ไปเที่ยววัดกันมั้ยครับ บางคนอาจจะยี้ว่าวัดจะมีอะไรให้เที่ยว ผมก็คิดอย่างนั้นงั้นเก็บกระเป๋าเข้าบ้านนอนดีกว่า...อ้าว ไม่ได้สิ การไปเที่ยววัดของผมในคราวนี้จะเปลี่ยนความรู้สึกในการเที่ยววัดไปเลย ผมเรียกทริปนี้ว่า "ตามครู ไปดูวัด"
ผมเจอทริปนี้ในนิตยสารสารคดีว่ามีโปรแกรมเที่ยววัด 3 วัดในกรุงเทพแบบเจาะลึก จากนั้นก็ไลน์คุยกับทีมงานได้ความว่าทริปนี้เต็มแล้ว...อ้าว จบ แต่ๆๆ เป็นโชคของผมที่มีท่านหนึ่งสละสิทธิ์ไปทำให้ยังว่างอีก 1 ที่แต่ผมไปกัน 2 คนเลยอ้อนวอนทีมงานขอเพิ่มอีกที่ ซึ่งทีมงานก็ใจดีเพิ่มให้เรา 2 คนได้ร่วมทริปนี้ เลยรีบชำระค่าใช้จ่ายคนละ 999 บาทแล้วตั้งตารอได้เลย...รีวิวนี้จะพาไปดูว่าเที่ยวแบบความรู้แน่นๆเป็นอย่างไร ใครยังไม่มีเวลาอ่าน ดูคลิปสรุปได้ครับยาวประมาณ 6 นาทีนิดๆ ส่วนใครว่าง...ตามอ่านได้เลยครับ รวดเดียวจบเหมือนเดิม ไปกัน
ถึงวันนัด...ก็ไปลงทะเบียนกันก่อน ทีมงานนิตยสารสารคดีรอเราอยู่แล้วที่วัดโพธิ์หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตอนไปลงทะเบียนสมาชิกร่วมทัวร์ก็ไปลงทะเบียนกันหลายท่านแล้ว เพื่อความเป็นส่วนตัวขอเบลอภาพผู้ร่วมทัวร์นะครับ แต่อาจารย์ผมขอเปิดเผยนะครับ โปรแกรมทัวร์นี้จะพาไปเที่ยววัดโพธิ์หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดแจ้งหรือวัดอรุณราชวรารามและวัดกัลยาณมิตร กระทู้นี้ผมไม่ลงรายละเอียดแต่ละวัดว่าอาจารย์อธิบายอะไรบ้างแต่จะเล่าบรรยากาศและความรู้สึกต่อการเที่ยวแบบนี้นะครับ
ทีมงานแจกอุปกรณ์การเที่ยวเป็นหนังสือคู่มือ 1 เล่ม สมุดจด ปากกาและหน้ากากอนามัย ส่วนวิทยากรที่จะมานำทัวร์และให้ความรู้วันนี้คือ ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ซึ่งอาจารย์เป็นศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เห็นอุปกรณ์กับอาจารย์แล้ว วันนี้ความรู้แน่นแน่นอน
ฟ้าครึ้มๆแต่ไม่เป็นปัญหากับทัวร์ของเรา อาจารย์เริ่มเล่าศิลปะของวัดโพธิ์ให้ฟัง การเที่ยวคราวนี้อาจารย์จะเน้นเรื่องศิลปะ ประติมากรรม สถาปัตยกรรมมากกว่าเรื่องตำนาน เรื่องเล่าของแต่ละวัด เริ่มที่วัดโพธิ์ อาจารย์เล่าเรื่องได้แทบจะทุกอย่างเกี่ยวกับวัด ไม่ว่าจะเป็นประตู เสา หลังคา มีรายละเอียดที่อาจารย์เล่าให้ฟังได้หมด
คณะทัวร์จอดป้ายอยู่ตรงแผนผังวัดโพธิ์อยู่นาน วัดโพธิ์นี่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดโพธารามแต่ชาวบ้านเรียกว่าวัดโพธิ์ ที่เห็นว่าวัดโพธิ์มีตุ๊กตาจีนจำนวนมากเพราะสมัยรัชกาลที่ 3 เริ่มมีอิทธิพลของศิลปะจากต่างประเทศเช่นประเทศจีนเข้ามาในประเทศไทย จนเกิดเป็นศิลปะแบบใหม่ที่เรียกว่า "ศิลปะแบบนอกอย่าง" หรือ "แบบพระราชนิยม"
ลูกทัวร์ไม่ใช่แค่ฟังอาจารย์เล่าเรื่องเท่านั้น แต่หลายท่านในกลุ่มดูจะมีความรู้เรื่องศิลปะและประวัติศาสตร์ไม่น้อย ถามอาจารย์ในเรื่องต่างๆและอาจารย์ก็อธิบายในแทบทุกคำถาม ลูกทัวร์ไม่ธรรมดา อาจารย์ก็ไม่ธรรมดา สนุกแฮะ
