จิ่วจ้ายโกว สถานที่ท่องเที่ยวที่หลายๆคนยกให้เป็นอันดับหนึ่ง กับธรรมชาติที่สวยงามดุจสวรรค์บนดิน ทริปนี้เริ่มเดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ ใช้เวลาประมาณ 2ชม 45 นาที ไปลงที่สนามบิน Chengdu Shuangliu ในมณฑลเสฉวนประเทศจีน โดยในวันแรกจะเที่ยวในเมืองเฉิงตู (Chengdu) กันก่อน


จากสนามบิน เราเดินทางกันต่อไปยัง ศูนย์อนุรักษ์หมีแพนด้า (Giant Panda Breeding Research Base) ที่นี่มีพื้นที่ถึง 600,000 ตารางเมตรเลยทีเดียว นั่งรถจากตัวเมืองเฉิงตูไปประมาณ 30 นาที สร้างตั้งแต่ปี คศ 1987 โดยใช้เป็นศูนย์เพาะพันธ์และอนุรักษ์หมีแพนด้า รวามถึงใช้ศึกษาเจ้าหมีแพนด้าอีกด้วย ค่าเข้าชมคนละ 58หยวน ถ้ามาเที่ยวจังหวะดีๆ เราจะได้เห็นแพนด้าตั้งแต่แรกเกิดจนถึงตอนโตด้วย

เจ้าหมีแพนด้าหน้าตาน่ารักแบบนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ต้าสงเมา โดยจะชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นป่าไผ่ทึบ แพนด้าโตเต็มวัยจะสูงประมาณ 70-80cm น้ำหนีกประมาณ 100 – 150kg แพนด้าเลี้ยงจะมีอายุประมาณ 20ปี โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าแพนด้าตามธรรมชาติมีอายุขัยเท่าไหร่ อาหารหลักของเจ้าแพนด้าคือ ไผ่ธนู โดยเจ้าแพนด้านั้น จะนอนวันละประมาณ 10ชม โดยจะหลับเป็นช่วงสั้นๆ 2-4ชมต่อครั้ง ส่วนเวลาที่เหลือ กินอย่างเดียวเลยครับ โดยจะใช้เวลา 14ชม ต่อวันในการกินอาหาร

แพนด้ายักษ์เป็นหนึ่งในสัตว์สายพันธุ์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์มากที่สุดสายพันธุ์หนึ่งของโลก ปัญหาในการเพาะพันธ์หมีแพนด้าคือ หมีแพนด้ามีความต้องการผสมพันธุ์เฉลี่ยต่อปีเพียง 2-3 วันเท่านั้น ตั้งแต่ปีคศ 1979 ทางรัฐบาลจีนได้ริเริ่มโครงการ “ให้เช่าหมีแพนด้า” โดยอนุญาติให้สวนสัตว์ในต่างประเทศยืมหมีแพนด้าไปเลี้ยงได้ และเงินที่ได้มาจะถูกนำไปใช้ในการอนุรักษ์หมีแพนด้า แต่ในปัจจุบันได้มีการเพาะพันธ์แพนด้าเพิ่มมากขึ้น จนถูกถอดออกจากรายชื่อสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ไปแล้ว

ระหว่างเดินดูเจ้าแพนด้าอยู่ ทางเจ้าหน้าที่ชวนให้ไปดูแพนด้าแดงอีกทาง ตอนแรกที่ได้ยินคิดไปถึงแพนด้าขนสีแดงๆ แต่พอไปเจอตัวจริงแล้วตกใจไม่ใช่น้อย แพนด้าแดงเหมือนกระรอก กับ แรคคูน ผสมกัน ตัวประมาณลูกหมาตัวเล็กๆนี่เอง

เจ้าแพนด้าแดง หัวมีขนาดใหญ่ จมูกแหลม ขาสั้นคล้ายหมี ขนตามลำตัวมีหลากหลาย มีทั้งสีน้ำตาลเข้ม น้ำตาลเหลืองและน้ำตาลแดง ขนบริเวณลำคอยาวและนุ่มฟู หางเป็นพวงยาวคล้ายกับหางของกระรอก มีลายปล้องสีน้ำตาลแดงสลับขาว ซึ่งในไทยเราก้อมีนำเข้ามาเลี้ยงเหมือนกัน สามารถไปดูได้ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี

หลังจากทานอาหารเย็นเสร็จ เราก้อไปเที่ยวกันต่อที่ถนน ฉินไท่ (Qintai) ในเมืองเฉิงตู ถนนความยาว 900 เมตรนี้ เป็นถนนที่ได้ถูกอนุรัษณ์ไว้ ด้วยรูปทรงบ้านแบบโบราณ ตามถนนเต็มไปด้วยร้านขายชา ร้านขายเครื่องประดับ ร้านอาหาร และ Opera House ที่โด่งดังของเฉิงตู

ถนน ฉินไท่ (Qintai)ในตอนกลางคืนจะประดับไฟสวยงามตลอดทั้งถนน บรรดาบ้านช่องร้านรวงต่างๆ จะเป็นสไตล์โบราณสมัยราชวงศ์ฮั่น (202BC - 220AD) ผสมกับราชวงศ์ถัง (618 - 907) และถนนนี้ยังเป็นอนสรณ์แห่งความรักของ Zhuo Wenjun (175BC - 121BC) และ Sima Xiangru (179BC - 118BC) ซึ่งถูกกีดกันด้วยสถานะของทางครอบครัว จนท้ายที่สุดทั้งคู่ได้หนีมายังเมืองเฉิงตู และเปิดร้านในถนนฉินไท่นี่เอง

เราไม่ได้มาถนนฉินไท่เพื่อดูวิวอย่างเดียว จริงๆจุดหมายเราคือมาชมการแสดงโชว์เปลี่ยนหน้ากากอันโด่งดังที่ Shufeng Sichuan Opera House (蜀风雅韵) โดยมีค่าเข้าชมอยู่ที่ 150หยวน ใครจะมาหาไม่ยากเลย เนื่องจาก Opera House เปิดไฟสว่างสวยงาม เห็นโดดเด่นแต่ไกล

เมื่อเดินเข้ามายังเวทีของ Shufeng Sichuan Opera House (蜀风雅韵) ด้านในเป็นเก้าอี้สานให้นั่งแบบง่ายๆ ไม่ได้หรูหรามากนัก โดยมีการประดับโคมแดงไว้ที่เพดานเต็มไปหมด โดยการแสดงจะมีทั้งหมด 7 ชุดด้วยกัน โชว์เปลี่ยนหน้ากากเป็นการแสดงหนึ่งใน 7 ชุด

ก่อนเริ่มแสดง ทาง Opera House ให้เราสามารถเข้าไปดูนักแสดงแต่งหน้าได้ด้วย ดูๆไปบรรยากาศไม่ค่อยต่างจากโรงงิ้วบ้านเราสักเท่าไหร่แฮะ


เริ่มต้นการแสดงของ Shufeng Sichuan Opera House (蜀风雅韵) จะมีพิธีกรในชุดกี่เผ้าสีแดงสดมาดำเนินรายการ มาดูโชว์ทั้ง 7 ชุดกันเลย

โชว์ชุดแรกของ Shufeng Sichuan Opera House จะเป็นงิ้วจีน แต่งองค์ทรงเครื่องกันมาแบบจัดเต็ม สีสันสดใสมากๆ แน่นอนว่าฟังไม่รู้เรื่อง 55555 ก้อนั่งดูกันไป

โชว์ชุดที่สองของ Shufeng Sichuan Opera House จะเป็นโชว์ดนตรี โดยมีคุณลุงท่านนี้ออกมาเล่นเครื่องดนตรีจีนโบราณให้ฟัง เครื่องดนตรีประเภทนี้คือ เอ้อหู หรือ ซออู้ (Erhu) เริ่มมีตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง(คริสต์ศตวรรษที่7-คริสต์ศตวรรษที่10) เสียงของซอสองสายสามารถแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกได้เต็มเปี่ยม ซอสองสายมีเสียงคล้ายเสียงคน จึงเป็นเครื่องดนตรีที่มีลักษณะเหมือน การร้องเพลง บางคนขนานนามว่าเป็น“ไวโอลินจีน” เนื่องจากเสียงซอมีความเศร้าในตัว จึงมักเอามาบรรเลงเพลงที่เน้นอารมณ์ซาบซึ้ง

