ความลับของโครงกระดูก (Skeleton's Secrets) ศึกษากายวิภาคสัตว์ ที่พิพิธภัณฑ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นิทรรศการ “ความลับของโครงกระดูก” (Skeleton's Secrets) นิทรรศการที่ผสมผสานระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์ใครที่เคยชมนิทรรศการกายวิจิตรที่พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยมาดองใสและย้อมสีกระดูกเพื่อใช้ศึกษาโครงสร้างภายในของสัตว์ต่าง ๆ แล้วยังติดใจอยากดูอีก
ครั้งนี้สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนิทรรศการใหม่มาให้ทุกคนได้ชมกันแล้วค่ะ
นิทรรศการ “ความลับของโครงกระดูก” เป็นการจัดแสดงโครงกระดูกของสัตว์น้อยใหญ่ตั้งแต่ ปลานิล เต่านา งู นกแสก แมวบ้าน ค่าง หมูหริ่ง ไปจนถึงแรดชวา ขนมาให้ชมอย่างจุใจเต็มห้องจัดแสดงเลยทีเดียว
นิทรรศการนี้จะนำกระดูกสัตว์ต่าง ๆ มาเรียงร้อยต่อกัน เพื่อใช้ศึกษาโครงสร้าง การทำงาน และเพื่อให้สามารถมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างกระดูกแต่ละชิ้นได้อย่างชัดเจนค่ะ
นิทรรศการนี้จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย เข้าชมฟรีค่ะ แวะมาชมกันเยอะ ๆ นะคะพิระชอบตั้งแต่ยังไม่ทันเข้าไปในพิพิธภัณฑ์เลยค่ะ เพราะด้านทางเข้ามีหัวกระโหลกแรดในโครงเหล็กยืนต้อนรับผู้เยี่ยมชมทุกคนอยู่ค่ะ
เหยี่ยวแดง
ภาพด้านล่างนี้คือภาพกระดูกของนกเหยี่ยวแดง ซึ่งเป็นนกขนาดกลาง ขนาดลำตัวประมาณ 40 -46 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียจะมีลักษณะเหมือนกัน คือ มีขนสีน้ำตาลแดงหัว คอ และหน้าอกมีสีขาว และมีลายสีดำเล็ก ๆ อยู่ทั่วไป เวาบินจะเห็นหางกางออกค่อนข้างกลม มีปากแหลมคมสีเทา และขาสีเหลือง
เราพบเหยี่ยวแดงได้ที่ประเทศอินเดีย จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และทวีปออสเตรเลีย พบได้ทุกภาคในประเทศไทย
นกแสก
นกแสกเป็นนกที่หากินในเวลากลางคืน มีใบหน้ารูปหัวใจ มีดวงตาขนาดใหญ่ที่ด้านหน้าของหัว คอสั้น ปีกยาว หางค่อนข้างสั้น ขาและนิ้วแข็งแรง มีขนขึ้นปกคลุมแข้งจนเกือบถึงนิ้ว
กระรอกหลากสี (Finlayson's squirrel, Variable squirrel)
กระรอกหลากสีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 จัดเป็นสัตว์จำพวกหนู (Rodent) ชนิดหนึ่ง เป็นกระรอกขนาดกลางมีความหลากหลายของสีสูงมาก โดยมากจะเป็นสีขาวครีมปนเหลืองอ่อนจนถึงสีแดงหรือสีดำทั้งตัว หรือบางตัวอาจมีหลายสีในตัวเดียวกัน มีขนค่อนข้างยาวและดูฟูกว่ากระรอกปลายหางดำ (C. caniceps) และกระรอกสวน (C. erythraeus) ซึ่งทั้งสองชนิดนี้จะมีขนแน่นและสั้นกว่า
ด้วยความหลากหลายทางสีสันและความกว้างขวางในพื้นที่กระจายพันธุ์ จึงทำให้กระรอกหลากสีมีชนิดย่อยมากถึง 16 ชนิดเลยค่ะ
ค่าง (Langur หรือ Leaf Monkey)
ค่างเป็นสัตว์ในกลุ่มลิงแต่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากลิงในวงศ์อื่น ๆ คือ มีรูปร่างที่เพรียวบางกว่า ขาทั้ง 4 ข้างเรียวยาวกว่า มีนิ้วโป้งสั้นกว่า มีหางที่ยาวกว่า และมีขนยาวกว่า ระบบย่อยอาหารของค่างสามารถย่อยพืชได้ดี เป็นที่มาของชื่อสามัญคือ Leaf Money นั่นเองค่ะ
