....หากคิดถึงแหล่งท่องเที่ยวหน้าฝน คงมีหลายที่ที่อยู่ในใจของเพื่อนๆนักเดินทาง ผมเองก็เช่นเดียวกันได้ plan ไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วหลังจากที่ทาง air asia ปล่อย pro 0 บาท"จองชาตินี้บินชาติหน้ามา" เข้าไปจองได้ตั้งแต่วันแรกๆเลือกเดินทางวันธรรมดาไปยังจังหวัดน่านโดยที่ยังไม่รู้ว่าจะไปที่ใด พอต้นปีมานี้ก็เลยเริ่มหาดูสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดน่านไปเรื่อยๆ น่าแปลกใจที่จังหวัดนี้กลับมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายจนน่าอิจฉาทั้งๆที่เป็นเมืองปิด หากใครจะมาต้องตั้งใจมาจริงๆเพราะจังหวัดนี้ไม่ใช่เมืองทางผ่าน หากไม่นับ"ดอยเสมอดาว"ที่อยู่อ.นาน้อย ที่เป็นที่รู้จักกันดีแล้ว ผมว่ามีอีก 2 อำเภอที่คนนิยมไปกันก็ที่อ.ปัว และต่อไป อ.บ่อเกลือ เลยเป็นที่มาของการตามรอยเส้นทางสีเขียวของ 2 อำเภอนี้ว่าจะมีความสวยงามสมคำร่ำลือกันจริงหรือเปล่า มาตามรอยไปกับผมเลยน่ะครับ..


จากเมืองสู่ป่า

....เครื่องแอร์บัส เอ 320 เที่ยวบินที่ FD 3556 ทะยานออกจากน่านฟ้าเมืองกรุงตอนเวลาบ่าย 3 โมง ทิ้งความวุ่นวายของสังคมเมืองไว้ข้างหลัง ออกจากเมืองกรุงนั่งมองสายน้ำของลำน้ำเจ้าพระยาจากความสูง 18,000 ฟุต พอพ้นเขตนครสวรรค์สักพักมองลงไปเห็นลำน้ำสีแดงไหลลัดเลาะผ่านที่ราบเชิงเขาเข้าสู่เขื่อนที่มองจากข้างบนก็รู้ว่าเป็นเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถฺ์ เพราะตัวหนังสือบนสันเขื่อนเด่นชัดมาก เข้าใจได้ทันทีว่าต้องเป็นลำน้ำน่านและอีกไม่นานก็จะถึง

พอเข้าสู่ท้องฟ้าเมืองน่าน เห็นภาพภูเขาที่ถูกบุกรูกผืนป่าเหมือนหัวคนโดนปัตตาเลี่ยนไถเป็นหย่อมๆ นี่ตัดกันขนาดเห็นเป็นดินโล่งๆ ไม่มีต้นไม้ปกคลุมเลยสักต้น ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจะบอกว่าไม่รู้ไม่เห็นก็คงเป็นไปไม่ได้เพราะไม่ได้เพิ่งเกิดมาปี สองปีแต่นี่เกิดมาตั้ง 20 -30 ปีได้แล้ว น่าแปลกใจที่การอนุรักษ์ป่าไม้ก็มีมานานแล้วแต่ป่าไม้กลับลดลงไปทุกวัน และผลกระทบที่ตามมาก็คือ ภัยธรรมชาติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง ปัญหาน้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม มีให้เห็นตั้งแต่ก่อนไป จนไปเห็นกับตา และกลับมาแล้วก็ยังได้ยินข่าวว่ามีน้ำป่าไหลหลากตามมาอยู่เรื่อยๆ เพียงเพราะฝนตกหนักไม่กี่ครั้ง..


