ถ้าจะพูดถึงมัสยิดสักแห่ง ที่คนทั่วไปรู้จักและอยากไปเยือนสักครั้งที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย มัสยิดวาดิลฮูเซ็น คงเป็นหนึ่งในตัวเลือกของใครหลายๆ คน ที่หากมีโอกาสได้ไปเยือนที่จังหวัดนราธิวาส จะต้องไป ณ.ที่แห่งนี้ ด้วยกับความเก่าแก่ของมัสยิดและรูปแบบการก่อสร้างมัสยิด ที่ยังคงความดั้งเดิม ที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน

เราเดินทางไปที่มัสยิดแห่งนี้ ตามคำแนะนำของคนพื้นที่ให้เราขับรถขึ้นเขาที่ตัดใหม่จากจังหวัดยะลา ซึ่งเราก็จำชื่อไม่ได้ว่า ถ.นี้ชื่ออะไร ระหว่างทางบนเขามีจุดพักรถ ซึ่งเป็นจุดที่เหมาะแก่การถ่ายรูปอย่างมากเพราะจะมองเห็น จ.นราธิวาส ในมุมกว้าง ยังมีร้านกาแฟ และแอ่งน้ำเล็กๆ สำหรับเล่นน้ำคลายร้อนได้อย่างดี

เราตาม GPS ไป มีงงนิดหน่อย เพราะทางเข้าค่อนข้างลึก ซึ่งในที่สุดเราก็ไปถึงจนได้ ก่อนถึงประตูมัสยิดมีร้านอาหาร ร้านขายของฝากอยู่ด้านหน้า หลังจากที่เดินชมความสวยงามของมัสยิด และรอบๆ มัสยิดที่มีบ้านเก่าแก่ทรงโบราญ ให้เราได้ถ่ายรูป เราได้มีโอกาสคุยกับผู้ใหญ่ในพื้นที่เพราะช่วงที่เราไปคือช่วงปิดเทอม ทางชุมชนจึงจัดค่ายอมรมศาสนาให้เด็กๆ ในพื้นที่ ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เราใช้เวลาในการสนทนากันเกือบชั่วโมง มิตรภาพและรอยยิ้มที่เกิดขึ้น ทำให้เราลืมนึกถึงข่าวคราวความรุนแรงที่เราได้ยินกันมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา การที่เรามีโอกาสได้ไปสัมผัสกับคนในพื้นที่ไม่ว่า ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ทำให้เราได้ทราบถึงความพยายามของคนในพื้นที่ที่อยากให้ บ้านเกิดของเขากลับมามีชีวิตชีวา มีนักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสกับความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่มีอยู่มากมาย หากมีโอกาสแนะนำให้ลองไปเยือนที่มัสยิดแห่งนี้กันสักครั้ง แล้วเราจะภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ซึ่งคงหาได้ยากในปัจจุนัน

ประวัติมัสยิด

มัสยิดวาดีลฮูเซ็น หรือ มัสยิดตะโละมาเนาะ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ มัสยิด 300 ปี ตั้งอยู่บ้านตะโละมาเนาะ ตำบลลุโบะสาว โดดเด่นด้วยสถาปัตกรรมอาคารไม้ตะเคียนทั้งหลัง ผสมผสานศิลปะไทย จีน และมลายูเข้าด้วยกันอย่างมีเอกลักษณ์ สถานที่อันเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทางศาสนา และมีสถาปัตยกรรมอันสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมของพื้นที่ ผ่านกาลเวลามายาวนานนับร้อยปี สร้างขึ้นโดยนายวันฮูเซ็น อัส-ซานาวี ผู้อพยพมาจากบ้านสะนอยานยา จังหวัดปัตตานีเมื่อ พ.ศ. 2167

เริ่มแรกสร้างหลังคามุงใบลาน ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผา ลักษณะของมัสยิดมีความแตกต่างจากมัสยิดทั่วไป คือเป็นอาคาร 2 หลังติดต่อกัน สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง สถาปัตยกรรมของมัสยิด 300 ปี สร้างแบบศิลปะไทยพื้นเมืองประยุกต์ ผสมผสานศิลปะแบบจีน และมลายู เป็นอาคาร 2 หลังติดกัน มีเสาไม้ 26 ต้น เสามีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม ฝาประกบหน้าต่างทำด้วยไม้ทั้งแผง แกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ จุดเด่นอยู่ที่โครงสร้างหลังคาทั้ง 2 หลัง ซึ่งมีความแตกต่างกัน โดยมัสยิดหลังแรก มีหลังคาทั้งหมด 3 ชั้น มุงด้วยกระเบี้องดินเผาหลังคาชั้นที่ 3 มีโดมเป็นเก๋งจีนอยู่บนหลังคา เป็นศิลปะแบบจีนแท้ เสาแกะสลักเป็นรูปดอกพิกุล ในสมัยนั้นเก๋งจีนจะใช้เป็นหออาซาน (สำหรับตะโกนเรียกคนมาละหมาด)ส่วนมัสยิดหลังที่ 2 มีหลังคา 2 ชั้นมุงด้วยกระเบื้องดินเผา หลังคาชั้นที่ 2 มีจั่วอยู่บนหลังคาชั้นแรกมีฐานดอกพิกุลหงายรองรับจั่วหลังคาอีกชั้นหนึ่ง

การเดินทางด้วยรถยนต์ จากตัวเมืองนราธิวาส ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 4055 ก่อนถึงทางเลี้ยวเข้า อ.บาเจาะ

ให้เลี้ยวขวาก็จะถึงมัสยิด 300 ปี หรือมัสยิดวาดีอัลฮูเซ็น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อมัสยิด 300 ปี โทร. 0 73 52 2411

ความคิดเห็น