บ้านถ้ำเสือ แก่งกระจาน เพชรบุรี ชุมชนริมแม่น้ำเล็กๆ ที่จะทำให้เราได้รู้ว่าได้อะไรมากกว่าต้นไม้เมื่อตั้งใจปลูกต้นไม้อย่างจริงจังเพื่อผลประโยชน์ของทุกคนในหมู่บ้าน และเพื่อความมีกินมีใช้ที่ยั่งยืน
ที่นี่เป็นชุมชนขนาดไม่ใหญ่นัก แต่เปี่ยมเสน่ห์กับวิถีอันเรียบง่าย หมาะกับมาท่องเที่ยว พักผ่อน ทำกิจกรรมผูกพันกับสายน้ำ พร้อมเรียนรู้เรื่องราว “ธนาคารต้นไม้” ซึ่งชาวบ้านถ้ำเสือภาคภูมิใจ จนได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 60 เส้นทางความสุขและการแบ่งปัน “Happiness we can shere” แคมเปญดีๆ จาก ททท. ที่จะพาเราไปส่งมอบรอยยิ้มแบ่งปันความสุขกับ 38 กิจกรรมอาสาสมัคร 22 ชุมชนท่องเที่ยว
เพราะบ้านถ้ำเสืออยู่ห่างจากตัวอำเภอแก่งกระจานสิบกว่ากิโลเมตร ไม่มีรถโดยสาร ทริปนี้เราจึงเลือกเช่ารถยนต์ขับไปกันเอง ใช้บริการของ Budget Rent a Car อีกหนึ่งบริษัทรถเช่าเจ้าประจำ รับและคืนรถที่สนามบินดอนเมือง เคาน์เตอร์อยู่ที่อาคารสองชั้นล่าง (ขาเข้า) หาไม่ยากครับ
เช่ารถกับ Budget ใช้เวลาแป๊บเดียว ขอเพียงเอกสารพร้อม บัตรประชาชน ใบขับขี่ บัตรเครดิตชื่อตรงผู้เช่ารถและตรงกับใบขับขี่ เจ้าหน้าที่จัดการไม่กี่นาทีก็เรียบร้อย รับ Honda Jazz พร้อมประกันชั้นหนึ่ง ซึ่งผ่านการเช็ครถอย่างดีมาขับฉิวไปเที่ยวแก่งกระจานกัน
ติดต่อเช่ารถ Budget โทร. 022039222 หรือ www.budget.co.th หรือ www.facebook.com/budgetcarthailand
ก่อนเที่ยงเราก็เดินทางถึงที่หมายบ้านถ้ำเสือ ให้เราเข้าไปตามป้ายธนาคารต้นไม้ได้เลย ถึงที่ปุ๊บก็รับขนมหวานเมืองเพชร กับน้ำสมุนไพรเย็นฉ่ำเป็นการต้อนรับ
ที่จุดต้อนรับนักท่องเที่ยวของชุมชน เราได้พบกับ "พี่น้อย" สุเทพ พิมพ์ศิริ หัวเรี่ยวหัวแรงในการขับเคลื่อนชุมชน พี่น้อยเล่าให้ฟังว่าจุดเด่นของบ้านถ้ำเสือคือเป็นหมู่บ้านนำร่องโครงการธนาคารต้นไม้ของ ธ.ก.ส. ซึ่งตัวพี่น้อยชักชวนชาวบ้านให้เริ่มหันมาปลูกต้นไม้เพื่อประโยชน์ในอนาคตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548
ในช่วงแรกคนในชุมชนยังไม่ใส่ใจกันมากนัก แต่เมื่อมีพี่น้อยเป็นคนนำ นำโดยการลงมือทำ เมื่อชาวบ้านเริ่มเห็นประโยชน์ก็ขยับเข้ามาเป็นแนวร่วมมากขึ้น ทีละบ้านสองบ้าน จนถึงปัจจุบันมีสมาชิกธนาคารต้นไม้ในชุมชนกว่า 70 หลังคาเรือน
ความสำเร็จตอนนี้ไม่เพียงแค่มีต้นไม้มากขึ้น ชาวบ้านถ้ำเสือยังสามารถใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันเงินกู้ รวมถึงได้รับคาร์บอนเครดิตในฐานะชุมชนที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เมื่อโครงการธนาคารต้นไม้ประสบผลสำเร็จ พี่น้อยก็พัฒนาต่อยอดสู่ท่องเที่ยว มีกิจกรรมสร้างสรรค์และ CSR พร้อมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มเปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์ สร้างรายได้เพิ่มเติมขึ้นอีกทาง
