พระราชวังเป็นสถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์มาตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในประเทศไทยมีพระราชวังมากมายหลายแห่งด้วยกัน แต่วันนี้เราจะพาทุกคนไปเที่ยวชมพระราชวังโบราณแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ นั่นก็คือ “พระราชวังสนามจันทร์” จังหวัดนครปฐม โดยพระราชวังแห่งนี้นอกจากจะมีบรรยากาศที่ร่มรื่นและสวยงามแล้ว ภายในพระราชวังยังมีเรื่องราวและสิ่งต่าง ๆ ที่น่าสนใจให้เราได้ศึกษากันอีกด้วย ถ้าพร้อมแล้วก็ตามเรามาได้เลยค่า ^^
“พระราชวังสนามจันทร์” เป็นพระราชวังภายในความดูแลของสำนักพระราชวังที่ตั้งอยู่ในตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์เพียง 1.6 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งพระราชวังสนามจันทร์เป็นพระราชวังเก่าแก่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนบริเวณเนินปราสาท เพื่อใช้สำหรับเป็นสถานที่ในการแปรพระราชฐานมายังจังหวัดนครปฐม โดยมีพระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง เมื่อสร้างพระราชวังแห่งนี้เสร็จ พระองค์ได้พระราชทานนามว่า “พระราชวังสนามจันทร์” ค่ะ
พอมาถึงประตูทางเข้าพระราชวังสนามจันทร์จะมีห้องจำหน่ายบัตรเข้าชมภายในพระราชวังจะต้องเสียค่าบัตรเข้าชมในราคาเพียง 30 บาทเท่านั้น แต่หากต้องการเที่ยวชมเฉพาะด้านนอกบริเวณรอบ ๆ พระราชวังก็สามารถเดินหรือนั่งรถรางได้โดยไม่ต้องเสียค่าเข้าชม แต่เราขอแนะนำว่ามาเที่ยวชมพระราชวังทั้งทีน่าจะเที่ยวชมด้านในดีกว่าค่ะ ไหน ๆ ก็เดินทางมาถึงที่นี่แล้วนี่เนอะ ที่สำคัญเลยก็คือ ใครที่คิดจะมาเที่ยวชมที่นี่ต้องแต่งกายสุภาพนะคะ ห้ามสวมเสื้อแขนกุด สายเดี่ยว กระโปรงหรือกางเกงสั้นเหนือเข่าเด็ดขาด ส่วนคนที่สวมกางเกงขาสั้นหรือกระโปรงสั้นจะต้องซื้อผ้าถุงแบบป้ายของทางวังตัวละ 70 บาทใส่เข้าไปข้างในค่ะ
ตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้าไปภายในเขตพระราชวังก็สัมผัสได้ถึงบรรยากาศอันร่มรื่นเขียวจีของต้นไม้น้อยใหญ่นานาชนิดและดอกไม้นานาพันธุ์ที่ปลูกไว้ทั่วบริเวณ ทำให้เวลาเดินเที่ยวชมแล้วรู้สึกไม่ร้อนและเหนื่อยจนเกินไปนัก อีกทั้งประชาชนมักนิยมมาเดินหรือวิ่งออกกำลังกายทั้งในช่วงเช้าและช่วงเย็นค่ะ ซึ่งภายในพื้นที่พระราชวังสนามจันทร์ประกอบด้วยพระตำหนัก, พระที่นั่ง, และสิ่งอื่น ๆ ที่น่าสนใจหลายแห่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์, พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์, พระตำหนักทับขวัญ, พระตำหนักทับแก้ว, พระที่นั่งพิมานปฐม, พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี, พระที่นั่งวัชรีรมยา, พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์, เทวาลัยคเณศร์, พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงอนุสาวรีย์ย่าเหล นอกจากนั้นยังมีเรือนไม้สักที่เป็นเรือนพักของข้าราชบริพารและอาคารใช้สอยอื่น ๆ อย่างเช่น เรือนพระนนทิการ, เรือนพระนนทิเสน, ที่พักพระตำรวจหลวง, ที่พักราชองครักษ์ เป็นต้น
