ย้อนกลับไปปี 2016.. เคยสัญญากันว่าเรา 3 คน จะตะลุยเจแปนกันสักครั้ง..
ผ่านมาปลายปี 2018 ในที่สุดก็เปิดฤกษ์กับตั๋วโปรหางแดง คุยกันไปมาตัดสินใจไปช่วงฤดูใบไม้ร่วง จึงจัดเดือน พ.ย. 2019 ในราคา 8,950 บ./คน.(ค่าตั๋วไป-กลับ+โหลดขาไป 1 ใบ ขากลับ 2ใบ+ข้าวบนเครื่องขาไป) ระหว่างนั้นก็วางแผนคร่าวๆ ว่าอยากเที่ยวแบบไหน เน้นอะไร อยากทำอะไร มีอีเว้นท์อะไรไหม และดูที่พักไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่จองเพราะส่วนใหญ่จะเปิดจอง 3-6 เดือนล่วงหน้า โดยที่พักเน้นเทียบราคาในหลายๆ เว็ป และดูของที่พักโดยตรงด้วยว่าต่างกันมากน้อยแค่ไหน
เมื่อเพื่อนสาวอยากซื้อโหลดกระเป๋าขาไปเพิ่ม แต่ด้วย low cost อะไรที่เพิ่มมันก็จะแพงจนใจสั่น (ประมาณ 1,000++ บ. ) เลยไปสมัคร บัตรเครดิต Airasia ร่วมกับ ธ.กรุงเทพ เพื่อเอา Gift voucher โหลดกระเป๋าฟรี 20kg เลยประหยัดค่าโหลดไปได้ 555 (ใช้ได้เฉพาะขาออกจากกรุงเทพฯ เท่านั้น โดยเจ้าของบัตร only และเจ้าของบัตรต้องไม่เคยซื้อโหลดให้ตนเองมาก่อนนะจ๊ะ)
เหมือนพลังบางอย่างครอบงำอีกครั้ง.. เมื่อ SCB ได้ออกบัตร "SCB Planet" แลกเงินเยนดองไว้ในเรทค่าเงินที่พูดสั้นๆ ว่า "ดีอ๊าาาาา" ซึ่งเราสามารถทำรายการผ่าน App SCB Easy ได้เล้ยยยย ง่ายเฟ่อร์!!!!
"บัตรผู้สนับสนุนการเดินทางครั้งนี้"
รีวิว SCB Planet : มีกระแสข่าวหลากหลายกับการใช้งาน แต่ส่วนตัวลองใช้แล้วไม่มีปัญหาติดขัดอะไรและใช้ง่ายดีด้วย เพราะรูดแบบบัตรเครดิตได้เลย แต่จะดีกว่าที่จะไม่มีค่าความเสี่ยง (บัตรเครดิตจะมีค่าความเสี่ยงประมาณ 2-2.5% / ครั้งในการตัดบัตร) สม concept "โลกเสรีแห่งการแลกเงิน" เพราะ App นางใช้เน็ตมือถือ หรือ Wifi ก็ได้หมด หากตังค์เยนหมด เราก็พร้อมสวิตซ์เงินไทยในบัญชี เปย์ลง Wallet และแปลงเงินทันที เป็นสังคมไร้เงินเหรียญ 555 .. และความ Happy so gooooood ที่มากกว่า Dtac (เกี่ยวไรกัล?) ถ้าใช้รูดใน 7-11 / Familymart / Lawson โดยบอกน้องพนักงานว่า "วีซ่าเดส!" ลดภาษีไปเลย 2% (เช็คโปรโมชั่นกันที่ร้านอีกทีนะ)
อ่ะๆๆๆ เดี๋ยวจะหาว่าอวย ข้อเสียนางก็มี..
- พอเราใช้นางรูด จะเป็นการกันวงเงินเราไว้ก่อนยังไม่ตัดทันที และดันรูดต่อได้เรื่อยๆ ซะด้วย ธรรมดาที่ไหน!!?? เพราะงั้นสายช้อปพึงระวัง!! แต่ถ้าเพลินจริงแล้วเราไม่มีเงินรอใน Wallet มันก็จะขึ้นติดลบ เราก็แค่เติมตังต่อยอดไป หรือถ้ามีเงินไทยค้างอยู่ ก็จะตัดเป็นเงินไทยบาทแทนทันที..