บรรยากาศภายชุมชนร่มรื่นและเขียวขจีสมกับเป็นหมู่บ้านธนาคารต้นไม้ มองไปทางไหนก็สบายตา แถมด้วยพื้นที่อยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีทำให้รู้สึกสดชื่นผ่อนคลายสุดๆ
ฟังพี่น้อยเล่าถึงความเป็นมาเป็นไปของบ้านถ้ำเสือเพลินๆ ก็ถึงเวลากินข้าวเที่ยง อาหารเตรียมพร้อมรอเราเรียบร้อย บรรยากาศดีๆ ช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อยมากขึ้นไปอีก ที่สำคัญคือวัตถุดิบในการปรุงอาหารที่นี่ปลอดสารเคมีอีกด้วยนะ
สำหรับที่พัก ที่นี่เป็นโฮมสเตย์แท้ๆ ห้องพักและเตียงนอนจัดเตรียมไว้แบบเรียบง่าย เหมือนเราไปเยี่ยมบ้านเพื่อน เที่ยวบ้านญาติ ไม่มีอะไรหรูหรา แต่อบอุ่นและปลอดภัยตามมาตรฐานโฮมสเตย์ ของกรมการท่องเที่ยว
ช่วงบ่าย เรามีนัดทำกิจกรรมเวิร์คช็อปเล็กๆ น้อยๆ เริ่มด้วยการทำไข่เค็มพอกใบเตย ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าใหักับไข่เป็ด เป็นสูตรที่ชุมชนคิดขึ้นเองโดยการนำเองวิธีการทำไข่เค็มดินสอพองของทางลพบุรีมาดัดแปลง
7 วันทำไข่ดาว 15 วันทำไข่ต้ม สูตรนี้ท่องไว้เลย รับรองไข่เค็มที่เราพอกเองกับมือรสชาติกลมกล่อมแน่นอน
ต่อมาคือการปั้นกระสุนเมล็ดพันธุ์ซึ่งเราจะไปยิงปลูกป่ากันวันพรุ่งนี้ โดยนำเมล็ดของไม้เนื้อแข็งตามฤดูกาลมาปั้นกับดินร่วนผสมน้ำให้เป็นก้อนกลมๆ จนเป็นกระสุนสำหรับยิงหนักสติ๊ก นำไปตากแห้งสักหนึ่งแดด เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็พร้อมเอาไปยิงกันแล้ว
ไฮไลท์ของบ้านถ้ำเสือคือการทำทองม้วนกรอบ หอม มัน อร่อย เป็นสินค้าส่งออกของหมู่บ้านที่ขึ้นชื่อระดับตัวท็อป เวลามีออกงานออกร้านที่ไหนรับประกันว่ายอดขายถล่มทลาย
วัตถุดิบเด็ดที่ทำให้ทองม้วนที่นี่อร่อยจนหยุดไม่อยู่คือการใช้น้ำตาลโตนดให้ความหอมหวานอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเพชรนั่นไง แล้วที่เห็นว่าทำกันง่ายๆ น่ะ พอมาลองทำเองแล้วจะรู้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างไม่ง่ายเหมือนตาเห็นหรอกนะ (ฮา...)
ของดีบ้านถ้ำเสือ อร่อยห้ามพลาดเลยครับ ใครอยากอุดหนุนสินค้าชุมชนแบบนี้ โทรสอบถามได้เลย 0811303835, 0899153320
แดดเริ่มร่ม บ่ายสามโมงครึ่งพวกเรานั่งรถไปล่องเรือยางชมวิวทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี จุดเริ่มต้นอยู่แถววัดสองพี่น้อง ล่องตามน้ำชมวิวมาเรื่อยๆ จนกลับมาถึงบ้านถ้ำเสือ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ใช้เวลาชั่วโมงนิดๆ ชมวิวเพลินดีครับ
ตอนแรกผมก็เป็นคนนั่งอยู่ดีๆ หรอก ผ่านไปผ่านมานึกสนุกมาช่วยเป็นฝีพายอยู่ที่หัวเรือแล้วกัน ไม่รู้ว่าช่วยหรือเป็นภาระมากกว่ากันนะ (ฮา...)
