- ตีพิมพ์แล้วใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม 2561 ในชื่อบทความ "อาทิตย์นี้หนีเที่ยว... สายบุญล่องคลอง 3 วัดโบราณย่านนนท์"
- ได้รับอนุญาตในการนำลงเว็บไซต์นี้แล้ว โดย text ทั้งหมดในบันทึกนี้เป็นต้นฉบับก่อนการ Edit โดยบรรณาธิการ
- ผู้เขียน - วนิดา แก่นจันทร์
เสียงแจ้งเตือนข้อความดังขึ้น พี่ชายคนหนึ่งซึ่งรู้จักกันจากการทำงานเมื่อนานมาแล้วทักมาชวนฉันไปทำบุญ ล่องเรือไปตามลำน้ำสายโบราณ เพื่อไปยัง 3 อารามโบราณริมคลอง... ฟังแบบนี้แล้วมีหรือที่ฉันจะพลาด อาทิตย์นี้หนีเที่ยวไปทำบุญสายคลองกันดีกว่า
กัลยาณมิตรที่ยังไม่ลืมเลือน
ฉันรู้จัก ป๊อบ - ปัญญภัทร เลิศสำราญเริงรมย์ พี่ชายผู้เป็นกัลยาณมิตรและเป็นผู้นำทริปทำบุญในครั้งนี้ เมื่อครั้งยังทำงานผลิตรายการสารคดีเมื่อนานมาแล้ว ครั้งนั้นป๊อบให้สัมภาษณ์บอกเล่าความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมภายในชุมชน ครั้งนี้เขาก็ยังทำหน้าที่เดิม คอยให้ความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับชุมชนให้คณะทัวร์ทำบุญฟัง ออกจะผิดคาดอยู่บ้าง เพราะฉันไม่รู้เลยว่าป๊อบ พี่ชายคนนี้จะเป็นคนนำทริปอะไรอย่างนี้... เมื่อถามถึงที่มาของการรวมตัวกันเที่ยวแบบนี้บ้าง ป๊อบยิ้ม และเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี…
เอาล่ะ!! ได้เวลาออกเดินทาง ล่องลำนาวาเส้นทางโบราณ คลองบางกอกน้อย-คลองลัดบางกรวย-คลองอ้อมนนท์
(แถวหน้า-กลาง ป๊อบ ปัญญภัทร กัลยาณมิตรผู้นำคณะทำบุญในครั้งนี้)
หมุดหมายแรก-วัดเกตประยงค์-เล็ก ตั้งตรงจิตร
เรือออกจากท่าเรือสาทรหลังจากสมาชิกครบถ้วนที่มีกัน 40 คน พวกเราก็ออกจากท่าสาธร ล่องลำนาวาเจ้าพระยาสายใหม่มุ่งหน้าผ่านสถานที่สำคัญทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำมากมาย จนเรือแล่นมาถึงหน้าโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลแห่งแรกของเมืองไทย จากนั้นเรือเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางสายคลองโบราณสายแรก-คลองบางกอกน้อย คลองที่ครั้งเก่าก่อนเคยเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนที่จะมีการขุดเส้นทางลัดที่ต่อมาคือเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนเส้นทางแม่น้ำเดิมก็ได้กลายมาเป็นคลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ และคลองชักพระในเวลาต่อมา...
เส้นทางคลองบางกอกน้อย ที่ปัจจุบันยังเป็นเส้นทางสัญจรไปมาของชาวบ้านในย่านนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เรือนำพาพวกเราลัดเลาะตามทางแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าไปเรื่อยๆ จนมาถึงหมุดหมายแรก วัดเกตประยงค์-เล็ก ตั้งตรงจิตร ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย วัดโบราณที่มีอายุกว่าร้อยปี...
มณฑบวัดเกตุ ประยงค์ - เล็ก ตั้งตรงจิต
หลังจากสักการะพระประธานในโบสถ์ เดินชมรอบบริเวณวัด สนทนาเรื่องราวของวัดกันเป็นที่เรียบร้อย เราทั้งหมดก็ร่ำลาวัดแห่งนี้ก่อนล่องเรือไปยังหมุดหมายต่อไป...
