หลังจากกลับจากกิจกรรม พระนคร On the Move ท้องร้อง ท่องพาหุรัด เราก็ขึ้นรถ MRT สถานนีสามยอด มาลงที่สถานีสนามไชย ดูเวลายังเหลือ แวะเที่ยวพิพิธภัณฑ์ถาวร : ถอดรหัสไทย ที่กำลังแสดงอยู่ในวันนี้เสียเลย แถมวันนี้ ทางพิพิธภัณฑ์ไม่เก็บค่าเข้าชมอีกด้วย
บรรยากาศที่สยามมิวเซียม
มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้(Museum Siam: Discovery Museum) ภายใต้สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ(สพร.) เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งแรกที่เน้นการสร้างประสบการณ์สดใหม่ในการชมพิพิธภัณฑ์ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ที่น่ารื่นรมย์ และช่วยยกระดับมาตรฐานการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ให้กับประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทย เกี่ยวกับการสร้างสำนึกในการรู้จักตนเอง รู้จักเพื่อนบ้าน และรู้จักโลก
รวมถึงการสร้าง “แนวคิดและภาพลักษณ์ใหม่” ของพิพิธภัณฑ์ในสังคมแห่งการเรียนรู้ ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ และกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์และเรื่องราวต่างๆ เป็นไปอย่างสนุกสนานยิ่งขึ้น ซึ่งประกอบด้วย
- นิทรรศการถาวรชุด "ถอดรหัสไทย"
- นิทรรศการหมุนเวียน
- กิจกรรมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์
ห้องแสดงนิทรรศการถาวร ชุด ถอดรหัสไทย
นิทรรศการถาวรชุด “ถอดรหัสไทย” (DECODING THAINESS) เป็นนิทรรศการที่จะพาทุกคนไปเรียนรู้พัฒนาการ “ความเป็นไทย” เป็นสิ่งที่แสดงแสดงให้เห็นถึง “อัตลักษณ์หรือตัวตน” ซึ่งหากพิจารณาแล้ว “ไทย” ดูเหมือนจะมีความชัด แต่กลับคลุมเครือไม่ชัดเจน เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมที่หลอมรวมวัฒนธรรมที่หลากหลาย
โดยนิทรรศการจะพาไปค้นหาความหมายที่แท้จริงของความเป็นไทย ผ่านการเล่าเรื่องราวความเป็นไทยในมิติต่าง อาทิ ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณี อาหารการกิน การแต่งกาย เป็นต้น และพัฒนาการของความเป็นไทยที่เปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน ใช้วิธีการเล่าเรื่องผ่านสื่อพิพิธภัณฑ์ เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการเล่าเรื่อง ให้ผู้ชมสามารถเข้าใจและติดตามเรื่องราวได้ง่ายมากขึ้น
นิทรรศการแบ่งเป็น 14 ห้อง ได้แก่
- ห้องไทยรึเปล่า? : เห็นหุ่นที่อยู่กลางห้องมั้ย เลดี้กาก้าใส่ชฎา เป็น “ไทย” รึเปล่า?
