พื้นที่ใจกลาง กรุงรัตนโกสินทร์ แวดล้อมไปด้วยศาสนสถานและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย ส่วนมากได้ปรับเปลี่ยนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมทั้งในกลุ่มชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง คือ ท่ามหาราช และท่าพระจันทร์ ท่าน้ำสำคัญที่เป็นที่ตั้งของชุมชน แหล่งการค้า และสถานศึกษาอันเลื่องชื่อ ย่านนี้คึกคักตลอดเวลา มีผู้คนสัญจรไปมาไม่เคยขาดสาย
ท่ามกลางบรรยากาศดังกล่าว ข้ามมาเพียงแค่ถนนเล็ก ๆ กั้น ปรากฏกำแพงสีขาวสลับกับอาคารก่ออิฐถือปูนโบราณทอดขนานกับถนนมหาราช บ่งบอกว่ามีพระอารามตั้งอยู่ น่าแปลกที่บรรยากาศในวัดค่อนข้างแตกต่างไปจากวัดอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงพอสมควร ทั้งความวิจิตรอลังการของสิ่งก่อสร้างที่น่าตื่นตาตื่นใจ และจำนวนนักท่องเที่ยวผู้มาเยือ
บรรยากาศที่เงียบสงบ ตรงข้ามกับโดยรอบอย่างสิ้นเชิง...ที่นี่ คือหนึ่งในวัดที่สำคัญที่สุดของกรุงเทพมหานคร
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ซึ่งมีเพียง 6 แห่งในประเทศไทย
ประวัติวัดระบุไว้ว่า วัดมหาธาตุฯ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อว่า วัดสลัก ซึ่งในขณะนั้นอาจเป็นวัดประจำชุมชน ซึ่งมีฐานะธรรมดา ความสำคัญของวัดแห่งนี้ได้เริ่มขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์
พ.ศ. 2326 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้บูรณะวัดสลักขึ้นใหม่ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น วัดนิพพานาราม
พ.ศ.2331 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำ การสังคายนาพระไตรปิฎก ณ วัดนิพพานาราม โดยอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) สมเด็จพระสังฆาราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์มาทรงเป็นประธานในการดำเนินการ ใช้เวลาห้าเดือนจึงแล้วเสร็จ ในการนี้ วัดนิพพานารามได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า วัดพระศรีสรรเพชญ
พ.ศ.2346 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชทานนามวัดใหม่อีกครั้ง เปลี่ยนเป็น วัดมหาธาตุ ตามธรรมเนียมเมื่อครั้งโบราณว่าในเมืองสำคัญจะต้องมีวัดมหาธาตุ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ช่วงนี้ได้เกิดธรรมเนียมว่า สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จะเสด็จมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ จึงทำให้สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 2-5 สถิตที่วัดแห่งนี้ จนยกเลิกธรรมเนียมไปนับแต่พระองค์ที่ 6 ลงมา

ล่วงมาถึงรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จสวรรคต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารถาวรวัตถุขึ้นที่หน้าวัด ฝั่งถนนหน้าพระธาตุ เพื่อใช้ประกอบการพระราชพิธีพระศพ และเป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรม
พ.ศ.2439 มีการบูรณะครั้งใหญ่อีกครั้ง และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน

แม้จะเป็นพระอารามที่มีความสำคัญมาก แต่เนื่องจากได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้สถาปัตยกรรมของวัดนี้จึงสร้างตามแบบ สกุลช่างวังหน้า ที่ค่อนข้างเรียบง่ายและแตกต่างจากสกุลช่างหลวง เช่น ไม่มีการทำยอดปราสาท ทำหลังอาคารเป็นทรงจั่วชั้นเดียว กรอบหน้าบันเรียบ ไม่ทำนาคสะดุ้งหรือกรอบหยัก ใบเสมาก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนแท่นที่พื้น แต่นำไปติดบนผนังแทน

พระมณฑป
พระมณฑปของวัดมหาธาตุฯ ไม่ได้มีหลังคายอดแหลมทรงปราสาทเหมือนที่อื่น ๆ มีสาเหตุมาจากข้อจำกัดของศิลปกรรมวังหน้า ที่สร้างอาคารยอดแบบวังหลวงไม่ได้ ประกอบกับเคยเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งหนึ่ง จึงมีการสร้างหลังคาทรงโรงอย่างที่เห็น
พระมณฑปเปรียบได้กับหัวใจของวัดแห่งนี้ เพราะเป็นที่ประดิษฐาน พระเจดีย์ทอง พระเจดีย์ทรงเครื่องในผังเพิ่มมุมไม้สิบสองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อันเป็นที่มาของชื่อวัด
รอบพระเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณจำนวน 28 องค์ มีทั้งพุทธศิลป์สุโขทัยและอยุธยารวมอยู่ด้วยกัน




