"ศาสนา" ในภาษาสันสฤต ตรงกับคำว่า "Religion" ส่วนในภาษาบาลี "สาสน" แปลว่า คำสั่งสอน
หรือข้อห้ามในการทำความชั่ว
ทริปนี้ ใครสายพระ สายวัด สายมูไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง เราจะเดินทางไปยัง 3 จุดหมายด้วยวิธีใช้บริการขนส่งสาธารณะ นั่นหมายถึง ไม่ต้องมีรถก็ไปได้ (แต่ต้องมีตังค์ด้วยนะ) พร้อมกันหรือยัง…ถ้าพร้อมแล้วกดตังค์มาไว้ในกระเป๋าได้เลย….
1. วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
ปกติวัดระฆัง แห่งนี้เราสามารถมาได้หลายเส้นทาง หลายวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์สายต่าง ๆ ที่มาจอดบริเวณท่าช้าง ท่าพระจันทร์ วัดพระแก้ว หรือแถวไหนที่อยู่ฝั่งพระนคร แล้วเดินไปใช้บริการเรือข้ามฝากที่ท่าช้างเพื่อข้ามไปยังวัด หรือหากใครมาจากฝั่งวัดอยู่แล้วก็มีรถเมล์อยู่หลายสายมาจอดป้ายใกล้ ๆ เช่น 146 208 57 {91 (ปอ.) (AC)} (moovit ,2022) แล้วเดินต่อไปยังวัดได้ไม่ไกลนัก วิธีการก็ขึ้นอยู่กับต้นทางของผู้ที่จะเดินทางมา
แต่เรานัันเลือกจะนั่งกินลม ชมน้ำสาดหน้า มองตึกรามบ้านเรือนของสองข้างฝั่งริมน้ำเจ้าพระยาโดยเรือด่วนธงส้ม (ORANGE FLAG) จากท่าเรือสะพานตากสิน เพราะเรามาโดย BTS เนื่องจากรอรถเมล์นานพอสมควรจากปู่เจ้าเริ่มร้อนและหงุดหงิดแล้วไม่มาสักที พอได้ตั๋วก็โดดลงเรือเพื่อโลดแล่นไปตามสายธารเรือแวะจอดท่าโน้นทีท่านี้ทีพร้อมสัญญาณเสียงนกหวีดที่ดังปี๊ด ๆ เหมือนเป็นรหัสมอส (จากการคาดเดา) เป็นระยะ ๆ



เพียงหนึ่งเปียกจนแห้งของน้ำที่สาดเข้าหน้า เรือส้มก็พาเรามาส่งถึงท่าช้างในราคา 16 บาท พร้อมกับความหายคิดถึง ความทรงจำเก่า ๆ ที่ห่างหายจากสายธารเส้นนี้ไปแสนนาน ลงท่าเดินมาต่อด้วยเรือข้ามฝาก 4.50 บาท เพื่อมาลงตลาดวังหลัง ตั้งใจไว้ว่าก่อนไปวัดเราต้องตามหากลิ่นหอมของน้ำซุปร้านก๋วยเตี๋ยวเจ้าประจำเพื่อกำจัดกิเลสในท้องเสียก่อน ในไม่ช้าก็เดินมาถึงหน้าร้านและเพื่อเป็นการไม่ให้ช้า เกาเหลาเนื้อ ข้าวเปล่า ชาดำเย็น (ถ้าไม่ชอบเนื้อสดต้องสั่งเป็นเนื้อตุ๋นล้วนไปเลย) บอกเลยจีย์มาก ๆ และนี่จะเป็นเมนูมื้อเที่ยงของเรา กองทัพต้องเดินด้วยท้องแหละเนอะ