- “แล้วเงินที่เราแลกมาในบัตรกดมาใช้ได้ไหม??” กดได้จ้า!!! .. ใช้งานนางเหมือนเอาบัตรไปยัดตู้ ATM ได้เลย แต่ให้เราเลือกหัวข้อ “บัตรเครดิต หรือสินเชื่อ” (ตู้มีให้เลือกภาษาไทยฮับ ไม่มีก็ Withdrawals -> Credit) รหัสบัตร คืออันเดียวกับที่เราเข้า App นางนั่นแหล่ะ ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมตามจำนวนเงินที่เรากดมา อันนี้ยังไม่ได้ลองเล่นนะ แต่เท่าที่หาข้อมูลมา คือ 10,000Y+108Y หรือ 20,000Y+216Y **เว้นตู้ Aeon ที่ฟรี ซึ่งตู้นางก็หายากยิ่ง.. ส่วนปัญหาที่คนส่วนใหญ่พบคือบัตรเด้งออก กดไม่ได้เลย ดังนั้นเหมาะแก่การรูดอย่างเดียวมากกว่า ไม่แนะนำให้เสี่ยงกดเงินนะจ๊ะ(^^") ไงก็พกเงินสดติดตัวไว้ด้วยดีกว่าเนอะ หรือเติมลง Pasmo / suica ก็ตามสะดวกจ้า(บัตรเติมเงินญี่ปุ่น)
และการเดินทางครั้งนี้เพื่อความอุ่นใจขาด 2 สิ่งไม่ได้ "อินเตอร์เน็ต" และ "ประกันการเดินทาง" รอบนี้ลองเปลี่ยนค่ายใช้บริการ Dtac Go inter ซึ่งสัญญาณเน็ตใช้ได้เลย เร็ว แรง และครอบคลุมทุกพื้นที่ที่เดินทาง ซื้อผ่าน shopee ราคาเบาๆ ส่วนประกันยังคงใช้บริการของ Sompo เจ้าเดิมเนื่องจากหากไม่สบายไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน โดยงวดนี้ซื้อแผน B ไว้ เผื่อกรณีเหตุการณ์ไม่คาดคิดล่ะนะ
Appication ติดตัวในทริปนี้ Hyperdai, JR East และ Tokyo subway ประกอบ Google map ในการคำนวณเวลา ค่าใช้จ่ายโดยประมาณ รอบรถ เส้นทาง ส่วนตัวว่า Google map จะ real time สุด เพราะหากเกิดเหตุขัดข้อง จะมี Update แจ้งทันที
หลังวางแผนและจองที่พักเสร็จไปนานโข.. เพิ่งมาเห็นก่อนเดินทาง 2 เดือนว่า.. "จองที่พักผิดวัน".. ใช่ค่ะอ่านไม่ผิด “ผิดวัน!!!!” โชคยังดีว่าจองแบบยกเลิกฟรีและรู้ตัวก่อน แต่ก็ทำให้ราคาที่เคยจองได้หายไป เกลียดความเมาของตัวเอง 555 เลยต้องรื้อแผนวางรากฐานกันใหม่อีกที..
เคาะห์กรรมยังไม่หมด.. น้องฮากิบิสก็แซงคิวเที่ยวเจแปนก่อนซะงั้น มาทำไมตอนเขาใกล้จะบินนนนนน (T T) .. ผลคือเส้นทางบางเส้นขาด รอบรถลดลง และมีปัญหาอีกหลายส่วน ผสมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ช่วงนี้ทำการบ้านหนักพอควร ถึงขั้นเอาข่าวภาษาญี่ปุ่นไปแปลใน google translate เพราะบางที่ที่จะไปไม่มีเวอร์ชั่นอังกฤษ.. อุปสรรคมีไว้ให้เราหัดแก้ไข สู้ตาย!!!!
หลังผ่านความกดดันช่วงก่อนเดินทาง และแล้วสามสาวพาวเวอร์พัฟเกิลส์ ก็ได้บินแล้วจ้า กรีดร้องงงงงงงง -->
ต่อภาคเดินทาง --> การเดินทาง 1 // การเดินทาง2
JaguarBoomy
วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 16.37 น.