หากพูดถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่มักคุ้นเคยและเดินทางผ่านบริเวณนี้เป็นประจำทุกวัน เพราะถือเป็นใจกลางกรุงเทพฯ ที่นอกจากจะมีรถสาธารณะและเส้นทางคมนาคมให้เดินทางได้อย่างสะดวกแล้ว ยังมีทั้งโรงพยาบาล, ห้างสรรพสินค้า, โรงภาพยนตร์ และสถานที่เที่ยวอื่น ๆ มากมายอีกด้วย แต่ใครจะไปคิดว่าใจกลางกรุงเทพฯ ยังมีพระราชวังแห่งหนึ่งซ่อนอยู่นั่นก็คือ “พระราชวังพญาไท” วันนี้เราเลยจะพาไปเดินชมบรรยากาศภายในพระราชวังแห่งนี้กันว่ามีสิ่งที่น่าสนใจอะไรกันบ้างค่ะ ^^

“พระราชวังพญาไท” ตั้งอยู่ติดกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ สามารถเดินทางมาเที่ยวชมได้ทั้งรถยนต์ส่วนตัว, รถเมล์ และรถไฟฟ้า BTS แต่หากมาเที่ยวชมโดยรถไฟฟ้า BTS จะสะดวกสุด โดยนั่งรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิทมาลงที่สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ออกทางออกที่ 3 (ลงฝั่งโรงพยาบาลราชวิถี) เดินต่อไปทางถนนราชวิถี ข้ามสะพานลอยไปฝั่งตรงข้ามแล้วเดินตรงมาเรื่อย ๆ จนถึงโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พระราชวังพญาไทจะอยู่ภายในบริเวณรั้วโรงพยาบาลเลย สำหรับใครที่ต้องการมาเที่ยวชมภายในพระราชวังพญาไทจะต้องแต่งกายสุภาพและเข้าชมได้เฉพาะวันเสาร์กับวันอาทิตย์ตามรอบเวลาเท่านั้น ซึ่งรอบเวลาเข้าชมมีแค่สองรอบคือรอบเช้าเวลา 09.30 น. รอบบ่ายเวลา 13.30 น. แต่ถ้าชมบริเวณรอบ ๆ แค่ด้านนอกมีเปิดให้ชมตลอดค่ะ

ต้องบอกก่อนเลยว่าเรามาเที่ยวชมพระราชวังพญาไทมา 3 ครั้งแล้ว ซึ่งครั้งล่าสุดคือช่วงสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง เสียค่าเข้าชม 40 บาท เนื่องจากเราตั้งใจมาเพื่อถ่ายภาพสวย ๆ เก็บรายละเอียดให้ครบมาทำบทความเชิญชวนให้เพื่อน ๆ มาเที่ยวชมที่นี่โดยเฉพาะเลย ส่วนครั้งก่อนหน้านี้คือมาเที่ยวชมในปี พ.ศ.2557 กับ พ.ศ.2562 ไม่ได้เสียค่าเข้าชม แต่สามารถบริจาคเงินเพื่อบำรุงสถานที่ตามกำลังทรัพย์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นไปมีการเก็บค่าเข้าชม เพราะค่าบูรณะมีราคาแพงมากและต้องนำเงินจ่ายค่าวิทยากรนำเข้าชมด้วย โดยค่าเข้าชมนั้นจะมีราคาต่างกันไปคือ ผู้ใหญ่ราคา 40 บาท/คน, ผู้สูงอายุ ราคา 20 บาท/คน และเด็กอายุ 10 - 14 ปีราคา 10 บาท/คน ส่วนพระสงฆ์กับนักเรียน/นักศึกษาในเครื่องแบบเข้าชมฟรีค่ะ