พรหมรังษี เมตตาบารมี จุติจุตัง อะระหังจุตติ นะโมพุทธายะ
นะมะพะทะ จะภะกะสะ มะอะอุ มะอะอุ มะอะอุ ภะคะวา
วัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างในสมัยอยุธยา ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหารและนั่นก็คือ “วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร” ชื่อวัดแห่งนี้มีประวัติการตั้งชื่อโดยรัชกาลที่ ๑ เดิมชื่อ วัดบางว้าใหญ่
ผู้คนทั่วทุกสารทิศต่างหลั่งไหลกันเข้ามาสักการะกันไม่ขาดสาย “พระวิหารสมเด็จ” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระราชาคณะของวัด ซึ่งก็คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) องค์กลาง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด เสนีวงศ์) (ซ้ายมือ) และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) (ขวามือ)
หากจะพูดถึงบุคคลที่ทำให้ผู้คนหลั่งไหลกันมาก็คงจะเป็นเพราะท่าน เจ้าพระคุณสมเด็จโต หรือสมเด็จโตพรมรังษี อดีพเจ้าอาวาส พระมหาเถระรูปสำคัญที่ได้รับความนิยมนับถืออย่างมากในประเทศไทย ผู้สร้างพระเครื่อง 1 ในพระเบญจภาคี “จักรพรรดิแห่งพระเครื่อง ” นั่งก็คือ “พระสมเด็จวัดระฆัง” ที่มีพระประธานในโบสถ์ใหญ่เป็นองค์จำลอง ซึ่งมูลค่านั้น…เท่าที่ใจสุดใฝ่หากันเลยทีเดียว





2. วัดปากน้ำภาษีเจริญ
ออกจากวัดระฆังเดินกลับมายังศิริราช เพื่อไปยังวัดต่อไป วัดที่มีชื่อเสียงและมีความเก่าแก่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา หนึ่งในศูนย์รวมจิตใจของคนฝั่งธนบุรี ข้ามแยกไปรอรถกระป้อที่ตรงหน้าร้านสะดวกซื้อที่ชื่อเป็นตัวเลข อยู่ตรงข้ามวัดวิเศษการ (แต่เหมือนรถกะป้อจะไปวนตรงข้างศิริราชใกล้ ๆ ท่าเรือข้ามฝากที่เราเดินเลยมา รอตรงนั้นก็ได้) ค่าที่นั่งราคา 9 บาทตลอดสาย (เพราะยืนไปไม่ได้) รถพาเราไปตามถนนมาจอดที่ตลาดพลู และต้องหารถต่อไปลงวัดขุนจันทร์ หรือจากสถานี BTS ตลาดพลู เดินมาตามทางออกที่ 3 ต่อ รถสองแถว วัดปากน้ำภาษีเจริญ-บางประกอก นั่งมาลงสุดสายวัดปากน้ำ แต่หากใครไม่อยากรอก็สามารถหาโบก สาย 9-35 ก็ได้มีทั้ง สีชมพู ฟ้า เหลืองเขียวก็ตามสบาย (taxi)





ส่วนเเรานั้นขี้เกียจรอรถเมล์และอยากเดินเล่นชิว ๆ เลยพา 2 ลำแข้งของตัวเองแวะชมโน้นนี่ไปเรื่อย ระยะทางประมาณ 1.7 กิโลเมตรเดินง่ายสบาย ๆ เพียงหนึ่งเหงื่อซึม ๆ เราก็ถึงวัดขุนจันทร์ เดินตัดผ่านข้ามสะพานมา ถึงกับต้องร้อง ว๊าว ว๊าว ว๊าว กับพระองค์ใหญ่มหึมา ใช่แล้ววัดที่เราจะมาก็ตามชื่อหัวข้อเลย “วัดปากน้ำภาษีเจริญ”
เดินผ่านตรอกเล็ก ๆ ทะลุถึงวัด แวะนมัสการ พระพุทธธรรมกายเทพมงคล พระพุทธรูปปางสมาธิ สูง 69 เมตร (สูงเทียบเท่าตึก 20 ชั้น) ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ก็ที่เห็นท่านหันหลังนั่นแหละ และที่อยู่คู่กันก็จะเป็น พระมหาเจดีย์มหารัชมงคลวัดปากน้ำ มีความสูง 80 เมตร แบ่งเป็นจำนวน 5 ชั้น ภายในมีเจดีย์แก้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และที่จะพลาดมากราบนมัสการบุคคลสำคัญ ณ วัดแห่งนี้ไม่ได้ก็คือ รูปหล่อเหมือน หลวงปู่สด จันทสโร
















