อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ จาก กทม.มาบนถนนทางหลวงหมายเลข21 ถึงสี่แยกเมืองเก่า เลี้ยวขาเข้าทางหลวงหมายเลข2219 ตรงเข้ามา มีป้ายบอกทาง ทางไปอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

เสียค่าธรรมเนียม คนล่ะ 20 บาท
ค่าจอดรถ 50 บาท

ที่แรกที่เราจะเจอคือ ศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์

ข้างในจะบอกเกี่ยวกับประวัติ โบราณสถาน และโบราณวัตถุ ที่ถูกขุดพบได้ที่นี้


สุริยะเทพ

จากนั้นเราจะไปชมโบราณสถานกัน ด้วยรถรางคันนี้ ที่ทางอุทยานได้จัดเตรียมไว้ให้

รถจะมาจอดส่งเราที่ปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์สองพี่น้อง เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมร มีลักษณะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐสององค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ทั้งสององค์ส่วนยอดพังทลายไปจนหมดสิ้นแล้ว แต่องค์เล็กยังหลงเหลือทับหลังศิลาทรายที่มีสภาพสมบูรณ์ประดับอยู่จำหลักเป็นรูปอุมามเหศวร (พระอิศวรอุ้มนาง ปารพตี (อุมา) ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราชหรือนนทิ) จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบทำให้อนุมานได้ว่าปรางค์สองพี่น้องนี้คงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู(พราหมณ์)ลัทธิไศวนิกายในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ แล้วต่อมาจึงได้ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔ - ๑๗๖๐)


บริเวณทางเดินรูปกากบาทด้านหน้าปรางค์สองพี่น้องที่ต่อเชื่อมกับทางเดินโบราณนั้นได้มีการค้นพบเทวรูปพระอาทิตย์หรือสุริยเทพผู้เป็นเทพแห่งแสงสว่างและความอบอุ่น สลักจากศิลาทรายที่มีกำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ซึ่งเมื่อนับรวมกับที่เคยพบมาก่อนแล้วอีก ๕ องค์ ทำให้มีการพบทั้งหมดถึง ๖ องค์ ซึ่งทั้งหมดมีกำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ (ปัจจุบันจัดแสดงและเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร จำนวน ๓ องค์ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน สหรัฐอเมริกา จำนวน ๑ องค์ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี จำนวน ๑ องค์ และเก็บรักษาไว้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จำนวน ๑ องค์) ซึ่งนับเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในศาสนาฮินดูที่เคารพนับถือในพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ อันจะมีพิธีกรรมบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับประเพณีมหาสงกรานต์ที่มีการพบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยปัจจุบัน


พระอิศวรอุ้มนาง ปารพตี (อุมา) ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราชหรือนนทิ



ขาคลังใน เป็นศาสนสถานสำคัญประจำเมืองที่มีขนาดใหญ่เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี ที่สร้างขึ้นพร้อมกับสมัยแรกสร้างเมืองในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เพื่อเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิหินยานหรือเถรวาท แล้วต่อมาจึงได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ และคงใช้สอยตลอดมา จนกระทั่งเมืองถูกทิ้งร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีลักษณะก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก บริเวณฐานด้านทิศใต้และตะวันตกยังหลงเหลือประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระที่มีศีรษะเป็นบุคคลหรือสัตว์ต่างๆ สลับกับรูปสัตว์ในท่าแบกประกอบลายพันธ์พฤกษา ซึ่งพบและหลงเหลือประดับอยู่ที่ฐานโบราณสถานเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยปัจจุบัน


ปรางค์ศรีเทพ เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมรมีลักษณะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางด้านตะวันตกในแนวแกนเดียวกับปรางค์สองพี่น้อง จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบโดยเฉพาะทับหลังทำให้อนุมานได้ว่าคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู (พราหมณ์) ลัทธิไศวนิกายในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ ต่อมาคงมีการพยายามซ่อมแซมดัดแปลงแต่ยังไม่แล้วเสร็จเพื่อใช้เป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔ - ๑๗๖๐)


ภายในอุทยามีจุดจัดแสดงหลุมขุดค้นทางประวัติศาสตร์ ที่ขุดขึ้นได้ใหม่ รถรางจะพาเราเข้าไปชมได้ สำหรับรีวิวนี้ เป็นรีวิวเบื้องต้น เมืองศรีเทพ เมืองอภัยสาลี เมืองพระศรีถมอรัตน์ อีกไม่นาน ที่นี้จะเข้าสู่กระบวนการการพิจารณาขึ้นเป็นมรดกโลก

หากผิดพลาดประการใด กราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

ความคิดเห็น