วัดร้าง - โบราณสถานต่างๆ ที่มีเรื่องเล่าตามพงศาวดาร ในเมืองอยุธยา มาติดตามกันค่ะ
เที่ยวอยุธยาส่วนใหญ่นึกถึงวัด แต่วัดมีเป็นร้อย วัดดังๆ ที่ไปกันก็จะนึกถึงวัดพนัญเชิง วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดใหญ่ชัยมงคล วัดไชยวัฒนาราม และวัดมหาธาตุ เป็นต้น
วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จัก วัด - โบราณสถานต่างๆ ที่มีเรื่องเล่าจากบันทึกในพงศาวดาร
ซึ่งแต่ละสถานที่ก็จะมีความเกี่ยวพันกับบันทึกในพงศาวดารหลายฉบับของอยุธยา
1. วัดกระซ้าย วัดนี้เรารู้จักจากพี่ท่านนึงที่ได้เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์คร่าวๆ ให้ฟังก่อนไป ส่วนตัวเราช่วงในวันที่ไปถึง ระหว่างเดินชมรอบๆ ก็รู้สึกวังเวงๆ เพราะวัดนี้แทบไม่เห็นผู้คนมากันเท่าไรเลยค่ะ
แต่ยังพอมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ระแวกแถวนั้น ตั้งร้านค้าขายของหน้าวัด และในวันนั้น ช่วงจังหวะ ที่เราจะถ่ายรูปกล้องไม่โฟกัสเลยค่ะ จุดโฟกัสเคลื่อนย้ายไปมา จนเพื่อนบอกว่า "ขอหรือยัง" สายตาเรานี่เลิ่กลั่กๆ แต่ความจริงก็คงไม่เกี่ยวอะไรหรอก (มั้ง)คะ
พอเดินไปตรงด้านหน้าเราก็เจอศาลเล็กๆ ข้างๆ ใต้ต้นไม้ แต่พอเราจะเดินเข้าไปดูใกล้ๆ เพื่อนก็เรียกให้ไปอีกทาง เราก็พยายามบอกว่า มาทางนี้ก่อน
จนสุดท้ายเราก็เชื่อเพื่อนอ่ะค่ะ ก็เดินตามเพื่อนไปอีกทาง แล้วก็ไม่ได้เดินไปดูบริเวณศาลนั้นเลยค่ะ
จากที่ได้ค้นหาข้อมูลแหล่งข่าวอัมรินทร์ : https://www.amarintv.com/news/detail/24203
ชาวบ้านเชื่อว่าวัดกระซ้ายเฮี้ยน มีอาถรรพ์ตัวตายตัวแทน หลังมีหนุ่มวัย 27 ปี ผูกคอตายใต้ต้นไม้ เมื่อปี 2563
วัดกระซ้าย บ้างก็เรียก วัดกะชาย วัดกระช้าย หรือ วัดเจ้าชาย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา บริเวณทุ่งปากกราน ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เป็นวัดร้างที่ยังไม้ได้มีการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน อยู่บนกลางทุ่งนา สันนิษฐานว่าสมัยก่อนมีคูน้ำล้อมรอบบริเวณวัด ปัจจุบันคูน้ำได้เปลี่ยนสภาพเป็นทุ่งนาไปหมดแล้ว เมื่อถึงฤดูทำนาจะมีน้ำเจิ่งนองล้อมรอบวัดและมีความลึกพอสมควร
วัดนี้ยังปรากฏในพงศาวดารในแผ่นดินพระนารายณ์ ที่ใช้สถานที่แห่งนี้สังหารพระศรีศิลป์ พระราชนัดดาของพระองค์เอง ที่คิดลอบปลงพระชนม์พระองค์ถึง 2 ครา วัดนี้เป็นหนึ่งในสามวัดที่ใช้ในการสวดคุ้มครองอาณาจักร ประกอบด้วยวัดวรเชษฐ์ วัดลอดช่อง(มหาเถรคันฉ่อง) วัดเจ้าชาย ซึ่งสามวัดตั้งในตำแหน่งเป็นรูปสามเหลี่ยม เมื่อสวดมนตร์จากทั้งสามที่พร้อมกันจะเกิดพลังครอบคุมเมืองให้แคล้วคลาดปลอดภัย (เป็นความเชื่อส่วนบุคคล) ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 แถบวัดเจ้าชาย วัดเต่า วัดสุเรนทร์ เป็นที่ตั้งทัพของพม่า ในการโจมตีพระนครด้วย
อ้างอิงข้อมูล : https://go.ayutthaya.go.th/
2. วัดเจ้าย่า ก่อนที่เราจะมาถึงวัดเจ้าย่า ด้วยความที่ตั้งใจจะมุ่งหน้าไป “วัดแร้ง“ แต่แล้วขับวนไปๆวนมา ก็หาไม่เจอ จนแล้วมาจอดรถข้างทางเพื่อปักมุด GPS ใหม่ สายตาก็เหลือบไปมองเห็นป้าย “วัดเจ้าย่า”