ก่อนที่เราจะเดินเข้าไปชมพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ก็จะมี “อนุสาวรีย์ย่าเหล” ตั้งอยู่ทางด้านหน้าอย่างโดดเด่นเป็นสง่า ซึ่งอนุสาวรีย์ย่าเหลเป็นอนุสาวรีย์หรือรูปปั้นที่หล่อด้วยโลหะทองแดงรมดำขนาดเท่าสุนัขจริง ถือได้ว่าเป็นอนุสาวรีย์สุนัขแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย โดยย่าเหลนั้นเป็นสุนัขทรงเลี้ยงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดปรานยิ่งนัก มีลักษณะเป็นสุนัขพันทาง ขนยาวปุกปุยสีขาวสลับน้ำตาลดำ หางเป็นพวง หูตก วันหนึ่งย่าเหลได้หนีเล็ดลอดออกไปนอกเขตพระราชฐานและถูกลอบยิงตาย ทำให้พระองค์ทรงโทมนัสเป็นอย่างมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานศพและสร้างอนุสาวรีย์ย่าเหลขึ้น พร้อมทั้งพระราชนิพนธ์คำไว้อาลัยจารึกไว้บนฐานที่ตั้งค่ะ
หลังจากแวะชมอนุสาวรีย์ย่าเหลแล้ว เราก็เดินไปชม “พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์” กันต่อค่ะ ซึ่งพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ถือเป็นไฮไลต์หรือจุดเด่นของพระราชวังสนามจันทร์ก็ว่าได้ เพราะเมื่อมองจากภายนอกจะมีลักษณะคล้ายปราสาทในนิทานหรือเทพนิยายกันเลยทีเดียว โดยพระตำหนักองค์นี้เป็นพระตำหนัก 2 ชั้น สร้างตามสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก คือแนวเรอเนซองส์ของฝรั่งเศสกับแบบฮาล์ฟทิมเบอร์ของอังกฤษผสมผสานกัน เพียงแต่ดัดแปลงหรือประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศในประเทศไทยที่ออกแบบโดยหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร สถาปนิกในสมัยนั้น ส่วนผนังด้านนอกทาด้วยสีไข่ไก่นวลตา หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีส้มแดง
เมื่อเข้ามาทางด้านในพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์จะต้องถอดรองเท้าและฝากสัมภาระไว้ที่ Locker ด้านหน้าทางเข้า และที่สำคัญห้ามถ่ายภาพภายในของพระตำหนักและพระที่นั่งทุกองค์ในพระราชวังแห่งนี้ ถ่ายได้แค่เฉพาะด้านนอกอาคารเท่านั้น เนื่องจากภายในนั้นเป็นห้องที่จำลองบรรยากาศในสมัยรัชกาลที่ 6 คือมีการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ รวมถึงชุดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่จัดแสดงในตู้กระจก ถือได้ว่าเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ด้านวัฒนธรรม ซึ่งพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ใช้สำหรับเป็นที่ประทับและที่บัญชาการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในระหว่างซ้อมรบเสือป่าหรือเวลาที่เสือป่าเข้าประจำกอง โดยชั้นล่างของพระตำหนักเป็นห้องรอเฝ้าฯ และเคยใช้เป็นสำนักงานชั่วคราวสำหรับออกหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตรายสัปดาห์ในสมัยนั้น ส่วนชั้นบนมีห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทม และห้องสรงค่ะ
หลังจากเดินชมภายในพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์จนทั่วแล้วก็เดินบนฉนวนทางเดินที่เป็นสะพานไม้ทอดยาวข้ามคลองด้านล่าง เพื่อไปชมภายใน “พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์” กันต่อค่ะ ซึ่งสะพานดังกล่าวนั้นมุงหลังคากันแดดด้วยกระเบื้องสีแดงและมีฝาผนังกั้นติดหน้าต่างกระจกทั้งสองฝั่งตลอดแนวความยาวของสะพาน โดยเชื่อมต่อระหว่างชั้นบนด้านหลังของพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์กับชั้นบนด้านหน้าของพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์
“พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์” เป็นพระตำหนัก 2 ชั้น ทาสีน้ำตาลแดง ที่สร้างด้วยไม้สักทองตามลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกของประเทศฝั่งตะวันตก แต่ได้ปรับปรุงองค์ประกอบบางส่วนให้เหมาะสมกับภูมิอากาศแบบเมืองร้อน ซึ่งพระตำหนักแห่งนี้สร้างคู่กับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เพียงแต่ขนาดเล็กกว่า โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงใช้สำหรับเสด็จออกให้ประชาชนเข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ ในปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ในการศึกษาพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านค่ะ
สำหรับคนที่มาเดินชมพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ก่อนพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ สามารถนำสัมภาระติดตัวไปได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะแจกถุงผ้าคนละใบสำหรับใส่รองเท้าและถือหิ้วไปขณะเดินชมพระตำหนัก เพื่อที่ว่าหากเราเดินลงอีกฝั่งหนึ่งจะได้ไม่ต้องเดินย้อนสะพานกลับมาอีก พอชมภายในพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์เสร็จแล้วก็เดินย้อนกลับไปรับรองเท้าและสัมภาระที่ฝากไว้ จากนั้นก็เดินไปชม “พระที่นั่งพิมานปฐม” ที่อยู่ถัดจากพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ทางฝั่งซ้ายค่ะ
“พระที่นั่งพิมานปฐม” เป็นพระที่นั่งองค์แรกของพระราชวังสนามจันทร์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2450 ซึ่งพระที่นั่งพิมานปฐมสร้างตามแบบตะวันตก คือเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ทาสีขาว-ทาสีเขียวเวอร์ริเดียนหรือสีเขียวน้ำทะเล ส่วนชายคา ช่องระบายลม กันสาด และลูกกรงระเบียงตกแต่งด้วยแผ่นไม้ฉลุลายตามแบบเรือนขนมปังขิงอย่างสวยงาม เมื่อมองจากภายนอกจะมีลักษณะสถาปัตยกรรมคล้ายกับพระราชวังพระจุฑาธุชราชฐานบนเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี โดยพระที่นั่งองค์นี้นอกจากจะใช้สำหรับเป็นสถานที่รับรองพระราชอาคันตุกะ, เสด็จฯ ออกว่าราชการแผ่นดิน และเสด็จฯ ออกให้ราษฎรเข้าเฝ้าฯ แล้ว ยังใช้เป็นที่ทรงพระอักษรเมื่อครั้งเสด็จมาประทับที่นี่อีกด้วยค่ะ
ก่อนเข้าไปชมภายในพระที่นั่งพิมานปฐมจะต้องถอดรองเท้าและฝากสัมภาระทั้งหมดไว้ในล็อกเกอร์ที่ด้านล่างบริเวณทางเข้า จากนั้นก็จะมีวิทยากรนำชมทั่วพระที่นั่งในแต่ละรอบเวลา รอบละไม่เกิน 20 นาที ซึ่งภายในพระที่นั่งประกอบด้วยห้องต่าง ๆ อยู่หลายห้องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นห้องบรรทม, ห้องสรง, ห้องบรรณาคม, ห้องภูษา และห้องเสวย เป็นต้น นอกจากนั้นยังมี “ห้องพระเจ้า” ที่สวยงามมาก ถือเป็นห้องพระประจำพระราชวังสนามจันทร์ โดยภายในห้องพระเจ้าจะเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาและมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธศาสนา ด้วยความที่การจัดแผนผังภูมิสถาปัตย์ของห้องพระเจ้าในพระที่นั่งพิมานปฐมมีความสำคัญและน่าสนใจ ดังนั้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงประกาศให้เป็นจุด UNSEEN ของจังหวัดนครปฐมกันเลยทีเดียว เนื่องจากสามารถมองเห็นองค์พระปฐมเจดีย์และเทวาลัยคเณศร์ อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันค่ะ