กลับถึงบ้านถ้ำเสือ ไหนๆ ก็ตัวเปียกแล้วต้องจัดการเล่นน้ำโดดน้ำล่องห่วงยางซะเลย มาเที่ยวแก่งกระจานตั้งหลายหน นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้เล่นแม่น้ำเพชรจริงจังนะนี่
และนี่คือมื้อเย็นของเราหลังจากอาบน้ำอาบท่ากันเรียบร้อย รสชาติแม่ครัวเมืองเพชรขึ้นชื่ออยู่แล้ว ยิ่งมาทานถึงที่ต้องบอกว่าอิ่มอร่อยมาก
ยามเช้าวันใหม่ที่บ้านถ้ำเสืออากาศกำลังดี เย็นสบาย หอมกลิ่นดินกลิ่นต้นไม้ เหมาะกับการออกมาเดินเล่นฟังเสียงนกร้อง บ้านเรือนที่นี่อาจไม่หรูหราเหมือนในเมือง แต่เรื่องความสุขความสบายใจ คนที่นี่อาจมีมากกว่าคนในเมืองหลายเท่าตัวนะ
มื้อเช้าวันนี้เป็นข้าวต้มซีฟู้ดแบบเครื่องแน่นๆ และห้ามลืมของหวานเป็นทองม้วนสูตรน้ำตาลโตนดแท้คู่กับกาแฟ โอวัลติน อีกหน่อย
สายๆ พี่น้อยขับรถพาพวกเราไปเที่ยวสวนลุงเกิด ชายชราผู้มีเรื่องราวเล่าให้เราฟังอย่างมากมาย
ลุงเกิดพื้นเพเป็นคนท่ายาง เพชรบุรี สมัยหนุ่มๆ วัยเบญจเพศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 เดินเท้ามาตามทางเกวียนบุกป่าถางพงจับจองพื้นที่ทำกินที่บ้านถ้ำเสือ เริ่มด้วยการทำสวนผลไม้และยึดอาชีพจนถึงรุ่นหลานรุ่นเหลนในปัจจุุบัน
เมื่อก่อนลุงเกิดค่อนข้างจะหวงสวนตัวเองอย่างมากไม่ยอมให้คนต่างถิ่นเข้ามาเด็ดขาด ทว่าตั้งแต่หมู่บ้านเริ่มเข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้ พี่น้อยก็หยอดลุงเกิดทีละนิดละหน่อยจนในที่สุดก็สนใจหันมาเข้าร่วมโครงการด้วย แถมยังเปิดสวนให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมอีกต่างหาก
สวนลุงเกิดเป็นสวนผลไม้โบราณ หมายถึงปลูกผลไม้ต่างๆ ทุเรียน เงาะ ลองกอง มังคุด ขนุน กระจัดกระจายในพื้นที่ไม่ได้เรียงเป็นระเบียบร้อยเหมือนสวนสมัยใหม่ ต้นอะไรอยู่ตรงไหนใช้การจดจำกันเอา
สูงปรี๊ดแบบนี้คือทุเรียนต้นแรกของเพชรบุรี ลุงเกิดเล่าว่าซื้อต้นพันธุ์มาจากแถวบางขุนเทียน ทุกวันนี้ยังคงให้ผลผลิตอยู่ ที่สำคัญคือเดี๋ยวนี้ทุเรียนสวนลุงเกิดไม่ต้องส่งขายที่ไหน ถึงช่วงฤดูออกลูกเมื่อไหร่มีคนมาซื้อถึงสวนแบบไม่เหลือสักลูกเดียว
ไม้ใหญ่อีกต้นที่เหมือนสัญลักษณ์ของสวนลุงเกิดคือยางนา ไม่มีใครบอกอายุได้ว่ากี่ปี เพราะแม้กระทั่งลุงเกิดเองก็เห็นยางนาต้นนี้สูงเด่นตระหง่านตั้งแต่แรกเริ่มมาตั้งรกราก ดังนั้นคะเนเวลาก็น่าจะอายุมากกว่าร้อยปี
ส่วนไม้มะฮอกกานีในสวนลุงเกิดก็ปลูกขึ้นในโครงการธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือเหมือนกัน
สวนลุงเกิดเป็นสวนที่ไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยที่ให้ทุกวันนี้ยังเป็นปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักอยู่เลย มีหลายคนแซวว่าที่นี่ไม่ได้ปลูกผลไม้ไว้ขายหรอก แต่ปลูกผลไม้ไว้ให้ค้างคาวกินต่างหาก หลักฐานที่เราพบคือรอยขบรอยเขี้ยวค้างคาวบนพวงลองกองนั่นไง
