หลังจากเติมแต้มบุญจากวัดพระบรมธาตุนครชุม https://th.readme.me/p/45186 เป็นที่เรียบร้อย หน้าตาผ่องแผ้วสดใสอิ่มบุญกันถ้วนหน้า กายพร้อม ใจพร้อม กันแดดพร้อม และเพื่อนสมาชิกก็ต้องพร้อม ตัดข้ามแม่น้ำปิงมาอีกประมาณ 9 นาทีก็ถึงที่หมาย หรือถ้ามาจาก กรุงเทพศรีรามเทพนคร (นั้นมันอยุธยาศรีรามเทพนคร) ก็เป็นระยะทางประมาณ 350 กว่ากิโลเมตร
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงในเขตอำเภอเมือง มีพื้นที่ประมาณ 3.4 ตารางกิโลเมตร เขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ประมาณ 2,114 ไร่แบ่งออกเป็น 2 เขต คือ
1.เขตภายในกำแพงเมือง (พื้นที่ 503 ไร่)
2.เขตนอกกำแพงเมือง (เขตอรัญญิก) (พื้นที่ 1,611 ไร่)
เมืองเก่าที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยจากจารึกหลักที่ 3 (ศิลาจารึกนครชุม) พ.ศ. 1900 ถ้าปีนี้ 2566 ก็มีอายุราว ๆ 666 ปี เดิมเรียกชื่อว่า "เมืองชากังราว" ปัจจุบันก็คงเป็นเฉาก๊วยที่โด่งดังไม่เป็นสองรองที่ใด และด้วยความสวยงามทั้งด้วยศิลปะ สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรม ยูเนสโก (UNESCO) จึงได้ประกาศให้ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เป็นหนึ่งใน แหล่งมรดกโลก เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราจะพาทุกท่านแตกแดดตากลมไปพร้อม ๆ กัน และที่สำคัญ... อย่าลืมทาครีมกันแดดกันก่อนที่จะเลื่อนเมาส์นะครับ ^^
1. ซื้อตั๋วและสตาร์ทรถ (เลื่อนเมาส์) กันได้เลย
เมืองกำแพงเพชร ลักษณะผังเมืองเป็นรูปคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู วางแนวยาวขนานไปกับ ลำน้ำปิง ตามทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ถึงทิศตะวันออกเฉียงใต้ กำแพงเมืองเดิม คงมีลักษณะเป็นคันดินและคูเมือง 3 ชั้น ต่อมาได้พัฒนากำแพงเมืองขึ้นไปเป็นกำแพงศิลาแลง มีการสร้างเชิงเทิน ใบเสมา และป้อมประตูรอบ ส่วนที่เป็นกำแพงด้านในยังคงปรากฎร่องรอยให้เห็นอยู่ข้างบริเวณด้านทิศเหนือ เชื่อกันว่ากำแพงศิลาแลงนี้คงมาดำเนินการก่อสร้างในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1911 – 2031) (กรมศิลปากร, 2566) เดี่ยวความรู้จะเยอะเกินไปเอาเป็นว่าเราไปเที่ยวกันเลยดีกว่า
อย่างที่บอกอุทยาน ฯ จะมี 2 โซนอยู่คนละที่กันดังนั้นหากเราเราจะเที่ยวชมทั้ง 2 โซน แนะนำว่าตอนซื้อตั๋วก็จัด 2 โซนไปเลย เพราะบัตรเข้าเที่ยวชมโซนละ 20 บาท/คน ถ้า 2 โซน ก็จะเพียงแค่ 30 บาท หากเอารถมาก็แว๊นกันเลยในราคาคันละ 50 บาท (ค่าคาร์บอนไปแลกปุ๋ยให้ต้นไม้หยอก ๆ )
เอาหละโซนแรกที่เราจะไปนั่นก็คือ โบราณสถานนอกกำแพงเมือง โดยทั่วไปเรียกกันว่า “เขตอรัญญิก”
.......................................