จากนั้นก็เดินต่อไปทางทิศใต้ของพระที่นั่งพิมานปฐม เพื่อไปชม “พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี” ที่เชื่อมอยู่ติดกันค่ะ ซึ่งพระที่นั่งอภิรมย์ฤดีเป็นพระที่นั่ง 2 ชั้นที่สร้างตามสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับพระที่นั่งพิมานปฐม เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า เดิมทีนั้นพระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน แต่ในปัจจุบันใช้สำหรับเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
เมื่อเดินขึ้นบันไดมาบนชั้น 2 ของพระที่นั่งพิมานปฐมก็จะมีทางเดินเชื่อมไปยัง “พระที่นั่งวัชรีรมยา” ที่สร้างตามลักษณะสถาปัตยกรรมไทยอย่างสวยงามค่ะ หากมองจากภายนอก ไม่ว่าใครที่เห็นต่างก็คิดว่าเป็นวัดกันทั้งนั้น เนื่องจากเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น หลังคาซ้อนกันเช่นยอดปราสาทและมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี อีกทั้งยังประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง และหางหงส์ ส่วนทิศใต้จะมีมุขเด็จและชาลายื่นออกไปจรดกับชาลาของพระที่นั่งพิมานปฐม ซึ่งพระที่นั่งองค์นี้ใช้สำหรับเป็นห้องบรรทม, ที่ทรงพระอักษร และประทับเป็นครั้งคราว ปัจจุบันนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของศาลากลางจังหวัดแล้วยังได้จำลองบรรยากาศห้องพระบรรทมและห้องทรงพระอักษรให้คล้ายคลึงกับในสมัยรัชกาลที่ 6 อีกด้วยค่ะ
หลังจากเดินชมพระที่นั่งวัชรีรมยาจนทั่วแล้วก็ชมพระที่นั่งแฝดที่อยู่ติดกันอย่าง “พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์” กันต่อค่ะ ซึ่งพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์เป็นพระที่นั่งทรงไทยแบบศาลาโถงใหญ่ชั้นเดียว มีหลังคาเชื่อมติดกับพระที่นั่งวัชรีรมยา โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระที่นั่งองค์นี้เป็นท้องพระโรงสำหรับประชุมหรือฝึกอบรมเสือป่า, เสด็จฯ ออกขุนนาง, ประกอบพิธีกรรมหรือใช้ในโอกาสสำคัญอื่นๆ อย่างงานสโมสรสันนิบาต และแสดงโขนละคร ทำให้ใคร ๆ ต่างพากันเรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า “โรงโขน” สำหรับการเข้าชมพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ไม่เปิดให้เข้าชมภายในนะคะ ชมได้เฉพาะด้านนอกเท่านั้น
หลังจากเดินชมพระที่นั่งพิมานปฐม, พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี, พระที่นั่งวัชรีรมยา และพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์กันไปแล้วก็เดินย้อนกลับมาชม “พระตำหนักทับขวัญ” ค่ะ ซึ่งพระตำหนักทับขวัญเป็นพระตำหนักแบบหมู่เรือนไทยเดิมและยกชั้นใต้ถุนต่ำที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมไทยภาคกลาง ประกอบด้วยเรือนไทยทั้งหมด 8 หลัง แบ่งเป็นเรือนไทยขนาดใหญ่ 4 หลังที่หันหน้าเข้าหากันตามทิศต่าง ๆ ส่วนบริเวณมุมทั้ง 4 เป็นเรือนไทยขนาดเล็ก 4 หลังเชื่อมต่อกัน ส่วนตรงกลางชานเรือนจะปลูกต้นไม้ไว้เพื่อให้ร่มเงา โดยพระตำหนักองค์นี้ใช้สำหรับเป็นฐานที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่ากองเสนาน้อยราบหนักรักษาพระองค์ค่ะ
พอชมพระตำหนักทับขวัญแล้วก็เดินข้ามสะพานที่ชื่อว่า “สพานสุนทรถวาย” (คำว่า “สพาน” ไม่มีสระอะ เนื่องจากเป็นภาษาเขียนในสมัยก่อน) เพื่อไปชม “พระตำหนักทับแก้ว” ค่ะ ซึ่งพระตำหนักทับแก้วเป็นอาคารสีขาว 2 ชั้นขนาดกะทัดรัดที่มีบันไดทางขึ้นอยู่นอกตัวอาคาร และล้อมรอบด้วยต้นไม้ใหญ่ ส่วนด้านบนมีระเบียงกว้างขวาง และห้องกลางชั้นบนประดับภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 5 ที่เขียนด้วยดินสอดำบนแผ่นหินอ่อนไว้เหนือเตาผิง โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงใช้พระตำหนักองค์นี้เป็นที่ประทับในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากมีเตาผิงและปล่องไฟตามแบบของบ้านชาวตะวันตก เพื่อให้ความอบอุ่น ปัจจุบันพระตำหนักทับแก้วใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงหรือพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยามค่ะ
