาม"
เช่นเคยไม่ได้มาคนเดียวมีคุณแฟนมาด้วยในฐานะที่เราสองคนมีอาชีพที่แตกต่างกันสุดขั้ว
เธอคนนี้มีอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนั่นไม่ใช่ถุงมือทานอส แต่เป็นมือของชาวไท่หย่า
ส่วนฉันเป็นนักเขียนมาเกือบ 7 ปี และตอนนี้ก็เป็นมนุษย์เงินเดือน พร้อมรับงานฝิ่น (ฟรีแลนซ์) ตลอดเวลาเกี่ยวกับตัวหนังสืออะไรก็รับเขียนหมด !!
แต่สิ่งที่ทำให้เราสอง "นัก..." นั้น มีศิลปะและธรรมชาติที่คล้องจองเราสองคนไว้
เฮลโล่ววว!! วันหยุดแบบนี้ อ่ะ แน่นอนสิจ้ะ "ออกหาที่เที่ยวเติม Passion กันสักหน่อย"
พิกัดปลายทางของเรา คือ มิวเซียมสยาม (Museum Siam) ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 เวลาเปิด-ปิด 10.00 - 18.00 น. ปิดทุกวันจันทร์
ค่าเข้าชมนิทรรศการนี้ : ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย (15 ก.ค. - 27 ต.ค. 62)
ความดีงาม คือ เข้าชมฟรี !! ถึง 27 ตุลาคมศกนี้
เราเดินทางท่องเที่ยวสถานีรถไฟแห่งใหม่ "สถานีสนามไชย" ที่เพิ่งถูกยกให้เป็นสถานีรถไฟใต้ดินที่สวยที่สุดในไทย ประดับประดาด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทย ๆ มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจจำนวนมาก โดย MRT สถานีวัดมังกร - สถานีท่าพระ เปิดให้ทดลองนั่งฟรี ๆ ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. - 28 ก.ย. 2019 (10.00-16.00 น.) และต้องย้ำว่า แต่ละสถานีนั้นสวยงามแตกต่างกันค่ะ
ดื่มด่ำความงามในสถานีสนามไชยเสร็จสิ้น เราเดินตรงปรี่สู่ทางออกที่ 1 บุกเกาะรัตนโกสินทร์ ณ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) ถนนสนามไชย กรุงเทพฯ ชมนิทรรศการ “สักสี สักศรี ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน (Tattoo COLOR, Tattoo HONOR)”
ถามว่านิทรรศการ "สักสี สักศรี" นี้มีอะไรบ้าง
- จัดโซนแสดงวัตถุและภาพประวัติศาสตร์การสักของกลุ่มชาติพันธุ์
- หุ่นไม้แกะสลัก มือไม้แกะสลัก
- จัดฉายภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการสัก เรื่อง ศึกคนเถื่อนกู้แผ่นดิน (Warriors of the Rainbow: Seediq Bale) เป็นเรื่องราวชนพื้นเมืองไต้หวันเผ่าซีดิกลุกฮือต่อต้านการปกครองกดขี่ของญี่ปุ่น
- รวมถึงกิจกรรมเสวนา และเวิร์คชอประบายสีตามจินตนาการ
เห็นว่าเป็น นิทรรศการครั้งแรกของไทยที่จัดแสดงเกี่ยวกับรอยสัก บอกเล่ามรดกทางวัฒนธรรม ผ่านศิลปะการสักลายบนเรือนร่างจากไต้หวัน และชาวล้านนาไทย
และความเป็นไต้หวัน + ความเป็นล้านนาไทย จะรวมกันมาเป็นแบบไหน ?
เรื่องนี่มีไต้หวัน แต่ไม่มีชาไข่มุกนะคุณ (55+) เป็นเรื่องสักแบบเน้น ๆ ศิลปะแบบเน้น ๆ เรียนรู้วัฒนธรรมรอยสักที่อาจจะลบเลือนหายไปตามกาลเวลา เราสองคนเดิน ๆ มาที่ชั้น 1 อาคารนิทรรศการ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) และท่องโลกกว้าง "Let your passion find you."