สนามบินน่านนคร - อำเภอปัว

ถึงท่าอากาศยานน่านนคร ผมใช้บริการรถเช่าของ Avis ในการเดินทางในครั้งนี้ โดยซื้อ voucher ล่วงหน้าไว้ในงานไทยเที่ยวไทยในราคาวันละ 800 บาทเมื่อต้นปี เพราะจะถูกกว่า ไปจองตอนใกล้ๆวันเดินทาง counter รถเช่าจะอยู่ในสนามบิน หลักฐานที่ใช้ในการติดต่อเช่ารถก็มีใบขับขี่ บัตรเครดิตในการวางมัดจำ รูด authorize ไว้ 8,000 บาทหากซื้อประกันอุบัติเหตุ กับ ประกันรถหายเพิ่มก็จ่ายเพิ่มอีก อย่างล่ะ 170 กว่าบาทต่อวัน

หลังจากรับรถเสร็จ ผมพก GPS ติดรถยนตร์ของ Garmin มาเผื่อด้วยเผื่อสัญญาณ GPS ของมือถือใน google map มันอ่อน กำหนดจุดหมายปลายทางแห่งแรกไว้ที่ วัดภูเก็ต อ.ปัว ออกเดินทางประมาณ 4 โมงเย็นวิ่งเส้น 1080 น่าน - ทุ่งช้าง ระยะทางประมาณ 62 กม.เส้นทางช่วงอ.ท่าวังผานี้ต้องระมัดระวังมีการก่อสร้างทางช่วง กม.27-40 หากฝนตกเละตุ้มเปะ วันไหนแดดออกฝุ่นตลบ ผมขับมาถึงวัดเกือบ 2 ชม.ได้ เป็นเพราะแวะหาอะไรกินระหว่างทางและก็เป็นดังคาดว่า gps มือถือบางช่วงสัญญาณอ่อนเลยได้อาศัย gps ของรถยนตร์เป็นหลักในการเดินทาง จอดรถเสร็จรีบเดินตรงดิ่งไปบริเวณลานหน้าโบสถ์หลังวัดที่เป็น landmark ของวัดนี้ก่อนเลย ผมเลือกมาถ่ายภาพช่วงเย็นก่อนเพราะมุมนี้ถ้าถ่ายตอนเช้าจะย้อนแสง ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางฝั่งนี้ ภาพที่เห็นตรงหน้าคือแปลงนาสีเขียวผืนใหญ่ มีฉากหลังเป็นอุทยานแห่งชาติดอยภูคาตั้งตระหง่านดูสวยงาม ช่วงนี้ต้นข้าวเริ่มโตแล้วหลังจากผ่านช่วงปักดำมาได้เดือนนึง ช่วงพีคสุดของที่นี่จะเป็นช่วงกันยา-ตุลาที่ต้นข้าวออกรวงเป็นสีเหลืองทองรอการเก็บเกี่ยว

