เมื่อวันหยุดมาถึงเป็นสัญญาณของการออกเดินทาง อากาศดีๆ แบบนี้
เราไปหาแหล่งท่องเที่ยวใกล้ๆ กรุงเทพ อีกหนึ่งชุมชนใกล้กรุงเทพฯ ที่น่าใช้เวลาไปท่องเที่ยวชมวิถีชีวิต
ทำความรู้จักกับปลาช่อนที่ขึ้นชื่อว่าอร่อยที่สุด นั่นก็คือ "ชุมชนลำน้ำแม่ลา" จ.สิงห์บุรี
จากกรุงเทพ เดินทางมายัง ทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา จ.อ่างทอง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ ทางหลวงหมายเลย 335 เข้าสู่จ.สิงห์บุรี ตรงไปอีก 4 กม. แล้วเลี้ยวขวาที่แยกศาลหลักเมือง แล้วเดินทางต่อไป บนทางหลวงหมายเลข 311 อีก 9 กม. แล้วเลี้ยวซ้าย ก็จะเข้าสู่ชุมชนลำน้ำแม่แล้วจ้า
แต่ก่อนที่เราจะไปเที่ยวในชุมชน มาสิงห์บุรีทั้งที่ต้องแวะสักการะพระนอนที่ "วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร"
ที่นี้เป็นที่ประดิษฐานพระนอนจักรสีห์ ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย
เป็นพระพุทธรูปไสยาสน์หรือพระนอน ขนาดใหญ่ มีสีเหลืองทองอร่าม สะดุดตา สวยงดงามมาก และที่นี้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี
จากที่ไหว้พระเรียบร้อยแล้วนั้น เราก็ได้เข้ามาที่ชุมชนลำน้ำแม่ลา ชุมชนนี้เป็นตัวแทนของคำว่า "ในน้ำมีปลาในนามีข้าว" สามารถเห็นความ เขียวขจีของนาข้าว กิจกรรมเก็บเกี่ยวที่มีเกือบตลอดปี และท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง อยากจะไปเห็นความอุดมสมบรูณ์ ที่เขาว่ากันมาแล้วละสิ ไม่รอช้า
ไปเริ่มที่ "แม่ลาฟาร์มสเตย์กันก่อนเลย" สำหรับใครที่ต้องการที่พักแบบสัมผัสกับวิถีชีวิตที่เรียบง่าย วางปากกา และงานวุ่นวายทั้งหลายลง ลองพาตัวเองออกมาอยู่ในที่ ที่เงียบสงบ แล้วคุณจะได้ยินเสียงของหัวใจชัดเจนขึ้น ที่นี้ตอบโจทย์มากๆ เลย
เพราะที่นี้เงียบสงบ อยู่แบบใกล้ชิดธรรมชาติได้สัมผัสแบบจัดเต็ม บริเวณรอบๆ ที่พัก ก็จะเป็นแปลงผักที่เจ้าของปลูกไว้ และต้นไม้นานาชนิด แถมยังล้อมรอบด้วยทุ่งนา และทุ่งดอกทานตะวัน มีมุมถ่ายรูปสวยๆ มากมาย และยังมีกิจกรรมดีๆ คือ ย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ และการสอนศิลปะด้วย
ไปต่อกันที่ “ป.แดน เกษตรฟาร์ม” เป็นมาของปลาช่อนที่นำไปใช้แปรรูปวางจำหน่ายของชุมชน ปัจจุบันปลาช่อนในลำแม่ลามีจำนวนน้อยมากๆ คนรุ่นหลังๆ แทบจะไม่เคยเห็น และไม่รู้เลยว่า ลักษณะปลาช่อนแม่ลา มีรูปร่างลักษณะหน้าตายังไง ซึ่งปลาช่อนแม่ลาสายพันธ์แท้ 100% นั้น มีจุดเด่นแตกต่างจากปลาช่อนที่อื่น คือลำตัวสีเทาขุ่น ครีบหูสีส้มปนชมพู หางมนเหมือนใบพัดตาลปัตร กินอร่อยกว่าปลาช่อนทั่วไป
ป.แดน เกษตรฟาร์ม จึงได้ศึกษาวิธีการเพาะพันธ์ วิธีการเลี้ยง เพื่อพัฒนาคัดเลือกสายพันธ์ลักษณะที่ดีที่สุด นำมาเพาะพันธ์ เพื่อรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของปลาช่อนแม่ลา จนปัจจุบันมีบ่อเลี้ยงรวม 12 บ่อ
ยังมีการแปรรูปผลผลิตเป็นปลาช่อนแดดเดียว ส่งขายในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรีพื้นที่ใกล้เคียง และขายผ่านโซเซียลมีเดียด้วยนะ