“พระราชวังพญาไท” เป็นพระราชวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2451 เพื่อใช้สำหรับเป็นสถานที่ทอดพระเนตรการทำเกษตรกรรม (การทำนา, ปลูกผัก) ที่ “นาหลวงคลองพญาไท” โดยสร้างพระตำหนักพญาไทเป็นองค์แรก แล้วภายหลังจึงสร้างพระตำหนักกับพระที่นั่งเพิ่มอีกหลายองค์ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้สร้างพระตำหนักและสถานที่ต่าง ๆ เพิ่มเติมสำหรับเป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับอีกแห่งหนึ่งและสถาปนา “วังพญาไท” ให้เป็น “พระราชวังพญาไท” แต่เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พระราชทานบางส่วนของพระราชวังพญาไทให้แก่กรมรถไฟหลวงด้วยการปรับปรุงให้เป็นโรงแรมชั้นหนึ่งชื่อว่า “โรงแรมพญาไทพาเลซ (Phya Thai Palace Hotel)” เพื่อใช้เป็นที่พักของแขกบ้านแขกเมืองจากต่างประเทศ ทำได้ไม่นานก็ยกเลิกเนื่องจากประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก พอภายหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทางราชการใช้พระราชวังแห่งนี้เป็นที่ทำการของกองเสนารักษ์ จนสุดท้ายกลายเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ กับเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนได้เข้าชมกันอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนภายในพระราชวังพญาไทประกอบไปด้วย 5 พระที่นั่ง, 1 พระตำหนัก ได้แก่ พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน, พระที่นั่งพิมานจักรี, พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส, พระที่นั่งเทวราชสภารมย์, พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ และพระตำหนักเมขลารูจี ทั้งนี้ชื่อของพระที่นั่งทั้งหมดจะตั้งให้คล้องจองกัน นอกจากนั้นยังมีสถานที่อื่นที่น่าสนใจอย่างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖, อาคารเทียบรถพระที่นั่ง, ศาลท้าวหิรัญพนาสูร, วิหารพระมหานาคชินะวรวรานุสรณ์มงกุฎราช และสวนโรมันค่ะ

ระหว่างรอเวลาที่วิทยากรจะพาเข้าชมรอบพระราชวังพญาไท เราก็แวะมากราบไหว้สักการะ “พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖” ซึ่งพระบรมราชานุสาวรีย์นี้ได้ถูกสร้างขึ้นในภายหลังตั้งอยู่หน้าอาคารเทียบรถพระที่นั่ง โดยมีลักษณะเป็นพระบรมรูปหล่อด้วยสำริดที่ทรงเครื่องยศจอมพลทหารบกประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีในพระอิริยาบถประทับยืนขนาดเท่าพระองค์จริงค่ะ


พอถึงเวลาที่วิทยากรพาเข้าชมพระราชวังพญาไทแล้ว วิทยากรได้พาไปชม “พระที่นั่งเทวราชสภารมย์” เป็นแห่งแรก ซึ่งพระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน มีลักษณะเป็นท้องพระโรงเดิมในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยได้รับอิทธิพลจากศิลปะไบเซนไทน์ คือ มีโดมอยู่ตรงกลางรองรับด้วยหลังคาโค้งประทุน (หลังคาโค้งครึ่งวงกลม) ทั้ง 4 ด้าน บนผนังมีภาพจิตรกรรมรูปคนและลายพรรณพฤกษา และมีอักษร “สผ” ที่เป็นพระนามย่อของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีที่สำคัญต่าง ๆ อย่างเช่น งานเฉลิมพระชนมพรรษา, สถานที่ต้อนรับแขกส่วนพระองค์ และบางครั้งใช้เป็นโรงละครหรือโรงภาพยนตร์แล้วแต่โอกาสค่ะ

หลังจากนั้นก็ไปชม “พระที่นั่งพิมานจักรี” กันต่อ ซึ่งพระที่นั่งพิมานจักรีเป็นพระที่นั่งองค์ประธานสูง 2 ชั้น สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานกันระหว่างศิลปะโรมาเนสก์กับศิลปะโกธิค แต่จะมีความพิเศษอยู่ตรงที่มียอดโดมสูงสำหรับชักธงมหาราช (ธงครุฑ) ซึ่งเจ้าพนักงานจะชักธงขึ้นสู่ยอดเมื่อมีพระมหากษัตริย์เสด็จฯ มาประทับเท่านั้น นอกจากนั้นบนเพดานกับด้านบนผนังเขียนเป็นลายเชิงฝ้าเพดานรูปดอกไม้งดงาม และบานประตูเป็นไม้สลักลายปิดทองศิลปะลักษณะวิคตอเรียน เหนือบานประตูจารึกอักษรพระปรมาภิไธยรัชกาลที่ ๖ โดยวิทยากรจะพาเข้าชมห้องชั้นล่างทีละห้องก่อนแล้วจึงขึ้นบันไดไปยังชั้นบน เริ่มจากชั้นล่างประกอบด้วยห้องธารกำนัล/ห้องรับแขก, ห้องเสวย, ห้องพักเครื่อง และห้องพระโอสถมวนค่ะ