อาหารหลักของค่าง คือ ใบไม้ ยอดไม้ และผลไม้ หากินเป็นฝูง ค่างส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนต้นไม้ มีบางชนิดที่หากินบนพื้นดินเป็นหลัก
เต่านา (Malayan snail-eating turtle)
เต่านาเป็นเต่าน้ำจืดขนาดเล็ก กระดองส่วนบนมีสีน้ำตาล มีสันนูน 3 เส้นเห็นได้ชัดเจน และมีขอบเรียบสีครีมหรือสีเหลือง กระดองส่วนล่างมีสีเหลือง และแต้มสีดำบนแผ่นเกล็ด หัวขนาดใหญ่มีลายเส้นสีเหลืองหรือสีขาว หน้าและจมูกมีลายเส้นขีดสีขาว ผิวสีน้ำตาลเทาหรือดำ
เราพบเต่านาได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำของภูมิภาคอินโดจีนและแหลมมลายู ทั้งในนาข้าว สวนสาธารณะ ท้องร่อง หรือสวนผลไม้ พื้นที่การเกษตรทั่วไป เป็นต้น
น้องเต่านากินหอยเป็นอาหารหลักค่ะ ทั้งหอยฝาเดียวและหอยสองฝา แต่ก็สามารถกินสัตว์น้ำชนิดอื่นเป้นอาหารได้ด้วย
ปลากะรัง หรือ ปลาเก๋า (Brown Spotted Grouper หรือ Esstaury Grouper)
เห็นตัวนี้แล้วรู้สึกคุ้น ๆ กันไหมคะ เพราะนี่คือ "ปลาเก๋า" ที่เราเคยรับประทานกันนั่นเองค่ะ ปลาเก๋าเป็นปลาที่กินเนื้อเป็นอาหาร มีลำตัวยาวป้อม แบนข้างเล็กน้อย มีเกล็ดขนาดเล็ก สีตามตัวและครีบเป็นดอกดวง แต้ม หรือบั้ง ส่วนสีจะดูฉูดฉาดหรือคล้ำทึบนั้นขึ้นอยู่กับชนิดค่ะ
หากเราลองดูที่ครีบหลังของปลาเก๋า จะเห็นว่าครีบหลังแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรก (ส่วนที่อยู่ชิดโคน) เป็นก้านครีบแข็ง ตอนหลังเป็นครีบอ่อน มีลักษณะโปร่งใส มีเกล็ดขนาดเล็กทั้งแบบเรียบและแบบสาก ปากกว้าง
ความพิเศษของเจ้าปลาเก๋านี้คือมันสามารถเปลี่ยนเพศได้ด้วยค่ะ โดยจะเข้าสู่ตัวเต็มวัยเมื่อมีอายุประมาณ 3 ปี และมีน้ำหนักตัวประมาณ 3 กิโลกรัม ในระยะนี้จะเป็นตัวเมียทั้งหมด เมื่อเติบโตจนมีน้ำหนักประมาณ 7 กิโลกรัมจึงจะเปลี่ยนเป็นเพศผู้ค่ะ
นก (Bird)
นกมีวิวัฒนาการมานานหลายล้านปีเพื่อให้สามารถบินในอากาศได้ โดยการพึ่งพาปีกซึ่งพัฒนามาจากขาหน้า มีกระดูกที่กลวงเป็นโพรงเพื่อให้มีน้ำหนักเบา สามารถลอยตัวในอากาศได้ง่าย โดยภายในโพรงจะมีก้านกระดูกที่ทำหน้าที่ค้ำจุนเพิ่มความแข็งแรงด้วยค่ะ
กระต่ายยุโรป (Rabbit)
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก มีขนปุกปุยทั่วทั้งตัว มีหางกลมสั้น และมีใบหูยาวเมื่อเทียบกับสัตว์อื่นซึ่งวิวัฒนาการมาเพื่อช่วยเสริมการฟังให้ดียิ่งขึ้น นอกจากจะหูดีแล้ว ยังมีประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นที่ดีมากด้วยค่ะ
กระต่ายยุโรปมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปยุโรป ปัจจุบันมักจะถูกนำมาใช้เป็นสัตว์ทดลองในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์
ค้างคาวเล็บกุด (Dawn Bat, Cave Fruit Bat)
