"วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เชียงใหม่"
หรือ ที่คนเชียงใหม่มักเรียกว่าสั้นๆ
"วัดเจดีย์หลวง"
🛕 วัดเจดีย์หลวง วัดที่มีตำนานเล่าขานว่า...ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต พระคู่บ้านคู่เมืองของไทย เป็นวัดที่มีเจดีย์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ และยังมี "เสาหลักเมืองเชียงใหม่" ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหาร ณ วัดแห่งนี้
ประวัติวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
วัดเจดีย์หลวง เป็นวัดพระอารามหลวงแบบโบราณที่เก่าแก่ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ ถ้านับจนถึงปัจจุบันมีอายุ 631 ปี สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ ลำดับ ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย น่าจะสร้างในปี พ.ศ. 1928 - 1945
แต่เดิมวัดมีชื่อว่า "โชติการามวิหาร" แปลว่า พระอารามที่มีแต่ความรุ่งเรืองสว่างไสว เนื่องจากเป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความหมายอีกนัยหนึ่งของคำว่า "โชติการาม" คือ เวลาที่มีการจุดประทีปโคมไฟไปประดับบูชาองค์พระธาตุเจดีย์หลวง จะปรากฏแสงสีสว่างไสว มองเห็นองค์พระเจดีย์คล้ายเชิงเทียนที่มีเปลวไฟลุกโชติช่วงสว่างไสว ดูแล้วมีความงดงามมาก สามารถมองเห็นได้แต่ไกล และมีอีกชื่อที่เรียกวัดแห่งนี้ คือ "วัดราชกุฏาคาร" ซึ่งคำว่า "ราชกุฎาคาร" หมายถึง ราชาแห่งอาคารเรือนยอด
ช่วงปี พ.ศ. 2471-2481 สมัยพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ถือได้ว่าเป็นทศวรรษแห่งการบูรณะครั้งสำคัญของวัดพระเจดีย์หลวง ได้มีการรื้อถอนสิ่งปรักหักพัง แผ้วถางป่าที่ขึ้นปกคลุมโบราณสถานต่างๆ ออก แล้วสร้างเสริมเสนาสนะขึ้นใหม่ให้เป็นวัดสมบูรณ์แบบในเวลาต่อมา
ต่อมาจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดเจดีย์หลวง" เนื่องจากในภาษาเหนือหรือคำเมือง คำว่า "หลวง" แปลว่า "ใหญ่" หมายถึง พระธาตุเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่นั่นเองค่ะ
ปูชนียสถานที่สำคัญของทางวัด
พระธาตุเจดีย์หลวง
ถือว่าเป็นเจดีย์ที่มีความสำคัญที่สุดของเมืองเชียงใหม่ เป็นพระธาตุที่มีความสูงที่สุดในภาคเหนือ คือ สูงประมาณ 80 เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 60 เมตร ถูกสร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20
🔸️สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ ลำดับ ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ซึ่งเป็นโอรสของพญากือนา ขณะที่มีพระชนมมายุ 39 ปี พระองค์โปรดให้สร้างพระเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในปี พ.ศ. 1928 - 1945 แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จดีก็สวรรคต พระราชินีผู้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ได้โปรดให้ทำยอดพระธาตุเจดีย์หลวงจนแล้วเสร็จ และได้มีการบูรณะมาอีกหลายสมัย
🔸️สมัยของพระยาติโลกราช ในปี พ.ศ. 2011-2091 ได้โปรดให้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ครอบองค์เดิม โดยขยายเจดีย์ให้สูงให้กว้างกว่าเดิม มีฐานกว้าง 56 เมตร สูง 90 เมตร ปรับรูปทรงเจดีย์เป็นพุทธศิลปะ สถาปัตยกรรมล้านนาผสมโลหะปราสาทลังกา และทรงเจดีย์แบบพุกามพม่า ดัดแปลงซุ้มจระนำมุขเจดีย์ด้านทิศตะวันออกให้เป็นซุ้มและแท่นฐานประดิษฐาน "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร" (พระแก้วมรกต) เป็นเวลานานถึง 79 ปี แล้วจึงนำไปประดิษฐานในวิหารหลวง 1 ปี รวมเป็นเวลานานถึง 80 ปี
🔸️สมัยพระเมืองแก้ว ในปี พ.ศ. 2055 ได้มีการหุ้มองค์พระธาตุเจดีย์หลวงด้วยแผ่นทองคำ
🔸️สมัยพระนางจิระประภา รัชกาลที่ 15 แห่งราชวงศ์มังราย เมื่อปี พ.ศ. 2088 เกิดแผ่นดินไหวทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลง มีการสันนิษฐานว่าเจดีย์อาจมีความสูงถึง 80 เมตร ซึ่งทำให้เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในภาคเหนือในช่วงเวลานั้น และได้ถูกทิ้งให้ร้างมานานกว่า 400 ปี
🔸️ในปี พ.ศ. 2533 ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์หลวงขึ้นใหม่ โดยกรมศิลปากร แล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2535 และได้นำเอาบันไดนาคปรก (พญานาคพ่นน้ำ) กลับมาวางไว้ตรงทางขึ้นและมีการปั้นรูปช้างอันสวยงามไว้ที่บริเวณฐานของเจดีย์ ทั้งนี้งานปั้นนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการต่อแต่อย่างใด