วัฒนธรรมที่แตกต่างแต่ลงตัว
ต้องบอกก่อนนะคะว่า "บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชักชวนให้เกิดการสักบนร่างกาย เพียงแค่เล่าถึงความเป็นมาของประวัติศาสตร์ประเพณีเท่านั้น"
ทำความเข้าใจความหมายกันก่อน การสัก คือ การใช้เหล็กแหลมจุ่มน้ำหมึก (สักหมึก) หรือน้ำมัน (สักน้ำมัน) ทิ่มแทงลงบนเนื้อของมนุษย์ เพื่อให้เกิดอักขระ เครื่องหมาย ลวดลายที่ต้องการ
จริง ๆ แล้วการสักไม่ได้เพิ่งมี แต่มีมานานกว่า 5,000 ปี หลักฐานสำคัญที่บ่งบอกว่ามนุษย์เริ่มสักร่างกายคือ ซากมนุษย์ยุคโบราณที่มีร่องรอยสักร่างกายที่บริเวณหลังและข้อเท้า โดยซากดังกล่าวถูกค้นพบบริเวณธารน้ำแข็ง อาเล็ทซ์ กลาเซีย (Aletsch Glacier) ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
หมายความว่า การสักมีมายาว และถูกส่งต่อมาเรื่อย ๆ ในรุ่นสู่รุ่น หากทำความเข้าใจการสักลวดลาย อักขระ ตัวเลขลงบนร่างกาย เพื่อตามรอยว่ารอยสักของคนโบราณได้สะท้อนนัยยะอะไรที่ส่งต่อถึงคนรุ่นเราบ้าง ?
ทุกวัฒนธรรมการสักล้วนมีที่มา...
- ชาวเมารี นิวซีแลนด์ และชาวไอนุ ประเทศญี่ปุ่น เชื่อว่า การสักจะคุ้มครองความเป็นหนุ่มสาว และช่วยให้กระฉับกระเฉง
- ชาวแอชเตค และชาวมายาของเม็กซิโกใช้การสักบอกถึงตำแหน่ง เครื่องหมายเกียรติยศ
- ชาวกรีกสักกลางศีรษะของจารบุรุษ (หรือสายลับ) เพื่อส่งความลับ ข้อความ ผ่านแดนข้าศึก
- ชาวไทยสักลวดลายเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ และใช้บอกสถานะ การสังกัดกรมกอง เป็นการสักยันต์ สักเลก (ไม่ได้เขียนผิดนะคะสักเลก)
โดยเฉพาะการสัก! บางครั้ง "เจ็บปวดแค่ไหนก็ต้องทน" ในอดีตมักจะใช้การสูบฝิ่นหรือกินฝิ่นช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ลดการเลือดออก บางคนทนเจ็บไม่ไหว หรือมีบ้างที่เสียชีวิต โดยการสักเนี๊ยะบางคนทนเจ็บปวดเพราะพ่อแม่ขอให้สักทดแทนพระคุณ หรือสักแสดงความเข้มแข็ง และเป็นที่ชื่นชอบของสาว ๆ ก็มี
เราได้เรียนรู้เรื่องราวตำนานเล่าขานเหล่านี้ ภายในงานนิทรรศการ พร้อมกับเจาะลึกถึงประวัติศาสตร์ในอดีตของชาวไผวันและชาวไท่หย่าจากไต้หวันที่เลือกสักหน้า สักทั้งตัว โดยใช้รอยสักเป็นเครื่องยืนยันเกียรติยศ ความภูมิใจ แบ่งกลุ่มผู้สักในไต้หวัน ตามนี้
- คนที่สามารถสักได้คือคนที่มีตำแหน่งเหมาะสม มีสถานะทางสังคมเท่านั้น ซึ่งเรียกว่าชาวไผวัน ซึ่งการสักไม่ต่างอะไรกับลวดลายบนเสื้อผ้า ตามประเพณีหัวหน้าเผ่าและสมาชิกในครอบครัวหัวหน้าเผ่าเท่านั้นถึงจะสักลายพิเศษได้ และคนทั่วไปต้องขออนุญาตก่อนสักลายด้วยนะ หากผ่าฝืนมีโทษหนักถึงขั้นอัปเปหิออกจากเผ่า และถูกลงโทษสถานหนัก !
