มาเริ่มปี 2023 ด้วยการยื่นขอ E-Visa อินเดีย เตรียมตัวไปอินเดียกันค่ะ เนื่องจากทางเราตั้งท่าจะไปมานานมากแต่ก็ไม่ได้ไปสักที จากเข้ายากเป็นเข้าง่ายและก็เริ่มกลับมาเข้าแบบมีเงื่อนไขอีกรอบ ก็ไม่อยากรอแล้วกลัวจะล็อกดาวน์แล้วจะไม่ได้เที่ยวอินเดียอีก ก็เลยตัดสินใจจะไปในเร็วๆ นี้ สำหรับขั้นตอนการเข้าประเทศคงต้องรออัปเดตหลังจากนี้อีกที แต่ในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับประเภทวีซ่าของอินเดีย Visa และ E-Visa สำหรับคนที่ไม่เคยไปเลย ยังงงๆ อยู่ว่าควรทำวีซ่าประเภทไหน และทำอย่างไร ราคาเท่าไรกันค่ะ
ดูวิธีกรอกแบบคลิปวิดีโอ
ฝากแจกแพลนเที่ยว พาราณสี - อากรา อินเดีย กับอโกด้า งบ 25,000 เอาอยู่
- ทำความรู้จักประเภทวีซ่าอินเดีย
วีซ่าอินเดียจะแบ่งเป็นสองประเภทคือ Visa หรือที่เข้าใจง่ายๆ คือวีซ่าแบบติดเล่ม แบบนี้เราต้องไปส่งเอกสารเองที่อาคารเดอะเทรนดี้ ชั้น 8 สุขุมวิท ซอย 13 คลองเตยเหนือ วัฒนา กรุงเทพ และอีกหนึ่งประเภทที่ได้รับความนิยมคือ E-visa เป็นวีซ่าที่เรายื่นขอออนไลน์ สามารถยื่นขอได้ที่เว็ป https://indianvisaonline.gov.in ข้อแนะนำคือให้สังเกตท้ายเว็ปของวีซ่าด้วยว่าเป็น .gov.in หรือไม่หากไม่ใช่ .gov.in มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นเว็ปเอเจนซี่ที่รับทำหรือร้ายแรงกว่านั้นก็อาจจะเป็นมิจฉาชีพ นอกจากนี้ e-Visa ยังมีราคาถูกกว่าวีซ่าแบบเล่มอีกด้วย มีแบบจำนวนวัน 30 วัน, 1 ปี และ 5 ปี และ e-Visa ไม่สามารถขยายเปลี่ยนและไม่สามารถใช้ได้สำหรับการเยือนพื้นที่ที่เป็นพื้นที่คุ้มครอง
- ข้อมูลและเอกสารที่ต้องใช้
แนะนำว่าให้เตรียมข้อมูลและเอกสารให้พร้อมการเข้าไปกรอกรายละเอียดในเว็ป เพราะเว็ปจำกัดเวลา ถ้าใช้เวลานานไปจะเด้งออก แต่สามารถจดเลขแอปพลิเคชันเพื่อเข้าไปกรอกข้อมูลต่อจากเดิมได้ เอกสารที่ต้องเตรียมคือ รูปถ่ายหน้าตรง พื้นหลังสีขาว หรือสีอ่อน ( โทนสว่าง ) หน้าพาสปอร์ตไฟล์ PDF นอกจากนี้สำหรับคนที่ทำการขอครั้งแรกให้เตรียมชื่อที่อยู่ที่พักไว้ด้วย ส่วนคนที่มีประวัติเคยขอแล้วจะต้องเตรียมข้อมูล E-Visa ล่าสุดที่ได้รับ และที่พักล่าสุดที่ไปพัก เพราะจะต้องกรอกส่วนนี้ด้วย
วิธีกรอกรายละเอียด
1. เข้าไปที่เว็ป https://indianvisaonline.gov.in ( ต้องเป็น .gov.in ถึงจะเป็นเว็ปทางการ)