ผมเก็บภาพอยู่พักหนึ่ง ก็ต้องรีบเดินทางต่อเพื่อเข้าที่พัก เพราะดูจากรีวิวถนนหนทางเข้าที่พักตอนกลางคืนนั้นค่อนข้างจะมืดมาก ที่พักยอดฮิตของอ.ปัวก็หนีไม่พ้นตานงโฮมสเตย์ ความจริงที่พักในปัวก็ยังมีอีกหลายที่ แต่ทำไมอ่านรีวิวก็เจอแต่ตานงโฮมสเตย์ซะส่วนมากก็เลยอยากรู้ว่ามันเป็นยังไง มันจะสวยเหมือนที่เห็นในรีวิวหรือไม่ไปดูกัน เส้นทางไปบ้านตานง search หาใน gps garmin ไม่เจอ เลยมาพึ่ง google map รับรองเจอแน่นอน ขับไปตามที่ gps บอกทาง ถ้าเห็นสภาพเส้นทางไปแล้วเป็นคันนาที่รถยนตร์สามารถลัดเลาะไปได้ ไม่ต้องตกใจหรือกังวลน่ะครับมาถูกทางแล้ว เส้นทางจะวกวนไปตามคันนาถนนก็เป็นถนนดินแคบๆนี่แหละ สวนกันทีต้องดูดีๆไม่งั้นลงไปนอนแช่ในท้องนา กว่าจะมาถึงก็มืดค่ำแล้ว ขับรถเข้ามาจอดมีตากับยายคู่หนึ่งมาต้อนรับ ตาก็คงเป็นตานงนี่แหละ ส่วนยายก็คงเป็นเมียตานงอีกที เอ๊ะหรือว่าไม่ใช่ก็ไม่รู้ไม่ได้ถามชื่อซะด้วย 55 ผมจองที่พักไว้เป็นเฮือนคันทรี่ชั้น 2 ในราคา 500 บาท เข้ามาถึงห้องก็ขออาบน้ำก่อนเลย แล้วมานอนฟังเสียงธรรมชาติยามค่ำคืนของท้องนาขับร้องประสานเสียงกันระงมทั้งกบเขียดจักจั่นลองไนและแมลงกลางคืนอีกนับล้าน หลับไปตอนไหนไม่รู้มาสะดุ้งตื่นตอนย่ำรุ่งที่ฝนตกลงมา แสงอาทิตย์เริ่มโผล่พ้นเหลี่ยมเขาเผยแสงสีทองมารำไร รีบลุกล้างหน้าล้างตา ประกอบอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพเตรียมจับภาพรุ่งอรุณของวันใหม่

ตานงโฮมสเตย์

..ตานงโฮมเสตย์ตั้งอยู่ที่บ้านดอนสถาน อ.ปัว หากนั่งรถมาเองให้มาลงที่ ตลาดปัวแล้วต่อวินมอเตอร์ไชด์เข้าไป หากนำรถมาเองก็ตาม google map ได้เลย รายละเอียดข้อมูลต่างๆติดตามได้ที่นี่เลยครับ ตานงโฮมสเตย์

ถึงเวลาสำรวจสถานที่กันแล้ว ดูภาพบรรยากาศทั้งในและนอกทีพักกันน่ะครับ ในภาพที่เห็นคือเฮือนคันทรี ที่ผมพักเป็นเรือนไม้ 3 ชั้น ชั้นบนสุดจะมีอยู่ห้องเดียวมีระเบียงด้านเดียวหันหน้าไปทาางทิศตะวันออก ชั้น 2 ที่ผมพักมี 2 ห้อง ระเบียงก็มี 2 ด้าน คือด้านทิศเหนือ กับ ทิศตะวันออก สภาพภายในห้องพัก ตกแต่งเรียบๆ ผ้าม่านลายดอกกลืนไปกับโทนสีของห้องให้ความรู้สึกอบอุ่น อยาก relax เมื่อยามเข้าพัก ในห้องจะมีเครื่องปรับอากาศกับ TV เท่านั้น และห้องน้ำจะมีเครื่องทำน้ำอุ่นให้ ตู้เย็นจะเป็นตู้เย็นรวมที่วางไว้ให้ใช้ตรงระเบียงชั้น 2 ข้อแนะนำอย่างนึงคือกลางคืนอย่าเปิดไฟในห้องน้ำทิ้งไว้ เพราะมีแมลงตัวเล็กๆบินลอดช่องเข้ามาเล่นไฟเยอะมาก ตื่นมาเข้าห้องน้ำคุณอาจตกใจว่าทำไมมันเยอะแบบนี้ ส่วนด้านล่างจะเป็นครัวสำหรับทำอาหารไว้บริการ มีแก็สให้ใช้ฟรี จาน ชาม ช้อนก็หยิบใช้แล้วก็ล้างกันเองตรงนั้นเลย


มาชมวิวทิวทัศน์รอบๆบริเวณบ้านกันบ้าง สายหมอกไหลเอื่อยๆปกคลุมทิวเขาหน้าบ้าน ท้องทุ่งนาต้นข้าวเริ่มแตกกอ มองดูเขียวขจีไปทั่ว


