พระราชวังจันทน์ : Chan Palace
มาเที่ยวเมืองเก่าอย่างจังหวัดพิษณุโลก ต้องไม่พลาดมาชมประวัติศาสตร์ที่สำคัญของไทย ซึ่งสถานที่แห่งนี้มีชื่อว่า "พระราชวังจันทน์" ชมความงดงามตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ถือได้ว่าที่นี่เป็นแหล่งโบราณสถานเลยก็ว่าได้ ที่สำคัญ คือ เป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับองค์พระนเรศวรอีกด้วย เรามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของที่นี่ไปพร้อมๆ กันค่ะ
พระราชวังจันทน์ เป็นพระราชวังโบราณ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก ซึ่งที่นี่!!! เป็นพระราชวังที่ประทับของพระมหากษัตริย์บางพระองค์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสถานที่เสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเป็นที่ประทับของพระองค์เมื่อทรงดำรงตำแหน่งอุปราช ซึ่งในตอนนั้นเมืองพิษณุโลกยังมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของกรุงศรีอยุธยา และสถานที่แห่งนี้กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานพร้อมทั้งประกาศขอบเขตที่ดินโบราณสถาน เมื่อ ปี พ.ศ. 2537 รวมเนื้อที่ 128 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา
พระราชวังจันทน์ มีหลักฐานการก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม 3 สมัย คือ
▪︎ สมัยแรก : กำหนดอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21 หรืออยู่ในช่วงสุโขทัยตอนปลาย-อยุธยาตอนต้น
▪︎ สมัยที่ 2 : กำหนดอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21-22 และเป็นช่วงเวลาที่มีการอยู่อาศัยในพระราชวังจันทน์อย่างยาวนานที่สุด
▪︎ สมัยที่ 3 : โบราณสถานสมัยที่ 3 (สมัยสุดท้าย)กำหนดอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22-23
นอกจากนี้ภายในบริเวณ พระราชวังจันทน์ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกกลายจุดด้วยกัน วันนี้เราจะพาทุกคนไปทัวร์แบบเจาะลึกทุกที่กันเลยค่ะ Let's go 🚶♀️🚶♂️
1. ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทร์ : The Chan Palace Historical Center
- ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระราชวังจันทร์ เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นอาคารจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองพิษณุโลก เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังจันทร์ และการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยภายในอาคารได้แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 4 ส่วน
🔸️ ห้องที่ 1 : ห้องจัดแสดง พิษณุโลกเมืองประวัติศาสตร์สำคัญ ที่ตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำน่าน แสดงภาพรวมของจังหวัดพิษณุโลก ทั้งลักษณะทางกายภาพ ภูมิศาสตร์ และข้อมูลพื้นฐานของจังหวัด
🔸️ ห้องที่ 2 : บันทึกประวัติศาสตร์ 9 ศตวรรษ เมืองพิษณุโลก เป็นการแสดงเรื่องราวของเมืองพิษณุโลก ในระยะ 900 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่กำเนิดเมืองสองแควจนถึงปัจจุบัน โดยเทียบเคียงระยะเวลากับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์โลก
🔸️ ห้องที่ 3 : พระราชวังจันทน์ ศิลปกรรมและงานช่างหลวงพิษณุโลก แสดงเรื่อราวทางด้านศิลปกรรมชิ้นเอก และโบราณสถานสำคัญของเมืองพิษณุโลก นอกจากนี้ได้มีการจัดแสดงแบบจำลองวัดสำคัญทั้ง 3 วัดในเขตพระราชวังจันทน์ในสภาพสมบูรณ์ไว้อีกด้วย
