บ้านอาจ้อ โฮมสเตย์ มิวเซียม อาหารกลมกล่อม กรุ่นกลิ่นไอรัก
ตามอีหล้ามาค่ะ วันนี้อีหล้าจะพาเพื่อนๆหวนอดีต ตามหาประวัติศาสตร์ช่วงปี 1936 ยุคเหมืองแร่เฟื่องฟู ช่วงนั้นภูเก็ตยังไม่มีเรือบิน ยังไม่มีสะพานข้ามเกาะ มีแต่เรือแพขนานยนต์ เอาไว้เดินทางไปมาระหว่างเกาะภูเก็ตและฝั่งพื้นดินจังหวัดพังงา
อ่านก็สนุกดูเป็น Vlog ก็ได้อารมณ์ไปอีกแบบ
แถวท่าฉัตรไชย เป็นจุดศูนย์กลางย่านธุรกิจสำคัญ เพราะมีเหมืองแร่จำนวนมากรายล้อมอยู่บริเวณนี้ นายเหมืองตระกูล “หงษ์หยก” จึงสร้างอั่งหม่อหลาว หรือชาวจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า “คฤหาสน์แบบฝรั่ง “ สไตล์ชิโนโปรตุกีส มีบ้านต้นแบบจากปีนัง เอาไว้เพื่อทำงานและเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางเข้าออกเกาะภูเก็ต
เวลาผ่านไปยุคเหมืองแร่ที่เคยรุ่งเรืองก็ถดถอย คฤหาสน์ที่เคยตั้งตระหง่านก็ถูกทิ้งรกร้าง เมื่อยุคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเข้ามามีอิทธิพล ลูกหลานตระกลูหงษ์หยก เลยนำคฤหาสน์มาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นเป็นร้านอาหารและที่พักให้เข้ากับยุคสมัย
บ้านอาจ้อโฮมสเตย์มิวเซียม คำว่าอาจ้อ หมายถึงทวด บ้านหลังนี้เคยเป็นเรือนหอมาก่อน เลยเป็นตัวแทนของทวดผู้หญิง ภายในตกแต่งสไตล์วินเทจที่มีกลิ่นไอของความรักกระจายไปทั่วบ้าน แถมยังมีของกระจุกกระจิกแบบผู้หญิงเต็มไปหมด ให้เพื่อนๆได้ค้นหาความหมาย อีหล้าชอบมากค่ะ
เมื่อเดินเข้าไปในตัวบ้านมี2 ปีก ปีกฝั่งซ้ายมือเปรียบเสมือนผู้หญิง มีโต๊ะเก้าอี้ที่บ่งบอกเรื่องราวของผู้หญิงสมัยนั้น ทั้งเครื่องประดับ โต๊ะเปียโน มุมเมาส์มอยและมีไพ่นานาชนิดไว้เล่นยามว่าง มุมนี้อีหล้าถนัดมากตั้งแต่สมสิบและไพ่คู่ ส่วนไพ่จีนขอศึกษาซักนิดเถอะ
งานเย็บปักถักร้อยอีหล้าก็พอทำได้
งานเล่นไพ่ก็พอถนัดบ้าง สมสิบ ใบคู่ ก็ได้ตำแหน่งเซียนหางแถวอยู่
ด้านปีกฝั่งขวาก็จะแสดงถึงกิจกรรมของผู้ชาย เช่นโต๊ะทำงานยุคสมัยทำเหมืองแร่ มีเครื่องเล่นดนตรี และมุมรับแขกจิบชาแบบแมนๆ แถมมีรูปแฟชั่นชุดว่ายน้ำวาบหวิวของกะชาย (กะชายหมายถึงผู้ชายเป็นคำเรียกของคนภูเก็ต) เห็นแล้วอดอมยิ้มไม่ได้ กางเกงเอวจะสูงไปถึงไหนคร้าาาาา อีหล้าเลิฟสุดๆ
หนังสือสำคัญที่ทิ้งร่องรอยทางประวัติศาสตร์ก็มี
แฟชั่นยุคนั้นบอกเลยว่าจี๊ดมาก กางเกงเอวสูงของกะชายเห็นแล้วต้องสดุดดี