“ห้องธารกำนัล” หรือ “ห้องรับแขก” เป็นท้องพระโรงสำหรับฝ่ายหน้า ตั้งอยู่ชั้นล่างตอนกลางของพระที่นั่งพิมานจักรี สำหรับใช้เป็นห้องรอเฝ้าของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ ต่อมาเมื่อพระราชวังพญาไทเปลี่ยนเป็นโรงแรมพญาไทพาเลซก็ได้ใช้ห้องนี้เป็นห้องอาหาร ซึ่งภายในห้องตกแต่งด้วยศิลปะแบบวิคตอเรียน บานประตูห้องทั้งหมดเป็นไม้สักสลักลายปิดทอง เหนือบานประตูเป็นช่องลม ตรงกลางสลักเป็นอักษรพระนามาภิไธย ร.ร.๖ อยู่ในวงกลม ขนาบด้วยลายแกะสลักพันธุ์พฤกษาค่ะ


“ห้องเสวย” ใช้เป็นห้องเสวยแบบยุโรป คือนั่งโต๊ะเสวยและร่วมเสวยกับฝ่ายใน (ฝ่ายหน้า) ซึ่งภายในห้องตกแต่งด้วยลวดลายภาพเขียนสีบนผนังด้านบนติดเพดานรูปผลไม้ มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ติดอยู่บนผนังห้อง และมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ด้านข้าง ส่วนด้านหลังห้องเสวยเป็นห้องพักเครื่องและห้องเตรียมพระกระยาหาร โดยพระราชนิยมเกี่ยวกับการเสวยนั้น แม้จะโปรดเสวยเครื่องฝรั่งเป็นปกติ แต่ต้องมีเครื่องไทยเป็นประจำเสมอที่ขาดไม่ได้เลยก็ได้แก่ น้ำพริก, ผักดิบ, ปลาทู, ปลาดุกทอด, ยำไข่ปลาดุก, กระเพาะปลาทอดจิ้มน้ำพริกเผาหรือน้ำปลา หากจะเสวยแบบไทยก็ต้องไทยแท้ และหากเสวยแบบฝรั่งก็ต้องไม่ผิดเพี้ยนค่ะ

“ห้องพระโอสถมวน” มีลักษณะเป็นห้องทรงกลมใต้โดมพระที่นั่งพิมานจักรี ตั้งอยู่ตรงข้ามกับห้องเสวย ซึ่งภายในห้องประกอบด้วยโต๊ะ-เก้าอี้ตั้งอยู่กลางห้องและตู้ตั้งอยู่หลังห้อง โดยห้องนี้เป็นห้องส่วนพระองค์สำหรับใช้สูบมวนพระโอสถ (บุหรี่/ซิกการ์/ไปป์) สันนิษฐานว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยพระกระยาหารที่ห้องเสวยแล้วจะเสด็จฯ มาสูบพระโอสถมวนที่ห้องนี้ค่ะ

พอเดินชมห้องชั้นล่างจนครบทุกห้องแล้วก็ขึ้นบันไดไปชมห้องชั้นบนกันต่อ ซึ่งห้องชั้นบนประกอบด้วยห้องท้องพระโรง, ห้องเมืองดุสิตธานี, ห้องพระบรรทมตะวันออก, ห้องสรง และห้องทรงพระอักษร แต่ระหว่างจะเดินขึ้นบันไดจะเห็นตุ๊กตาปูนปั้นตั้งอยู่บริเวณบันไดค่ะ