🔸️ ห้องที่ 4 : สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จากเจ้าฟ้าพระองค์น้อยแห่งวังจันทน์ สู่มหาวีรบุรุษของชาติไทย แสดงเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อแสดงความเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ มีการจำลองพระมาลาเบี่ยง พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง พระแสงดาบคาบค่าย พระแสงทวน และพระแสงของ้าวแสนพลพ่าย นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับวีรกรรมการรบครั้งสำคัญของพระองค์อยู่โดยรอบ
2. ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช : Somdej Phra Naraesuan Shrine
- เป็นสถานที่สำคัญอีกที่หนึ่งของเมืองสองแคว เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวพิษณุโลก สร้างโดยกรมศิลปากร เมื่อ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404
- ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของพระราชวังจันทน์ ตัวศาลเป็นศาลาทรงไทยโบราณตรีมุขคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายในมีพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขนาดเท่าพระองค์จริงพระอิริยาบถประทับนั่ง หลั่งทักษิโณทกจากพระสุวรรณภิงคาร ประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง พ.ศ. 2527 เป็นพระองค์แรกของประเทศไทย
- เมื่อเข้ามาก็จะเห็นรูปปั้นไก่วางเต็มไปหมด นั่นคือ การแก้บนค่ะ จะแก้บนด้วยรูปปั้นไก่ และเป็นที่นิยมมากราบไหว้ขอพรเรื่องความสำเร็จในหน้าที่การงาน
- ใครมาพิษณุโลกก็ไม่ควรพลาดจุดเช็กอินนี้ ควรเดินทางมากราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องจากบริเวณสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่รำลึกถึงคุณงามความดีขององค์สมเด็จพระนเรศวรที่ช่วงปกปักรักษาบ้านเมืองของเราให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขมาได้ถึงทุกวันนี้ และที่นี่!!! จะมีการจัดงานสักการะพระบรมรูปขึ้นในวันที่ 25 มกราคมของทุกปีอีกด้วยค่ะ
3. วัดในเขตพระราชวังจันทน์ : Places of Worship Within Chan Palace
ทางด้านทิศใต้ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระราชวังจันทน์ เป็นอาณาเขตของวัดสำคัญ 3 วัด ซึ่งปัจจุบันยังมีร่องรอยของวัดต่างๆ ให้เราได้เที่ยวชมและศึกษาอยู่ค่ะ เริ่มด้วย
🛕 วัดวิหารทอง : โบราณสถานแห่งเมืองสองแคว
- เป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-21 เพราะเดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดของไทย สูง 21 ศอก 14 นิ้ว ที่สร้างในสมัยสุโขทัย โดยเป็นการหล่อด้วยสำริดทั้งองค์โดยไม่มีการเชื่อมชิ้นส่วน และเมื่อ พ.ศ. 2368 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้อัญเชิญลงมากรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งทรงสร้างวิหารประดิษฐานในวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเฉลิมพระนามว่า "พระอัฎฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร"
- ต่อมา พ.ศ. 2555 กรมศิลปากรได้ดำเนินการหล่อพระอัฏฐารสองค์จำลอง ขนาดสูง 10.52 เมตร หล่อด้วยปูน มาประดิษฐานไว้ในวิหารวัดวิหารทองตามเดิม
- ณ ปัจจุบันวัดวิหารทอง เป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ภายในเขตโบราณสถานพระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน โดยมีเจดีย์ประธานมีรูปแบบพระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้น สภาพในปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานเขียง และฐานบัวลูกฟัก ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระปรางค์ เป็นวิหารขนาดใหญ่ เยื้องกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารเล็กน้อย