จุดเด่นของวัดโพธิ์นอกจากพระนอนองค์ใหญ่แล้วก็คือเจดีย์สี่รัชกาลนี่แหละ ลักษณะของเจดีย์สี่รัชกาลทคือจะมีเจดีย์ 3 องค์เรียงหน้ากระดานกันและมีอีก 1 องค์อยู่ด้านหลัง และ 3 องค์แรกกับ 1 องค์หลังมีลักษณะที่ต่างกัน ถ้าผมมาเที่ยวเองคงจบแค่นี้...แต่อาจารย์พาเจาะศิลปะของเจดีย์ทั้ง 4 เช่นเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1 เป็นแบบเดียวกับที่วัดพระศรีสรรเพชร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและภายในบรรจุพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชรไว้ ส่วนมหาเจดีย์ของรัชกาลที่ 4 ที่อยู่ด้านหลังจะเป็นศิลปะที่ต่างออกไป เป็นเจดีย์แบบเจดีย์ศรีสุริโยทัย
เท่านั้นยังไม่พอ...คณะทัวร์เดินไปที่พระอุโบสถแต่กว่าจะได้เข้าอาจารย์ก็เล่าเรื่องต่างๆรอบพระอุโบสถตั้งแต่รูปแบบพระอุโบสถ เสา ซุ้มประตู หน้าบัน อย่างกับอาจารย์พาลูกทัวร์ย้อนอดีตไปตอนก่อสร้างวัดอย่างนั้นแหละ
ป้ายต่อไป แนวพระพุทธรูปรอบระเบียงคด สมัยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากเมืองต่างๆมาประดิษฐานรอบพระระเบียงคด วัดพระเชตุพนฯ เป็นจำนวน 1,248 องค์ ไม่จบแค่นั้นอาจารย์พาเดินดูพระพุทธรูปศิลปะแบบต่างๆอย่างกับเล่นเกมจับผิด บางองค์เป็นศิลปะอยุธยา บางองค์เป็นอู่ทอง ยังไม่พอ อาจารย์พาแยกว่าเป็นอู่ทองรุ่น 1 รุ่น 2 ได้อีก...โอ้
คณะทัวร์อยู่ที่วัดโพธิ์ประมาณ 3 ชั่วโมง ยอมรับเลยว่าถ้ามาเองกลับตั้งแต่ชั่วโมงแรกแล้ว ไม่เคยเที่ยววัดนี้นานขนาดนี้มาก่อน นี่ยังไม่ครบนะครับเพราะต้องรีบไปทานข้าว พระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ไม่ได้ไปดูเวลาไม่พอ ผมว่าถ้าให้วัดนี้วัดเดียวทั้งวัน อาจารย์ท่านก็มีเรื่องเล่าได้ทั้งวันเหมือนกัน
แวะทานข้าวที่ร้าน Ama แถวท่าเตียนมีอาหารให้เลือกสั่งโดยทีมงานจะให้เลือกไว้ตั้งแต่ลงทะเบียนตอนเช้า ผมเลือกผัดไทย รสชาติอร่อยทีเดียวครับไม่หวานเกินไป เส้นไม่แฉะกุ้งตัวโตเนื้อแน่น กินเสร็จก็ขึ้นเรือดริฟข้ามฟากไปต่อกันที่วัดแจ้งหรือวัดอรุณราชวราราม
ตามโปรแกรมแล้วเราจะอยู่ที่นี่กันประมาณ 2 ชั่วโมง พอลูกทัวร์มารวมกันครบอาจารย์ก็เริ่มเล่าเรื่องวัดนี้ให้ฟังทันที ลูกทัวร์บางคนอาจจะเริ่มเหนื่อยเริ่มง่วงเพราะเพิ่งทานข้าวมา(ผมก็ด้วย)...แต่ไม่ใช่อาจารย์
วัดนี้เดิมชื่อ "วัดมะกอก" ภายหลังเปลี่ยนเป็น "วัดมะกอกนอก" เพราะมีการสร้างวัดใหม่ในตำบลเดียวกันแต่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ เรียกว่า "วัดมะกอกใน" ซึ่งปัจจุบันคือวัดนวลนรดิศ ส่วนที่ชื่อวัดแจ้งเพราะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพล่องมาทางชลมารค ถึงหน้าวัดนี้ได้เวลาพระอาทิตย์ขึ้นหรืออรุณหรือแจ้งพอดี จึงเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น "วัดแจ้ง"