2. เลือกเมนู "Apply here for e-visa"
3. กรอกข้อมูลส่วนแรก คือ สัญชาติ / ประเภทพาสปอร์ตที่เราถืออยู่ / เข้าอินเดียที่สนามบินไหน / วันเดือนปีเกิด / E-mail / ประเภทวีซ่าที่คุณต้องการขอ / วันที่คาดว่าจะไป
*วันที่คาดจะไป อาจคาดเคลื่อนกับกำหนดการจริงได้
- ในส่วนของประเภทวีซ่าก็จะมีเมนูซ้อนในซ้อนอีกที ให้เลือกก่อนว่าจะเลือกทำ e-visa อะไร ถ้าท่องเที่ยวก็ eTourist Visa หรือมาทำงานก็ eBusiness Visa เป็นต้น > จากนั้นเลือกระยะเวลา 30 วันหรือ 1 ปี หรือ 5 ปี > เลือกวัตถุประสงค์ของวีซ่าอีกครั้ง และเลือกให้ตรงกับวัตถุประสงค์จริงของการเดินทาง
4. เมื่อกรอกข้อมูลส่วนแรกสุดเสร็จแล้วให้กด "Continue" จากนั้นหน้าถัดมาจะปรากฎเลข Application ID ให้จดเลขนี้เก็บไว้ด้วย กรณีเว็ปมีปัญหา เน็ตล่ม ใช้เวลากรอกในหน้านั้นนานไปหน้าเว็ปมันจะโหลดใหม่ เราต้องมีเลข Application ID เพื่อกลับไปกรอกต่อจากเดิมให้เสร็จ
5. ข้อมูลส่วนที่ 2 จะเป็น "ข้อมูลส่วนตัว" ชื่อ-นามสกุล / เคยเปลี่ยนชื่อไหม / เพศ / วันเดือนปีเกิด / เมืองเกิด / เลขบัตรประชาชน / ตำหนิ / การศึกษา / ที่มาของสัญชาติ
*ตำหนิคือ ส่วนที่ปรากฎเด่นชัดและมองเห็นบนร่างกายเรา ไม่ว่าจะเป็น รอยสัก ไฝ ปาน หรือจุดอื่นๆ เช่น ผู้เขียนเป็นคนที่หนังตาตกข้างหนึ่ง มันก็เลยทำให้ตาไม่เท่ากันแบบเห็นชัด ผู้เขียนก็ระบุสิ่งนี้ไปด้วย ถ้าไม่มีเลยก็ใส่ NO
6. ข้อมูลส่วนต่อมาคือ "ข้อมูลพาสปอร์ต" ให้ระบุ เลขพาสปอร์ต / สถานที่ออก / วันออกและวันหมดอายุพาสปอร์ต 7. ตอบคำถาม "คุณมีพาสปอร์ตอื่นๆ อีกไหม" ถ้ามีก็ทำเครื่องหมายที่ Yes แล้วกรอกรายละเอียดต่อ จากนั้นกด Save และ Continue
8. กรอกข้อมูลที่อยู่อาศัย ตามด้วยข้อมูลพ่อและแม่ ชื่อ สัญชาติ เมืองที่อยู่ สถานที่เกิด เบอร์ติดต่อ 9. จากนั้นเลือกสถานภาพของผู้ของวีซ่า เช่น โสด / แต่งงาน / หย่าร้าง หรืออื่นๆ
10. กรอกข้อมูลส่วนของ "อาชีพ" ประเภทอาชีพ / ชื่อหน่วยงาน องคร์กร บริษัท / ตำแหน่งงาน / ที่อยู่ / เบอร์ติดต่อ / อาชีพที่ผ่านมา ( ถ้ามี )
