"ทริปเชียงใหม่ก่อนผ่าตัดหัวใจ" by ลูกสาวพาทัวร์ ตอน 3
วัดต้นเกว๋น
วัดต้นเกว๋น หรือ วัดอินทราวาส ต.หนองควาย อ.หางดง ห่างจากเมืองเชียงใหม่
ประมาณ 11 กิโลเมตร เป็นวัดที่มีความสวยงามเก่าแก่ของเชียงใหม่
สิ่งที่สำคัญของวัดนี้คือ ศาลาจตุรมุข ซึ่งพบเพียงหลังเดียวในภาคเหนือ
และเป็นต้นแบบทางศิลปกรรมล้านนาที่มีคุณค่าและยังคงความสมบูรณ์
จนสมาคมสถาปนิกสยามประกาศให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น เมื่อปี พ.ศ.2532
และสถาปัตยกรรมจากวัดต้นเกว๋นแห่งนี้ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้สถาปนิก
ใช้เป็นต้นแบบในการออกแบบ หอคำหลวง ซึ่งตั้งอยู่กลางอุทยานหลวงราชพฤกษ์

วัดต้นเกว๋น
สมัยก่อนวัดแห่งนี้ใช้เป็นที่พักขบวนแห่พระธาตุจอมทองมาสู่นครเชียงใหม่
ซึ่งกระทำในทุกปี เป็นประเพณีของเจ้าหลวงเชียงใหม่และประชาชน
จึงถือได้ว่ามีความสำคัญสำหรับชาวเชียงใหม่อย่างมาก
วัดต้นเกว๋นมีศิลปกรรมล้านนาดั้งเดิมที่สมบูรณ์และทรงคุณค่ามาก
ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปีพ.ศ. 2526 และได้รับการประกาศ
โดยสมาคมสถาปนิกสยามเป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นเมื่อปีพ.ศ. 2532

พระประธานในวิหาร เป็น พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย
ประดิษฐานอยู่บนชุกชีเป็นลายรูปปั้นดอกกูด

ฝาหนังด้านหลังพระประธานเป็นซุ้มและมีพระพิมพ์โลหะติดฝาผนัง
ซึ่งหล่อเป็นองค์ๆ เอาติดฝาผนังเป็นรูปคล้ายซุ้ม พระพิมพ์มี 2 แบบ
คือ แบบใบโพธิ์ปางมารวิชัยขนาด 2x4 ซม. และแบบนาคปรก ขนาด 3x5 ซม.



สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนืออ้างอิงคำบอกเล่าของพ่อน้อยตวง อาจารย์วัด
ซึ่งเล่าว่า ในวิหารแห่งนี้เดิมมีพระพิมพ์มากถึง 625 องค์ติดอยู่ด้านหลังพระประธาน
แต่พ่อน้อยตวง อาจาร์ยวัด เล่าว่า สูญหายไปตั้งแต่ก่อนพ.ศ. 2540

ฐานชุกชีเป็นลายรูปปั้นดอกกูด และรูปสัตว์หิมพานต์

รูปสัตว์หิมพานต์ เป็นตัวอะไรบ้าง ดูไม่ออก

ฝั่งขวา เป็นกินนรี อันนี้พอดูออก

อันนี้รูปนก นกอะไร? นกกรวิก? นกเทศ? นกอินทรีย์?

มุมฐานชุกชี

ภาพจิตกรรมฝาผนังที่วาดด้วยสีน้ำ เหลือเพียงภาพเดียว

ด้านในวิหารปูเสื่อลำแพน

ลวดลายบนเพดาน

บันไดมกรคายนาค

รูปร่างพญานาคตามอุดมคติของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างกัน
ในดินแดนล้านนา พญานาคมีปากคล้ายจระเข้ บ้างมีเขี้ยวยาวโค้ง

เรียกกันว่า “มกรคายนาค” (อ่านว่า มะ–กะ–ระ หรือ มะ–กอน) เป็นสัตว์จินตนาการในป่าหิมพานต์