- ส่วนชาวไท่หย่า คือผู้หญิงที่มีความสามารถในการทอผ้า ตามตำนานเชื่อว่า คนที่สักบนใบหน้าจะได้พบกับสะพานแห่งสายรุ้งหลังจากความตาย พร้อมกับจะได้พบกับบรรพบุรุษในโลกแห่งวิญญาณ
โดยวัฒนธรรมเหล่านี้เริ่มจางหายตั้งแต่ญี่ปุ่น (พ.ศ. 1895 - 1945) เนื่องจากคนพื้นเมืองถูกมองว่า ไร้อารยธรรม บางคนต้องผ่าตัดลบรอยสัก จนกระทั่งหลายปีที่ผ่านมา อคติดังกล่าวลดน้อยลงตามวันเวลา
คนไทยสักลาย สักยันต์ สักเลก
กลับมาเล่าเรื่องวัฒนธรรมสักลายบ้านเรากันบ้าง คนไทยสักลายตั้งแต่เมื่อไหร่ ข้อมูลบอกว่า "การสักของคนไทยเก่าแก่ราว ๆ สมัยอยุธยา"
อ้างอิงจากจดหมายเหตุลาลูแบร์ กล่าวว่า "การสักแขนสักขาเป็นการแสดงถึงเกียรติยศของผู้สัก โดยพระมหากษัตริย์โปรดการสักสีน้ำเงิน และขุนนางเสนาบดีนิยมสักลายทดสอบความเป็นลูกผู้ชาย ฝึกความอดทน" ขณะที่การสักเลกแสดงถึงความเป็นไพร่สังกัดมูลนายหรือกรมกอง กระทั่งหายไปหลังจากสังคมไทยเมื่อเกิดกฎหมายขึ้นมาทดแทน
นอกจากนี้ คนไทยยังเชื่อว่าสักยนต์ช่วยเมตตามหานิยม เจรจาค้าขาย ฯลฯ พร้อมกับลักศิลปะเพื่อความงดงาม และยังมีหลาย ๆ วัฒนธรรมมากมายเกี่ยวกับการสักของคนไทยที่หลากหลายแตกต่างกันไป
ระหว่างชมนิทรรศการ ผลงานสักขาลายของชาวล้านนาจากทางภาคเหนือของเมืองไทย ชาวไท่หย่าและชาวไผวันจากไต้หวันภายในงานยังมีจุดให้โชว์ฝีมือการระบายสีรูปภาพด้วยนะ คลายเครียดดีเหมือนกัน
ผลงานระบายสีลายสักบนร่างกายของผู้ชาย (ด้านหน้า) และลายสักบนมือผู้หญิง
นักวิทยาศาสตร์เธอกำลังระบายสีอยู่ค่ะ
ผลงานระบายสีชาวล้านนา โดยนักวิทยาศาสตร์
ถึงไม่นิยมรอยสัก แต่มาสักครั้งก็ถือว่าได้เรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมที่ส่งต่อในประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์นะคะ
ย้ำอีกครั้ง สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยสนใจเดินเที่ยวนิทรรศการสักสี สักศรี ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน เป็นนิทรรศการหมุนเวียนจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 - 27 ตุลาคม 2562 เป็นนิทรรศการสัญจร ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปล่ะจ้า ช้าหมด อดเน้อเจ้า
ก่อนกลับแวะหมุนเหรียญที่ระลึกกลับบ้านได้นะคะ มี 3 รูปแบบ (เหรียญละ 20 บาท)
ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้ :)
- เว็บไซต์ th.readme.me/id/buttercutter รวมรีวิวท่องเที่ยว-กิน เดินทาง อ่านง่าย ๆ สบาย ๆ หากชอบบทความให้กำลังใจผู้เขียนด้วยการกดไลค์เพจที่ไหนอะไรดีก็ได้นะจะได้มีกำลังใจหาเรื่อง เอ้ย!! กำลังใจหาสิ่งสนุก ๆ มาบอกเล่ากันอีก หรืออยากให้เราเล่าเรื่องไหน ปรับปรุงอะไร คอมเมนต์ได้เสมอ
ที่ไหนอะไรดี
วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เวลา 14.07 น.