ใช่เลยค่ะ วัดนี้แหละ ที่อยู่ในรายชื่อที่จะมาในวันนี้ งั้นเรา....แวะไปดูภายในวัดกันค่ะ
หลังจากที่ลงจากรถ ก็มีผู้ชายมายืนถ่ายรูปอยู่ข้างๆ (ในใจแอบสงสัยว่ามีคนมาที่เดียวกันกะเราด้วยหรอ)
จึงได้สอบถามไปว่าที่นี่ใช่วัดเจ้าย่ามั้ยคะ และจากนั้นก็ได้เล่าให้พี่เค้าฟังว่า พวกเราหาวัดแร้งไม่เจอค่ะ
ซึ่งพี่ก็บอกว่าเดี๋ยวพาไป ระหว่างนั้นก็สนทนากันไปเรื่อยค่ะ และทราบว่าพี่เค้าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปกร ซึ่งเป็นความโชคดีของเรามากๆ ค่ะ
วัดเจ้าย่า โบราณสถานประเภทวัดร้างที่ตั้งอยู่บริเวณปากคลองสระบัวตัดคลองบางปลาหมอ ตำบลคลองสระบัว อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ติดกับวัดแร้ง
ซึ่งอยู่นอกเกาะเมือง ห่างจากหน้าวัดพระเมรุไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 1 กิโลเมตรเศษ ตามเส้นทางที่จะไปเพนียดคล้องช้าง
ถนนที่ตัดผ่านวัดเจ้าย่านี้ได้ตัดผ่านกลางวัดทำให้วัดในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง
ฝั่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเป็นเขตพุทธาวาส และฝั่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก ซึ่งติดกับคลองสระบัว เป็นเขตสังฆาวาส ก่อนการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานในปีพุทธศักราช 2542 บริเวณวัดยังเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนราษฎรและเป็นพื้นที่เพาะปลูกของราษฎรทั้ง 2 ฝั่ง
จนกระทั่งกรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งและปรับปรุงสภาพแวดล้อมโบราณสถานกลุ่มคลองสระบัว บ้านเรือนราษฎรจึงได้ย้ายออกไป
สภาพวัดเจ้าย่าก่อนการขุดแต่งนั้นอยู่ในสภาพหักพังมาก ทั้งนี้เกิดจากการเสื่อมสภาพของวัตถุและการลักลอบขุดรื้อทำลาย บริเวณฝั่งตะวันออก ประกอบด้วยซากโบราณสถาน ได้แก่ วิหาร เจดีย์ อาคารขนาดเล็ก เจดีย์ราย และศาลาราย บริเวณดังกล่าวล้อมรอบด้วยกำแพงรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า สันนิษฐานว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นเขตพุทธาวาส และมีคูน้ำล้อมรอบ ส่วนฝั่งตะวันตก มีซากโบราณสถานเป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐสอปูน หอระฆัง อาคารขนาดเล็ก ขอบทางเดินและแนวกำแพงวัด
หลังจากเดินชมบริเวณรอบๆวัดเจ้าย่าแล้ว พี่เจ้าหน้าที่กรมศิลปกรก็นำทางเราไปยัง ”วัดแร้ง”
เมื่อหลายปีก่อนตามที่พี่อีกท่านนึงได้เล่าให้ฟังไว้ว่า สมัยนั้นจะต้องเดินบุกป่าเข้าไป ปัจจุบันวัดนี้อยู่ในเขตบริเวณพื่นที่บ้านพักอาศัยที่มีรั้วบ้านปิดกั้นทางเข้า-ออกแล้ว และก็ไม่แปลกหรอกค่ะ ที่เราวนรถหากันเท่าไรก็ไม่เจอ
โชคดีที่เราได้เจอ พี่เจ้าหน้าที่กรมศิลปกรท่านนี้ ระหว่างที่เดินเข้าไปภายในรั้วบ้าน ก็ต้องขออนุญาตเจ้าของบ้านก่อนนะคะ ส่วนตัวเราพูดตามตรงเลยนะคะ เราไม่กล้าถ่ายรูปเก็บมาให้ชมกันเท่าไรหรอกค่ะ จากที่ได้ฟังประวัติที่เล่ากันต่อๆมา
3 วัดแร้ง โบราณสถานประเภทวัดร้างที่ตั้งอยู่ หมู่ที่ 2 ตำบลคลองสระบัว อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยติดกับ วัดเจ้าย่า และอยู่ใกล้กับ วัดหน้าพระเมรุ