โชว์ชุดที่สามของ Shufeng Sichuan Opera House จะเป็รโชว์หุ่นเชิด โดยหุ่นเชิดของจีนนั้นจะแต่งตัวตามสไตล์จีนโบราณ เหมือนที่เราเห็นในหนังกำลังภายในทั้งหลาย คนที่เชิดหุ่นมีเพียงคนเดียว แต่ก้อแสดงออกมาได้ราวกับหุ่นมีชีวิตจริงๆเลย

โชว์ชุดที่สี่ของ Shufeng Sichuan Opera House นักแสดดงคนนี้แหละ ที่ได้ถ่ายรูปตอนเค้าแต่งหน้า ออกมาในชุดสีดำขลับ มีลวดลายมังกรสวยงามมากมายอยู่ ฟังไม่ออก แต่ดูๆจากการแสดงแล้ว น่าจะเป็นเปาปุ้นจิ้นนะ

โชว์ชุดที่ห้าของ Shufeng Sichuan Opera House เป็นการแสดงการบังคับมือให้เกิดเป็นเงา การเล่นเช่นนี้เชื่อว่าหลายๆคนที่ไม่ใช่เด็กยุคใหม่น่าจะเคยเล่นกันในสมัยเด็กๆ แต่การแสดงชุดนี้เหนือชั้นกว่ามาก มีการทำออกมาเป็นงู กระต่าย ม้า ที่ทึ่งไปกว่านั้นคือหมีแพนด้า เสียดายที่เวทีอยู่ไกล เลยไม่ได้ถ่ายคลิปวีโอไว้

โชว์ชุดที่หกของ Shufeng Sichuan Opera House ดูจากภาพคงจะเอากันออกว่าเป็นการแสดงอะไร ใช่ครับ เป็นการแสดงตลกนั่นเอง แค่ดูท่าทางของนักแสดงก้อฮาแล้ว โดยไม่ต้องฟังที่เค้าพูดออก

รอมานานกับโชว์ชุดสุดท้าย โชว์ชุดที่เจ็ดของ Shufeng Sichuan Opera House โชว์เปลี่ยนหน้ากาก ภาษาอังกฤษเรียกว่า Chinese Magic Mask Change ภาษาจีนเรียกว่า “เปี้ยนเหลี่ยน” (变脸) เป็นการแสดงที่ประเทศจีน ให้ความสำคัญ และยกย่องให้การแสดงนี้เป็นความลับระดับประเทศกันเลยทีเดียว

โชว์เปลี่ยนหน้ากาก เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของเสฉวน การเปลี่ยนหน้ากากแต่ละฉากใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที โดยที่ไม่สามารถจับตาได้ทัน โดยนักแสดงจะเอาธง หรือพัด โบกผ่านหน้าเพียงชั่วเสี้ยววินาที หน้ากากที่สวมอยู่ก้อจะเปลี่ยนไปเป็นหน้ากากอีกอัน ที่น่าทึ่งที่สุดคือ จังหวะนึงแค่สะบัดหัว หน้ากากก้อเปลี่ยนแล้ว
การแสดงนี้สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ไม่มีการถ่ายทอดให้บุคคลภายนอกได้รู้ “เคล็ดลับ” เป็นความลับเฉพาะลูกหลานชาวเสฉวนเท่านั้น ห้ามสอนเคล็ดวิชานี้แก่ผู้อื่นอย่างเด็ดขาด
พอจบการแสดงก้อค่อนข้างดึกล่ะ ได้เวลากลับโรงแรมนอนล่ะครับ

ตอนต่อไป เราจะไปต่อกันที่ธารน้ำมังกรเหลือง หรือ หวงหลง (Huanglong) กันครับ
ติดตามกันต่อได้ที่
https://www.facebook.com/TravelofSalaryMan/
https://www.facebook.com/voravuds
Voravud Santiraveewan
วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 10.27 น.