เป็นครั้งแรกและปีแรกของผู้เขียน ได้มีโอกาศมาเที่ยวชม " งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช " ของทาง จ.ลพบุรี ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 10-19 กพ.2566 จึงนำภาพบรรยากาศสีสันสวยงาม ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนมาบันทึกไว้ แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ดูช่วงงานแสดงกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีจัดแสดง แต่ก็มีความประทับใจที่ได้มาเยือน
ซึ่งในงานมีการจัดแสดงกิจกรรมที่หลากหลายในแต่วัน มีขบวนแห่ประวัติศาสตร์ กิจกรรมมากมายให้ได้ชม นอกจากนี้มีบริเวณทางด้านนอกประตูวัง ยังมีการจัดสวนประดับตกแต่ง สวนไม้ดอกไม้ประดับหลากสายพันธุ์ ตลอดอุโมงค์ไฟและแสงสีประดับบนต้นไม้หลากหลายสีสัน ให้ดูยามค่ำคืน มีความ สวยงามบริเวณพระราชฐานชั้นนอก ของพระนารายณ์ราชนิเวศ์
ในการจัดงาน ทางหน่วยงานภาครัฐได้ประชาสัมพันธ์ครณรงค์ให้ใส่ชุดไทยโบราณ "นุ่งโจง ห่มสไบ แต่งไทยทั้งเมือง " จึงจะเข้าไปเที่ยวฟรีด้านในพระราชวังได้ แต่ถ้าไม่แต่งน่าจะมีค่าบริการเสียบัตรผ่านค่าธรรมเนียมอยู่
โดยรอบบริเวณทั้งด้านนอกตลอดภายด้านในพระราชวัง ก็มีร้านค้าให้บริการเช่าชุดไทยโบราณ ทั้งผู้หญิงและชาย ตลอดจนของเด็ก ก็มีให้เช่าพร้อมบริการแต่งหน้าทำผมให้ด้วยเสร็จสรรพ สามารถมาเช่าแต่งกายได้ภายในที่จัดงานได้เลย
ซึ่งกิจกรรมในการจัดแสดงในงานครั้งนี้ ตลอด 10 วันทราบว่า มีกิจกรรมให้ชมอย่างหลากหลาย ทั้งขบวนแห่ประวัติศาสตร์ รำบวงสรวง สวนนารายณ์นฤมิต ตำรับโอสถพระนารายณ์ การแสดงของการผลัดเปลี่ยนเวรยาม ของทหารสมัยโบราณ การแสดงละครลิง การประกวดธิดาละโว้ ตลอดมีลานวัฒนธรรมและอาหารพื้นบ้าน 4 ภาคก็มีจำหน่ายให้ช้อปชิมกันอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการแสดงของชนเผ่าต่าง ๆ มาร่วมแสดงในงานครั้งนี้ด้วย เช่นพี่น้องคุณลุงป้าชาวเผ่าเยอ จากภาคอิสาณ จ.ศรีสะเกษ ก็มาร่วมแสดงกิจจกรรมด้วย โดยจ.ศรีสะเกษ นี้ก็มีกลุ่มชาติพันธุ์สี่กลุ่มใหญ่ คือ ลาว , เขมร , ส่วย , และเยอ ที่มีประเพณีความเชื่อและการแต่งกายมีเอกลักษณ์โดดเด่น เช่นชาวเผ่าเยอ ที่ทางผู้เขียนได้ร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึกในครั้งนี้ด้วย
พระนารายณ์ราชนิเวศน์แห่งนี้ มีพื้นที่กว่า 41 ไร่ เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2209 ใช้เป็นที่ประทับ และออกว่าราชการและต้อนรับแขกเมือง มีพื้นที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ เขตพระราชฐานชั้นนอก ที่ยังมีตัวอาคารค่อนข้างสมบูรณ์เช่น ตึกพระเจ้าเหา สันนิษฐานว่าเป็นหอพระประจำพระราชวัง และต่อมาเป็นเขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน
ในส่วนของพระราชฐานชั้นกลาง ก็จะมีพระที่นั่งจันทรพิศาล ใช้เป็นหอประชุมองคมนตรี และพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท เป็นท้องพระโรงสำหรับต้อนรับคณะราชทูต และส่วนพระราชฐานชั้นใน ก็มีพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ เป็นพระราชฐาน 2 ชั้นก่ออิฐถือปูนมุงกระเบื้องเคลือบแบบจีน ซึ่งเป็นพระที่นั่งที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่พระองค์เสด็จสวรรคต ณ ที่นั่งองค์นี้ เมื่อวันที่ 11 กค . 2231 ในส่วนนี้จนท.ไม่อนุญาติให้ขึ้นไปบนฐาน ที่นั่งองค์นี้