“ห้องท้องพระโรง” เป็นห้องที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ออกให้เฝ้าฯ ส่วนพระองค์และเป็นที่ประทับเสวยพระกระยาหารแบบง่าย ๆ (หรือเรียกกันอย่างสั้น ๆ ว่า “เสวยต้น” คือ การเสวยพระกระยาหารแบบไทยแท้ด้วยการประทับนั่งบนพื้นและเสวยพระกระยาหารด้วยพระหัตถ์) แต่ในบางครั้งก็ใช้เป็นห้องประชุม ต่อมาเมื่อพระราชวังถูกเปลี่ยนเป็นโรงแรมวังพญาไทในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ห้องนี้จึงเปลี่ยนเป็นห้องล็อบบี้โรงแรม ซึ่งภายในห้องตกแต่งแบบยุโรป คือ มีเตาผิงที่ประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ด้านบน ส่วนกรอบรูปประดับด้วยตราจักรีที่เป็นสัญลักษณ์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ภายในรูปวงรี และภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎล้อมรอบด้วยพระรัศมีค่ะ


“ห้องเมืองดุสิตธานี” ตั้งอยู่ถัดจากห้องท้องพระโรงไปทางทิศตะวันตก ซึ่งในอดีตเคยใช้เป็นห้องประทับของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ปัจจุบันใช้เป็นห้องเก็บโมเดลของ “ดุสิตธานี” เมืองจำลองที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยภายในห้องมีภาพจิตรกรรมสีปูนแห้งบนฝ้าเพดานเป็นรูปเหล่าเทพธิดาองค์น้อยเคล้าคลออยู่กับมวลหมู่กุหลาบ, ท้องฟ้า และหมู่สกุณา รวมทั้งริบบิ้นแซมช่อกุหลาบค่ะ


“ห้องพระบรรทม” ตั้งอยู่ถัดจากห้องท้องพระโรงไปทางทิศตะวันออก ซึ่งห้องนี้แตกต่างจากห้องอื่นตรงที่ภาพจิตรกรรมบนผนังเพดานเขียนด้วยเทคนิคสีปูนแห้งเป็นแบบพุทธศิลป์และภูมิปัญญาตะวันออก อาทิเช่น ภาพคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา, พระพุทธปรัชญา และภาพพญามังกรห้าเล็บที่สื่อถึงสัญลักษณ์ของความเป็นพระราชากับปีพระราชสมภพ อีกทั้งห้องนี้ยังมีห้องสรงอยู่ภายในด้วย ต่อมาในช่วงที่พระราชวังพญาไทเปลี่ยนเป็นโรงแรมวังพญาไท ห้องพระบรรทมนี้ถูกจัดเป็นห้องเดอลุกซ์ที่มีราคาค่าพักคืนละ 100 บาท (ไม่รวมค่าอาหาร) ค่ะ

“ห้องทรงพระอักษร” เป็นห้องทรงกลมใต้โดมที่ตั้งอยู่ตรงข้ามห้องพระบรรทม ซึ่งภายในห้องมีตู้หนังสือสีขาวแบบติดฝาผนังที่ประดิษฐานพระนามาภิไธย ร.ร. ๖ ตรงขอบตู้ด้านบน ส่วนลวดลายบนเพดานห้องเป็นลายประแจจีน และมีรูปครุฑพ่าห์ที่งามที่สุดอยู่ในวงกลมประดับอยู่เหนือขอบประตูทางเข้าห้องค่ะ

พอชมพระที่นั่งพิมานจักรีครบทุกห้องแล้วก็เดินไปชม “พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน” ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งพิมานจักรีกันต่อ ซึ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระที่นั่งแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ที่พญาไท เมื่อปี พ.ศ. 2473 แต่ดำเนินการได้เพียง 2 ปีก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 สถานีวิทยุฯ จึงถูกย้ายไปยังที่ทำการตำบลศาลาแดงแทน โดยในอดีตนั้นพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานเป็นพระที่นั่งก่ออิฐ ฉาบปูนสูง 2 ชั้น ต่อมาภายหลังได้ต่อเติมอาคารที่มีลักษณะแบบโรมาเนสก์ ชั้น 3 เพิ่มขึ้นเพื่อจัดเป็นห้องพระบรรทม, ห้องทรงพระอักษร และห้องสมุด ภายในประกอบด้วยห้องพระบรรทม, ห้องสรง และห้องทรงพระอักษรค่ะ