วิถีชีวิตของชาวบ้าน บ้านดอนสถานเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งเมื่อยามเช้ามาถึง ถึงแม้จะมีสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆขึ้นมารองรับนักท่องเที่ยวที่หลงไหลในธรรมชาติมากขึ้น แต่วิถีชีวิตของชาวบ้านก็ยังคงเรียบง่ายอยู่เหมือนเดิม

เช้านี้จริงๆตั้งใจว่าจะย้อนกลับไปถ่ายพระอาทิตย์ขึ้นที่วัดภูเก็ตอีกรอบ ก็มีอันต้องเปลี่ยนแผนเพราะฝนตกเมื่อตอนใกล้รุ่ง เลยมีเวลาเดินเล่นอยู่ตามท้องทุ่งนายามเช้าบริเวณที่พัก การใช้ชีวิตที่ไม่รีบเร่งมันก็ดีเหมือนกันแต่ไม่เคยทำได้ตามใจคิดเพราะโปรแกรมการเดินทางที่ set ไว้มันเป็นชนักติดหลังอยู่ตลอด การพักผ่อนที่ดีที่สุดสำหรับผมแล้วก็คือการเดินทางนั่นเอง...ดังนั้นพอคิดได้ก็จัดแจงเก็บกระเป๋า check out ไปยังเป้าหมายต่อไปนั่นคือ "ดอยสกาด"แต่เจ้ากรรมที่ GPS บอกสถานที่นี้ผิด ขับหลงไปทาง อ.เชียงกลางได้สัก 20 กม.แปลกใจว่าทำไมไม่ถึงสักทีเพราะก่อนหน้านั้นเคยศึกษาข้อมูลการเดินทางจากบ้านดอนสถานขับขึ้นดอยไปประมาณ 20 โลเท่านั้น มา search หาใหม่อีกครั้งที่อ.เชียงกลางบอกไปต่ออีก 30 กว่าโลซึ่งมันเป็นทางที่จะไปอ.ทุ่งช้าง นี่ถ้าขับไปกลับจากปัว ไม่เป็น 100 โลเหรอ เลยเปลี่ยนเพราะกะว่าจะกลับมาเที่ยววัดดังๆในอ.ปัวอีก ระหว่างทางเลยแวะเที่ยวชมวัดในอ.เชียงกลางก่อนเห็นป้ายบอกวัดพระธาตุจอมกิตติอยู่ไม่ไกลเลยแวะไปกราบสักการะพระธาตุสักหน่อย

วัดพระธาตุจอมกิตติ

ตั้งอยู่บ้านป่าเลา ต.พระพุทธบาท อ.เชียงกลาง จากปัวมุ่งหน้ามาบนถนนเส้น ปัว-เชียงกลาง-ทุ่งช้าง ถึงอ.เชียงกลางมีทางแยกซ้ายมือ ป้ายบอกทางเข้าวัดขับต่อไปอีก 8 กิโล วัดตั้งอยู่บนภูเขาหลังหมุ่บ้าน มีองค์พระพุทธรูปประดิษฐานหันหน้าไปทางดอยภูคา ตัวพระธาตุซึ่งบรรจุพระเกศาธาตุแยกออกมาอีกเนินหนึ่งใกล้ๆกัน มองเห็นวิวทิวทัศน์ของหมู่บ้านป่าเลาได้ชัดเจน