ค้างคาวเล็บกุดจัดเป็นค้างคาวกลุ่มกินผลไม้ (Megachiroptera) มีขนาดเล็กมาก โดยมีความยาวประมาณ 90-130 มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 35 - 82 กรัม ตาโต จมูกยาวเรียว ปีกมีพังผืด (patagium) สีน้ำตาลเข้ม มีจุดสีเหลืองบริเวณข้อต่อของกระดูกนิ้วต่าง ๆ รวมถึงใบหูด้านหน้าด้วยค่ะ ด้านบนของลำตัวมีสีน้ำตาล ด้านล่างสีเทา คอหอยมีขนปกคลุมเล็กน้อยและอ่อนกว่าบริเวณอื่น
เราพบค้างคาวเล็บกุดได้ที่ประเทศจีน อินเดีย บังกลาเทศ คาบสมุทรอินโดจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยอาศัยอยู่ตามถ้ำ ป่า สวน ทุ่งนา กินผลไม้และน้ำหวานจากเกสรดอกไม้
ค้างคาวเล็บกุดจึงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ด้วยการช่วยผสมเกสรดอกไม้ของผลไม้หลายชนิดครอบคลุมพื้นที่กว่า 40 กิโลเมตรรอบถ้ำที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจของภาคใต้มากกว่า 10 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นสะตอ ลูกเหรียง ทุเรียนบ้าน ทุเรียนพันธุ์ ชมพู่ กล้วย และไม้ลำพู เป็นต้น
จระเข้น้ำจืด หรือ จระเข้บึง (Siamese Crocodile)
จระเข้น้ำจืดมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม กาลิมันตัน ชวา และสุมาตราเป็นจระเข้ขนาดปานกลางค่อนมาทางใหญ่ มีลำตัวยาวประมาณ 3 - 4 เมตร กินปลาและสัตว์อื่นที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นอาหาร
ภายในงานนอกจากโซนโครงกระดูกที่นำมาจัดเรียงเป็นท่าทางต่างๆ แล้ว ยังมีโซนที่ให้ผู้เยี่ยมชมสามารถสัมผัสกับโครงกระดูกอย่างใกล้ชิดด้วยค่ะ แต่ต้องสัมผัสอย่างเบามือนะคะไม่อย่างนั้นอาจเกิดการแตกหักได้ค่ะ
สิ่งที่พิระชอบก็ยังคงเป็นสติ๊กเกอร์แปะเสื้อที่คราวนี้เป็นหัวกะโหลกของสัตว์ต่างๆ ค่ะ แล้วก็ของที่ระลึกน่ารักๆ อย่างถุงผ้าและกาชาปองค่ะ เป็น Pin แม่เหล็กน้องแมวแบบ X-Ray กับตุ๊กตุ่นโครงกระดูกคนค่ะ น่ารักมากเลย
กกก
- วันและเวลาเข้าชม: เปิดวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 9.00 – 16.30 น. ปิดให้บริการวันเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดราชการ ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 – 22 กุมภาพันธ์ 2564
- สถานที่: ห้องนิทรรศการหมุนเวียนชั้น 1 พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- แผนที่: https://goo.gl/maps/Xvf1B469MJToPjcV9
- ชมฟรี ไม่เสียค่าเข้าชม
ที่พลาดไม่ได้เลยคือ วันที่ 18-20 ธันวาคมนี้ พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกิจกรรม Nigth at the Museum 2020 ที่เปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่เวลา 9.00 - 22.00 น. มาชมโครงกระดูกตอนกลางคืนก็น่าจะได้ฟีลไปอีกแบบนึงนะคะพิระว่า
ติดต่อสอบถามได้ที่ พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 02-218-3645-6
นั่งรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีสยาม หรือ จอดรถได้ที่ อาคารมหาจักรีสิรินธร แผนที่: https://goo.gl/maps/8Ui2jRih46Bu7Dms7 ค่าบริการชั่วโมงละ 15 บาทค่ะ
Pira Story
วันพฤหัสที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564 เวลา 21.35 น.