“ห้องพระบรรทม” เป็นห้องที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ต่อเติมชั้นที่ 3 เพื่อใช้เป็นห้องพระบรรทมส่วนพระองค์ ซึ่งภายในห้องมีการติดตั้งม่านชนิดพิเศษพับเก็บได้ เมื่อกางออกมีช่องทางให้ลมกับอากาศบริสุทธิ์เข้ามาได้ และความร้อนจะถูกดูดออกด้วยพัดลมทางด้านบน ส่วนบนฝ้าเพดานมีภาพจิตรกรรมที่เขียนด้วยเทคนิคสีปูนแห้งเป็นรูปเทพน้อย 4 องค์พร้อมเครื่องดนตรี ดีด สี ตี เป่าที่ล่องลอยอยู่บนท้องฟ้าเป็นวงกลม นอกจากนั้นยังมองเห็นสวนโรมันที่อยู่ด้านหลังจากหน้าต่างในห้องนี้ได้อีกด้วย และในช่วงที่เป็นโรงแรมวังพญาไทนั้น ห้องนี้ถูกจัดเป็น “ห้องรอยัล สวีท” หรือ “ห้องสวีท ดีลักซ์ บี 1” ที่ถือว่าเป็นห้องที่หรูหราที่สุด โดยมีราคาค่าพักคืนละ 120 บาทค่ะ

“ห้องสรง” ตั้งอยู่ถัดจากห้องพระบรรทม ซึ่งภายในห้องสรงประกอบด้วยราวจับทองเหลือง, ฝักบัวอาบน้ำ, ตู้ใส่ของ, พัดลมทองเหลือง, เก้าอี้, ราวพาดผ้า และผ้าขนหนูค่ะ

“ห้องทรงพระอักษร” ตั้งอยู่ตรงข้ามห้องพระบรรทม ซึ่งภายในห้องจะมีโต๊ะกับเก้าอี้วางอยู่และเสาตั้งพื้นอยู่ 4 ทิศพร้อมผ้าม่านบาง ๆ สีขาว ส่วนด้านข้างติดผนังมีตู้สำหรับเก็บหนังสือวางเรียงกันอยู่ นอกจากนั้นบนฝ้าเพดานและเชิงฝ้าเพดานยังตกแต่งภาพจิตรกรรมอีกด้วยค่ะ



จากนั้นก็ไปชม “พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส” กันต่อ ซึ่งพระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งพิมานจักรี เดิมชื่อว่า “พระที่นั่งลักษมีพิลาส” ตามพระนามของพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยลักษณะของพระที่นั่งเป็นอาคารก่ออิฐ ฉาบปูนแบบอิงลิช โกธิคสูง 2 ชั้น มีโดมขนาดเล็กและทางเชื่อมต่อกับชั้น 2 ของพระที่นั่งพิมานจักรี ใช้เป็นที่รับรองของเจ้านายฝ่ายใน ภายในตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมบนฝาผนังเชิงเพดานและเพดานแบบอาร์ต นูโว เป็นลายดอกไม้และภาพชาย-หญิงกับแกะที่มีลักษณะเป็นภาพเขียนสีแบบตะวันตกค่ะ





หลังจากชมพระที่นั่งศรีสุทธนิวาสแล้วก็เดินไปชม “พระตำหนักเมขลารูจี” กันต่อ ซึ่งพระตำหนักองค์นี้แต่เดิมชื่อว่า “พระตำหนักอุดมวนาภรณ์” ถือเป็นพระตำหนักองค์แรกในพระราชวังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ทรงงานวางโครงการสร้างพระราชมณเฑียร ต่อมาเมื่อสร้างพระราชมณเฑียรเสร็จจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระที่นั่งที่เชื่อมกับพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานใช้นามว่า “พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์” และเปลี่ยนพระนามของพระตำหนักองค์นี้ใหม่ว่า “พระตำหนักเมขลารูจี” แทน โดยพระตำหนักเมขลารูจีมีลักษณะเป็นเรือนไม้สัก 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ส่วนด้านข้างกับด้านหลังมีคลองน้ำไหลไปยังห้องสระสรง (ห้องอาบน้ำ) ภายในมีภาพเขียนสีลายนกและมีสระสรง (สระอาบน้ำ) ใช้เป็นที่สรงน้ำหลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ (ตัดผม) ค่ะ


