จุดแข็ง : ชอบเข้าวัดฟังธรรม
จุดอ่อน : ฟังไม่รู้เรื่อง
ถ้าใครเป็นอย่างที่ว่าด้านบน ขอเชิญตามเรามาที่ หอธรรมพระบารมี (Baramee of Art) หอศิลป์คาร์แรคเตอร์จัด ที่จัดแสดงงานศิลป์สายธรรมะ นำเสนอหลักธรรมนำไปใช้ได้จริง ประกอบด้วยนิทรรศการเทิดพระเกียรติจากศิลปินแห่งชาติ และนิทรรศการศิลปะอื่น ๆ อีกกว่า 200 ผลงาน
หอธรรมพระบารมี (Baramee of Art) ตั้งอยู่บนพื้นที่ 15 ไร่ ณ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ห่างจากกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมง สถานที่แห่งนี้หมายมั่นวางบทบาทของตนภายใต้ความเป็นหอศิลป์ร่วมสมัยที่จัดแสดงศิลปะหลากเทคนิคโดยไม่หักค่าใช้จ่ายสำหรับศิลปินและผู้เข้าชม ทั้งนิทรรศกาลถาวรและหมุนเวียน อีกทั้งยังเป็นสถานปฏิบัติธรรม จัดงานอภิปรายในหัวข้อต่าง ๆ และเผยแพร่ความรู้ทางพระพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่าบริบทของสถานที่แห่งนี้พยายามเปิดบทสนทนากับแขกผู้มาเยือนอยู่เสมอ ด้วยความหลากหลายในอรรถประโยชน์ของสถานที่ ความน่าฉงนของค่านิยมที่ทำให้เกิดคำถาม ความตระหนักรู้ที่นำไปสู่การรังสรรค์ และความเข้าใจที่ทำให้เกิดการบอกเล่า ดังนั้น หากจะนิยามสถานที่แห่งนี้ว่า “พื้นที่สร้างสรรค์” (Creative space) ก็คงจะไม่ผิดนัก
ในวันที่เราเดินทางไปเที่ยวชมหอธรรมครั้งแรกมีลมแรงเป็นระยะจนกังวลว่าฝนจะตก แต่เพราะแดดส่องแรงกว่า ความกังวลที่ว่าเลยพลอยละลายหายไปด้วย เมื่อเดินลงจากรถ เบื้องหน้าจะพบกับอาคารสีขาวทรงหน้าจั่วตั้งตะหง่านทักทายเหล่าผู้มาเยือน ตรงหน้าทางเข้ามีสถาปัตยกรรมทรงกลมสีเงินรูปร่างคล้ายโดนัท มันสะท้อนแสงวิบวับเหมือนกระจก แต่เงาข้างในบิดเบี้ยว ราวกับมีท้องฟ้าละลายอยู่ในนั้น หากมองไปที่ด้านหลังอาคารจะเห็นสวนเขียวชอุ่มที่ประดับประดาด้วยชิ้นงานสถาปัตยกรรมและไม้พุ่ม ถัดจากกันมีบึงน้ำขนาดย่อมล้อมรอบด้วยหินใหญ่ ปาล์ม และเฟิร์น ดูร่มรื่นสบายตา อาคารหลังถัดๆมาทุกหลังมีสีขาว ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน มีทางเดินเป็นแผ่นหินขัดมันสีเทาเปลือยแบบลอร์ฟเชื่อมระหว่างแต่ละอาคาร
อาคารหลังแรกเป็นที่จัดนิทรรศการถาวรในหัวข้อ “ธรรมราชา” ที่นี่ผู้มาเยือนทุกคนต้องลงทะเบียนรับสูจิบัตรเข้าชมงาน และแสดงหลักฐานการรับวัคซีนตามมาตรการรับมือโควิด 19 ในขั้นตอนนี้จะสะดวกกว่ามากหากลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ โดยสามารถจองวันเข้าชมงานได้ที่ http://www.barameeofart.com