เราก็ได้มาต่อกันที่ "วัดสะเดา" วัดเก่าแก่อีกหนึ่งที่ ของจังหวัดสิงห์บุรี เดิมชื่อ “วัดแม่ลา” ตามสถานที่ตั้งริมลำน้ำแม่ลา ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสะเดา” เพราะสมัยก่อนมีต้นสะเดาขนาดใหญ่ และขนาดเล็กจำนวนมากขึ้นอยู่บริเวณวัด
จุดเด่นของวัดนี้คือ "โบสถ์เก่า" ที่ผนังโบสถ์นั้นมีการนำถ้วยชามเบญจรงค์มาสร้างเป็นลวดลายบนผนังโบสถ์ ทำให้มีความสวยงามแปลกตา
ที่นี้ยังมี "เบี้ยแก้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก" ซึ่งเบี้ยแก้ ถือว่าเป็นวัตถุมงคลชนิดหนึ่งของคนไทยที่มีมาแต่โบราณเป็นของศักดิ์สิทธิ์ สรรพคุณของเบี้ยแก้เชื่อว่าใช้ป้องกันภยันตราย เมตตามหานิยม ขับไล่สิ่งไม่ดี ป้องกันภูตผีปิศาจได้ ไม่รอช้า ลอดสิจ๊ะ รอไร ขจัดสิ่งไม่ดีออกไปให้หมด รับพลังบวกๆๆ ไปเลยจ้า
เข้ามาเก็บกระเป๋าพักผ่อนกันที่ "โฮมสเตย์ฤรกบ้านแม่ลา" ที่พักแบบใช้ชีวิตร่วมกับเจ้าของบ้าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทาง ธ.ก.ส. ในการให้ความรู้ในการบริหารจัดการชุมชน และส่งเสริมความรู้แก่ชาวบ้าน ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการส่งต่อจากชุมชนสู่นักท่องเที่ยวให้สามารถเข้ามาเที่ยวในชุมชนได้อีกด้วย
โฮมสเตย์ของที่นี่จัดเป็นกลุ่มของชาวบ้าน มีบ้านหลายแบบ ชอบแบบไหนสไตล์ไหนก็เลือกกันได้เลย
แต่ละหลังอยู่ในกลุ่มโฮมสเตย์ที่ชื่อว่า ฤรก เหมือนกัน แถมราคาพักโฮมสเตย์แค่ 400 บาทต่อคน
(รวมอาหารเย็น 1 มื้อ อาหารเช้า 1 มื้อ ของใส่บาตรพระ 1 ชุด)
ชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนแล้วท้องก็เริ่มร้องละ เลยขอปิดท้ายด้วยของกินที่ "ร้านบ้านสวนแม่ลาการ้อง" ร้านอาหารบรรยากาศดี สามารถชมวิวได้ทั้งลำน้ำแม่ลา และท้องทุ่งนา มีโซนไฮไลต์เป็นสะพานไม้ที่ทอดยาวเป็นทางเดินไปสู่มุมที่นั่งใต้ต้นก้ามปู เมนูอาหารที่ห้ามพลาดคือเมนูจากปลาช่อนแม่ลา อาหารแนะนำคือ แกงป่าปลาช่อน ปลาช่อนเผา กระเช้าบ้านสวน
ปลาช่อนสดๆ เนื้อนุ่มๆ หอมๆ หวานๆ กินแกล้มกับสะเดาน้ำปลาหวาน หื้ม อร่อย 5555 แกงป่านี้ก็สมคำร่ำลือ ถือเป็นเมนูเด็ดของที่นี่อีกอย่าง รสชาติเข้มข้นถึงพริกถึงเครื่องแกง เนื้อปลาสดหวาน กินกับข้าวร้อนๆ เข้ากันได้ดีมาก ต้องเติมข้าวหลายจานกันเลยทีเดียว
บรรยากาศสบายมาก กินไปรับลมไปฟินมาก
ทริปนี้ของเราได้มาสัมผัสวิถีชีวิตผู้คนในชุมชนลำน้ำแม่ลา แหล่งกำเนิดของปลาช่อนแม่ลา แค่ได้มาใช้ชีวิตแบบช้าๆ ที่นี่ ก็ได้เห็นการร่วมมือ ร่วมใจของคนชุมชนในการอนุรักษ์ลำน้ำสายหลักนี้เอาไว้ ถ้าเพื่อนคนไหนอยากมาสัมผัสวิถีชุมชน และกิจกรรมดีๆ แบบเราก็ตามเรามาได้เลย ทริปต่อไปเราจะไปที่ไหนกันต่ออย่าลืมติดตามนะจ๊ะ
ไม่เพียงที่นี่เรายังมีอีกหลายชุมชนให้ติดตาม ยังมีที่ไหนอีกบ้าง คลิกเลย >>> ชุมชนท่องเที่ยว
ติดต่อชุมชน : ชุมชนลำน้ำแม่ลา จังหวัดสิงห์บุรี
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนลำน้ำแม่ลา โทร. 089-087-8544
โฮมสเตย์ฤรกบ้านแม่ลา โทร. 098-293-4524
ร้านบ้านสวนแม่ลาการ้อง โทร.036-587-077
ป.แดน เกษตรฟาร์ม โทร.082-233-9090
จะไปป่ะล่ะ : Ja pai pa la
วันพฤหัสที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เวลา 11.29 น.