หลังจากชมพระที่นั่งและพระตำหนักเกือบครบทุกองค์แล้ว (ยกเว้นพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ที่ไม่ได้เข้าชม เนื่องจากในปัจจุบันศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้าใช้เป็นสำนักงาน) จึงเข้าชม “สวนโรมัน” กันต่อ ซึ่งสวนโรมันตั้งอยู่ทางด้านหลังของพระที่นั่งพิมานจักรี ใช้สำหรับเป็นพื้นที่พักผ่อนพระอิริยาบถและจิบพระสุธารส (น้ำ) ค่ะ


สวนโรมันมีการจัดแต่งภูมิสถาปัตย์เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมเรขาคณิต ประกอบด้วยศาลาในสวนที่สร้างตามสถาปัตยกรรมแบบโรมัน คือ ศาลาทรงกลมตรงกลางมีหลังคาโดมรับด้วยเสาแบบคอรินเธียน ขนาบด้วยศาลาทรงสี่เหลี่ยมโปร่งไม่มีหลังคา ส่วนบริเวณบันไดทางขึ้นเดิมทีนั้นประดับด้วยตุ๊กตาหินอ่อน แต่ปัจจุบันเป็นตุ๊กตาปูนปั้น ซึ่งศาลาในสวนนี้ใช้เป็นเวทีการแสดงกลางแจ้งในบางโอกาสค่ะ


ด้านหน้าของทางขึ้นบันไดศาลาในสวนเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในแนวแกนเดียวกับโดม มีทางเดินกว้างโดยรอบ ส่วนตรงกลางสระมีรูปหล่อสำริดพระพิรุณตั้งอยู่บนฐานหินอ่อน ซึ่งด้านล่างของฐานนั้นประดับด้วยรูปมังกร อันเป็นสัญลักษณ์ของพระองค์ท่านค่ะ


พอชมสวนโรมันแล้วก็เดินไปชมและกราบไหว้ “ศาลท้าวหิรัญพนาสูร” กับ “วิหารพระมหานาคชินะวรวรานุสรณ์มงกุฎราช” ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ใกล้กับพระราชวังพญาไท ซึ่งรูปปั้นท้าวหิรัญพนาสูรหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ขนาดสูง 20 เซนติเมตร มีชฎาเทริดอย่างไทยโบราณและไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศ โดยท้าวหิรัญพนาสูรนั้นเป็นชายรูปร่างล่ำสันใหญ่โตที่คอยติดตามและป้องกันอันตรายทั้งปวงให้กับพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัวค่ะ


ส่วนวิหารพระมหานาคชินะวรวรานุสรณ์มงกุฎราชตั้งอยู่บริเวณใกล้กับศาลท้าวหิรัญพนาสูร ซึ่งภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระมหานาคชินะวรวรานุสรณ์มงกุฎราช อันเป็นพระพุทธรูปประจำพระราชวังพญาไทที่จำลองแบบมาจากพระมหานาคชินะ โดยเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก (พระประจำวันเสาร์) มีลักษณะที่เด่นชัดคือ นั่งขัดสมาธิราบ พระชงฆ์ขวาทับซ้าย ถือเป็นท่านั่งที่สำรวมอิริยาบท หงายพระหัตถ์วางซ้อนกันบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางทับบนพระหัตถ์ซ้าย มีพญานาคแผ่พังพาน ๗ เศียรค่ะ