ประวัติความเป็นมาของงาน แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์นั้น แต่ก่อนนั้น ชาวบ้านมีงานประเพณีอยู่แล้วคิอ " งานในวัง " เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2501 เพื่อหารายได้นำไปก่อสร้าง อนุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำริจัดให้มีการก่อสร้างขึ้นใน ปี 2500 และวางศิลาฤกษิ์ 21 กพ.2505 ก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ ทำพิธีเปิดใน 16 กพ.2509
จากแนวคิดของ ชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม จ.ลพบุรี ได้มีจัดงานขึ้นครั้งแรกชื่องานว่า " นารายณ์รำลึก " จนต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น " งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ " ได้จัดงานเริมครั้งแรกเมื่อ 17-18 กพ.2522 ซึ่งจัดงานเป็นประจำในทุกปี จนมาใน ปี 2566 ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 35 แล้ว
มาดูในส่วนด้านนอกขตราชฐานมีการจัดแสดงแสงสีเสียง ไม้ดอกไม้ประดับ ไฟหลากสีสวยงาม บริเวณทางด้านประตูด้านหน้าทางเข้าพระราชนิเวศน์ ภายในมีลานเวทีแสดงกิจกรรม และซุ้มเรือนไทยโบราณ ให้ได้เดินชมและถ่ายรูปชมความงดงามของไม้ดอกและแสงไฟประดับ สว่างทั่วทั้งบริเวณ
โดยรอบที่จัดงาน ยังมีร้านค้าอาหารการกิน ของชาวบ้าน ที่นำของกินพื้นบ้าน และอาหาร ผลไม้ ขนมของกินเล่นต่าง ๆ มาขายกันอย่างคึกคักทั่วทั้งบริเวณงานทั้งภายนอกงานและภายในงาน รวมของกิน 4 ภาค ให้เราได้เลือกซื้อหา ได้ตามใจชอบกันเลยทีเดียว
ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาศที่โชคดี ที่ได้มาร่วมงาน เที่ยวชมทั้งเวลากลางวัน และกลางคืน แม้ไม่ได้ร่วมชมกิจกรรมการแสดงต่าง ๆ ของทางการจัดงานในครั้งนี้ ก็มีความประทับใจที่ได้มาเยี่ยมชม เดินเที่ยวบริเวณงานโดยรอบในครั้งนี้
ในงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ จ.ลพบุรี ซึ่งจัดแสดงงาน ถึง 10 วัน ไปจนถึงวันที่ 19 กพ.2566 ยังมีเวลาอีกหลายวัน ที่ผู้มีเวลาในหลายพื้นที่ ทั้ง ชาวกรุงเทพมหานคร หรือ จังหวัดอื่น ๆ ที่อยากมาร่วมเที่ยวชมงาน ก็ยังมีเวลาอีกหลายวันเลยทีเดียว เปิดเที่ยวชมงานตั้งแต่เวลา 16.00-23.30 น. ของทุกวัน
การเดินทางมาเที่ยวงานแผ่นดินพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี สามารถมาได้สะดวกทั้งรถยนต์ส่วนตัวและโดยสารประจำทาง โดยขึ้นที่ท่ารถขนส่งกรุงเทพฯ หมอชิต ( สวนจตุจักร ) และทางรถไฟ จากขนส่งผู้โดยสารสายเหนือ จากสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งมีขบวนรถไฟผ่านจ.ลพบุรี หลายขบวนทุกวัน
หากเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมาได้หลายเส้นทาง จาก กทม.ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ผ่าน จ.สระบุรี เข้า อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ระยะทาง 153 กม. ส่วนอีกเส้นทางจากทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 32 ผ่านจ.พระนครศรีอยุธยา มาได้ 3 ทางเข้า คือผ่าน อ.บางปะหัน อ.นครหลวง อ.บ้านแพรก สู่ จ.ลพบุรี หรือจะมาทาง จ.อ่างทอง จ.สิงห์บุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 311 เข้าสู่อ.ท่าวุ้ง มุ่งสู่ลพบุรี ได้เช่นกัน
โดย.ณ วงเดือน
วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เวลา 16.35 น.