3. วัดประดู่ฉิมพลี
เดินออกจากวัดปากน้ำภาษีเจริญข้ามสะพานมาไม่ไกลนัก ก็จะถึงวัดที่สาม วัดสุดท้ายของทริปนี้นั่นก็คือ“วัดประดู่ฉิมพลี “ เดิมมีชื่อว่า “ วัดฉิมพลี ”สร้างขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 3 แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 และด้วยความเลื่อมใสศรัทธาของชาวเขตบางกอก และผู้คนมากมายที่ฝากตัวเป็นศิษยานุศิษย์ ผู้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับวัดและพระพุทธศาสนา ให้มีมากยิ่งขึ้นจนมากระทั่งปัจจุบัน ก็คือ หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวณฺโณ” หรือ “พระราชสังวราภิมณฑ์” พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในย่านฝั่งธนบุรี อดีตเจ้าอาวาสผู้ซึ่งมีบารมีธรรม
เมื่อเรามาถึงสามารถแวะเข้ามากราบสักการะ “หลวงปู่โต๊ะ” ณ ศาลาประดิษฐานรูปเหมือน กันได้ และอีกหลายที่อย่าง ศาลารับเสด็จ ประดิษฐานรูปเหมือน “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” วิหารแปดเหลี่ยมทรงเจดีย์ ที่ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์” วิหารพระนอน“พระพุทธไสยาสน์” วิหารพระยืน“ที่มีพระยืนศักดิ์สิทธิ์” และ“หลวงปู่โต๊ะองค์ยืน” ส่วนที่สุดท้ายคือ "พระพุทธสุโขทัย" พระประธานประจำอุโบสถ และหากใครชอบวัตถุมงคล พระปิดตา หลวงปู่โต๊ะแห่งนี้ก็ไม่ธรรมดากันเลยทีเดียว สามารถเช่าไว้บูชาเป็นเครื่องเตือนสติและเป็นกำลังใจกันได้ ส่วนในขากลับหากเดินออกไปขึ้น MRT ท่าพระซึ่งเดินไปไม่ไกลจากวัดกันได้
























4. ว่างเปล่า
มาถึงบทสุดท้ายของทริปนี้ เราไม่แน่ใจว่าการมาไหว้พระขอพรเป็นเรื่องที่งมงายหรือเปล่า หรือการที่เราเช่าวัตถุมงคลที่มีราคามูลค่าเงินตราในกระแสนิยมของทางโลกนั้น จะผิดไปจากคำสอนของพระพุทธองค์หรือไม่ พระนั้นจะแสดงอิทธิฤทธิ์ตามความศรัทธาของผู้คนต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด แต่เราเชื่อเหลือเกินว่า อย่างน้อยการที่เราได้ย่างกายก้าวเท้าออกจากบ้าน เข้ามาในขอบเขตขัณฑสีมาหรือเพื่อมาทำสิ่งนี้หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หากสิ่งนั้นไม่ได้เป็นการกระทำที่ส่งผลต่อผู้อื่นผู้ใดในทางลบ
สิ่งเหล่านั้นที่กระทำล้วนเป็นเหตุเป็นผล อย่างน้อย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราและเห็นผลได้ทันตาเลยนั่นคือความสุข ประสบการณ์ เราว่านั่นคือบุญกุศลที่ได้บังเกิดประสิทธิผลขึ้นแล้ว ในขณะนั้นเรายังมองว่านี่ยังเป็นการท่องเที่ยวเพื่อเสพศิลปะ และธรรมชาติ อีกรูปแบบหนึ่ง ได้เรียนรู้ผู้คนและเข้าใจ วัฏสงสาร การมีทุกข์การดับทุกข์ในใจอีกด้วย
และถ้าหากจะพิมพ์มากกว่านี้เกินไป ก็อาจจะเข้าข่ายควรไปบวชได้ เอาเป็นว่าหากใครอ่านมาถึงตรงนี้ เราขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านด้วย และหากท่านมีโอกาสว่าง ๆ ลองไปสังเกตุโลกภายนอกอย่างตั้งใจ และลองวิเคราะห์ดูว่าท่านเห็นอะไรกันบ้าง เจริญพร เอ่ย..สวัสดี

สวัสดี เสือซ่อนยิ้ม
เสือซ่อนยิ้ม
วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เวลา 10.11 น.