*สำหรับฟรีแลนซ์ จริงๆ วีซ่าอินเดียไม่ได้ยาก แต่ก็ไม่ง่าย บางคนไม่ได้อนุมัติก็มี หรืออนุมัติแต่ได้รับเมลสอบถามข้อมูลเพิ่มก่อน จากประสบการณ์ของผู้เขียนตอนทำงานประจำไม่เคยโดนขอข้อมูลเพิ่มเลยไม่เกิน 3 วันก็อนุมัติแล้ว แต่พอมาปัจจุบันเป็นฟรีแลนซ์ ได้รับเมลสอบถามข้อมูลเพิ่มก่อนจะได้รับอนุมัติ หลักๆ คือให้อธิบายลักษณะงานของเรา มีขอชื่อนายจ้าง องค์กร และเบอร์โทร แต่ก็อธิบายไปว่าไม่มีสัญญาจ้าง รับเป็นงานๆ เขาก็เข้าใจอยู่นะ และเขาก็ถามอีกเกี่ยวกับ "สถานที่ทำงาน"
จากเมลรอบนั้นทำให้ครั้งนี้ใน Present Occupation เราเลือก "Other" เพื่อระบุประเภทงานใหม่เป็น " freelance writer" แทนการเลือกเมนู " writer" ที่มีอยู่ในตัวเลือก และใน "Employer Name" ระบุเป็นชื่องานที่ทำแบบเต็มๆ "Freelance writer and illustrator" ( นักเขียนและนักวาดภาพประกอบอิสระ ) ในส่วนของที่อยู่ใส่ว่า "work from home" ซึ่งรอบนี้ใช้เวลาอนุมัติวันเดียวผ่าน!!
11. ข้อมูลส่วนต่อมาคือ "วีซ่าที่เคยได้รับ" กรณีคนไม่เคยเข้าอินเดีย เป็นการขอครั้งแรก ตอบ No แล้วข้ามไปกรอกส่วนอื่นเลย แต่สำหรับคนที่เคยไปอินเดียแล้ว ตรงนี้เราจะต้องใส่ข้อมูลที่พักล่าสุดที่ไปมา ใครไปเมื่อสามสี่ปีที่แล้วก็พยายามนึกชื่อที่พักหน่อยนะคะ
12. จากนั้นระบุเมืองที่คุณเคยไปมา ไปมากี่เมืองก็ใส่ไปให้หมดตามด้วยข้อมูล e-visa ล่าสุดที่คุณได้รับ เลขวีซ่า / ประเภทวีซ่า / วันหมดอายุ ( ดูข้อมูลจากเมลอนุมัติเก่า ) > จากนั้นตอบคำถามเรื่อง "เคยถูกปฏิเสธวีซ่าบ้างไหม"
13. ระบุชื่อเมืองที่คุณจะไปเที่ยวชมในครั้งนี้ ใส่ไปคร่าวๆ ก็ได้ค่ะ ใครแพลนอยู่เป็นเดือนใส่หมดทุกเมืองก็ไม่ดีเพราะระบุเยอะไปเขาก็จะอยากรู้เรื่องงบประมาณและการหาเงินของเรา ทางเราเคยใส่ทุกเมืองที่จะไปราวๆ 10 เมืองได้ หลังจากส่งไปหลายวันต่อมาก็ได้รับเมลถามเพิ่มเกี่ยวกับแพลนเพิ่มเติม และขอที่อยู่โรงแรมทั้งหมดที่จอง และก็ถามว่าเที่ยวกับใคร อาชีพการงานเป็นอย่างไร ปกติเราจะใส่คร่าวๆ ประมาณ 3-4 เมือง แต่ครั้งนั้นอะไรดลใจให้ใส่ไปหมดเลยก็ไม่รู้ เลยได้เรื่องเลย ( ส่วนนี้ไม่แน่ใจว่าคนทำงานประจำจะต่างออกไปไหมนะคะ ) 14. ระบุ "สนามบินที่คุณจะออกจากอินเดีย" คาดการณ์ไว้ก่อน ออกจริงไม่ตรงกับที่ระบุก็ได้ค่ะ
15. ระบุ "ชื่อประเทศ" ที่คุณไปมาในช่วง 10 ปี
16. ระบุ "ชื่อบุคคลอ้างอิงในอินเดีย" หากไม่ได้จองผ่านทัวร์อินเดีย ไม่ได้จ้างไกด์ ไม่มีแฟน เพื่อนหรือคนรู้จักอยู่ที่นั่น ให้ใส่ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของที่พักแรกที่คุณจะพักไปแทน
