
สวัสดีหนองคาย...วันนี้มีโอกาสมาเที่ยวจังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นเมืองรองชองภาคอีสาน แต่เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรม และใครที่มาเที่ยวจังหวัดหนองคาย ต้องไม่พลาดที่จะแวะไปกราบ “พระธาตุบังพวน”

“พระธาตุบังพวน” ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุบังพวน ตำบลพระธาตุบังพวน อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวว่า เป็นองค์พระธาตุที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งอัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย โดยพระพุทธรักขิตเถระ พระธรรมรักขิตเถระ และพระสังฆรักขิตเถระ ศิษย์ของพระมหากัสสปเถระ ตัวองค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม โดยองค์พระธาตุเดิมนั้นได้ล้มพังทลายลง ในปี 2513 สำหรับองค์ปัจจุบันได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่โดยกรมศิลปากร เมื่อปี 2520




“สัตตมหาสถาน” วัดพระธาตุบังพวน นอกจากมีองค์พระธาตุแล้ว ยังมีกลุ่มโบราณสถานที่เรียกว่า "สัตตมหาสถาน" ที่สร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนา หมายถึงการจำลองสถานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ เป็นสถานที่สำคัญ 7 แห่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข หลังจากได้ตรัสรู้ธรรมวิเศษแล้วเป็นเวลาแห่งละ 1 สัปดาห์ ซึ่งในวัดพระธาตุบังพวนแห่งนี้นับเป็นที่เดียวที่ยังหลงเหลือโบราณสถานอันเป็นสัตตมหาสถานจำลอง จากอดีตครบทั้ง 7 แห่ง คือ โพธิบัลลังก์, อนิมมิสเจดีย์ ,รัตนจงกรมเจดีย์, รัตนฆรเจดีย์,อชาปาลนิโครธเจดีย์,มุจลินทเจดีย์ และราชายตนะเจดีย์
1.โพธิบัลลังก์ ในสัปดาห์ที่ 1 เสด็จประทับภายใต้ร่มไม้มหาโพธิ์ เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับตรัสรู้เป็นเวลา 7 วัน


2.อนิมิสเจดีย์ ในสัปดาห์ที่ 2 เสด็จประทับ ณ อนิมิสเจดีย์ เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับยืนพิจารณาต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้ประทับตรัสรู้ โดยมิได้กะพริบพระเนตร เป็นเวลา7 วัน


3.รัตนจงกรมเจดีย์ ในสัปดาห์ที่ 3 เสด็จประทับ ณ รัตนจงกรมเจดีย์ ทรงนิมิตจงกรมขึ้น แล้วเสด็จจงกรมอยู่ที่นี้เป็นเวลา 7 วัน


4.รัตนฆรเจดีย์ ในสัปดาห์ที่ 4 เสด็จประทับ ณ รัตนฆรเจดีย์ โดยทรงประทับในเรือนแก้ว ซึ่งเทวดานิรมิตถวายและทรงพิจารณาพระอภิธรรมตลอด 7 วัน


5.อชาปาลนิโครธเจดีย์ ในสัปดาห์ที่ 5 เสด็จประทับ ณ อชปาลนิโครธ ใต้ต้นไทรซึ่งเป็นที่พักของคนเลี้ยงแพะ เป็นเวลา 7วัน โดยในช่วงนี้ได้มีธิดามาร 3ตน คือนางตัณหา นางอรดี นางราคะ ได้เข้าไปประโลมพระพุทธเจ้าด้วยอาการต่าง ๆ แต่สุดท้ายธิดาพระยามารก็พ่ายแพ้ไป


6.มุจลินทเจดีย์ ในสัปดาห์ที่ 6 เสด็จประทับ ณ ใต้ต้นจิก โดยมีชื่อว่า มุจลินท์ เสวยวิมุตติผลเป็นเวลา 7 วัน โดยในช่วงเวลานั้นมีฝนตกพรำตลอด 7 วัน ได้มีพญานาคนาม “มุจจลินทนาคราช” ขึ้นมาขนดและแผ่พังพานเพื่อป้องกันลมฝนให้พระองค์

7.ราชายตนะเจดีย์ ในสัปดาห์ที่ 7 เสด็จประทับ ณ ราชายตนะเจดีย์ (ต้นเกตุ) ได้มีพ่อค้า 2 คน มาพบ จึงได้ถวายข้าวสัตตุก้อน และสัตตุผง และได้เปล่งวาจาถึงพระพุทธ และพระธรรมเป็นสรณะ (เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีพระสงฆ์)


สระมุจลินท์ เป็น สระน้ำโบราณที่มีบันทึกในหนังสือใบลานที่เขียนเป็นภาษามคธ เรียกชื่อว่า “สระมังคละน้ำเที่ยงหมัน” เมื่อครั้งได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าบรรจุไว้ในองค์พระธาตุได้เกิดปรากฏการณ์ประหลาดมีสายน้ำพวยพุ่งออกมาจากพื้นดิน พระมหาเทพหลวงและพระมหาเทพพล พระภิกษุที่ดูแลองค์พระธาตุ ได้สังเกตเห็นว่ามีสายน้ำพุ่งขึ้นมาตลอดเวลาจึงได้ชักชวนญาติโยมขุดสระรองรับน้ำเอาไว้ และสร้างรูปปั้นพญานาค 7เศียรไว้กลางสระแห่งนี้ และน้ำจากสระแห่งนี้ เคยถูกนำเข้าพิธีสรงมูรธราชาภิเษก พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา และพิธีสำคัญในรัชกาลต่าง ๆ เป็นประจำ


ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเยือนจังหวัดหนองคาย เมืองรอง เมืองริมโขงอันสวยงาม ที่มีชื่อเสียงในเรื่องพญานาค และมาไหว้สักการะพระธาตุอันเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเชื่อกันว่า จะนำมาซึ่งความสุข ความเจริญมาสู่ผู้ที่เคารพบูชา อีกทั้งอานิสงส์ผลบุญที่ได้จากการกราบไหว้บูชา และสร้างกุศลกับพระธาตุนั้น เชื่อว่าส่งผลแรงยิ่งนัก หากผู้ใดปฏิบัติบูชาด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ และหมั่นกราบไหว้บูชาตามกำลังความสามารถทุกครั้ง อานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุ จะดลบันดาลให้เกิดสิริมงคลในชีวิตแก่ตัวผู้บูชา
PIAMSAK HANSURI
วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 17.00 น.