พิพิธสยาม หรือ Museum Siam
ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมนิทรรศการเคลื่อนที่ พระนคร ออน เดอะ มูฟ เพราะไปลงชื่อเข้าร่วมกิจกรรม ท้องร้อง ท่องพาหุรัด ที่จัดโดยพิพิธสยามเหมือนกัน ระหว่างที่รอเวลาการเดินทางไปยังจุดหมาย ทางคณะจึงได้แวะเข้าชมนิทรรศการเคลื่อนที่ พระนคร ออน เดอะ มูฟ
ขนมตัวอย่างที่เราจะไปชม ช๊อป ชิม กันในกิจกรรม ท้องร้อง ท่องพาหุรัด
‘พระนคร On the Move’ ย้อนอดีตอย่างเข้าใจไปในย่านเมืองเก่า
- นิทรรศการหมุนเวียนล่าสุด ‘พระนคร On The Move’ ของมิวเซียมสยาม จะพาทุกคนย้อนเวลาไปทำความเข้าใจอดีต ผ่านย่าน สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัด ที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ยุครัชกาลที่ ๔ มาจนถึงยุคคุณตาคุณยายยังเด็ก
- นายช่างฝรั่งที่ถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในนิทรรศการนี้คือ ‘โจอาคิม แกรซี’ ผู้สร้างวังบูรพาภิรมย์ วังสะพานถ่าน และวังสามยอด จากรูปถ่ายที่นำมาจัดแสดง เราจะเห็นได้ว่า ผู้อยู่อาศัยในวังเหล่านี้ เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยกันแล้ว
- อีกหนึ่งวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในย่านนี้คือ ‘โรงฉายภาพยนตร์’ โซนนี้เราจะได้ดูภาพยนตร์โบราณเรื่อง รูปประดาน้ำ (Scaphandrier), รูปศรีต่อยมวย (Boxeurs) ซึ่งเคยมาฉายครั้งแรกในไทยเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว!
- แหล่งชิลล์ยอดนิยมของเหล่าโก๋หลังวัง ต้องยกให้ ‘บูรพาไอศกรีม’ ตรงข้ามโรงหนังคิงส์ เราจะได้ดูวิดีโอสัมภาษณ์คุณลุงที่เคยเป็นลูกค้าประจำของที่นั่น ท่านบอกว่าสมัยก่อนถ้าจะพาสาวไปเลี้ยงไอศกรีม ต้องเตรียมเงินไปถึง 10 บาท!
- นอกจากนี้ในโซนหลัง เราจะได้ไปทำความรู้จักกับเจ้าของบริษัทจากนานาชาติ ย่านพาหุรัด มาเล่าถึงประวัติการเข้ามาในพื้นที่ อีกทั้งสินค้าที่เขาเคยขาย (หลายเจ้าก็ยังขายอยู่) เรียกได้ว่าเดิน window shopping กันสนุกสนานทีเดียว
เดินเรียงแถวเข้าชมนิทรรศการ พระนคร ออน เดอะ มูฟ
สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัด สามชื่อนี้อาจเป็นที่คุ้นหูบ้างสำหรับคนกรุงเทพฯ แต่อาจจะไม่ทุกคนที่รู้ลึกถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชื่อเหล่านี้ ที่ในยุคหนึ่ง ถือเป็นสถานบ่มเพาะการปรับตัวสู่โลกสมัยใหม่ของสยามประเทศเลยทีเดียว นิทรรศการหมุนเวียนล่าสุด ‘พระนคร On The Move’ ของมิวเซียมสยาม ที่จะพาทุกคนย้อนเวลาไปทำความเข้าใจอดีต เพื่อมองปัจจุบันและอนาคตผ่านมุมมองใหม่ ในรูปแบบที่ทั้งสนุกและตื่นเต้นกว่าเดิม
โซนที่ 1 มีอะไรในแผนที่ บอกเล่าเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการของย่านการค้าแห่งนี้ นับตั้งแต่ถนนเจริญกรุงตัดขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ความเปลี่ยนแปลงของเมืองบางกอกที่เชื่อมโยงถนนสายต่าง ๆ เชื่อมผู้คนจากต่างถิ่นให้เข้ามาหากัน ผ่านเทคนิคการ Mapping
โซนที่ 2 ช่างฝรั่ง กับวังสยาม โซนที่จะพาผู้ชมไปรู้จักกับ “ช่างฝรั่ง” โจอาคิม แกรซี เบื้องหลังงานออกแบบของสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างในย่านนี้ ที่พลิกพระนครให้เป็นฝรั่งได้ด้วยสายตา