หลังจากชมพระตำหนักและพระที่นั่งจนครบเกือบทุกองค์ในพระราชวังสนามจันทร์แล้วก็แวะมาที่ตรงกลางสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งพิมานปฐม เพื่อแวะชม “เทวาลัยคเณศร์” ค่ะ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาลเทพารักษ์ประจำพระราชวังสนามจันทร์ ถือได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนในบริเวณนั้นต่างพากันนับถือและนิยมเดินทางมากราบไหว้ขอพรให้เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยเทวาลัยคเณศร์เป็นศาลเปิดโล่งเหมือนซุ้ม 2 ชั้น คือมีลักษณะเป็นแท่นคอนกรีตฐานสูง ด้านบนทำเป็นซุ้มหลังคาโค้ง ใช้สำหรับเป็นที่ประดิษฐานของพระคเณศร์ หรือพระพิฆเนศ ส่วนบริเวณรอบ ๆ ศาลทั้งทางด้านหลังและสองฝั่งหนาแน่นไปด้วยดอกไม้สีสันสวยงามและต้นไม้ใหญ่ขึ้นเรียงรายอยู่หนาทึบ ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ที่สำคัญไปกว่านั้นตำแหน่งที่ตั้งของเทวาลัยคเณศร์ยังอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกับองค์พระปฐมเจดีย์อีกด้วย หากกราบไหว้องค์พระพิฆเนศแล้วก็เหมือนกับว่าได้กราบไหว้องค์พระปฐมเจดีย์ไปในตัวค่ะ
ส่วนองค์พระพิฆเนศที่ประดิษฐานอยู่ในเทวาลัยคเณศร์นั้นหล่อด้วยสำริดองค์สีดำ มี 2 พระกรทรงบ่วงบาศ สวมเทริดหรือชฎาทรงเตี้ย ประทับในท่านั่งสมาธิราบ ซึ่งองค์พระพิฆเนศถือได้ว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จและศิลปวิทยาการทุกแขนง นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยศิลปากรยังนำองค์พระพิฆเนศมาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย ด้วยความที่เราศรัทธานับถือองค์พระพิฆเนศเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงเข้าไปกราบไหว้ขอพรท่านค่ะ
เดินต่อมาอีกไม่ไกลก็ถึง “พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6” ค่ะ ซึ่งพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นพระบรมรูปหล่อขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริงในพระอิริยาบถประทับนั่งบนเก้าอี้สนาม พระหัตถ์ขวาทรงปากกา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายทรงสมุดสำหรับจดบันทึกการซ้อมรบเสือป่า ฉลองพระองค์เสือป่าราบหลวงอย่างเก่าแบบทรงม้า ด้วยฝีมือการออกแบบและปั้นหล่อของช่างจากกรมศิลปากร โดยชาวนครปฐมต่างพร้อมใจกันจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน
หลังจากเราเดินชมพระตำหนัก, พระที่นั่ง และสถานที่สำคัญ ๆ ภายในพระราชวังสนามจันทร์อย่างเทวาลัยคเณศร์ กับพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จนครบเกือบทุกแห่งแล้วก็เดินชมเรือนไม้สักที่เป็นเรือนพักของข้าราชบริพาร แต่ด้วยความที่พระราชวังแห่งนี้มีพื้นที่กว้างขวางมากถึง 888 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา เราจึงได้แต่เดินชมแค่เฉพาะบางแห่งเท่านั้นค่ะ ซึ่งเรือนไม้สักที่เราเดินไปชมนั้นก็มี...
