
คลองคูเมืองเชียงใหม่

ประตูเชียงใหม่

ถนนคนเดินวัวลาย
ถนนคนเดินวัวลาย จัดเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของเชียงใหม่ที่ต้องแวะไปเยี่ยมชมการแสดง และสินค้านานาภัณฑ์ ถือว่าเป็นตลาดขายของแฮนด์เมดที่ขึ้นชื่อของชาวเชียงใหม่ ตั้งอยู่ย่านประตูวัวลาย ทุก ๆ ค่ำวันเสาร์ ตีคู่กันมากับ ถนนคนเดินท่าแพ ที่จะจัดทุกวันอาทิตย์ บริเวณประตูท่าแพ

บรรยากาศการเดินซื้อของกิน ของใช้

ยำมะม่วงเจ้าดัง ที่ขายทั้งที่ถนนคนเดินวัวลาย และถนนคนเดินท่าแพ

สด ใหม่ อร่อยเด็ด

น้ำผลไม้ปั่นนานาชนิด

ส่วนให้บริการอาหารส่วนใหญ่ อยู่ในวัด

การแสดงดนตรีเปิดหมวก

สินค้าต่าง ๆ หลากหลาย

นอกจากจะเป็นที่รู้จักในนามของตลาด ถนนคนเดินยามค่ำคืนแล้ว ถนนวัวลายแห่งนี้ ยังแอบซ่อนวัดสำคัญสวยงามไว้อีกด้วย

“วัดศรีสุพรรณ” เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นของจังหวัดเชียงใหม่ เพราะมี “อุโบสถเงินหลังแรกของโลก” ที่ก่อสร้างขึ้นมาอย่างวิจิตรงดงามวิจิตร สะท้อนอัตลักษณ์ชองชุมชนหัตถกรรมช่างหล่อ และหัตถกรรมเครื่องเงินของถนนวัวลาย ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินเลื่องชื่อของจังหวัดเชียงใหม่

วัดศรีสุพรรณ มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2043 ในรัชสมัยของพระเจ้าเมืองแก้ว กษัตริย์เชียงใหม่ราชธานี และพระนางสิริยสวดี พระราชมารดามหาเทวีเจ้า ที่โปรดเกล้าฯ ให้มหาอำมาตย์เจ้าหมื่นหลวงจ่าคำ สร้างวัดแห่งนี้ขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “วัดศรีสุพรรณอาราม” ซึ่งต่อมาคนนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดศรีสุพรรณ”

ประดิษฐาน “พระเจ้าเจ็ดตื้อ” พระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน ผสมสุโขทัย ที่เป็นองค์พระประธานของวัดศรีสุพรรณ ซึ่งตามหลักศิลาจารึกของวัดศรีสุพรรณกล่าวไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2043 พระเจ้าพิลกปนัดดาธิราช หรือพระเมืองแก้ว กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ในราชวงศ์มังราย และพระนางสิริยสวดี พระราชมารดาเจ้า โปรดเกล้าให้เจ้าหมื่นหลวงจ่าคำมหาอำมาตย์ นำพระพุทธรูปทองสำริดองค์หนึ่งมาถวายให้เป็นพระประธานในอุโบสถเมื่อคราวที่สร้างวัดแห่งนี้

ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 วัดศรีสุพรรณยังได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทนโบสถ์หลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม นั่นคือ “อุโบสถเงินหลังแรกของโลก” ที่เหล่าสล่าร่วมมือกันสร้างขึ้นเป็นพุทธบูชา ถวายเป็นงานพุทธศิลป์แก่แผ่นดินล้านนา และเทิดไท้องค์ราชัน รัชกาลที่ ๙ โดยได้นำเอาอัตลักษณ์แห่งภูมิปัญญาของถิ่นของการเป็นชุมชนช่างทำเงิน มาสร้างสรรค์เป็นโบสถ์สีเงินอันงดงามวิจิตร เพื่อ “ฝากศิลป์แก่แผ่นดินถิ่นล้านนา ถวายไว้ในบวรพระพุทธศาสนา เทิดไท้องค์ราชัน รัชกาลที่ ๙”