- วัดวิหารทอง มีเสาซึ่งอาจเป็นเสาอุโบสถหรือเสาวิหาร 2 แห่ง แห่งแรกติดกับสำนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก อีกแห่งหนึ่งอยู่เหนือขึ้นไปเล็กน้อย และใกล้กับซากอุโบสถวิหาร ยังมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่มากอีกหนึ่งต้น ถัดไปทางทิศตะวันตกกับถนนเทพารักษ์ มีเนินดินขนาดใหญ่อีกหนึ่งเนิน เข้าใจว่าคงเป็นฐานของเจดีย์ และคนละฟากถนนของฐานเจดีย์นี้มีคูน้ำ แต่บางส่วนของคูน้ำนี้ได้ถูกถมเพื่อสร้างเป็นสำนักงานสหกรณ์ครูออมทรัพย์ของจังหวัดพิษณุโลก เข้าใจว่าคูน้ำนี้คงจะมีรอบวัดวิหารทอง
จากซากโบราณวัตถุสถานที่เหลืออยู่ สันนิษฐานได้ว่าคงเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย และคงเป็นวัดใหญ่สำคัญคู่กับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร รออยู่เยื้องกันเล็กน้อยและไม่ห่างกันมาก ปัจจุบันวัดวิหารทองถือว่าเป็นโบราณสถานและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกแห่ง
🛕 วัดศรีสุคต : เจดีย์ประธานทรงระฆัง
- ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ นอกกำแพงพระราชวังจันทน์ สันนิษฐานว่าวัดศรีสุคตน่าจะเป็นวัดที่มีอยู่ก่อนการสร้างพระราชวังจันทน์ กำหนดอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-21
- โบราณสถานแห่งนี้ประกอบด้วย เจดีย์ประธาน เป็นฐานสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐ และมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารศรีวิชัยปูนปั้นอยู่ทั้ง 4 ด้าน องค์เจดีย์ส่วนยอดพังจนหมด สันนิษฐานว่าเดิมเป็นเจดีย์ทรงระฆัง
- ซึ่งแต่ละด้านของแต่ละซุ้ม จะมีพระสาวกปูนปั้นในอิริยาบถประนมมือประทักษิณโดยรอบฐานเจดีย์
- นอกจากนี้ยังมี เจดีย์บริวาร ที่มีลักษณะเป็นเจดีย์ประจำมุมของเจดีย์ด้านหน้าเจดีย์ประธาน หรือด้านทิศตะวันออกเป็นฐานวิหารขนาด 7 ห้อง ก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ ส่วนหลังคานั้นพังจนหมดแล้ว เดิมเป็นโครงสร้างไม้มุงกระเบื้องดินเผา ทำเป็นหลังคาซ้อนกันสามชั้น
- อุโบสถ ตั้งอยู่ทิศใต้ของเจดีย์ประธาน มีขนาด 6 ห้อง ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ส่วนหลังคาพังลงหมด เดิมเป็นเครื่องไม้เช่นเดียวกับวิหาร พื้นอุโบสถปูด้วยกระเบื้องดินเผา ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานเขียงรองรับฐานบัว
🛕 วัดโพธิ์ทอง : ที่เหลือเพียงแค่ส่วนฐานเขียง
- ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ นอกกำแพงพระราชวังจันทน์ ตำแหน่งของวัดขนานไปกับวัดศรีสุคต ไปทางทิศใต้ประมาณ 65 เมตร กำหนดอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-21
- สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาก่อนสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเช่นกัน โดยเจดีย์ประธานของวัดแห่งนี้ เหลือร่องรอยเพียงส่วนฐานซึ่งผ่านงานบูรณะของกรมศิลปากร โดยมีเค้าว่าอาจเป็นฐานของ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือ เจดีย์ยอดทรงดอกบัวตูม อันเป็นหลักฐานที่เชื่อมโยงเมืองพิษณุโลกกับราชธานีสุโขทัย
- ด้านหน้าทางตะวันออกและทางตะวันตกของเจดีย์ประธาน มีซากฐานอาคารก่อด้วยอิฐ มีหลุมเป็นแนว สำหรับปักเสาไม้ สันนิษฐานว่าเป็นอาคารทรงมณฑป ด้านหลังวัดมีเพียงร่องรอยของซากฐาน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ยอดทรงดอกบัวตูม โดยอาจมีอาคารขนาดเล็กอยู่ด้านหน้า เช่นเดียวกับเจดีย์ ทรงระฆังที่อยู่เยื้องไปด้านหน้าทางตะวันออก
ทั้ง 3 วัด สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาก่อนสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เรียกได้ว่าที่นี่!!! เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของพิษณุโลกเลยค่ะ และถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในเชิงประวัติศาสตร์ ที่ยังคงสวยงามอยู่มาก ทำให้คิดไม่ได้ว่าเมื่อครั้งในอดีตนั้นจะสวยงามขนาดไหน