17. ระบุ "ชื่อบุคคลอ้างอิงในไทย" พร้อมที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
18. หลังจากกรอกรายละเอียดทั้งหมดเสร็จให้ไปอัปโหลดรูปภาพ โดยภาพต้องเป็นพื้นหลังสีขาว หรือสีสว่าง พร้อมอัปโหลด "หน้าพาสปอร์ต แบบ PDF"
19. จากนั้นไปอ่านข้อตกลงทั้งหมด แล้วกด "ยอมรับข้อตกลง" แล้วไปชำระเงินเลือก "Pay Now" โดยให้เลือกชำระผ่าน "Sbi e-pay" เว็ปจะพาไปยังหน้าที่ต้องใส่ข้อมูลบัตร สามารถใช้ได้ทั้งบัตรเดบิตและเครดิต
หากตัดบัตรสำเร็จจะมีข้อความบอกว่าแอปพลิเคชันไอดีนี้ได้ถูกส่งไปแล้ว ให้รอการตอบกลับของผลพิจารณาอนุมัติวีซ่าประมาณ 72 ชั่วโมง เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จ ไปรอลุ้นวีซ่ากันต่อไป
- ราคา e-visa 30 วัน 27.5 USD ( ประมาณ 843 บาท )
- ราคา e-visa 1 ปี 40 USD แต่ตัดจริงคือ 41 USD ของผู้เขียนตัดผ่าน SCB เป็นเงินไทยอยู่ที่ 1,455 บาท
- ราคา e-visa 5 ปี 84 USD ( ประมาณ 2,880 บาท )
*ทั้งนี้ราคาอาจมีค่าบริการการชำระผ่านบัตรเพิ่ม ซึ่งแต่ละบัตรจะมีเรทที่แตกต่างกันไป
20. หลังจากได้รับเมลอนุมัติแล้วให้เราเข้าไปที่ "Check your Visa Status" นำเลข Application Id ที่อยู่ใน "เมลอนุมัติ" ไปใส่ ตามด้วยเลขพาสปอร์ต แล้วเลือก "Check Status" จะปรากฎหน้าเว็ปที่มีหน้าตาแบบเดียวกับในเมล ให้เราเลือก "Print Status" จะเซฟไว้ก่อนหรือจะพิมพ์ออกมาเลยก็ได้
แต่ส่วนนี้จะเป็นเอกสารวีซ่าที่ใช้แสดงสำหรับการเข้าออกประเทศอินเดีย หน้าอื่นๆ จะไม่ใช่นะคะ ให้สังเกตคือ เอกสารจะต้องมีรูปเราอยู่ใต้คิวอาร์โค้ดและเหนือบาร์โค้ดแทบยาว พร้อมทั้งมีข้อมูลแบบเดียวกับที่ปรากฎในเมลอนุมัติ มีเลขแอปพลิเคชันไอดี เลขพาสปอร์ต มี ETA Number มี Application Status เป็น Granted และมีวันหมดอายุ รวมถึงมีลายน้ำที่เป็นตราประทับทรงกลมกลางหน้ากระดาษ "ให้ถือใบนี้ไปนะคะ" บางคนปริ๊นผิดใบจะเข้าประเทศไม่ได้ ตม. จะดูในแบบกระดาษนะคะ ไม่ดูแบบผ่านเมล
กี่วันถึงจะได้รับ E-mail แจ้งผลอนุมัติ
