ธรรมะสัญจรอินโดนีเซีย 1 : จุดเริ่มต้น

    “หนูจันไปอินโดนีเซียกันมั๊ยคะ วันที่ 18-26 มิ.ย. พี่จะพาคณะพระและญาติโยมไปทัวร์ธรรมะสัญจร 7-8 วัน สนใจไปร่วมบุญกันมั๊ย ได้ไปบุโรพุทโธและเกาะบาหลีด้วยนะคะ พี่ช่วยออกค่าเครื่องบินให้ค่ะ ชวนคุณแม่หรือเพื่อนๆ ไปได้นะยังมีที่เหลือ แต่พี่ขอคำตอบไม่เกินพรุ่งนี้น๊าาาา เพราะว่าพี่จะจองตั๋วเครื่องบินแล้ว โปรโมชั่นแอร์เอเชียหมดเขตพรุ่งนี้ค่ะ”

    ดร.นัชชา สมนาวรรณ หรือพี่แจ๋ เอ่ยถามด้วยน้ำเสียงและสีหน้าสดใสตามแบบฉบับของสาวหน้าเด็กตลอดกาล ส่วนคนหน้าแก่อย่างเราก็อึ้งกิมกี่ไป 2 นาที…

    โอ้โห!!! ทัวร์ธรรมะ เที่ยวไปด้วยเก็บบุญไปด้วย

    โอ้โห!!! บุโรพุทโธ อยากไปมานานแล้ว

    โอ้โห!!! เกาะบาหลี คงจะสวยน่าดู

    โอ้โห!!! 7-8 วัน เที่ยวกันให้เต็มอิ่มไปเลย

    โอ้โห!!! ออกค่าเครื่องบินให้ด้วย ไม่ไปไม่ได้แล้ว…

    พอคิดได้เราก็รีบโทรหาแม่ แชทหาเพื่อน ถามว่าใครจะไปบ้าง มีหลายคนอยากไปแต่ไม่ว่างช่วงนั้นบ้าง ลางานไม่ได้บ้าง และที่สำคัญต้องตัดสินใจเร็วมาก สรุปว่าเลยไม่มีใครไป

    ส่วนเราก็ตัดสินใจไปแบบไม่ลังเล โอกาสแบบนี้พลาดไปก็เสียดายแย่ และคราวนี้ก็ไม่ได้ไปตัวคนเดียวเหมือนตอนที่ไปเที่ยวเนปาลเมื่อหลายปีที่แล้วซะด้วยสิ… ว่าแล้วก็รีบตอบพี่แจ๋ไปว่า

    “โอเคค่ะ หนูไปด้วย จอง 1 ที่นะคะ”


    ธรรมะสัญจรอินโดนีเซีย 1 : เตรียมตัว

    หลังจากตกลงปลงใจแล้วว่าจะไปแน่ ภารกิจแรกคือต้องรีบทำ หนังสือเดินทาง (passport) เล่มใหม่ แทนเล่มเก่าที่หมดอายุไปหลายปี ว่าแล้วก็นั่งรถเมล์และต่อรถตู้ไป “กรมการกงสุล” ถนนแจ้งวัฒนะ ไปนั่งรอคิวทำประมาณ 200 กว่าคิว เสร็จแล้วก็ให้เขาส่งไปรษณีย์มาให้ที่บ้าน ซึ่งใช้เวลานานกว่ามารับเอง 3-5 วัน แต่ก็ดีกว่าหงุดหงิดกับรถติดและเวียนหัวกับคนเยอะแยะที่นั่น

    ส่วนตั๋วเครื่องบินนั้น พี่แจ๋เป็นคนจัดการให้ทุกอย่าง รวมทั้งสั่งอาหารบนเครื่องให้ด้วย โดยใช้บริการสายการบินแอร์เอเชีย ซึ่งในทริปนี้ต้องนั่งเครื่องบิน 3 เที่ยว คือ

    1. กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) – บาหลี
    2. ยอร์คยาการ์ตา – กัวลาลัมเปอร์
    3. กัวลาลัมเปอร์ – กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)

    ที่เป็นแบบนี้เพราะแอร์เอเชียไม่มีเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปยอร์คยาการ์ตา ซึ่งเป็นที่ตั้งของบุโรพุทโธ ขาไปก็เลยได้ไปเที่ยวบาหลีก่อน ส่วนขากลับก็ได้แวะชมเมืองกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซียอีกต่างหาก

    และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้อีกเรื่องคือ “เงิน” เพราะถึงแม้ว่าค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารถ และค่าชมการแสดง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจะรวมอยู่ในค่าทัวร์หมดแล้ว แต่ถ้าอยากจะซื้อของฝาก หรือซื้อของกินข้างทาง หรือสั่งเมนูเพิ่มเติม เราก็ต้องแลกเงินติดตัวเผื่อไว้บ้าง แต่ไม่ต้องแลกเผื่อไว้เยอะ เพราะค่าเงินรูเปียของอินโดฯ ต่ำมาก เหลือแล้วเอามาแลกคืนก็ขาดทุนเปล่าๆ นอกเสียจากว่าจะเก็บไว้ไปเที่ยวคราวหน้า