1. วัดช้างรอบ
วัดช้างรอบ หนึ่งในแลนด์มาร์คสำคัญของที่แห่งนี้ ตั้งอยู่บนเนินเขาลูกรัง ด้านบนวัดมีพระเจดีย์ขนาดใหญ่เป็นองค์ประธานทรงระฆังอยู่ตรงกลาง (ปัจจุบันยอดหักแล้ว) มีฐานเจดีย์กว้างถึง 31 เมตร รอบเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมสูงใหญ่มีรูปสลักเป็นช้างทรงเครื่องจำนวน 68 เชือก ตัวช้างปั้นด้วยปูนแกนในโกลนจากศิลาแลง หัวและสองขาหน้าโผล่พ้นจากผนังประดับลวดลายปูนปั้นที่แผงคอ กำไลโคนขา และข้อขา ผนังระหว่างช้างแต่และเชือกตกแต่งลายปูนปั้นนูนสูงรูปต้นไม้ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2023)
มีบันไดทางขึ้นสี่ด้านและชันมากประมาณนึง ส่วนด้านหน้าด้านหน้าเจดีย์ประธานมีฐานวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าปรากฏแนวแท่นอาสนสงฆ์และฐานประดิษฐานพระประธาน
........................................................
2. วัดสิงห์
วัดสิงห์ มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 20 – 22 แผนผังวัดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก กำแพงวัดทั้ง 4 ด้านก่อด้วยศิลาแลงแท่งสี่เหลี่ยมปักเรียงติดกัน เดิมพระอุโบสถหลังนี้เคยใช้เป็นวิหารมาก่อน ยังคงหลงเหลือพระประธานนั่งเด่น ชานชาลาด้านหน้าฐานไพทีมีรูปสิงห์ปูนปั้นแกนศิลาแลง
ถัดไปเป็นเจดีย์ประธานมีกำแพงแก้วล้อมรอบ เจดีย์ประธานเหลือเฉพาะฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมและฐานบัวสี่เหลี่ยมตอนล่างทำเป็นซุ้มพระยื่นออกมาทั้ง 4 ทิศ องค์เจดีย์ก่อด้วยอิฐซึ่งต่างไปจากเจดีย์ประธานอื่นๆ แต่ส่วนยอดเจดีย์พังทลายไปหมดแล้ว
........................................................
3. วัดพระสี่อิริยาบถ
วัดสร้างจากศิลาแลง มีมณฑปจัตุรมุขมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในสี่อิริยาบถ พระพุทธรูป 4 ปางแต่ละทิศ คือ เดิน นั่ง ยืน และนอน แต่พอมาดูรูปเหมือนพบแค่รูปเดียวคือ ปางเดิน (ลีลา)
........................................................
4. วัดพระนอน
วัดพระนอน อีกหนึ่งวัดที่มีความสวยงามกำแพงวัดก่อสร้างด้วยศิลาแลงแผนผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในวัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนคือ เขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส บริเวณหน้าวัดมีบ่อน้ำ ห้องน้ำและศาลาพัก เสาวิหารใช้ศิลาแลงมีขนาดสูงใหญ่เรียงอยู่ภายในอาคาร สันนิษฐานว่าสมัยก่อนตัวหลังคาน่าจะเป็นไม้ เนื่องจากมีช่องสี่เหลี่ยมตามหัวเสาเหมือนมีไว้สำหรับสอดคาน
สำหรับนอกเมืองก็จบเป็นที่เรียบร้อย เอาเหงือซึม ๆ กันเลยทีเดียว ถัดจากเขตอรัญญิกซึ่งอยู่นอกเขตกำแพงเมืองแล้ว ต่อไปเราจะพาทุกท่านไปในเขตกำแพงเมืองซึ่งตั้งอยู่ในขอบเขตของเมืองกำแพงเพชร ฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำปิง มีคูเมืองและกำแพงเมืองศิลาแลงรอบล้อม แต่ก่อนอื่นเราจะแวะสักการะหลักเมืองจังหวัดกำแพงเพชรกันเสียก่อนเพื่อเอาฤกษ์เอาชัย
........................................................
5. ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร
ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร สันนิษฐานว่าสร้างสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ทําด้วยศิลาแลงรูปกลมยาวประมาณ 2 เมตร ฝังโผล่พ้นดินขึ้นมาประมาณหนึ่งเมตร มีรูปเศียรเทพารักษ์อยู่บนยอดศิลาแลง และมีการปรับปรุงบูรณะมาตลอดหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2566)
ภาระกิจเสร็จสิ้น ถัดจากหลักมืองขับวนซ้ายไปยังทางเข้า อุทยานฯ อีกโซนหนึ่งคราวนี้เราจะพาทุกท่านเข้าสู่ เขตกำแพงเมือง ซึ่งเราซื้อตั๋วไว้แล้วก็สามารถเข้าได้เลย แต่ถ้ายัง ก็อีกคนละ 20 รถยนต์คราวนี้ไม่เสีย เพราะไม่สามารถขับเข้าไปได้แล้ว ต่อจากนี้เราต้องพึงลำแข้งของตนเอง เอาหละหยิบร่มแล้วเราไปที่แรกกันเลย
........................................................
6. วัดพระธาตุ
วัดพระธาตุ คือสถานที่แรกที่ตั้งอยู่ทางด้านหน้าสุดเมื่อเข้าประตูมา เจดีย์ประธานภายในวัดเป็นแบบเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังสูงขนาดใหญ่ก่อด้วยอิฐ องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยมที่ซ้อนลดหลั่นกันหลายชั้น
กว่าจะรู้ว่าเทคโนโลยีไปไกลแค่ไหนก็เกือบที่สุดท้าย บริเวณใกล้จุดสำคัญจะมีป้ายคอยบอกชื่อสถานที่พร้อมคำอธิบายข้อมูล และจะมี QR code ที่สามารถฟังข้อมูลแทนการอ่านได้ด้วย โดยมีหลายภาษาให้เลือกอีกต่างหาก และที่สุดจัดปลัดไม่ได้บอกคือหากโหลดภาพตามวิธีการที่เขาบอก เราจะสามารถเห็นภาพจำลองสถานที่สำคัญนั้นแบบเป็นกราฟฟิกตามการสันนิษฐานและองค์ความรู้ของกรมศิลปากร ว้าวหน่วยงานราชการไทยของเราก็เอาเรื่องอยู่นะเนี่ย
.......................................................
6. วัดพระแก้ว
วัดพระแก้ว อยู่ถัดจากวัดพระธาตุมา เป็นวัดพระอารามหลวงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่กลางเมืออยู่ติดกับบริเวณเป็นพระอารามหลวงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีเฉพาะเขตพุทธาวาสไม่มีพระภิกษุจำพรรษา กำแพงวัดเป็นศิลาแลงกลมทั้งท่อนสูงประมาณ 1 เมตรกว่า ๆ สิ่งก่อสร้างภายในส่วนใหญ่เป็นศิลาแลง ตอนหน้าสุดของวัดเป็นฐานไพทีใหญ่ บนฐานมีโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปประธาน ถัดมาตรงกลางของวัดมีพระเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ แบบลังกาองค์ที่มีขนาดใหญ่เป็นประธาน มีฐานสี่เหลี่ยมมีสิงห์ล้อมรอบ
วิหารวัดพระแก้ว ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสามองค์ ประกอบด้วยพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ด้านหน้า 1 องค์ ด้านหลังลึกเข้าไปมีพระนอน และพระพุทธรูปอีก 2 องค์ จากเอกสารตำนานโบราณกล่าวถึงพระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงค์ว่าได้เคยประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชร ซึ่งน่าจะประดิษฐานที่วัดพระแก้วแห่งนี้ (อบจ.กำแพงเพชร, 2566)
ก็จบไปกันแล้วนะครับสำหรับทริปยาว ๆ ของ เมืองกำแพงเพชร ตอนต่อไปเราจะพาทุกท่านไปที่ไหนฝากติดตามรับชมกันได้
"หากอ่านแล้วชอบก็ช่วยแชร์กันต่อ แต่ถ้าแค่รู้สึกรักกันสักหน่อยขอแค่ไลท์สักนิดก็พอ"
สวัสดีครับ
เสือซ่อนยิ้ม
วันอังคารที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เวลา 20.11 น.