ปัจจุบันวัดแร้ง ไม่เหลือสภาพความเป็นวัดให้เห็นแล้ว และจากที่สังเกตจุดบริเวณวัดนั้น จากที่เจ้าหน้าที่ได้เล่าให้ฟังว่าเคยมีบ้านคนปลูกอยู่บนเนินนั้น แต่ได้ทิ้งร้างไปแล้ว คาดว่าเป็นการบุกรุก
วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดเดียวกันกับ
วัดที่ขุนพิเรนทรเทพกับพวกนำศพของขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์มาเสียบประจานไว้
โดยในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้
ปัจจุบันวัดแร้งได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดย กรมศิลปากร
อ้างอิงข้อมูล : https://th.wikipedia.org/wiki/วัดแร้ง
4. วัดโคกพระยา สถานที่สำเร็จโทษประหารชีวิตพระเจ้าแผ่นดิน-เชื้อพระวงศ์
วัดโคกพระยา ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองศรีอยุธยา ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดหน้าพระเมรุ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นหรือก่อนหน้านั้น เพราะปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า ในปี พ.ศ. 1925 สมเด็จพระราเมศวรพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งถูกส่งไปครองเมืองลพบุรี ได้เสด็จยกกองทัพมาทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากสมเด็จพระเจ้าทองลัน
ซึ่งขึ้นครองราชย์ได้เพียง 7 วัน และเมื่อก่อการสำเร็จแล้ว ก็โปรดให้นำสมเด็จพระเจ้าทองลันไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยาและนับเป็นกษัตริย์องค์แรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกลงโทษโดยท่อนจันทน์ตามราชประเพณี
อ้างอิงข้อมูล : https://www.silpa-mag.com/history/article_4522
5. วัดตะไกร สถานที่ปลงศพนางวันทอง ในวรรณคดี เรื่องขุนช้างขุนแผน
วัดตะไกร ถือเป็นวัดร้างที่มีประวัติน่าสนใจ แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานเอกสารอ้างอิง ว่าวัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยไหนอย่างไร แต่เนื่องจากวัดนี้มีชื่อปรากฏ ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน และมีการอ้างอิงว่าเป็นสถานที่ปลงศพนางวันทอง
วัดตะไกร ยังมีชื่อในหมู่คนเล่นพระเครื่อง เพราะมีการค้นพบพระเครื่องเนื้อดิน ในช่วงปี 2470 ไม่ว่าจะเป็น พระพิมพ์หลวงพ่อโต พิมพ์หน้าครุฑ หน้าฤาษี เป็นต้น
6. วัดหัสดาวาส เป็นวัดที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับวัดหน้าพระเมรุ ในฐานะที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงใช้เป็นสถานที่เจรจาสงบศึกกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเมื่อ พ.ศ. 2092
หลังจากนั้นมีเรื่องราวปรากฏในพงศาวดารอีกว่า ใน พ.ศ. 2303 ทัพพม่าที่เข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาได้ตั้งปืนใหญ่ยิงพระราชวังที่วัดพระเมรุราชิการาม และวัดท่าช้าง วัดท่าช้างที่กล่าวถึงนี้ คงจะได้แก่ วัดหัสดาวาสนั่นเอง เพราะเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในบริเวณต่อเนื่องกับวัดหน้าพระเมรุ และยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดช้าง