ร่มรื่น วัดบางอ้อยช้าง
เรือแล่นออกจากท่าวัดเกดประยงค์ฯ ไปตามลำน้ำอย่างเอื่อยๆเราได้นั่งทอดน่องรับสายลมเย็น คลอเคล้าไปกับเสียงบรรยายของป๊อบ น้ำเสียงทุ้มนุ่มลึกทำให้คนทั้งลำเรือฟังอย่างเพลิดเพลิน ป๊อบเล่าที่มาของลำคลองสายที่เรากำลังแล่นผ่าน-คลองอ้อมนนท์ คลองซึ่งในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อ 400 ปีก่อนที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของคลองบางกอกน้อยอย่างเช่นปัจจุบัน คลองอ้อมนนท์ยังเป็นลำน้ำที่มีชีวิต เพราะยังเป็นเส้นทางสัญจร มีเรือขายกับข้าวแวะเวียนไปหาถึงท่าหน้าบ้าน บ้านสองฝั่งคลองยังมีเปิดเป็นร้านของของชำขนาดย่อม เปิดเป็นปั๊มน้ำมันไว้คอยบริการ ที่สำคัญผู้คนยังลงใช้น้ำในลำคลองกันอยู่ ระหว่างทางช่างร่มรื่นเสียจริง
คุณยายกับวิถีชีวิตที่ธรรมดา
บรรยากาศบ้านเรือนริมคลอง
พี่ป๊อบเล่าเรื่องราวในอดีตของลำคลอง สลับกับความรู้ด้านประวัติความเป็นมาของวัดบางอ้อยช้าง ซึ่งอยู่ริมคลองอ้อมนนท์สายนี้นั่นเอง เมื่อเรือจอดถึงท่าหน้าวัด ก็มีตัวแทนมารอต้อนรับ ก่อนจะพาพวกเราทั้ง 40 คนเข้าไปในโบสถ์หลังใหม่ ทุกคนล้วนนั่งรอการทำพิธีถวายเทียนพรรษาซึ่งเป็นเป้าหมายของพวกเราอย่างตื่นเต้น เพราะภายในโบสถ์สวยงามไปด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวในพระไตรปิฎก ผสมผสานภาพบอกเล่าประวัติศาสตร์เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จมาทอดผ้ากฐินหลวง และเรื่องราววิถีชีวิตของชาวสวนนนทบุรีไว้อย่างกลมกลืน
จิตรกรรมฝาผนัง บอกเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชทานผ้ากฐินหลวง
จิตรกรรมฝาผนัง ภายในโบสถ์หลังใหม่ของวัดบางอ้อยช้าง
หลังจากขึ้นไปชมบนพิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้าง ดูข้าวของเครื่องใช้แห่งความทรงจำของคนไทยในอดีตกันจนเป็นที่เรียบร้อย ฉันก็มีโอกาศนั่งพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ที่มีใจอนุรักษ์วิถีชีวิตและรากเหง้าของท้องถิ่นเอาไว้อย่างน่าชื่นชม…
บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้าง
ต้นอ้อยช้าง อันเป็นที่มาของชื่อบ้านนามเมืองของชุมชนแห่งนี้ ปัจจุบันมีปลูกไว้ที่วัดบางอ้อยช้าง
บรรยากาศวัดบางอ้อยช้าง
เวลาเคลื่อนคล้อย บ่ายโมงตรงก็ได้เวลาล่องลำนาวาสายเดิมไปต่อที่หมุดหมายสุดท้าย วัดที่อยู่ลึกเข้าไปบนฝั่งแผ่นดิน-วัดยุคันธราวาส
สถานที่สุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด
ป๊อบเล่าให้เราฟังถึงแนวทางในการเลือกวัดในครั้งนี้ว่า… “วัดที่เลือกมา 3 วัดในวันนี้ พยายามเลือกให้เป็นวัดที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก แต่เป็นวัดสำคัญที่คนมักหลงลืม นี่คือสิ่งที่ตั้งใจครับ”
ระหว่างทางเดินไปวัดยุคันธราวาส
จากวัดบางอ้อยช้าง พวกเราใช้เวลากว่า 20 นาทีในการเดินทางทางเรือ จากนั้นขึ้นฝั่งเดินเท้าผ่านย่านชุมชนต่อไปอีกกว่า 500 เมตร ก็ถึงอารามโบราณอันสงบเรียบง่าย ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ภายในโบสถ์ดูคับแคบลงไปถนัดตา เมื่อถูกบรรจุด้วยคณะทัวร์สายบุญกว่า 40 คน เจ้าอาวาสทักทายพวกเราด้วยน้ำเสียงเป็นมิตร พร้อมเล่าประวัติความเป็นมาของวัดให้ฟังเพิ่มเติมด้วย พวกเราถวายเทียนพรรษาคู่สุดท้าย ร่วมกันจุดไฟจนเปลวเทียนสว่างไสว เจ้าอาวาสให้ศีลให้พรก่อนการร่ำลา ล้วนสร้างความอิ่มเอมในหัวใจ และรอวันที่พวกเราทั้งหมดจะได้ร่วมทางกันใหม่อีกครั้ง...
โบสถ์วัดยุคันธราวาส
ฉันรู้สึกประทับใจในสิ่งที่ทุกคนมอบให้ ทั้งผู้ร่วมคณะทำบุญในครั้งนี้ก็ดี ทั้งผู้คนที่อยู่ประจำวัดทั้งสามที่ไปก็ดี ทั้งผู้คนซึ่งอยู่ริมฝากฝั่งคลองก็ดี ที่หยิบยื่นมิตรไมตรีอันอบอุ่น เหล่านี้ล้วนก่อเกิดเป็นพลังให้ฉันได้เติมลงไปในหัวใจ
ไปไหว้พระวัดริมคลอง วันหยุดยาว
ใกล้วันสำคัญทางศาสนา อย่างวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา หากใครอยากเดินสายทำบุญ พร้อมเที่ยวทางวัฒนธรรมไปด้วย ลองเช็กลิสต์กับวัดริมคลองเหล่านี้…
- วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร อยู่ริมคลองบางกอกน้อย เดิมชื่อวัดทอง สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านในแถบนี้เคารพนับถือหลวงพ่อศาสดา พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัยอายุกว่า 700 ปีเป็นอย่างมาก
- วัดชลอ อยู่ริมคลองบางกอกน้อย ใกล้ทางแยกกับคลองบางกรวย สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นวัดที่มีพระอุโบสถสร้างเป็นรูปเรือหงส์ ใหญ่ที่สุดฝนโลก
- วัดพิกุลทอง อยู่ริมคลองบางกอกน้อย ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่วัดแห่งนี้ก็ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนปัจจุบัน
- วัดสุวรรณคีรี หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดขี้เหล็ก ด้วยในอดีตบริเวณนี้มีตนขี้เหล็กเป็นจำนวนมาก ตัววัดตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย ใกล้ทางแยกไปคลองชักพระ
Nida Mailo
วันพฤหัสที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2562 เวลา 14.51 น.