- ไทยแปลไทย : ห้องจัดแสดงลำดับและพัฒนาการของ “ความเป็นไทย”
- ไทยตั้งแต่เกิด : จัดแสดงลำดับเวลาและพัฒนาการของความเป็นไทย นำเสนอในรูปของการแสดงแสงสีเสียงบนโต๊ะขนาดใหญ่ ประกอบเทคนิคน่าตื่นตาตื่นใจ
- ไทยสถาบัน : เกมทดสอบไหวพริบ กับลูกเต๋า 27 ลูก 27 สัญลักษณ์ แบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ง่ายๆแค่จับกลุ่มสัญลักษณ์บนลูกเต๋าให้ถูกหมวดหมู่
- ไทยอลังการ : จำลองท้องพระโรงของพระราชวังสมมุติแห่งหนึ่งขึ้นมา โดยมีราชบัลลังก์เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ด้วยเป็นที่ประทับขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเปรียบดั่ง “พระอินทร์” ประทับบนยอดเขา “พระสุเมรุ” อันเป็นศูนย์กลางจักรวาลตามคติไทยโบราณ
- ไทยแค่ไหน : จัดแสดงเครื่องแต่งกาย “ชุดไทย” แต่จะไทยมาก ไทยน้อย เข้ม-จาง แค่ไหน มาดูกัน และลองย้อนกลับมาดูชุดร่วมสมัยอย่างที่คุณใส่มาวันนี้
- ไทย ONLY : ลองส่องดูสิ่งของที่จัดแสดงในตู้รอบๆห้อง ล้วนเป็นของบ้านๆที่คุ้นเคย เป็นภูมิปัญญาระดับรากหญ้า แฝงไปด้วยอารมณ์ขัน แปลกประหลาดในตรรกะ และสะท้อนวิธีคิดแก้ปัญหาแบบไทยไทยได้ดี
- ไทย INTER : ห้องนี้มีชื่อเล่นว่า “ไทยเสนอ เทศสนอง” ลองส่องดูในแต่ละตู้เราได้จับคู่สิ่งที่ไทยเสนออย่าง แต่เทศสนองกลับมาอีกอย่างไว้ให้ชมกัน
- ไทยวิทยา : ห้องนี้จำลองบรรยากาศห้องเรียน 4 ยุค โรงเรียนและแบบเรียน เป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลทุกสมัยใช้ในการปลูกฝัง “ความเป็นไทย” ให้กับเยาวชนของชาติ มาดูกันว่าแต่ละสมัยเค้าเรียนอะไรกัน
- ไทยชิม : มากินข้าวกัน เรามีอาหารให้เลือกชม เลือกชิมหลากหลายเมนู ล้วนเป็น “อาหารไทย” ที่ต่างคุ้นชื่อคุ้นลิ้นกันดี
- ไทยดีโครต : มาเรียนรู้ต้นทางของ “ความเป็นไทย” ไม่ว่าจะเป็น งานศิลปกรรม พระปรางค์ , วิวัฒนาการของตัวอักษรไทย , ครุฑ , เรือสุพรรณหงส์ , หัวโขน , โจงกระเบน , กระทง รวมทั้งเสื้อลายดอก จากต้นทางต่างแดนสู่ผลลัพธ์ที่เป็นไทยอย่างที่คุ้นตาในปัจจุบัน
- ไทยเชื่อ : หากถามว่าคุณนับถือศาสนาอะไร คนไทยส่วนใหญ่ก็จะตอบว่า “ศาสนาพุทธ” แต่คำตอบที่ถูกน่าจะเป็น “ศาสนาไทย” มากกว่า ซึ่งเป็นส่วนผสมของความเชื่อแบบผี พราหมณ์ พุทธ มารวมกัน
- ไทยประเพณี : มีความลับอยู่ในกล่องต่างๆ ภายในมีแผ่นพับอธิบายเรื่องราวและที่มาของหัวเรื่องนั้นๆ บางกล่องมีเกมให้เล่น บางกล่องมีของให้ขยับ หรือจะจับใส่ถ่ายรูปก็ทำได้
- ไทยแชะ : ดาราหน้ากล้องทั้งหลายอย่าพลาดเลือกชุด เลือกเครื่องประดับ เลือกฉาก เลือกพร็อพให้ตรงยุค แล้วยิ้มสวยๆ 1 2 3 แชะ
สยามมิวเซียมเปิดทำการทุกวันอังคาร ถึง วันอาทิตย์ เวลาตั้งแต่ 10.00 น. - 18.00 น. สามารถเข้าชมได้ทุกวันยกเว้นวันจันทร์นะคะ
cc : https://www.museumthailand.com/th/home
สายลม ที่ผ่านมา
วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2563 เวลา 01.14 น.