ระหว่างนั้นออกจากวัดหัสดาวาส ตามแผนคือจะไปวัด วัดพระงาม (ประตูแห่งกาลเวลา) ก็ขับผ่านวัดครุฑาราม ทำไมถึงบอกว่าผ่าน ก็เพราะวัดนี้ปิด เวลา 15.00 น. ซึ่งณ เวลานั้น 15.30 น. จึงต้องผ่านไปค่ะ
หลงผ่านมาเจอวัดเจ้าย่ากันอีกแล้วค่ะ.....แล้วต่างก็มองหน้ากัน
อ้าว! ....นี่เส้นทางไม่ไกลกันเลยนิ
เราก็วนอ้อมกันอยู่แถวนี้นี่เองหรอกหรอ 555
แล้วก็ขับผานหน้าวัดศรีโพธิ์ จำได้ว่า พี่เจ้าหน้าที่มีแนะนำไว้ด้วย จึงได้แวะลงไปกราบไหว้ขอพรองค์ท้าวเวศสุวรรณ ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวกันในจังหวัดอยุธยา ก็ต้องผ่านวัดศรีโพธิ์กันแน่ค่ะ
7. วัดศรีโพธิ์ เมื่อครั้งก่อนนั้นเรียกทุ่งศรีโพธิ์ พอสร้างวัดแล้วจึงตั้งชื่อว่า “วัดศรีโพธิ์”
บริเวณทุ่งศรีโพธิ์ในปี พ.ศ. 2310 กองทัพพม่าตั้งกองกำลังอยู่แนวทางหน้าวัดพระเมรุฯ แล้วสู้รบกับกองกำลังกรุงศรีอยุธยาก็เลยทำให้พระสงฆ์และชาวบ้านหนีภัยสงครามกันหมด วัดศรีโพธิ์กลายเป็นวัดร้าง หลังสงครามสงบ ได้บูรณะวัดศรีโพธิ์ขึ้นมาใหม่
วัดศรีโพธิ์ ได้มีการสันนิฐานว่าสร้างขึ้นมาสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา
ออกจากวัดศรีโพธิ์มุ่งหน้า ผ่านวัดท่าการ้อง ข้ามออกจนมาเจอวัดพระงามแล้วค่ะ แต่หาประตูกาลเวลาไม่เจอ
จึงได้สอบถามพระท่านหนึ่งที่อยู่ภายในวัด ท่านได้ตอบกลับมาว่า ไม่ใช่วัดนี้ จะมีอีกวัดนึงชื่อเหมือนกัน
ซึ่งพวกเราเข้าใจอะไรผิดกันแน่ๆ และเข้าใจใหม่ว่า เวลาค้นหาจาก GPS ต้อง พิมพ์ว่าวัดพระงาม "ประตูแห่งกาลเวลา" นะคะ (สรุปพวกเราก็หลงทางกันอีกแล้วค่ะ 555)
ซึ่งก็ย้อนกลับมาทางเดิมผ่านวัดศรีโพธิ์ ก็ต่างร้อง อ้าวววว......นี่ถ้าออกจากวัดศรีโพธิ์ ไปอีกไม่ไกลก็เจอวัดพระงาม "ประตูแห่งกาลเวลา" แล้วล่ะ (แอบขำตัวเอง)
ระหว่างทางก่อนถึง ก็ได้เจอวัด "แม่นางปลื้ม" ซึ่งพี่ท่านนึงก็ได้แนะนำมาอีกเช่นกันค่ะ ว่าเพื่อนเค้ามาแล้วขอพรกลับบ้านไปถูกหวยรางวัลใหญ่ด้วยค่ะ เราก็จอดรถลงไปกราบไหว้พระพร้อมกับถวายสังฆทานกันค่ะ
8. วัดแม่นางปลิ้ม ข้ามเวลาผ่านประตูมิติเข้ามาชมความงดงาม และประติมากรรมภายในวัดที่หลายคนอาจยังไม่เคยได้มาสัมผัสความร่มรื่น และความงดงามของวัดแห่งนี้ หากท่านใดมีโอกาสก็อย่าลืมแวะมาเที่ยวชม ณ วัดแห่งนี้นะคะ
แม่ปลื้มเป็นชาวบ้านอยู่ริมน้ำชานพระนครคนเดียว ไม่มีลูกหลาน วันหนึ่งสมเด็จพระนเรศวร(ทรง)พายเรือมาแต่พระองค์เดียว ท่ามกลางสายฝนเมื่อเสด็จมาถึงเห็น(ทอดพระเนตร) กระท่อมยังมีแสงตะเกียงอยู่ เวลานั้นค่ำอยู่ สมเด็จพระนเรศวรจึงได้(ทรง)แวะขึ้นมาในกระท่อมแม่นางปลื้มเห็น ชายฉกรรจ์เสื้อผ้าเปียกขึ้นมา จึงได้กล่าวเชื้อเชิญด้วยความมีน้ำใจ แต่พระองค์ท่านทรงเสียงดังตามบุคลิกของนักรบชายชาตรี แม่ปลื้มได้กล่าวเตือนว่า ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าเสียงดังนักเลย เวลานี้ค่ำมากแล้วเดี๋ยวพระเจ้าแผ่นดินท่านทรงได้ยินจะโกรธเอาพระองค์กลับตรัสด้วยเสียงอันดังขึ้นอีกว่า ข้าอยากดื่มน้ำจันทน์ ข้าเปียกข้าหนาว อยากไดน้ำจันทน์ให้ร่างกานอบอุ่นพลันแม่ปลื้มยิงตกใจขึ้นมากอีก เพราะว่าวันนี้เป็นวันพระ แม่ปลื้มได้กล่าวว่า ถ้าจะดื่มจริงๆ เจ้าต้องสัญญาว่า ไม่ให้เรื่องแพร่หลายเดี๋ยวพระเจ้า แผ่นดินรู้ จะอันตราย พระนเรศวรรับปาก แม่ปลื้มจึงหยิบน้ำจันทน์ให้กิน(เสวย) สมเด็จพระนเรศวรได้ประทับค้างคืนที่บ้านของแม่ปลื้มเช้าได้เสด็จกลับวัง