หน้าบันวิหารประดับตกแต่งด้วยกระจกแก้วสีแบบฝาตาผ้าหรือฝาปะกน
โก่งคิ้วจำหลักไม้ลายเครือเถาสอดสลับรูปเศียรนาค มีลายปูนปั้นรูปเทพนม
และดอกไม้อยู่หัวเสา

ด้านหน้าบันปีกนกแกะสลักเป็นเศียรนาคในลายเครือเถาผสมกนก
ตีเป็นช่องตารางเพื่อระบายอากาศ ปั้นลมและหางหงส์แกะรูปมกรคายนาค
อย่างงดงาม คันทวยหูช้างจำหลักไม้เป็นรูปกินนรฟ้อนรำ

วิหารวัดต้นเกว๋น เป็นวิหารแบบปิด หรือวิหารปราการ วิหารชนิดนี้จะทำฝาผนัง
จากฐานวิหารจรดโครงหลังคา ช่างในท้องถิ่น เรียกวิหารชนิดนี้ว่า วิหารป๋างเอก

ลวดลายปูนปั้นชดช้อย



หน้าต่างวิหาร ด้านนอกทำเป็นลูกกรงไม้แกะสลักลาย

วัดแห่งนี้ถูกบันทึกว่าสร้างเมื่อ จ.ศ. 1218-1231 (พ.ศ. 2399-2412)
ในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ แต่หลักฐานในส่วนผู้สร้างวัดนี้
ยังไม่ปรากฏอย่างชัดเจน แต่จากข้อมูลในสมุดข่อย ซึ่งพบในวัดเจดีย์หลวง ปรากฏชื่อ
วัดต้นเกว๋น ในสังกัดหมวดอุโบสถวัดหนองควาย

มณฑปจัตุรมุข
เป็นมณฑปจัตุรมุขแบบพื้นเมืองล้านนา ซึ่งพบเพียงหลังเดียวเท่านั้นในภาคเหนือ
ลักษณะเป็นศาลามีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ส่วนกลางของศาลามีจั่วซ้อนอยู่สองชั้น
มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ที่เรียกว่า กระเบื้องดินขอ
ส่วนช่อฟ้าของหลังคามีความพิเศษตรงที่ช่างโบราณจะออกแบบให้มีความโค้งงอ
ซึ่งนกสามารถมาเกาะได้ และที่กลางสันหลังคามีซุ้มมณฑปเล็กๆ ซึ่งทางภาคเหนือ
เรียกว่า ปราสาทเฟื้อง ลักษณะเดียวกับที่พบในภาคอีสานและลาว




วัดต้นเกว๋น ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำละครย้อนยุคหลายเรื่อง เช่น เรื่อง
รอยไหม, เมื่อดอกรักบาน, รากนครา, เพลิงพระนาง ฯ เรื่องล่าสุดที่สร้าง
กระแสสุด ๆ คือ "กลิ่นกาสะลอง" ขนาดมีร้านเช่าเสื้อผ้า+พร๊อต ใส่ถ่ายรูป
แบบ กาสะลอง - ซ้องปีบ กันหลายร้าน ที่บริเวณลานจอดรถหน้าวัด
🌸•*¨*•.¸¸✧ Joy'Gangster •*¨*•.¸¸✧
เอนทรี่ที่เกี่ยวข้อง :
พระธาตุลำปางหลวง - ทริปเชียงใหม่ก่อนผ่าตัดหัวใจ ตอน 1
https://th.readme.me/p/44604
จิบน้ำชา เก๊าไม้ล้านนา - ทริปเชียงใหม่ก่อนผ่าตัดหัวใจ ตอน 2
https://th.readme.me/p/44621
ขอบคุณข้อมูลจาก :
https://www.emagtravel.com/arc...
https://mgronline.com/travel/d...
https://www.silpa-mag.com/cult...
https://www.sarakadee.com/know...
Joy'Gangster
วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2566 เวลา 11.58 น.