หนึ่งในสิ่งที่เราเห็นได้ชัดคือการรับอารยธรรมตะวันตกเข้ามา ซึ่งวิธีแรกๆในการปรับตัวของเมืองสยามคือการปรับสร้าง อาคารบ้านเรือน ในรูปแบบที่ ‘ทันสมัย’ ขึ้น โดยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ การสร้างตึกตามรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกก็เริ่มมีบ้างแล้ว แต่เป็นการเลียนแบบโดยช่างจีน อย่างไรก็ดีในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นจึงเริ่มมีสถาปนิdฝรั่งตัวจริงเสียงจริง เริ่มมาถวายงานเจ้านายสยามหัวก้าวหน้าทั้งหลาย
นายช่างที่ถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในนิทรรศการนี้คือนาย ‘โจอาคิม แกรซี’ ผู้สร้างผลงานชิ้นเอกในย่านนี้หลายชิ้น อาทิ วังบูรพาภิรมย์ วังสะพานถ่าน และวังสามยอด
เริ่มจาก ‘วังบูรพาภิรมย์’ ซึ่งถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของย่านนี้ ด้วยเป็นที่ตึกที่ใหญ่ที่สุดในพระนครสมัยนั้น มีพื้นที่กว้างถึง 15 ไร่ ออกแบบให้กับ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมหลวงภาณุพันธุ วงศ์วรเดช ผู้ทรงเป็นอนุชาร่วมชนกชนนีเดียวกันกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาล ๕ ตัวตำหนักใหญ่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบ ‘พาลลาเดียน’ แถมยังเป็นอาคารแห่งแรกในไทยที่มีการวาง ‘ศิลาฤกษ์’ (foundation stone) แบบฝรั่ง ด้านในบรรจุจดหมายเหตุ และ เงินตรา ส่วนที่มาของชื่อนั้นมาจากที่ตั้งด้านทิศตะวันออกของเมือง (บูรพทิศ) และเป็นวังที่จัดงานรื่นเริงอยู่เสมอ จึงได้ชื่อวังว่า บูรพาภิรมย์
วังที่สองคือ ‘วังสะพานถ่าน’ เป็นวังของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ แต่เดิมมีท้องพระโรงแบบเรือนทรงไทย ต่อมาสร้างวังใหม่เป็นตึกแบบฝรั่ง ก่อสร้างโดยนายแกรซีเช่นเดียวกัน ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับวังบูรพาภิรมย์ และมีรูปแบบอาคารที่คล้ายคลึงกันพอสมควร วังนี้ตั้งอยู่ริมคลองซึ่งเป็นย่านขายถ่านซึ่งเป็นที่มาของชื่อวังนั่นเอง
สุดท้ายคือ ‘วังสามยอด’ ของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เป็นวังที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองและใกล้กับประตูเมืองที่มีสามยอด ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า วังสามยอด จากหลักฐานรูปถ่ายที่นำมาจัดแสดง เราจะเห็นได้ว่า ผู้อยู่อาศัยในวังนี้ เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยกันแล้ว อาทิ กล้องถ่ายรูป และ เครื่องปั่นไอศกรีม เป็นต้น
นอกจากวังของเจ้านายแล้ว เรายังได้เห็นการสร้างอาคารพาณิชย์หรือตึกแถวแบบฝรั่งริมถนนสำคัญอย่างเจริญกรุงด้วย โดยเปิดให้เช่าเป็นห้างร้านต่างๆ ตั้งแต่ครั้งที่สยามเปิดตลาดการค้าเสรีเป็นต้นมา หนึ่งในกิมมิคที่น่ารักของนิทรรศการนี้คือการพูดถึงร้านถ่ายรูปของ นาย โรเบิร์ต เลนซ์ ช่างภาพชาวเยอรมันที่มาตั้งห้าง ‘โรเบิต แลนซ์ แลบริษัท’ ขึ้นในพระนครเนื่องด้วยการชักชวนของรัชกาลที่ ๕ คราวเสด็จฯประพาสชวา เมื่อปี ๒๔๓๙ โดยทรงแวะที่สิงคโปร์และทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ที่สตูดิโอของนายเลนซ์ที่นั้น ทำให้ในเวลาเพียงสามเดือนถัดมา นายเลนซ์ก็มาเปิดโรงชักรูปที่สยาม ตรงแยกสะพานถ่าน ก่อนที่รัชกาลที่ ๕ จะเสด็จฯ กลับถึงสยามด้วยซ้ำ!