วัดหนองแดง

ออกจากวัดพระธาตุจอมกิตติ ดูใน gps เห็นมีวัดชื่อดังของอ.อีกวัดหนึ่งใกล้ๆกัน เลยขับเลี้ยวลัดเลาะเข้าไปในหมู่บ้าน วัดนี้ก็อยู่ ถ.เส้นเดียวกับที่มาวัดพระธาตุจอมกิตตินั่นแหละ เป็นวัดเก่าแก่ประจำหมู่บ้านหนองแดงสร้างมา 200 กว่าปีโดยชาวไทลื้อกับไทพวน ภายในวิหารมีพระประธานประดิษฐานอยุ่บนนาคบัลลังก์ หลังวัดมีต้นโพธิ์เก่าแก่อายุ 1,700 ปีและต้นโพธิ์ต้นนี้ยังได้รางวัลที่ 1 จากการประกวดต้นโพธิ์เก่าแก่ประจำจังหวัดอีกด้วย ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าเขาวัดอายุต้นโพธิ์ยังไง เพราะดูท่าแล้วมีมาก่อนวัดสร้างเป็นพันปี นอกจากนี้บริเวณต้นโพธิ์ยังเป็นที่ฝังทรัพย์สมบัติของกษัตริย์องค์หนึ่งของอาณาจักรน่านเจ้า หลังจากฟังเรื่องเล่าประวัติความเป็นมา อภินิหารต่างๆจากท่านเจ้าอาวาสที่มาต้อนรับ จับความได้แค่ประมาณนี้ เพราะบางคำผมก็ฟังภาษาเหนือไม่ออก ท่านดีใจมากที่เห็นว่ามีนักท่องเที่ยวขับรถเข้ามาดู ท่านฝากผมมาว่ากฐินผ้าป่าทางวัดไม่ต้องการ อยากจะเชิญชวนให้คนมาเที่ยว มาศึกษาเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทลื้อและช่วยกันบอกต่อมากกว่า ต้องกราบขอบพระคุณที่ท่านพาชมวัดและบอกเล่าเรื่องราวต่างๆมากมาย

ออกจากวัดจุดหมายต่อไปคือ ย้อนเข้าเมืองปัวอีกครั้ง เพื่อจะไปเก็บภาพวัดที่มีชื่อเสียงของอำเภออีกหลายวัด กลับไปที่วัดภูเก้ตอีกครั้งเพื่อเก็บตกภาพทุ่งนาเต็มๆในตอนสายๆและถ่ายภาพวัดอีกที

วัดภูเก็ต

ตั้งอยู่ที่บ้านเก็ต ต.วรนคร อำเภอปัว เส้นทางไปดู google map ได้เลยไม่มีหลง ลักษณะตัววัดตั้งอยู่บนภู อยู่ ต.บ้านเก็ต ชาวบ้านเลยเรีกวัดภูเก็ต ง่ายดี อุโบสถทรงล้านนาประยุกต์ประดิษฐานพระประธานชื่อว่าหลวงพ่อแสนปัว หรือหลวงพ่อพระพุทธเมตตา จุดเด่นของวัดนี้คือวิวบริเวณทุ่งนาหลังวัดที่อลังการมาก ตอนแรกสงสัยว่าทำไมทุกวัดจึงหันหน้าไปทางดอยภูคา มีอุบายอะไรหรือเปล่า แต่พอนึกขึ้นได้ว่ามันเป็นทิศตะวันออกนั่นเอง วัดแห่งนี้ยังเป็นวัดที่เปิดให้บริการด้านที่พักอีกด้วย แต่เรียกว่าเป็น templestay มีอุปกรณ์ในห้องดีไม่น้อยไปกว่าโรงแรมเล็กๆทั่วไปซะอีกทั้ง TV Wifi แอร์ มีครบ

วิวทุ่งนาหลังวัด ดูความงามกันเต็มๆ

ออกจากวัดภูเก็ต ก็บ่ายโมงกว่าแล้ว เรื่องอาหารคงไม่เน้นหาร้านดังมารีวิวเท่าไหร่ เพราะผมจะเน้นง่ายๆอาหารจานเดียวเป็นหลัก เป้าหมายต่อไปที่จะตามแกะรอยนักรีวิวทั้งหลายก็คือ แน่นอนว่าบ่ายๆแบบนี้อาการง่วงเหงาหาวนอนก็ตามมา หนีไม่พ้นที่ต้องหาร้านกาแฟวิวสวย บรรยากาศดีชื่อดังของเมืองปัวก็คือ