แต่!!! ในปัจจุบันพระเจดีย์คงเหลือสภาพเพียงครึ่งองค์เท่านั้น มีความสูงคงเหลือเพียง 40.80 เมตร ส่วนขนาดความกว้างยังคงมีขนาดเท่าเดิม
เสาอินทขิล หรือ เสาหลักเมือง
สร้างขึ้นเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราช สถาปนาราชธานี "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" ปี พ.ศ.1839 ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยศิลปะแบบล้านนาหลังเล็กๆ เสาอินทขิลนี้สร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ฝังอยู่ใต้ดิน รอบเสาวัดได้สูง 2.27.5 เมตร วัดรอบโคนเสาได้ 5.67 เมตร รอบปลายเสา 3.4 เมตร
แรกสร้างตั้งอยู่ที่วัดสะดือเมือง พระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 วงศ์ทิพจักร ให้ย้ายมาไว้ ณ วัดเจดีย์หลวงเมื่อ พ.ศ.2343 และภายในวิหารมีพระพุทธรูปทองสำริดปางรำพึง ที่พลตรีเจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) นำมาถวายวัดเจดีย์หลวง เมื่อปี 2514 ประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกเหนือเสาอินทขิลให้ได้สักการบูชาคู่กับเสาหลักเมือง และทุกๆ ปีในวันแรม 12 ค่ำ เดือน 8 (เหนือ) ของทุกปี หรือประมาณเดือนพฤษภาคม จะมีงานเรียกว่า "ประเพณีบูชาเสาอินทขิล" เป็นงานบุญใหญ่ของทางวัดค่ะ
และในบริเวณใกล้ๆ กับเสาหลักเมือง จะมีต้นยางใหญ่ มีกุมภัณฑ์ ผู้รักษาเสาอินทขีล อยู่ประจำศาลใต้ มีนามว่า "พญายักขราช"
และกุมภัณฑ์ ผู้รักษาเสาอินทขีล อยู่ประจำศาลเหนือ มีนามว่า "พญาอมรเทพ"
พระวิหารหลวงทรงล้านนา
สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ได้รื้อพระวิหารหลังเก่าและสร้างวิหารหลวงขึ้นใหม่ด้วยไม้ทั้งหลัง ในปี พ.ศ. 2423
ต่อมาเจ้าคุณอุบาลี คุณปรมาจารย์ และเจ้าแก้วนวรัฐ ได้สร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2471 ภายในประดิษฐาน "พระประธานพระอัฎฐารส" ปางประธานอภัย ตามศิลปะแบบเชียงใหม่ตอนต้นที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะปาละ (อินเดีย) หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ สูง 18 ศอก ส่วนด้านหน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหารงดงามยิ่ง นาคคู่นี้เป็นฝีมือเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เดิม และได้ชื่อว่าเป็นนาคที่สวยงามที่สุดของภาคเหนือ แต่ปัจจุบันพระวิหารหลวง อยู่ในช่วงบูรณะซ่อมแซม จะเปิดเฉพาะในช่วงที่มีพิธีสำคัญทางพุทธศาสนาค่ะ
นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสิ่งสักการะและสถานที่สำคัญอีกหลายจุด ให้ได้เดินเยี่ยมชม และในส่วนของดอกไม้ธูปเทียน เครื่องบูชาต่างๆ ทางวัดก็มีร้านค้าที่คอยให้บริการอยู่ทางด้านขวามือเมื่อเราเดินเข้ามาภายในวัดค่ะ
วิหารท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
พระวิหารจุตุรมุขบูรพาจารย์
ศาลาพระเจ้าทันใจ
ศาลาแสนสุขใจ หลวงพ่อเพชรทันใจ หลวงพ่อนาคเปิดโลก
พระเจ้าทอง และ พระเจ้าเงิน
จุดบูชาดอกไม้ธูปเทียน เครื่องบูชาต่างๆ
นอกจากนี้ภายในวัดยังมีอีกหลายสถานที่อย่าง คาเฟ่, มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, หอธรรมและพิพิธภัณฑ์วัดเจดีย์หลวง
ใครที่มีโอกาสไปเที่ยวเชียงใหม่ ก็อย่าลืมแวะไปกราบสักการะขอพรกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหารกันนะคะ เพื่อความเป็นสิริมงคลค่ะ 🙏🙏🙏
🎯 : 103 ถนนพระปกเกล้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50200
⏰️ : เปิดให้เข้าชม : 08.00-17.00 น.
📱 : 097-1954695
🌏 : https://maps.app.goo.gl/wFSNBC...
-----------------------😍
🤗ขอให้ทุกคนมีความสุข สนุกกับการใช้ชีวิต
ในแบบฉบับของตัวเองนะคะ🚘🧳🏖🌄
❣️ช่องทางการติดตามเพจ❣️
https://www.facebook.com/TIEWD...
#เที่ยวได้กินกินได้เที่ยว
#วัดเจดีย์หลวงวรวิหารเชียงใหม่
#วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
#วัดเจดีย์หลวง #วัดโชติการาม
#พระประธานพระอัฎฐารส
#เสาหลักเมือง #เสาอินทขิล
#ประเพณีบูชาเสาอินทขิล
#วัดดังเชียงใหม่ #วัดเชียงใหม่
#วัดสวยเชียงใหม่ #เที่ยวเชียงใหม่
#เที่ยววัดเชียงใหม่ #วัดรอบคูเมือง
#เชียงใหม่
เที่ยวได้กิน กินได้เที่ยว
วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 10.40 น.