
ปากน้ำแขมหนู จันทบุรี
หลังจากเสพข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ Covid 19 มาจนล้นหัว เริ่ม ๆ จะหลอนไปหมด ชักจะไม่ไหว นั่งทบทวนมาตรการต่าง ๆ ที่จะมารองรับ หรือช่วยให้รอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ ยิ่งอ่านยิ่งเครียด

หนีจากเมืองหลวงไปพักผ่อนต่างจังหวัดดีกว่า เพราะขนาดในเมืองยังตื่นตัวขนาดนี้ ตามต่างจังหวัดคงเงียบเหงาน่าดู ธุรกิจท่องเที่ยวคงได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

เรือโบราณที่พบบริเวณปากน้ำแขมหนู
พวกเราตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวจังหวัดจันทบุรี ด้วยความที่ชอบทะเล มีความคุ้นเคยกับพื้นที่ และประทับใจในสถานที่โดยเฉพาะโรงแรม เจ้าหลาวทอแสง บีซ รีสอร์ท ที่เราเคยมาพัก หลังจากตกลงปลงใจกันแล้ว ก็ได้เวลานัดกันเพื่อออกเดินทาง

เนื้อไม้ และความผุพังที่พาดผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน
เราออกเดินทางด้วยรถส่วนตัวทำให้ลดความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง บรรดาผู้ร่วมเดินทางมาด้วยนั้น ก็สร้างความมั่นใจด้วยการพกหน้ากากอนามัยติดตัวมาด้วยเรียกได้ว่าพร้อมใช้ตลอดเวลา

เดินทางออกมากันแต่เช้า ทำให้รถไม่มากนัก และมีเวลาแวะท่องเที่ยวในที่ต่าง ๆ ที่แรกที่เรามาแวะนั่นคือ โบสถ์สีน้ำเงิน หรือโบสถ์เซรามิคสีน้ำเงิน ของวัดปากน้ำแขมหนู เพื่อมากราบไหว้ชมความสวยงามเป็นสิริมงคลต่อชีวิต และการเดินทาง

โบสถ์สีน้ำเงิน วัดปากน้ำแขมหนู
ที่มาของโบสถ์สีน้ำเงินนี้ ได้อ่านข้อมูลมาจากทางไทยรัฐ ออนไลน์ ที่ว่าไว้ว่า เนื่องมาจากพระอุโบสถหลังเก่าของวัด เริ่มชำรุดทรุดโทรมมากขึ้น เพราะอยู่ติดกับทะเล ทำให้โครงสร้างพระอุโบสถ ผุกร่อนลุกลามไปทั่วจนถึงหลังคา โดยช่วงหน้าฝนเกิดน้ำรั่ว จนไม่สามารถประกอบกิจสังฆกรรมของสงฆ์ได้ ในปี พ.ศ. 2534

ทางวัดจึงได้มีมติร่วมกับชาวบ้าน ที่จะดำเนินการรื้อโบสถ์หลังเก่า และก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น โดยนำเอารูปแบบพิมพ์เขียวจากวัดสระบาป มาเป็นตัวอย่าง พร้อมกันนี้ได้หาวิธีที่จะป้องกันไม่ให้โบสถ์หลังใหม่เกิดความชำรุดเสื่อมโทรมเร็ว เนื่องจากพื้นที่ติดกับน้ำเค็ม

ผนังอุโบสถ์เป็นลายเทพพนม มีบานประตูประดับมุกสวยงาม
ต่อมา ทางวัดจึงได้เดินทางไปดูรูปแบบก่อสร้างโบสถ์วัดอื่น ๆ และพบว่ามีที่วัดแห่งหนึ่ง มีการใช้กระเบื้องเซรามิกมาประดับ และเห็นว่าพื้นผิวเซรามิกมีความมันเงา คงทนแข็งแรง จึงมีแนวความคิดที่จะใช้เซรามิกมาเคลือบชั้นปูนพระอุโบสถที่วัด เพื่อป้องกันน้ำเค็ม