ร้านกาแฟสดบ้านไทลื้อ

ร้านนี้อยู่ใน ต.ศิลาแลง อ.ปัวนี่แหละ มีคนแวะเวียนมาตลอดทั้งวันสังเกตุจากรถเดี๋ยวเข้าเดี๋ยวออก หลังร้านมีทางเดินสร้างคร่อมอยู่บนคันนาและมีมุมถ่ายรูปเก๋ๆ ตามเส้นทางที่สร้างไว้ เส้นทางยังเชื่อมต่อไปร้านลำดวนผ้าทอที่อยู่ติดกันอีกด้วย กาแฟแก้วล่ะ 40 สั่งเสร็จเดินมานอนเล่นในกระต๊อบ กาแฟร้านนี้กินเสร็จแล้วอยากนอน ไม่ใช่เพราะกาแฟไม่แรง แต่เพราะวิวท้องนามีลมพัดเอื่อยๆมาเป็นระยะๆ มันน่าเคลิ้มเสียนี่กระไร

ฟาร์มสเตย์บ้านหัวน้ำ

ออกจากร้านกาแฟบ้านไทลื้อหาร้านอาหารชื่อดังอีกร้านนึงซึ่งอยู่บนถนนเส้นเดียวกันห่างออกไปอีกไม่กี่กิโล ร้านนี้ที่เข้าไปไม้ได้สนใจเรื่องอาหารแต่สนใจเรื่องวิวของร้านมากกว่า แต่ถ้าจะไปถ่ายภาพก็กระไรอยู่เลยสั่งอาหารจานเดียวมาทานด้วย ซึ่งที่นี่จะเป็นฟาร์มเห็ดเพราะฉะนั้นเมนูอาหารส่วนใหญ่จะเป็นเห็ด ผมก็เลยสังข้าวผัดกระเพราหมูใส่เห็ดมาจานนึง รสชาติคาดไม่ถึงจริงๆ อร่อยมากโดยเฉพาะหมูที่มาทำกระเพราเขาหมักได้รสชาติจริงๆ ระหว่างรอก็เดินหามุมถ่ายภาพไปเรื่อยๆ ตรงนี้จะมีสถานที่ unseen อีกที่นึงคือ วังศิลาแลง เดินไปไม่ไกลมากเท่าไหร่เพียงแต่เวลาไม่พอ ก็เลยตัดออกจากโปรแกรมไปก่อน ร้านนี้นอกจากจะเป็นฟาร์มเห็ดและร้านอาหารแล้วยังมีที่พักเป็นโฮมสเตย์อีกด้วย


ปัว - บ่อเกลือ - สปัน

บ่ายสามโมงตอนขับรถออกจากฟาร์มเห็ด ยังเก็บภาพแหล่งท่องเที่ยวเมืองปัวได้ไม่กี่ที่เอง ต้องเปลี่ยนแผนที่จะเก็บภาพสถานที่อื่นๆ เพราะเวลาร่นเข้ามาและสภาพอากาศเริ่มครึ้มฟ้าครึ้มฝนแล้ว ไม่อยากขับรถข้ามดอยภูคาในขณะฝนตกเพราะผมยังไม่รู้ว่าสภาพเส้นทางข้างหน้าเป็นอย่างไร ก่อนมาได้ข่าวว่ามีดินสไลด์เส้น ปัว - บ่อเกลือ ซึ่งมันเป็นเส้นทางที่เราจะผ่านด้วย เลยตั้ง GPS เปลี่ยนเส้นทางไปยังอ.บ่อเกลือวิ่งเข้าเส้น 1256 ที่ตัดขึ้นดอยภูคา สภาพถนนเป็นทางราดยางอย่างดี เส้นทางคดเคี้ยว ไปตามเหลี่ยมเขา ขึ้นเขาลงเขาไม่รู้กี่ลูก เส้นทางที่ผ่านไปมีจุดที่ดินสไลด์ ต้นไม้หักโค่น ตลอดทางแทบไม่ค่อยมีรถสวนกันเลย จะมีแต่พวกรถเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าบ้าง เจ้าหน้าที่การทาง ที่เข้ามาเคลียร์เส้นทาง ยิ่งขึ้นไปสูงจะมองเห็นทิวทัศน์สองข้างทางที่เป็นไร่นาไร่ข้าวโพดกินพื้นที่ป่าเขาเป็นลูกๆ