ผมว่าวัดนี้กับวัดโพธิ์มีอะไรคล้ายๆกันอยู่ คือมีศิลปะจีนเข้ามาผสมแต่ก็มีความแตกต่างอยู่หลายอย่างเช่นพระอุโบสถซึ่งที่วัดโพธิ์จะเป็นศิลปะผสมแต่ของวัดอรุณจะเป็นแบบ "ไทยประเพณี"...คณะทัวร์จอดอยู่หน้าพระอุโบสถอยู่นาน รายละเอียดเยอะมากและอาจารย์ก็เล่าอย่างละเอียด
ก่อนเข้าในประอุโบสถ อาจารย์เล่าให้ฟังเรื่องศิลปะของพระพุทธรูปทรงเครื่องที่ประดิษฐานที่มุขด้านตะวันออก ซึ่งก็คือ พระพุทธนฤมิตร ซึ่งจำลองมาจากพระพุทธเลิศหล้านภาลัยซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
จากนั้นอาจารย์พาเข้าไปภายในพระอุโบสถ ซึ่งเด่นด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเขียนขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะพระอุโบสถถูกไฟไหม้ เรื่องที่เขียนก็จะเป็นเรื่อง พุทธประวัติและทศชาติ ที่บานประตูหน้าต่างยังมีภาพเขียนแบบลายเฉพาะที่เรียกว่าลายกำมะลอด้วย...แล้วอาจารย์ก็พาเข้าไปดูพระวิหารอีกหน่อย แต่เรื่องที่เล่านี่ไม่หน่อยเลย
พระปรางค์วัดอรุณคือเป้าหมายสุดท้ายของวัดนี้ ตอนนี้ก็บ่ายแล้วแดดกำลังแผดแสงและความร้อน อาจารย์พามาหาร่มเงาต้นไม้แล้วเล่าเรื่องต่างๆขององค์ประปรางค์ ซึ่งเป็นศิลปะที่ต่างจากพระเจดีย์วัดโพธิ์ ผมเคยเห็นพระปรางค์วัดอรุณจากระยะไกลแต่เพิ่งเคยมาเห็นใกล้ๆคราวนี้ ไม่คิดว่าจะใหญ่โตขนาดนี้...อาจารย์เล่าถึงความเชื่อและคติเบื้องหลังการสร้างพระปรางค์วัดอรุณจนได้เวลาก็ขึ้นรถตุ๊กๆไปต่อกันที่วัดสุดท้าย
วัดสุดท้ายของวันนี้แล้วครับ วัดกัลยาณมิตรเป็นวัดที่ต่างไปจาก 2 แห่งแรกมาก กลิ่นอายความเป็นจีนคลุ้งวัด ถึงตอนนี้ลูกทัวร์ก็แทบจะหมดแรงกันแล้ว...ทีมงานหาที่นั่งฟังอาจารย์แถวหอระฆัง เป็นขั้นบันได ฟังไปทานของว่างและน้ำเพิ่มความสดชื่น อย่างกับนั่งฟังเล็กเชอร์
จุดเด่นของวัดนี้คงไม่พ้นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพ "ซำปอกง" หรือพระพุทธไตรยรัตนนายก (พระโต) ซึ่งเป็นรูปแบบของพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 อย่างชัดเจน
ภายในพระวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง อาจารย์เล่าให้ฟังเกี่ยวกับรูปแบบของศิลปะเช่นลักษณะเส้นหยักที่เหมือนสายฟ้า ซึ่งผมจำไม่ได้แล้ว แรมเต็มไปตั้งแต่วัดอรุณ เป็นวัดสุดท้ายและปิดทริปนี้ตอนบ่ายแก่ๆ
ทริปนี้ผมว่าไม่เหมาะกับเด็กหรือคนใจร้อนนะครับ เพราะรายละเอียดเยอะมากและการเดินไปในแต่ละจุดค่อนข้างช้า แต่ถ้าสนใจเรื่องศิลปะไทย ประวัติศาสตร์ไทย หรือวัดไทย โปรแกรมทัวร์นี้สุดยอด ความรู้ที่ได้นี่เกินราคาไปเยอะ ผมทึ่งอาจารย์ที่เป็นวิทยากรมากๆ ไม่รู้จำเรื่องราวของแต่ละวัดได้อย่างไร ละเอียดกว่าวิกิพีเดียอีก...ใครสนใจ ลองติดต่อไปที่นิตยสารสารคดีนะครับ เห็นมีอีกหลายทริปกำลังจะจัด...เจอกันอีกทีทริปหน้านะครับ
Pratuneung
วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2563 เวลา 13.20 น.