ทางด้านในเป็นลานอเนกประสงค์สำหรับทำกิจกรรม และโซนจัดแสดงศิลปะเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ประกอบกับผลงานเชิงปริศนาธรรมหลายชิ้นด้วยกัน มีโซนจัดแสดงทั้งหมด 3 ชั้น ประกอบด้วยผลงานเทคนิคต่าง ๆ เช่น งานปั้น งานเรซิ่น เทคนิคสีน้ำมัน ศิลปะประยุกต์ ตลอดจนภาพถ่ายขณะประกอบพระราชกรณียกิจ
ผลงานที่จัดแสดงในงานนี้ส่วนใหญ่เป็นงานประเภท Portrait หรือ ภาพบุคคลในอิริยาบถต่าง ๆ โดยมีองค์ประกอบย่อยเล็ก ๆ เสริมอยู่อีกที เมื่อได้พินิจมองผลงานแต่ละชิ้นดูแล้ว เสมือนว่าเราได้เห็นรูปร่างความคิดของศิลปินแต่ละท่านด้วย การประกอบรวมลายเส้น สีสัน ตลอดจนเรื่องราวในงานแต่ละชิ้นสะท้อนความเคารพเทิดทูนอย่างไม่ปิดบัง พวกเขาบรรจงสร้างความรักเป็นรูปร่างตามที่คิดฝันได้งดงามน่าชื่นชม ส่วนความรู้สึกของผู้ชมผลงานนั้นสุดจะหยั่งถึง เราทุกคนล้วนมองความรักของคนอื่นด้วยอคติอันหลากหลาย แต่ไม่ได้แปลว่าความคิดของเราสูงค่านักหรือความรักของพวกเขาต้อยต่ำลงตรงไหน และถึงแม้จะความคิดจะเปลี่ยนไปก็ตาม ผลงานของศิลปินก็จะเป็นดังอนุสรณ์สะท้อนตัวตน ณ ขณะหนึ่งของเขาอยู่ร่ำไป
แต่ในอนาคตใครจะรู้ ผลงานของพวกเขาอาจถูกจับจ้องด้วยความรู้สึกที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในตอนนี้ก็เป็นได้ หรือไม่แน่อาจยึดมั่นคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ก็เป็นเรื่องที่ต้องรอดูต่อไป
เราเดินเตร็ดเตร่ล่องลอยในภวังค์ของตัวเองจนมาถึงอาคารอีกหลัง งานตรงนี้ดูมีชีวิตชีวาและปี่ยมด้วยสีสัน ป้ายชื่อนิทรรศการเขียนว่า“Greet-กรี้ด” นิทรรศการที่ศิลปินสื่อความหมายของผลงานผ่านภาพดอกไม้หลากชนิดด้วยเทคนิคต่าง ๆ เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจและความหมายของชีวิต โดยใช้ดอกไม้เป็นเสมือนตัวแทนของชีวิตใหม่ที่เริ่มต้นในปีใหม่ พ.ศ.2565 ด้วยความสดชื่นเบิกบาน แต่ก็ยังแฝงหลักธรรมตามธรรมชาติของมันที่แม้จะงดงามเพียงใด เมื่อถึงเวลาก็ต้องเหี่ยวเฉาร่วงโรย สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงอันเป็นสัจธรรมของชีวิต
เราชอบดอกไม้ ชอบมาเสมอไว้ว่าจะเป็นของจริงหรือภาพวาด สีสันของมันแต่งแต้มโลกสีจางของเราให้แจ่มจัดสดใส คงไม่น่าแปลกใจหากเราจะบอกคุณว่านิทรรศการนี้เป็นงานโปรดของเราในวันนั้น แม้จะได้ใช้เวลาชื่นชมน้อยกว่าจุดอื่น ๆ
คนเราก็ลำเอียงเช่นนี้เอง