ตรงโถงกลางบ้านจะมีรูปวาดดอกโบตั๋นสีชมพูอ่อน เป็นสัญญลักษณ์ของความรักและความมั่งคั่งร่ำรวย กลีบด้านในดอกโบตั๋นเป็นรูปผู้หญิงเกล้าผมมวย บอกให้รู้เป็นนัยว่า บ้านนี้ผู้หญิงเป็นใหญ่นะ นอกจากนี้ในบ้านยังมีของกระจุกกระจิกสิ่งละอันพันละน้อย ซ่อนอยู่เต็มไปหมด
ด้านหลังของกำแพงดอกโบตั๋นจะเป็นห้องแต่งตัว มีโต๊ะเครื่องแป้ง วางน้ำหอม น้ำอบเครื่องปรุงทั้งตำรับไทย ตำรับฝรั่ง ของผู้หญิงยุคนั้น ให้เราได้รู้ว่ายุคก่อน ผู้หญิงประทินโฉมกันด้วยอะไร
นอกจากนี้ยังมี family tree ของตระกูลหงษ์หยก ให้พวกเราได้เรียนรู้ เกิดความเข้าใจพร้อมทั้งศึกษาประวัติศาสตร์และจินตนาการภาพในยุค 1936 ยุคเหมืองแร่เฟืองฟู ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ชั้นสองเป็นส่วนของห้องพัก แต่ละห้องจะตกแต่งและใช้โทนสีไม่เหมือนกัน แถมยังไม่ทิ้งความเป็นตัวตนของบ้านอาจ้อ ห้องนอนสมัยก่อนจะมีขนาดเล็กไม่มีห้องน้ำส่วนตัว ทางบ้านอาจ้อได้ต่อเติมและแยกห้องน้ำเป็นสัดส่วนตามหมายเลขห้องสบายใจได้เลยค่ะ
ชั้นนี้ยังมีเสื้อผ้าย้อนยุคย้อนสมัย เอามาโชว์เหมือนงานนิทรรศการ
แต่ละชุดบ่งบอกถึงความเป็นผู้หญิงอย่างแท้ทรู สาวกท่านไหนที่หลงไหลเสื้อผ้าวินเทจสามารถเลือกซื้อได้ด้วยนะ
ส่วนชั้นสาม เป็นพิพิธภัณฑ์เรือนหอของชาวจีนฮกเกี้ยนภูเก็ต ห้องนี้ใช้โทนสีแดงเป็นหลัก บ่งบอกถึงความเป็นสิริมงคล และโชคลาภ
ถึงห้องหอแล้วอีหล้าก็ขอมโนจิตคิดไปเอง อธิษฐานขอให้มีคู่ครองมีเจ้าบ่าวหน้าตี๋ๆมาอยู่เคียงข้าง
แบบว่าเป็นคนชอบฝัน กำลังหลับตาคิดคำจิตนาการอยู่ดีดี... ท้องเจ้ากรรมก็ดันร้องซะลั่น เห็นทีคงจะได้ อินเลิฟกับอาหารเป็นแน่แท้ นี่แหละคือความจริงที่ปรากฎ ว่าแล้วก็ไปเติมพลังกันที่...ร้านโต๊ะแดง กันดีกว่า
ร้านโต๊ะแดง เป็นร้านอาหารอยู่ทางปีกซ้ายภายในบ้านอาจ้อ ภายในร้าน จะเห็นโต๊ะและเก้าอี้สีแดงตัวยาววางเด่นเป็นสง่าตรงกลางร้าน โต๊ะอาหารเหมือนสมัยตอนเป็นเด็ก มีแชนเดอเลียร์โบราณห้อยระย้า บรรยากาศภายในถึงแม้จะมีสีแดงเป็นหลัก แต่การนำสิ่งของโบราณของชาวภูเก็ตมาตกแต่ง เบรคความร้อนแรงของห้อง บวกกับรอยยิ้มของเจ้าร้านทำให้ร้านนี้ดูอบอุ่นมีเสน่ห์ชวนหลงไหลยิ่งนัก
มาต่อกันด้วยเรื่องเมนูอาหาร ที่ร้านโต๊ะแดงใช้เชฟจากกรุงเทพฯ รสชาติของอาหารจะกลมกล่อมนวลๆ แบบไทยๆ อาหารมีให้เลือกไม่เยอะแต่เด็ดทุกอย่าง อีหล้าเริ่มจากอาหารเรียกน้ำย่อยเบาๆ
สตาร์ทด้วยหมี่กรอบตำรับวังบูรพา ที่นี่ใช้หมี่เส้นเล็กมาทอดกรอบ ราดด้วยน้ำราดรสเปรี้ยวหวานแถมหอม กลิ่นซ่านิดๆ จากส้มจี๊ดที่นำมาปรุง ทานคู่กับผักเคียง อีหล้ายอมยกนิ้วให้