พระอุโบสถ
แม้อาคารจะสร้างอย่างเรียบง่าย ไม่มีการตกแต่งมากนัก แต่ขนาดของพระอุโบสถนั้นใหญ่โตมาก ยิ่งหากเข้ามาข้างในก็จะเหมือนกับห้องโถงที่จุคนได้กว่าร้อยคน และสามารถเห็นโครงสร้างอาคารและเสาขนาดใหญ่ที่รับน้ำหนักจากคานด้านบน นี่เองที่ทำให้กล่าวกันว่า ที่นี่เป็นพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร


พระประธานในพระอุโบสถมีนามว่า พระศรีสรรเพชญ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง พุทธลักษณะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งคล้ายกับสมัยอยุธยาตอนปลาย แตกต่างกันที่พระพักตร์นั้นค่อนข้างเหลี่ยม นิ่ง ขรึมหมือนกับหน้าหุ่น
รอบองค์พระประดิษฐานรูปพระสาวกแปดองค์ นั่งประนมมือ เสมือนว่ากำลังเฝ้าหรือฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า




พระวิหาร
พระวิหารตั้งอยู่คู่กันกับพระอุโบสถ มีลักษณะคล้ายกันเกือบทุกประการ เพียงแต่มีการทำมุขโถงด้านหน้าและหลัง หน้าบันประดับตราพระราชลัญจกรในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระปิตุลา (ลุง) ในรัชกาลที่ 8 และ 9

พระประธานในพระวิหารมีนามว่า พระสักยมุนี มีพุทธลักษณะคล้ายกับพระศรีสรรเพชญ รอบ ๆ ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณจำนวนมาก

พื้นที่บางส่วนในพระวิหาร จัดแสดงโบราณวัตถุของวัด เช่น ตู้พระธรรม หีบคัมภีร์ ชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ศิลาจารึก ที่ถูกค้นพบในสระน้ำ (ปัจจุบันถูกถมเพื่อสร้างอาคารเรียน) กล่าวกันว่าเดิมติดอยู่กับฐานของพระประธาน เมื่อนักวิชาการมาตรวจสอบข้อความแล้วพบว่า ศิลาจารึกนี้จัดทำขึ้นใน พ.ศ. 2228 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา เนื้อความกล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูป
นี่จึงอาจเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาจริง ๆ

พระระเบียง
บริเวณของพระมณฑป พระอุโบสถ และพระวิหาร ล้อมรอบด้วยพระระเบียง ตามแบบแผนของวัดโบราณ มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยจำนวนกว่าร้อยองค์ประดิษฐานอยู่ในนี้
บางองค์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จากพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น พระจิตรพงศพุทธนิรมิต ซึ่งปฏิสังขรณ์โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ บุคคลสำคัญ ผู้ทรงเป็นนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม



กาลเวลาผ่านไปกว่าร้อยปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์แห่งนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม พื้นที่ในวัดคับแคบลงเนื่องจากการก่อสร้างอาคารใหม่ ๆ พื้นที่บางส่วนกลายเป็นลานจอดรถเพื่อรองรับกับสภาพแวดล้อมภายนอก แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ในอาณาเขตของพระระเบียง ยังคงความงามของสถาปัตยกรรมให้ได้รำลึกถึงความสำคัญและความรุ่งเรืองครั้งอดีตกาล
หากใครมีโอกาสมาเที่ยวสนามหลวง ท่ามหาราช และท่าพระจันทร์ อย่าลืมแวะมาไหว้พระทำบุญ และพินิจสถาปัตย์แบบวังหน้า ณ วัดสำคัญแห่งนี้...
-----
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร
ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พระมณฑป พระอุโบสถ และพระวิหาร เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.00 น. หากมาในวันพระอาจเข้าชมไม่ได้ทุกอาคาร เนื่องจากมีการใช้พื้นที่ประกอบพิธีและปฏิบัติธรรม
-----
แง้มประตู ดูจิตรกรรม
วันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 23.02 น.