หากพูดถึงตัวละครในเสภาเรื่อง "ขุนช้าง ขุนแผน" แน่นอนว่าทุกคนจะต้องนึกถึง ขุนแผน(พลายแก้ว), ขุนช้าง และนางวันทอง(พิมพิลาไลย) อย่างแน่นอน ในวันนี้ผมจึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ 3 สถานที่สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับ 3 ตัวละครหลักให้ทุกคนได้รู้จักกันเพิ่มมากยิ่งขึ้น บางที่หลาย ๆ คนก็อาจจะรู้จักกันบ้างแล้ว แต่บางที่หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินและไม่เคยรู้ว่ามีอยู่จริงเลยก็ว่าได้ ถ้าทุกคนพร้อมแล้ว งั้นเราไปทำความรู้จักกันเลยครับ...

มาเริ่มกันที่แรกกันเลยครับ ทุกคนน่าจะรู้จักกันดีคือ วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จ.สุพรรณบุรี เป็นสถานที่ที่ขุนแผน หรือพลายแก้วที่กลับมาจากกาญจนบุรีมาบวชเณรอยู่ที่นี่เพื่อร่ำเรียนวิชากับ "ขรัวตาจู" ผู้ซึ่งเป็นพระอาจารย์คนแรกของขุนแผน ซึ่งในขณะนั้นก็คือเณรแก้วนั่นเอง


บริเวณระเบียงคดชั้นนอกของพระวิหารนั้นก็มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เล่าเรื่องราวของเสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน ตั้งแต่ต้นจนจบ รอบระเบียงคดของพระวิหารอีกด้วย

โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในวัดป่าเลไลยก์ฯ แห่งนี้ก็มีบนจิตกรรมฝาผนังด้วยนั่นคือตอนที่นางทองประศรี ผู้เป็นบิดาของขุนแผน(พลายแก้ว) ฝากตัวให้กับขรัวตาจูได้บวชเณรให้ และ...

อีกเหตุการณ์ที่สำคัญก็คือตอนเทศน์มหาชาติที่เณรแก้วขึ้นเป็นผู้เทศน์ และนางวันทอง หรือนางพิมพิลาไลยในตอนนั้นก็เป็นผู้ติดกัณฑ์เทศน์ ตอนนั้นนางพิมหลงไหลในเสียงของเณรแก้วมาก ๆ จึงเปลื้องผ้าสไบบูชากัณฑ์เทศน์ ดังในบทเสภาที่ว่า
สัปปุรุษหญิงชายครั้นได้ฟัง เสียงสาธุดังขึ้นพร้อมหน้า
ทุกคนดลใจให้ศรัทธา นางพิมเปลื้องผ้าทับทิมพลัน
จีบจบคำรบถ้วนสามที ยินดีวางลงในพานนั่น
ถวายแล้วน้อมนบอภิวันทน์ พิศฐานสำคัญด้วยศรัทธา
และนี่ก็คือความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงในเสภาเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน กับวัดป่าเลไลยก์ฯ งั้นต่อไปเรามาทำความรู้จักกับวัดป่าเลไลยก์ฯ กันบ้างดีกว่าครับ


วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร ถ.มาลัยแมน ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวสุพรรณบุรีมาอย่างยาวนาน ถือเป็นวัดที่เก่าแก่ สันนิษฐานกันว่ามีมาแล้วกว่า 1200 ปี

หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ศิลปะอู่ทอง ประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง ขนาดใหญ่ มีความสูงถึง 23.47 เมตร

พระอุโบสถ วัดป่าเลไลยก์ฯ
และนอกจากนี้ภายในวัดป่าเลไลยก์ฯ ก็ยังมีอีกสถานที่สำคัญต่อเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน นั่นก็คือ "คุ้มขุนช้าง" นั่นเอง




คุ้มขุนช้าง หรือบ้านขุนช้าง อยู่ภายในบริเวณวัดป่าเลไลยก์ฯ เป็นบ้านเรือนไทยโบราณ สร้างจากไม้สักโบราณ ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในสมัยก่อน และโดยแต่ละห้องก็จะมีภาพบรรยายเรื่องขุนช้าง ขุนแผนอีกด้วย

น่าเสียดายมาก ๆ ในวันที่ผมได้เข้าไปนั้นเขาปิด จึงไม่ได้เข้าไปชม แต่ภายในก็มีหลวงพ่อทันใจให้ทุกคนได้สักการะบูชา ไหว้พระ ขอพรอีกด้วย
ก็ผ่านไปแล้ว 1 ที่นะครับ ไม่รอช้า เราไปสถานที่ต่อไปกันเลยครับ...



วัดแค ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ไม่ไกลกับวัดป่าเลไลยก์ฯ มากนัก เป็นอีกวัดที่มีชื่อปรากฎในเสภาเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน หลังจากที่พลายแก้วลอบเป็นชู้กับนางพิมแล้ว ก็โดนสมภารวัดป่าเลไลยก์ฯ ตีจนหนีมาบวชที่วัดแค ดังคำที่สายทองถามเณรที่วัดป่าเลไลยก์ฯ พลายแก้วก็มาบวชเณรเป็นลูกศิษย์หลวงปู่คงอยู่ที่นี่ ร่ำเรียนวิชามากมาย


หลวงปู่คงนั่งพญาต่อ หลวงปู่คงก็คือสมภารวัดแคผู้เป็นอาจารย์ที่สอนวิชามากมายให้กับเณรแก้วในขณะนั้น