ต่อด้วยแกงคั่วมอต๊านกุ้ง(แกงเงาะ) พริกแกงสดตำเองถึงเครื่องสมุนไพร ใส่เงาะและกุ้งเข้าไปสร้างสีสันและรสชาติ แกงจานนี้ให้รสละมุน ยามใดที่ได้ตักเงาะเข้าปากจะสัมผัสถึงความเปรี้ยวนิดๆหวานหน่อยๆ อร่อยดีค่ะ
ปลากะพงทอดสมุนไพร จานนี้ใหญ่โตมโหฬาร เชฟเลาะเนื้อปลาออก แยกทอดให้กรอบนอกนุ่มใน จากนั้นโรยดอกเกลือลงบนเนื้อปลา ทานคู่กับน้ำจิ้มซีฟู้ดเข้ากันสุดๆ จานนี้เหมือนเล่นเกมส์ซ่อนกลความอร่อย ยิ่งตอนกินโดนดอกเกลือทำให้ปลามีรสกลมกล่อมเพิ่มไปอีกหนึ่งสเต็ป วางปุ๊บหมดปั๊บ มาแล้วต้องสั่งอย่ารอช้า
ตบท้ายด้วยขนมหม้อแกงฝอยทอง สูตรนี้ทางร้านบอกว่าเคยถวายในหลวง ร.9 ด้วยนะ หม้อแกงสีน้ำตาลนวล เนื้อเนียนมาก กลิ่นหอม รสชาติกำลังดีไม่หวานเกินไป ทานคู่กาแฟยามบ่ายดีเริ่ดประเสริฐศรี
ร้านโต๊ะแดง อาหารจานใหญ่มาก ก่อนจะสั่งรบกวนมีสติ ต้องประเมินลำใส้ความอึดทึกทนของตัวเองก่อน ใจเย็นๆไม่อิ่มสั่งเพิ่มได้ อีหล้าขอเตือนเพราะจุกมาแล้ว
การเดินทางของอีหล้าเพื่อมาตามหาความรุ่งเรืองยุคเหมืองแร่ โดยมี บ้านอาจ้อ เป็นตัวแทนความทรงจำ คอยบอกเล่าเรื่องราวในอดีต การเปลี่ยนผ่านจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง นอกจากตอนฟังเรื่องราวจะสนุกและตื่นเต้นยังทำให้วันนี้เป็นวันที่มีความหมายดีๆอีกวันที่น่าจดจำไว้ในใจของเรา
สำหรับเพื่อนๆที่ชอบเช็คอินถ่ายรูป อีหล้าแนะนำบ้านอาจ้อโฮมสเตย์ มีมุมสวยๆเก๋ๆไว้ให้ถ่ายรูปเยอะแยะไปหมดตั้งแต่ห้องนอนยันห้องน้ำ บอกได้คำเดียวว่าเริ่ดเลอเพอร์เฟค
บ้านอาจ้อเปิดให้บริการห้องพักแบบโฮมสเตย์ เพื่อนๆสามารถมาสัมผัสเรื่องราวในอดีตผ่านการถ่ายทอดโดยลูกหลานคหบดี ในราคาโปรโมชั่น ราคาห้องละ 2500 บาท รวมอาหารเช้า
สำหรับร้านอาหารโต๊ะแดง ไม่พักก็แวะเข้ามาทานได้ อาหารอร่อยรสชาติกลมกล่อมทุกเมนูลด 20% แค่ได้มาสัมผัส ทักทายพูดคุยกับเจ้าบ้านก็คุ้มเกินคุ้มแล้วค่ะ
บ้านอาจ้ออยู่ใกล้ทางเข้าออกเมืองภูเก็ต ก่อนเข้าออกเมืองแวะบ้านอาจ้อแถวบ้านสวนมะพร้าว ตำบลไม้ขาว อาหารอร่อยทุกอย่าง แถมเจ้าบ้านยังน่ารักอีกด้วย
จองเลยที่ FB : Baanthaibreak Ar-Jor Homestay บ้านอาจ้อ www.baanarjor.com
โทร : 0624598889
เป็นกำลังใจให้อีหล้าอย่าลืมกดไลคืกดแชรืและกดติดตามได้ที่
ขอบพระคุณมากค่ะ โอกาสหน้าอีหล้าจะหาที่เที่ยวใ
Elahpalui
วันพฤหัสที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เวลา 16.06 น.