เบื้องต้นตามที่กำหนดคือ 72 ชม. หรือก็คือประมาณ 3 วัน แต่ครั้งนี้ผู้เขียนรอวีซ่าแค่วันเดียว ผู้เขียนทำการกรอกรายละเอียดพร้อมตัดบัตรเสร็จในช่วงบ่ายของวันที่ 3 ม.ค และวันที่ 4 ม.ค เวลา 09.18 น. ก็ได้รับเมลอนุมัติเรียบร้อยแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความเร็วในการอนุมัติมันขึ้นอยู่กับอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งเดาไม่ได้เลยว่าปัจจัยเหล่านั้นคืออะไร บอกตามตรงว่า "อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ในอินเดีย" บทจะช้าก็คือช้าเลย ช้าจนคนรอใจไม่ดี ประสบการณ์รอนานสุดของเราคือ 20 วัน จนต้องเมลไปถามและรอบนั้นเขาต้องการข้อมูลเพิ่ม หลังจากอธิบายเสร็จก็ได้รับอนุมัติ และพอบทจะพิจารณารวดเร็วก็เร็วมากจนน่าทึ่งแบบครั้งนี้ หากใครที่รอมานานแล้ว 10 วันขึ้นไปสามารถลองเมลไปถามได้ แต่ไม่แนะนำไม่เมลไปถามซ้ำบ่อยๆ และให้รอจนกว่าผลจะออก อยากเพิ่งทำการขอใหม่ทั้งๆ ที่อันเก่ายังไม่ได้รับพิจารณา เพราะจะเสี่ยงต่อการโดนปฏิเสธวีซ่าได้ค่ะ
- หากถูกปฏิเสธต้องทำอย่างไร?
ลองดูว่าเมลได้แจ้งเหตุผลปฏิเสธมาไหม ถ้าไม่ระบุให้เมลไปสอบถามว่าเพราะเหตุใดจึงปฏิเสธ ในบางครั้งมันอาจไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่อาจเป็นการกรอกอะไรผิดไปหรือไม่ก็ไม่เข้าใจในบางข้อมูลของเรา อย่างเช่นก่อนหน้านี้ที่ผู้เขียนบอกว่าได้รับเมลขอให้อธิบายลักษณะงาน ตอนนั้นผู้เขียนเลือก "Writer" และชื่องานว่า "content creator" คนไทยเข้าใจบริบทของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ดีแต่อินเดียไม่ใช่ เขาขอให้อธิบายว่า "content creator" คืองานแบบไหนสร้างเงินอย่างไร ซึ่งหลังอธิบายไปเข้าก็อนุมัติวีซ่าให้เรา
ดังนั้นหากคุณถูกปฏิเสธอย่าเพิ่งตกใจ ให้ลองเมลไปถามว่าเกิดจากจุดไหนและลองแก้ไขส่วนนั้น แนะนำให้ทิ้งระยะสักพักใหญ่ๆ แล้วค่อยทำการขอเข้าไปใหม่ ไม่อยากแนะนำให้ส่งเรื่องใหม่ทันทีที่ถูกปฏิเสธ เพราะมันดูเหมือนเรารีบร้อนจะเข้าประเทศเข้าให้ได้เกินไป... มันอาจจะทำให้ดูน่าสงสัยยิ่งขึ้นไปอีกนั้นเองค่ะ
e-visa อินเดียไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากค่ะ ถึงจะต้องกรอกเยอะแต่ส่วนใหญ่ก็เป็นคำถามพื้นฐานง่ายๆ ทั้งนั้น อย่างไรก็ตามหากใครติดขัดตรงไหนอยากถามอยากปรึกษาก็สามารถทักมาสอบถามได้ที่ twitter ที่ Artinime หรือ Facebook เพจ แบกกล้องชิวเที่ยวไปเรื่อย ได้เลยค่ะ สุดท้ายหากใครที่รู้สึกชอบบทความนี้ก็สามารถแชร์ออกไปได้เลยค่ะ
หญิงเถื่อน Solo Traveler
วันพฤหัสที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2566 เวลา 13.48 น.