แล้วชื่อบ้านถ้ำเสือล่ะ... มีเสืออยู่จริงหรือเปล่า ลุงเกิดบอกว่ามีจริงสิ แต่ลุงเกิดเองก็ไม่เคยได้ยินหรอกนะ เพราะตอนย้ายมาตั้งรกรากที่นี่หกสิบกว่าปีก่อน เสือในถ้ำบนภูเขาก็ย้ายถิ่นไปแล้ว เป็นเรื่องที่ลุงเกิดฟังมาจากคนรุ่นบุกเบิกก่อนหน้านั้นเหมือนกัน
หลังไหว้ลาลุงเกิดแล้ว พี่น้อยพาเราไปเขาถ้ำเสือและศาลเจ้าพ่อถ้ำเสือ ซึ่งเรามายิงกระสุนเมล็ดพันธุ์ที่ปั้นไว้เมื่อวานกันที่นี่ ด้วยความพยายามต่อเนื่องนับสิบปีทำให้พื้นที่เขาถ้ำเสือตรงนี้เขียวขจีขึ้นกว่าเดิมมาก
นอกจากนี้พี่น้อยยังปรับปรุงทางเดินและเส้นทางศึกษาธรรมชาติขึ้นเขาถ้ำเสือไว้แล้วด้วยนะ แอบนึกเสียดายว่าเราไม่รู้ว่ามีกิจกรรมแบบนี้มาก่อน ไว้คราวหลังคงต้องมาแก้ตัว
พวกเรากลับไปทานอาหารเที่ยงอีกมื้อที่ชุมชน ก่อนเปลี่ยนเสื้อผ้ามาแช่น้ำเพชรบุรีอีกสักรอบให้ชื่นฉ่ำหัวใจเป็นการทิ้งท้าย
ประมาณบ่ายสองโมง พวกเราอำลาพี่น้อยกับชาวบ้านถ้ำเสือ เดินทางกลับไปคืนรถ Budget ที่สนามบินดอนเมืองแบบเรียบร้อบไร้ปัญหา พนักงานดูแลและจัดการทุกอย่างให้เราอย่างรวดเร็ว
ติดต่อเช่ารถ Budget โทร. 022039222 หรือ www.budget.co.th หรือ www.facebook.com/budgetcarthailand
ปลูกต้นไม้แล้วได้อะไร… หากถามชาวบ้านถ้ำเสือ ผมเชื่อว่าคงได้คำตอบยาวเป็นหางว่าว เพราะธนาคารต้นไม้คือส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ที่นี่กลายเป็นชุมชนต้นแบบในหลากหลายด้าน แต่หากให้สรุปง่ายและสั้นที่สุด การปลูกต้นไม้นั้นสามารถเพิ่มเติมรอยยิ้มให้ชีวิต และทำให้เราได้รับความสุขมากมายจริงๆ ครับ
สำหรับแคมเปญ 60 เส้นทางความสุขและการแบ่งปัน “Happiness we can shere” นี้ ททท. ยังร่วมกับพันธมิตรมอบข้อเสนอพิเศษช่วยส่งต่อความสุขและการแบ่งปัน เช่น สายการบินไทยสมายล์ นกแอร์ แอร์เอเชีย Travel I Go รถเช่า และอื่นๆ อีกมากมายในราคาพิเศษ สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมทั้ง 60 เส้นทางและโปรโมชั่นต่างๆ ได้ที่ เว็บไซต์ https://bit.ly/5volunteer และ เฟซบุ๊ก 60 เส้นทางความสุข หรือ www.facebook.com/60happinessroute
ติดต่อท่องเที่ยวชุมชนบ้านถ้ำเสือ ทั้งกิจกรรมเวิร์คช็อปต่างๆ กิจกรรมวันเดียว กิจกรรมค้างคืน หรือมื้ออาหารกลางวัน อาหารเย็นริมแม่น้ำเพชรบุรี โทร. 0811303835 (คุณเฟิร์น)
เฟซบุ๊ก โฮมสเตย์ บ้านถ้ำเสือ อ.แก่งกระจาน หรือ www.facebook.com/homestayBanthamsue
ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยวเดินทางของผมได้อีกช่องทาง
http://www.facebook.com/alifeatraveller.
นายสองสามก้าว / A Life, A Traveller
วันพฤหัสที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 11.08 น.