4. สระสองห้อง : Song Hong Pond
- เดิมเรียก หนองสองห้อง เป็นสระน้ำตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกนอกกำแพงพระราชวังจันทน์ เป็นสระน้ำโบราณคู่เมืองพิษณุโลก สระสองห้องประกอบไปด้วยสระน้ำสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่จำนวน 2 สระ สระยาวตามแกนทิศเหนือและทิศใต้ มีเกาะคันดินขนาด 15 × 15 เมตร คั้นกลางทำให้แบ่งสระได้สองส่วน คาดว่าสร้างขึ้นเพื่อการชลประทานของพระราชวังจันทน์
- จากหลักฐานการขุดค้นบริเวณสระสองห้อง พบโบราณวัตถุในสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าบริเวณสระสองห้องเป็นพื้นที่พระราชอุทยานที่สัมพันธ์กับพระราชวังจันทน์สมัยแรก จนกระทั่งถูกทิ้งร้างไป กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-23
- น้ำภายในสระสองห้อง ได้ถูกนำไปใช้ในการประกอบพระราชพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก โดยครั้งล่าสุดได้นำน้ำจากสระไปใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
5. อาคารอนุรักษ์ บ้าน 2 หลัง : History of Ban Song Lang, the two conserved buildings
อาคาร 2 หลัง ที่จะพาไปชมนี้ เป็นอาคารที่ตั้งอบู่ในเขตพื้นที่โบราณสถานพระราชวังจันทน์ โดยมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมไทยทรงปั้นหยา ที่สร้างขึ้นด้วยไม้เนื้อแข็งและไม้สัก โครงหลังคามีรูปทรงปั้นหยา มีมุขหน้าจั่ว และระเบียงด้านหน้าบ้าน ภายในแบ่งเป็นห้องหลายห้อง ประดับลายฉลุเหนือซุ้มประตู หน้าต่างและเสา ทีนี้เรามาดูบ้านในแต่ละแบบกันค่ะ
🔸️ อาคารพระสวัสดิราช : อาคารด้านทิศเหนือ
- นามของอาคารหลังนี้ ได้นำพระนามของ พระสวัสดิราช พระราชบิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ซึ่งต่อมาทรงได้รับสถาปนาเป็นพระอัครมเหสีของพระมหาธรรมราชา พระนามว่าพระวิสุทธิกษัตริย์ ประทับอยู่พระราชวังจันทน์แห่งนี้ ซึ่งเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มาตั้งเป็นชื่ออาคารไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติคุณสืบไป
- อาคารพระสวัสดิราช สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2456 มีพื้นที่ใช้สอย 532 ตารางเมตร ใช้สำหรับเป็นบ้านพักเจ้าพนักงานป่าไม้ภาคพิษณุโลก โครงหลังคามีรูปทรงปั้นหยา มีมุขหน้าจั่ว หลังจากที่มีการก่อสร้างอาคารสำนักงานป่าไม้ภาคพิษณุโลกขึ้น ในปีพุทธศักราช 2467 แล้ว ได้ใช้อาคารหลังนี้เป็นบ้านพักของผู้อำนวยการป่าไม้เขตพิษณุโลก และผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 ตามลำดับ อาคารหลังนี้ได้มีการบูรณปฏสังขรณ์มาโดยตลอด
🔸️ อาคารขุนพิเรนทรเทพ : อาคารด้านทิศใต้
- นามของอาคารหลังนี้ ได้นำชื่อของ ขุนพิเรนทรเทพ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น พระมหาธรรมราชา ครองเมืองพิษณุโลก ประทับอยู่พระราชวังจันทน์แห่งนี้ และต่อมาได้เสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา พระนามว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า พระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มาตั้งเป็นชื่ออาคารไว้เพื่อเป็นอนุสนณ์เฉลิมพระเกียรติคุณสืบไป
- อาคารขุนพิเรนทรเทพ สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2467 สำหรับเป็นที่ทำการของสำนักงานป่าไม้ภาคพิษณุโลก แทนอาคารเดิม ที่ใช้เป็นทั้งที่ทำการและเป็นบ้านพักเจ้าพนักงาน มีพื้นที่ใช้สอย 512 ตารางเมตร สร้างจากไม้เนื้อแข็งและไม้สัก โครงหลังคามีรูปทรงปั้นหยา มีบันไดขึ้นตรงกลาง มีมุขซ้ายขวา อาคารหลังนี้ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด
โดยอาคารทั้ง 2 หลังนี้ เมื่อปีพุทธศักราช 2558 องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้เข้ามาทำการบูรณะให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยโบราณ เพื่อจัดเป็นที่แสดงนิทรรศการและเพื่ออนุรักษ์ศิลปะอันทรงคุณค่าให้อยู่คู่เมืองพิษณุโลกต่อไป
6. บริเวณภายนอกโดยรอบพระราชวังจันทน์
🌁 สะพานพระราชวังจันทร์
- แลนด์มาร์กใหม่ใจกลางเมือง "พิษณุโลก" เป็นสะพานเหล็กโค้งไร้เสาแห่งแรกของไทย ตัวสะพานมีความยาวรวม 116 เมตร แบ่งเป็น 5 ช่วงความยาว ผิวทางกว้าง 7 เมตร รองรับการจราจร 2 ช่องจราจร (ไป–กลับ)
- แต่ละด้านของสะพานมีทางเท้าและทางจักรยานกว้างด้านละ 3 เมตร
- โครงสร้างสะพานช่วงข้ามแม่น้ำมีลักษณะเป็นสะพานเหล็กโค้ง (Steel Arch Bridge) ความยาวช่วง 80 เมตร เพื่อหลีกเลี่ยงการก่อสร้างเสาตอม่อในแม่น้ำอันอาจจะเป็นอุปสรรคต่อประเพณีการแข่งเรือยาวที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
นอกจากนี้ยังมีจุดถ่ายรูปกับสะพานนเรศวร อยู่ใกล้ๆกับสะพานพระราชวังจันทน์อีกด้วยค่ะ
ศาลหลักเมืองพิษณุโลก
- ศาลหลักเมืองนี้ ประดิษฐานอยู่ริมแม่น้ำน่าน ในอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน ปี พ.ศ.2540 อยู่ทางด้านฝั่งตะวันตกออก โดยอาคารของศาลหลักเมืองนั้นออกแบบโดยกรมศิลปากร มียอดปรางค์ ฐานกว้าง 16.60 เมตร สูง 10.65 เมตร ซึ่งเสาหลักเมืองนั้นทำจากไม้มงคลหลายชนิดด้วยกัน ได้รับมอบมาจากหลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
- ส่วนที่หนึ่ง จากโคนลำต้น ลำต้นถึงลูกฟัก ทำจากไม้ราชพฤกษ์
- ส่วนที่สอง เป็นท่อนลูกแก้ว ทำจากไม้ชิงชัน
- ส่วนที่สาม เป็นส่วนยอด(ยอดบังตูม)ประกอบด้วยลูกแก้วทำจากไม้สักทองตายพราย
และได้นำไปเข้าพิธีพุทธาภิเษกที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
- ซึ่งความคิดในการสร้างนั้น ตามคำบอกเล่าว่า จังหวัดพิษณุโลกนั้น มีเสาหลักเมืองเป็นลักษณะของศิลาจารึกเดิมที่ฝังอยู่ใต้ดินริมแม่น้ำน่าน บริเวณหัวกำแพงหักหรือกำแพงขาดในกรมทหาร ซึ่งอยู่ห่างจากพระราชวังจันทน์ไม่มาก
แต่!!! บ้างก็ว่า...ในปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพุทธชินราช บ้างก็ว่า...ได้จมอยู่ในลำน้ำน่าน บ้างก็ว่า...เคยมีการวางศิลาฤกษ์ เพื่อสร้างศาลหลักเมืองบริเวณหน้าวัดนางพญา เป็นต้น
- สิ่งของที่ใช้ไหว้พระศาลหลักเมือง ก็คือ ธูป เทียน แผ่นทอง พวงมาลัย 2 พวง ดอกบัว และผ้าสี สามารถมาหาบูชาได้ด้านข้างศาลหลักเมืองค่ะ และศาลหลักเมืองได้กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองพิษณุโลกมาจนถึงทุกวันนี้
ใครไปเที่ยวเมืองสองแคว พิษณุโลก ก็อย่าลืมแวะไปเที่ยวพระราชวังจันทน์ และไปไหว้ขอพรที่ศาลหลักเมืองพิษณุโลกกันด้วยนะคะ 🙏
🎯 : ตำบลบ้านคลอง อำเภอเมืองพิษณุโลก พิษณุโลก 65000
⏰️ : เปิดวันอังคาร-วันอาทิตย์ 09:00-16:00 น. (หยุดทุกวันจันทร์)
🌏 : https://maps.app.goo.gl/BJDuk6...
🤗ขอให้ทุกคนมีความสุข สนุกกับการใช้ชีวิต
ในแบบฉบับของตัวเองนะคะ🚘🧳🏖🌄
❣️ช่องทางการติดตามเพจ❣️
https://www.facebook.com/TIEWD...
#เที่ยวได้กินกินได้เที่ยว
#เที่ยวพิษณุโลก #พิษณุโลก
#พระราชวังจันทน์
#ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทร์
#ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช #วัดวิหารทอง
#พระอัฎฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร
#วัดศรีสุคต #วัดโพธิ์ทอง #สระสองห้อง
#หนองสองห้อง #อาคารพระสวัสดิราช
#อาคารขุนพิเรนทรเทพ #สะพานพระราชวังจันทร์
#ศาลหลักเมืองพิษณุโลก
เที่ยวได้กิน กินได้เที่ยว
วันเสาร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 15.19 น.