ต่อมาได้จัดขบวนมารับแม่ปลื้มไปเลี้ยงในวัง ด้วยความที่แม่ปลื้มเป็นคนมีเมตตา จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ หลังจากแม่ปลื้มเสียชีวิต สมเด็จพระนเรศวรจัดงานศพให้สมเกียรติ แล้วสมเด็จพระนเรศวรจึงสร้างวัดให้แม่ปลื้ม นามว่า “วัดแม่นางปลื้ม” พระประทานของที่นี่ คือ หลวงพ่อขาว ซึ่งสวยงามมาก
อ้างอิงข้อมูล : https://ww2.ayutthaya.go.th/frontpage
9. วัดพระงาม ประตูแห่งกาลเวลา โบราณสถาน วัดเก่า วัดร้าง ตั้งอยู่ท่ามกลางบ้านเรือนผู้คน
ลักษณะจุดเด่น เป็นซุ้มประตูถูกโอบล้อมเต็มไปด้วยรากของต้นใหญ่ เลื้อยพันปกคลุมอยู่รอบซุ้มประตู บรรยากาศช่างงดงาม เมื่อยาม แสงอาทิตย์สาดส่องลอดผ่านประตู ราวกับอยู่อีกมิติเลยค่ะ หากมาช่วงเวลาเย็นพลบค่ำ ประมาณ 17.00 น.เป็นต้นไป หรือช่วงเช้าตรู่หลังพระอาทิตย์ขึ้น ก็จะได้แสงส่องสวยกำลังดีค่ะ
เมื่อเดินลอดผ่านประตูเข้าไปภายในบริเวณวัดจะพบกันเจดีย์แปดเหลี่ยม ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา พระอุโบสถและหลวงพ่อวัดพระงามให้กราบสักการะ โดยดอกไม้บูชาพระของที่นี่จะจัดเป็นช่อขนาดประมาณฝ่ามือ ใช้ดอกไม้สดดูสดชื่นสวยงาม สามารถบูชาได้ตามกำลังศรัทธา
10. วัดบรมพุทธาราม อยุธยา วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2231-2246 ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา กษัตริย์อยุธยาองค์ที่ 28 แห่งราชวงค์บ้านพลูหลวงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในบริเวณย่านป่าตองอันเป็นนิวาสสถาน (บ้าน) เดิมเมื่อครั้งยังรับราชการกรมช้าง ก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชย์
จุดเที่ยวชมโบราณสถาน วัดบรมพุทธาราม และสะพานบ้านดินสอ
จุดที่ 1 สะพานบ้านดินสอ
จุดที่ 2 ก่อนเข้าพระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม
จุดที่ 3 ภายในพระอุโบสถ
เพื่อนคงได้เห็นความสวยของวัดที่เราได้ไปมากันแล้วใช่ไหมล่ะคะ ถึงแม้จะเป็นวัดร้าง แต่ก็มีความสวย ความขลัง ไม่ต่างกันกับวัดใหญ่ๆ เลยใช่ไหมละคะ และยังได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ด้วยน๊า
หากมีข้อมูลผิดพลาดประการใดต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ ด้วยค่ะ ทางเราได้เดินทางไปเพื่อต้องการชมและศึกษาเพื่อจะได้รู้จักวัด - โบราณสถานต่าง แต่ความรู้นั้นมีน้อย เราจึงศึกษาหาข้อมูลอ้างอิงจากทางเว็บไซต์ค่ะ
และเพียงต้องการนำมาเล่าเรื่องราวที่ไปมาทั้งหมด ให้กับเพื่อนพร้อมกับแนะนำแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ให้ทุกคนตามรอยกันค่ะ
หากเพื่อนสนใจ ลองกันไปชมกันนะคะ ไม่ไกลจากกรุงเทพค่ะ อยุธยายังมีอีกหลายร้อยแห่งให้เราได้ศึกษากันอีกเพียบค่ะ
ครั้งหนึ่ง
วันพฤหัสที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2565 เวลา 16.51 น.