นอกจากนี้ ยังได้ประสานโรงงานรับเหมา ให้ผสมสีลงในชิ้นงานที่จะนำมาปิดเคลือบผนังปูน ตลอดจนชิ้นส่วนลวดลายต่างๆ ที่จะนำมาประดับตกแต่ง โบสถ์ทั้งหลัง เพื่อลดเวลาการก่อสร้าง และจะไม่ต้องทาสีซ้ำบ่อยๆ แถมลดการเสื่อมสภาพจืดจางของตัวสีได้อีกด้วย

บริเวณโดยรอบพระอุโบสถ์
ส่วนสาเหตุที่เลือกประดับลวดลายลงพื้นโบสถ์ด้วยสีน้ำเงิน เนื่องจากเห็นว่า ภาชนะลายครามที่ทำจากเซรามิกสมัยโบราณ จะมีการใช้สีหลักเพียงสองสีเท่านั้น คือ พื้นสีขาว ตัดลวดลายด้วยสีน้ำเงิน เมื่อลองมาใช้กับโบสถ์ก็พบว่ามีความสวยงามโดดเด่น จึงได้มีการนำมาใช้ประดับตกแต่งพระอุโบสถเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันจนกลายมาเป็นโบสถ์สีน้ำเงินอย่างที่เห็น โดยขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ คงเหลือการตกแต่งวาดลวดลายภายในพระอุโบสถและการเก็บรายละเอียดรอบนอก

ส่วนภายในพระอุโบสถ มีความสวยสดงดงาม ไม่แพ้เซรามิกสีน้ำเงินนอกโบสถ์ โดยด้านในเฉพาะประตูโบสถ์ไม้ ทั้ง 4 บาน มีการแกะสลักภาพนูนต่ำ เกี่ยวกับพุทธประวัติสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลงสีสดโดดเด่นเก็บทุกรายละเอียด ด้านนอกบานประตูและหน้าต่าง มีการลงลายมุข ภาพเทพทวารบาล ส่วนพื้นผนังด้านในพระอุโบสถ มีการประดับภาพลงสีในพื้นเซรามิกเกี่ยวกับวรรณคดีชาดก และพระมหาชนก

เศียรพญาหน้าที่ราวบันไดหน้าโบสถ์ ตกแต่งด้วยเซรามิคอย่างสวยงาม
อย่างที่ทางไทยรัฐออนไลน์ได้กล่าวไว้ บริเวณรอบ ๆ พระอุโบสถ์ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ยังไม่แล้วเสร็จ ก็ได้มีกาเรี่ยรายบุญจากผู้เข้ามาเยี่ยมชม และสักการะพระพุทธรูปในพระอุโบสถ์ ด้วยการจัดผ้าป่าสาย และซุ้มทำบุญต่าง ๆ ตามแต่ศรัทธา

ด้านล่างพระอุโบสถ์ที่เปิดให้เข้าไปสักการะพระพุทธรูปต่าง ๆ

นอกจากจะได้มากราบไหว้พระเป็นสิริมงคล พร้อมทั้งเยี่ยมชมโบสถ์สวย ๆ ที่หาดูยากแล้ว เรายังได้มีส่วนร่วมทำบุญสมทบทุนสร้างพระอุโบสถอีกด้วย ก่อนที่จะเดินทางต่อไปหาอะไรกินรองท้องในตอนกลางวัน

วัดปากน้ำแขมหนู ตั้งอยู่เลขที่ 86 ม.9 ต.ตะกาดเง้า อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี หากมีโอกาสผ่านมาหรือตั้งใจจะแวะเข้ามาเยี่ยมชม และสักการะพระประธานประจำโบสถ์หรือร่วมทำบุญเพื่อก่อสร้างโบสถ์เซรามิคสีน้ำเงินในสำเร็จก็สามารถแวะมาเยี่ยมชมกันได้นะคะ

สายลม ที่ผ่านมา
วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2563 เวลา 16.28 น.