“เรือนพระนนทิการ” เรือนไม้สักหลังใหญ่ที่ทาตัวเรือนด้วยสีเหลืองและตัดกรอบด้วยสีน้ำตาล ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง
เรือนพระนนทิเสน
ที่พักพระตำรวจหลวง
ที่พักราชองครักษ์
ส่วนโรงรถที่อยู่ทางด้านหลังพระที่นั่งวัชรีรมยา, ศาลาท่าน้ำ และเรือนไม้สักกับอาคารใช้สอยอื่น ๆ เราไม่ได้เดินเข้าไปชม เสียดายมากจริง ๆ หากมีโอกาสไปเที่ยวชมพระราชวังสนามจันทร์อีก จะเดินชมให้ทั่วเลยค่ะ สำหรับใครที่มีเวลาว่างมาก ๆ ลองแวะเข้ามาชมพระราชวังโบราณสวย ๆ ใกล้กรุงเทพฯ อย่าง “พระราชวังสนามจันทร์” ที่จังหวัดนครปฐมกันนะคะ รับรองว่าเดินเที่ยวชมเพลินจนลืมเวลาอย่างแน่นอน 😊😊😊
📍 ปักหมุดได้ที่: ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000
🚘 GPS: https://goo.gl/maps/XvmQZ8qYYzshB99F7
✉ Email: [email protected]
📞 โทร: 03-424-4236-9
💸 เสียค่าเข้าชม:
- คนไทย >> เด็ก, นักเรียน - นักศึกษา ราคา 10 บาท / ผู้ใหญ่ ราคา 30 บาท
- ชาวต่างชาติ >> ราคา 50 บาท
ค่าเข้าชมนี้สำหรับคนที่ต้องการเข้าชมภายในพระตำหนักและพระที่นั่ง หากชมแค่เฉพาะด้านนอก ไม่ต้องเสียค่าเข้าชมค่ะ
⏰ เปิด: ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 15.30 น.) หยุดวันนักขัตฤกษ์ และวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เนื่องในวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า
🚗 เดินทางโดยรถยนต์: จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 4 ถึงจังหวัดนครปฐม แยกขวาเข้าพระราชวังสนามจันทร์ / ใช้เส้นทางถนนสาย 4 ถนนเพชรเกษม ที่มุ่งหน้าไปนครปฐม เมื่อถึงพระปฐมเจดีย์ให้เลี้ยวซ้ายและไปเลี้ยวขวาอีกครั้งบริเวณสี่แยกไฟแดง ขับตรงไปและไปเลี้ยวขวาอีกครั้ง ใช้เส้นทางเดียวกับไปมหาวิทยาลัยศิลปากรขับรถไปจนสุดซอยก็จะเจอกับพระราชวังสนามจันทร์ ทางซ้ายมือของทางเข้าจะเป็นที่จอดรถ จอดได้หลายคัน จอดฟรี ไม่เสียค่าจอด
🚌 เดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ: จากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ นั่งรถสายกรุงเทพฯ - สุพรรณบุรี (รถปรับอากาศชั้น 2 สายเก่า) / รถปรับอากาศชั้น 2 กรุงเทพฯ - ดำเนินสะดวก (สาย 78 รถน้ำเงินคาดส้ม) ซึ่งเป็นรถที่วิ่งผ่านพระราชวังสนามจันทร์ ใช้เวลา 1 ชั่วโมง / กรุงเทพ-ราชบุรี (รถปรับอากาศชั้น 2) / กรุงเทพ-กาญจนบุรี (รถปรับอากาศชั้น 2) ไปลงที่มหาวิทยาลัยศิลปากร (นครปฐม) จากนั้นเดินเท้าประมาณ 400 เมตร จะถึงพระราชวังสนามจันทร์
🚐 เดินทางโดยรถตู้โดยสาร: นั่งรถตู้ไปทับแก้ว (มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์) จากปิ่นเกล้า คิวรถตู้จอดอยู่ในซอยข้างศาลพระพรหมตรงเซ็นทรัลปิ่นเกล้า เมื่อเดินเข้าไปในซอย ข้ามสะพานข้ามคลอง คิวรถตู้จะอยู่ฝั่งซ้ายมือ ให้ลงตรงแยกสนามจันทร์และข้ามถนนมาฝั่งที่ไปมหาวิทยาลัยศิลปากร เดินตรงเข้าถนนราชมรรคาในสักประมาณ 200 เมตร ก็จะถึงจุดขายตั๋วเข้าชมค่ะ
🚆 เดินทางโดยรถไฟ: สามารถนั่งรถไฟจากสถานีบางกอกน้อย - สถานีนครปฐม
Windy_love_Travel หญิงสาวผู้รักการท่องเที่ยว
วันพฤหัสที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 18.52 น.