ต้นมะขามยักษ์ มีอายุกว่า 1000 ปี ขนาด 7 คนโอบ สูง 15 เมตร เรียกกันว่าเป็นต้นมะขามคู่บุญขุนแผน ที่ที่ขุนแผน หรือเณรแก้วได้เรียนวิชาเสกใบมะขามให้กลายเป็นต่อแตนไว้โจมตีข้าศึก
และภายในวัดแคนั้นก็ยังมีอีกสถานที่สำคัญ นั่นก็คือ "คุ้มขุนแผน"


คุ้มขุนแผน หรือบ้านขุนแผน เป็นบ้านเรือนไทยทรงโบราณ สร้างในแบบดั้งเดิมของไทย



ลักษณะของคุ้มขุนแผน มีมุกยื่นออกมาด้านหน้า มีบันไดกว้าเท่ากับทางขึ้น มีตรงกลางเป็นโถงกว้าง ทั้งขวาและซ้ายเป้นเรือนเล็กเชื่อมออกไป

ด้านหลังเป็นเรือนครัวจำลอง


หลังโถงกลางเรือนมีเจ้าแม่ตะเคียนให้สักการะบูชาอีกด้วย





ด้านในที่เหลือก็เป็นห้องนิทรรศการขุนแผน และห้องจำลองเรือนไทยในสมัยโบราณ
และก็เป็นอีก 1 ที่ที่สำคัญกับขุนแผนอยู่มาก หลังจากที่พาไปรู้จักกับสถานที่ของตัวละครชายมาพอสมควรแล้ว สุดท้ายจะพาไปทำความรู้จักกับสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับตัวละครหญิงอย่างนางวันทอง หรือนางพิมพิลาไลย ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใครหลายคนอาจจะไม่เคยรู้จักมาก่อนก็เป็นได้ และเป็นสถานที่ที่ค่อนข้างมีความโศกเศร้าภายในเสภาเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน อีกด้วย

ภาพจิตกรรมฝาผนังของวัดป่าเลไลยก์ฯ ที่แสดงถึงเหตุการณ์การเผาศพนางวันทอง หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าเกี่ยวอะไร เดี๋ยวเรามาไขข้อสงสัยกัน...


ครั้นถึงเข้าไปในที่ห้อง ถามว่าศพวันทองน้องอยู่ไหน
ขุนแผนบอกว่าฝังวัดตะไกร แล้วให้คนนำไปในฉับพลัน
บางช่วงบางตอนของเสภาเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน ซึ่งบอกว่าเมื่อนางวันทองถูกประหารแล้ว ศพก็ฝังอยู่ที่วัดตะไกรแห่งนี้ และทำพิธีเผาศพนางวันทองก็ที่วัดตะไกรแห่งนี้ ดังในภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดป่าเลไลยก์ในข้างต้น รวมไปถึงยังเป็นที่ที่ จมื่นไวยวรนาถ หรือพลายงาม ลูกชายของขุนแผนและนางวันทอง ซึ่งบวชให้นางวันทองก็ที่วัดตะไกรเป็นเวลาทั้งหมด 7 วัน ดังในเสภาที่ว่า
ครั้นสำเร็จเสร็จพลันมิทันช้า พระไวยผลัดผ้านุ่งห่มใหม่
แล้วนิมนต์พระสงฆ์วัดตะไกร พระหมื่นไวยปลงผมไม่ช้าที


วัดตะไกร ตั้งอยู่บริเวณ ต.คลองสระบัว อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นอีกหนึ่งวัดที่ไม่มีปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์ หรือในพงศาวดารเล่มไหนเลย หากปรากฎแต่เพียงในเสภาเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผนเท่านั้น





พระอุโบสถ วัดตะไกร
และภาพบรรยากาศภายในวัดตะไกร




เจดีย์องค์ประธานของวัด เป็นเจดีย์ทรงลังกา หรือทรงระฆังคว่ำ เจดีย์ลักษณะนี้นิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น ก่อนถึงช่วงเสียกรุงครั้งที่ 1

ลักษณะพิเศษของเจดีย์องค์ประธานนี้ก็คือ บริเวณก้านฉัตรประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งในซุ้มโดยรอบ ซึ่งหาได้ยากมาก ๆ ในปัจจุบัน





พระปรางค์ที่มีศิลปะแบบเขมร สันนิษฐานได้ว่าเป็นช่วงที่อยุธยามีชัยเหนือเขมร



และทั้งหมดนี้ก็คือ 3 สถานที่สำคัญกับ 3 ตัวละครหลักในวรรณคดีอย่าง ขุนช้าง, ขุนแผน และนางวันทอง ในบางสถานที่อาจจะรู้จักหรือเคยได้ไปกันอยู่แล้ว แต่ในบางสถานที่ก็อาจไม่มีใครเคยได้รู้จักหรือได้ลองมาเลยก็ว่าได้ หากใครที่อยากลองมาบ้างก็อยากให้ลองมากันเยอะ ๆ นะครับในทุก ๆ ที่เลย
ทั้งหมดนี้ก็คือประสบการณ์ของผมที่ได้ไปมาและศึกษาหาความรู้ในสถานที่นั้น ๆ และข้อมูลที่สำคัญเลย ก็ได้มาจาก เสภาเรื่อง "ขุนช้าง ขุนแผน" ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
หวังว่าทุกคนจะชอบกับประสบการณ์ที่ผมมาแบ่งปันในวันนี้นะครับ ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาจนจบถึงตอนนี้ ถ้ามีโอกาสได้ไปที่ไหนอีก ก็จะนำประสบการณ์ดี ๆ มาฝากอีกนะครับ... ขอบคุณทุกคนมาก ๆ ครับ
ลอนอ
วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เวลา 13.52 น.