หลังจากชมและกราบไหว้ศาลท้าวหิรัญพนาสูรกับวิหารพระมหานาคชินะวรวรานุสรณ์มงกุฎราชแล้วก็เดินไปชม “อาคารเทียบรถพระที่นั่ง” กันต่อ ซึ่งอาคารเทียบรถพระที่นั่งตั้งอยู่ทางด้านหน้าพระที่นั่งพิมานจักรี มีลักษณะเป็นอาคารแบบนีโอคลาสสิค โดยอาคารแห่งนี้ได้สร้างต่อเติมหลังจากสร้างพระราชวังพญาไทเสร็จแล้ว ใช้สำหรับเป็นลานเทียบรถพระที่นั่งและห้องพักคอยผู้รอเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันทางพระราชวังได้เปิดให้เอกชนเช่าเป็น “ร้านกาแฟนรสิงห์” ค่ะ


เมื่อชมพระที่นั่ง, พระตำหนัก และสิ่งที่น่าสนใจภายในพระราชวังพญาไทเกือบครบแล้ว ก่อนกลับก็แวะไปเดินชม “ร้านมัทนา” ซึ่งร้านมัทนาเป็นร้านขายของที่ระลึกของพระราชวังพญาไทที่ตั้งอยู่ติดกับบันไดทางขึ้นชั้น 2 ของพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน โดยของที่ระลึกที่ทางร้านนำมาจำหน่ายภายในร้านก็ได้แก่ เข็มพระบรมราชสัญลักษณ์วชิราวุธ, เสื้อ, กระเป๋าผ้า, แก้วน้ำ, กระบอกน้ำ, กรอบรูป, ปากกา, นาฬิกา, เนคไท, ผ้าพันคอ, ร่ม เป็นต้น เพื่อนำรายได้มาสมทบทุนบูรณะพระราชวังพญาไทค่ะ
สำหรับชาวกรุงเทพฯ ที่คิดไม่ออก วางแผนไม่ได้ว่าวันเสาร์-อาทิตย์จะไปเที่ยวที่ไหนดีล่ะก็... ลองแวะเข้ามาเที่ยวชมพระราชวังสวย ๆ ใจกลางกรุงเทพฯ อย่าง “พระราชวังพญาไท” กันได้นะคะ รับรองว่าเดินเที่ยวชมเพลินจนลืมเวลาและได้รับความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับพระราชวังแห่งนี้กลับไปอย่างแน่นอนค่ะ 😊😊😊
📍 ปักหมุดได้ที่: 315 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
🚘 GPS: https://goo.gl/maps/egM5ByrWU3AaEoXt7
✉ Email: [email protected]
🌍 เว็บไซต์: http://www.phyathaipalace.org/index.php
📞 โทร: 02-354-7987
👍 Facebook Fanpage: พระราชวังพญาไท Phyathai Palace
💸 เสียค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ราคา 40 บาท/คน, ผู้สูงอายุ ราคา 20 บาท/คน และเด็กอายุ 10 - 14 ปีราคา 10 บาท/คน (ชาวไทยและชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชมราคาเดียวกัน) ส่วนพระสงฆ์กับนักเรียน/นักศึกษาในเครื่องแบบเข้าชมฟรี
⏰ เปิด: วันเสาร์ - วันอาทิตย์ รอบเช้าเวลา 09.30 น. รอบบ่ายเวลา 13.30 น. (ถ้าชมบริเวณรอบ ๆ แค่ด้านนอกมีเปิดให้ชมตลอด)
🚗 เดินทางโดยรถยนต์: เลี้ยวเข้าถนนราชวิถีและขับตรงไปประมาณ 500 เมตร จะเห็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าอยู่ทางขวามือ ให้เลี้ยวขวาเพื่อจอดรถภายในโรงพยาบาล หากไม่ต้องการเดินไกลแนะนำให้จอดรถใกล้กับทางเข้าพระราชวังพญาไท
🚌 เดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ: สาย 8, 12, 14, 18, 28, 92, 97, 108 ปอ.92, 509, 522, 536 ปอ.พ.4
🚈 เดินทางโดยรถไฟฟ้า BTS: รถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท ลงที่สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ออกทางออกที่ 3 (ลงฝั่งโรงพยาบาลราชวิถี) ข้ามสะพานลอยไปฝั่งตรงข้ามแล้วเดินตรงมาเรื่อย ๆ จนถึงโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
Windy_love_Travel หญิงสาวผู้รักการท่องเที่ยว
วันพฤหัสที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 22.02 น.