โซนที่ 3 ช่างฝรั่ง โรงชักรูป การเข้ามาของช่างชักรูปชาวต่างชาติ ที่หมุนเวียนกันเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก่อให้เกิดกระแสของการบันทึกภาพของชนชั้นนำชาวสยามและการถือกำเนิดขึ้นของสตูดิโอชักภาพในตำนานห้างโรเบิร์ต เลนซ์
โซนที่ 4 หมอยาฝรั่ง ห้างบีกริม บอกเล่าเรื่องราวของห้างสุดโอ่อ่า ที่ตั้งอยู่ตรงหัวมุมย่านประตูสามยอด ภายใต้การดูแลหมอยาฝรั่ง นายอดอล์ฟ ลิงค์ ได้นำพาสินค้านานาชนิดมาสู่พระนคร พร้อมการเกิดขึ้นของ “ร้านขายยาสยาม” และต้นกำเนิดของย่านขายเครื่องจักร, กล้อง และปืน
โซนที่ 5 ห้างสรรพสินค้า พ่อค้านานาชาติ จุดเริ่มต้นของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นราวปลายรัชกาลที่ 6 คือ ช่วงเวลาเดียวกันของกระแส “เห่อของนอก” จากการหลั่งไหลเข้ามาของสินค้านานาชาติทั้งจีน, ฝรั่ง, แขกมุสลิมดาวูดี โบห์รา และแขกสิกข์ขายผ้า เข้ามาขายในพระนครจนติดอกติดใจชาวสยาม
โซนที่ 6 มหรสพฝรั่ง โรงหนังนำสมัย เรื่องราวของรูปแบบความบันเทิงจากตะวันตก ที่เข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตของชาวพระนคร ให้เรียนรู้เรื่องฝรั่ง และความเป็นไปของโลกผ่านภาพยนตร์
โซนที่ 7 ก้าวย่างอย่าง “สามยอด” การมาถึงของรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) กับเรื่องราวบทต่อไปของย่านนี้ กับความเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้ง “สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัด”
โดยมีสถานีที่ให้บริการในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ 2 สถานี คือ สถานีสามยอด และสถานีสนามไชย ซึ่งสถานีสามยอด ก็เป็นอีกสถานีหนึ่งที่ผ่านเข้ามาในย่านเมืองเก่าเช่นกัน โดยมักเรียกบริเวณนั้นโดยรวมว่าย่าน “สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัด” ถือเป็นย่านการค้าสำคัญในอดีต เป็นศูนย์กลางความเจริญของกรุงเทพฯ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากสังคมจารีต สู่โลกสมัยใหม่แบบตะวันตก
สำหรับนิทรรศการ “พระนคร on the Move” เปิดให้เข้าชมแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนถึง 1 มีนาคม 2563 ในวันอังคาร-อาทิตย์ (พิพิธภัณฑ์ปิดให้บริการวันจันทร์) เวลา 10.00 - 18.00 น. ณ อาคารอเนกประสงค์ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
สายลม ที่ผ่านมา
วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 10.55 น.