    ร้านซุปเปอร์ริช สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว อยู่ชั้นใต้ดิน เยื้องกับ B2S (https://www.facebook.com/SuperrichMoneyExchange)

    ไปคราวนี้แลกเงินไป 3100 บาท แต่ได้เงินรูเปียมาตั้ง 1 ล้าน …แลกมามีแต่แบงก์แสน แบงก์หมื่น ทั้งนั้นเลย ได้จับเงินล้านก็คราวนี้แหละ 555++

    สถานที่แลกเงินก็มีอยู่หลายที่ ร้านที่ดังๆ ก็มี ร้านซุปเปอร์ริช อยู่ที่ชั้นใต้ดินห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ฝั่ง B2S ซึ่งเราสามารถเข้าไปเช็คอัตราแลกเปลี่ยนได้ในเว็บไซต์ http://www.superrich1965.com แต่ถ้าใครแลกเงินเยอะๆ 2-3 หมื่นบาทขึ้นไป แนะนำให้ลองเปรียบเทียบกับร้านแลกเงินที่สะพานควาย แถวถนนประดิพัทธ์ ซึ่งมีอยู่หลายร้าน และอาจจะให้เงินมากกว่า

    แต่ถ้าไม่ได้แลกไป จะไปแลกที่อินโดฯ ก็ได้ หรือไม่ก็พกแบงก์ร้อยไปเยอะๆ หน่อย เพราะสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่แม่ค้าพูดภาษาไทยได้และรับเงินไทยด้วยค่ะ

    http://www.americantourister.co.th

    และสุดท้ายคือ จัดกระเป๋า อันนี้สำคัญสุดๆ เพราะเรามันเป็นพวกบ้าหอบฟาง ประมาณว่าอุปกรณ์ต้องครบ มีเหลือดีกว่าขาด จัดไปจัดมาของล้นกระเป๋า ต้องออกไปหาซื้อกระเป่าใบใหม่จนได้ 555

    อากาศที่อินโดฯ คล้ายกับเมืองไทยคือ ร้อนและมีฝน จึงต้องเตรียมเครื่องกันแดดกันฝนไปให้พร้อม ทั้งเสื้อแขนยาว หมวก แว่นกันแดด ร่ม เสื้อกันฝน และครีมกันแดด… แล้วก็ยังต้องเอาเสื้อแจ๊กเก็ต ถุงมือ หมวก ผ้าพันคอ เสื้อกันหนาว สำหรับใส่ขึ้นไปชมภูเขาไฟโบรโม่ไปด้วย เพราะได้ข่าวว่าบนเขาอากาศหนาวมากอาจจะถึง 5 องศาเซลเซียส

    ของจำเป็นอื่นๆ ก็มียารักษาโรคประจำตัว ยาสามัญประจำบ้าน ยาแก้ท้องเสีย ยาดม ยาหม่อง ฯลฯ เครื่องสำอาง แป้ง หวี ผ้าขนหนู สบู่ ยาสระผม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน (ที่พักบางที่อาจไม่มีให้ เตรียมไปเผื่อก็ดีค่ะ หรือไม่ก็ไปซื้อที่มินิมาร์ทที่อินโดฯ ก็ได้ ราคาไม่ต่างกับเมืองไทยเท่าไหร่)… เครื่องสำอางประเภทของเหลวเอาแบบขวดเล็กๆ ไปก็พอค่ะ รวมๆ กันแล้วอย่าให้เกิน 1 ลิตร (1,000 ml) เพราะเขาจะไม่ให้เอาขึ้นเครื่องค่ะ

    ถ้าใครต้องชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น โทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิตอล ฯลฯ ก็อย่าลืมซื้ออแด๊ปเตอร์ปลั๊กแบบหัวกลม ที่มีขากลม 2 อัน ไปด้วยนะคะ เอาแบบที่ใช้เสียบกับเต้าเสียบที่เป็นแบบหลุมกลมๆ เหมือนในรูปได้อ่ะค่ะ เพราะเต้าเสียที่อินโดฯ เป็นแบบนี้ทุกที่จ้า


    ถึงจะเอาของไปเยอะยังไงก็ต้องคำนึงถึงน้ำหนักด้วยนะคะ จะได้ต้องเสียเงินเพิ่ม… แอร์เอเชียให้โหลดกระเป๋าได้ไม่เกิน 20 กิโลกรัม และถือติดตัวขึ้นเครื่องไปได้ไม่เกิน 7 กิโลกรัมค่ะ

    และที่ขาดไม่ได้อีกอย่าง คือ “คู่มือท่องเที่ยว” สำหรับแจกคณะทัวร์ … ที่ต้องขออนุโมทนาบุญกับพี่ยา (สนทยา) ที่ให้ใช้เครื่องพิมพ์ และพี่นก (วฤษสพร) ที่ให้กระดาษ A4 มาพิมพ์เป็นเล่มด้วยนะคะ

    ที่สำคัญ ขอขอบคุณและอนุโมทนบุญกับพี่แจ๋ ที่ให้โอกาสได้ร่วมบุญในครั้งนี้ … อนุโมทนา สาธุ สาธุ สาธุ _/\_


    Read.Trip หยิบใส่เป้

     วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 21.23 น.

    ความคิดเห็น