มาถึงนิทรรศการสุดท้าย น่าเสียดายที่เรามัวแต่รีบร้อนเข้าชมเพื่อกลับไปร่วมกิจกรรมจนไม่ทันสังเกตกระทั่งชื่องาน แต่ที่จำได้ดีคือตึกนี้มีบันไดทางขึ้นที่ฝั่งหนึ่งประดับภาพบนฝาหนังตลอดแนวทางขึ้น ให้ความรู้สึกคล้ายพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เคยเห็นในหนังฝรั่งอยู่เหมือนกัน จัดว่าสวยน่ามองทีเดียว
งานศิลปะที่จัดแสดงในตึกนี้ส่วนใหญ่เป็นงานปั้นประเภทต่าง ๆ ทั้งนูนต่ำ ลอยตัว และเทคนิคพิเศษอื่น ๆ ทั้งหมดล้วนสะท้อนหลักธรรมเป็นแก่นหลักในการนำเสนอ ทั้งรัก โลภ โกรธ หลง และอีกหลายความรู้สึกที่ผู้เข้าชมตีความได้ก็ดี ตีความไม่ได้ก็ดี แต่ถึงอย่างนั้นการได้ชื่นชมงานทีละชิ้นอย่าง(พยายามจะ)ละเมียดละไมก็เป็นกิจกกรมที่เพลิดเพลินดีเหมือนกัน อีกทั้งชั้นดาดฟ้าของที่นี่เองก็มีงานสถาปัตยกรรมที่แปลกตาอยู่หลายอย่าง แต่ที่สะดุดตา คือมือนับร้อยที่ชูขึ้นมาประมาณหนึ่งศอกอยู่ทั่วทั้งชั้น มันมีสีขาวล้วน แต่ให้ความรู้สึกดำดิ่งเหมือนจะถูกลากลงไป เราต่างสงสัยว่ามันสื่อถึงนรกหรือเปล่า แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครในหมู่พวกเราที่รู้
ไม่แน่ถ้าคุณได้ไปเห็นอาจจะรู้ก็ได้ ถึงตอนนั้นถ้าใจดีแวะกลับมาพิมพ์คำตอบให้เราสักหน่อยจะขอบคุณมาก
วันทั้งวันของเราจบลงอย่างรวดเร็วก่อนจะทันได้รู้สึกตัว การเป็นคนชื่นชมผลงานกับเวลาเป็นผู้สร้างคงต่างกันลิบลับจนเราอยากหอบผ้าหอบผ่อนมานอนที่นี่ให้มันจบเรื่องไป แทนที่จะกลับมาเขียนบทความที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้กับโครงงานอีกกองหนึ่ง มันออกจะน่าเสียดายที่เวลาพักผ่อนมีน้อยกว่าที่เราต้องการเสมอ แต่มองในแง่ดีก็ควรซาบซึ้งแล้วที่อย่างน้อยยังมีเวลาได้พัก ได้เดินเอื่อยอาดชมงานศิลป์ ได้เวลาสนทนากับตัวเองเป็นพัก ๆ ได้เก็บเกี่ยวความสร้างสรรค์น้อยนิดเท่าที่จะพอหยิบยืมมาได้สำหรับผลงานของตัวเอง
คิด ๆ ดูแล้วก็เป็นการทัศนศึกษาที่ไม่เลวเลย
------------------------------------------------------------------------------------------------
หากสนใจเยี่ยมชมนิทรรศการ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ http://www.barameeofart.com
*** คุณสามารถเข้าชมงานศิลปะ หรือเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย การสนับสนุนชิ้นงานศิลปะ จะช่วยให้ศิลปินได้ทำงานศิลปะต่อไป การบริจาคเพื่อหอธรรมพระบารมี จะช่วยให้ทุกคนสามารถเข้ามาสู่สถานที่นี้ และร่วมกิจกรรมต่างๆโดยไม่มีค่าใช้จ่ายต่อไป
Part-time Traveler
วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2565 เวลา 19.52 น.