โบสถ์เงินหลังแรกของโลกแห่งวัดศรีสุพรรณ ใช้วิธีการก่อสร้างจากฐานและพัทธสีมาที่อ้างอิงจากพระประธานของโบสถ์หลังเดิม เป็นสถาปัตยกรรมล้านนา โครงสร้างก่ออิฐถือปูน มีขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 17.50 เมตร และสูง 18 เมตร ภายนอกและภายในโบสถ์ตกแต่งลวดลายทุกส่วนด้วยงานฝีมือเครื่องเงินบริสุทธิ์ บุ ดุนลาย จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมด้วยงานจากเงินผสมดีบุก อลูมิเนียม และวัสดุแทนเงิน ที่บรรดาช่าง สล่า ได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างประณีตงดงามวิจิตร

ภายนอกโบสถ์มีการดุนลายตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ส่วนบริเวณบันไดสร้างเป็นรูปพญานาคที่สร้างจากโลหะเงินดูนลาย, ด้านหน้าใต้เพดานหลังคา ด้านขวามีการแกะลายเป็นธนบัตรฉบับละ 1 พันบาท, ใต้เพดานด้านซ้ายเป็นพระบรมราโชวาทในหลวงรัชกาลที่ ๙ จำนวน 36 แผ่น และภาพวิถีตามรอยพ่อกับชีวิตพอเพียง ขณะที่ทับหลังประตูพระอุโบสถมีการแกะลวดลายเหล่าเทวดาที่สวยงาม

ส่วนภายในโบสถ์ ประดิษฐานพระเจ้าเจ็ดตื้อ หรือ พระพุทธปาฏิหาริย์ เป็นองค์พระประธานตามแบบของเดิม ผนังภายในประดับตกแต่งด้วยโลหะเงินดุนลาย เป็นลวดลายต่าง ๆ โดยส่วนที่สำคัญทำด้วยเครื่องเงินแท้ แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นพระพุทธรัตน พระพุทธรูปดุนลาย ประวัติพระพุทธเจ้า ส่วนที่ 2 พระธรรมรัตน เป็นที่ประดิษฐานพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์ และส่วนที่ 3 พระสังฆรัตน ที่ประดิษฐานพระอรหันตธาตุ น่าเสียดายที่ทางวัดศรีสุพรรณได้มีกฎห้ามผู้หญิงเข้าไปภายในอุโบสถเงินโดยเด็ดขาด

ด้านข้างโบสถ์เป็นที่ประดิษฐาน พระพิฆเนศ ในลาบบูชากว้าง ให้ผู้เลื่อมใสศรัทธาได้มากราบไหว้ขอพร

นอกจากนี้ วัดศรีสุพรรณยังมี “วิหาร” เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาโบราณ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” โดยพระเจ้ากาวิโรรส ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ (สุพล สุทุธสีโล) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน พร้อมคณะกรรมการได้ทำการปฏิสังขรณ์วิหารหลังนี้ โดยผสมผสานศิลปะร่วมสมัยเพิ่มเข้าไป แต่ยังคงรักษางานพุทธศิลป์ของเดิมเอาไว้

พร้อมทั้งได้วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพระธาตุ 12 ราศี ภาพพระธาตุเจดีย์ ศูนย์กลางเมืองเชียงใหม่ในอดีตและภาพปริศนาธรรมโลกทั้ง 3 รวมถึงได้นำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านหัตถกรรมเครื่องเงินการดุนลาย ภาพพระพุทธประวัติ ภาพพระเจ้าสิบชาติ ภาพพระเวสสันดรชาดก ประดับตกแต่งฝาผนังวิหาร

พระธาตุ 12 ราศี

พระประธานในวิหาร วัดศรีสุพรรณ

การแสดงศิลปะพื้นเมือง และหัตถกรรมต่าง ๆ

วัดศรีสุพรรณ ตั้งอยู่บน ถนนวัวลาย ต. หายยา อ. เมือง จ. เชียงใหม่ นอกจากจะได้แวะชมอุโบสถ์เงินหลังแรกของโลกแล้ว ท่ายังจะได้แวะเที่ยวชมถนนคนเดินวัวลาย (หากมาในคืนวันเสาร์) และเลือกซื้อศิลปะหัตถกรรม รวมถึงเครื่องเงินต่าง ๆ ของถนนวัวลายโดย ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินเลื่องชื่อของจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย
สายลม ที่ผ่านมา
วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เวลา 15.16 น.