อุทยานแห่งชาติดอยภูคา

ยังไงก็ต้องผ่านอุทยานอยู่แล้วเลยแวะจุดชมวิวทะเลหมอกของอุทยานสักหน่อย อยู่ริมถนนเลย ตัวเลข 1715 เป็นระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล ช่วงหน้าหนาวหมอกคงจะเต็มไปทั้งหุบ ช่วงนี้อุทยานจะปิดตั้งแต่ 1 กค - 30 ก.ย งดกางเต้นท์พักแรมในบริเวณอุทยานและกิจกรรมท่องเที่ยวในเขตอุทยานจะงดให้บริการ แต่ในส่วนบ้านพักของอุทยานยังสามารถเข้าพักได้ทั้งปี

บ่อเกลือวิวรีสอร์ท

ขับรถข้ามดอยภูคามาแล้วเข้าเขตอ.บ่อเกลือ ทีแรกจะแวะไปดูบ่อเกลือสินเธาว์ชื่อดังของอำเภอสักหน่อย แต่ช่วงนี้จะปิดบ่อต้มเกลือช่วงเข้าพรรษาตามความเชื่อของชาวบ้าน เลยแวะซื้ออะไรเข้าไปกินที่บริเวณที่เราจะไปพักกันคืนนี้ ดูร้านอาหารในบ่อเกลือมีร้านวิวสวยอยู่ร้านหนึ่งตรงเชิงสะพานปูนข้ามลำน้ำ ทำเลอยู่บนเชิงเขาชื่อร้านบ่อเกลือวิว สั่งอาหารแล้วก็เดินมาตรงระเบียงของร้านเพื่อชมวิวด้านหน้า มองลงไปเห็นลำน้ำมางสายเล็กๆสีโอวัลตินไหลผ่านโขดหิน ใกล้ๆกันมีทีพักชื่อว่าเฮือนฮิมมางตั้งอยู่ แต่ลักษณะเหมือนไร้ผู้คนไม่รู้ว่าทำเสร็จหรือยัง ค้นข้อมูลมาว่าเมื่อก่อนตรงนี้จะเป็นที่พักชื่อดังคือ อุ่นไอมาง บ่อเกลือ แต่ตอนหลังได้ขายกิจการไปและไปเปิดที่ใหม่ในหมู่บ้านสปันห่างจากจุดนี้ไปอีก 8 กิโล ซึ่งก็คือที่พักของผมคืนนี้นั่นเอง

อุ่นไอมาง ณ.สปัน

จากเส้น 1256 ปัว - บ่อเกลือที่เราวิ่งข้ามดอยภูคาจะมาบรรจบกับเส้น 1081 สันติสุข - บ่อเกลือตรงสามแยกบ่อเกลือที่เลยสะพานปูนมาหน่อย ซ้ายมือจะไปอ.เฉลิมพระเกียรติ์ และ อุทยานแห่งชาติขุนน่าน ขวามือจะไปศูนย์ภูฟ้าพัฒนา กับบ่อเกลือภูเขา(ไม่ว่าจะซ้ายหรือขวากำลังทำทางกันอยู่ โปรดระมัดระวังเครื่องจักรกำลังทำงาน) ให้เลี้ยวซ้ายไปทางอุทยานขุนน่านอีกประมาณ 8 กิโลจะมีแยกขวาเข้าหมู่บ้านสปันขับไปอีกประมาณ 2 -3 กิโลก็ถึง อุ่นไอมาง ณ.สปัน ผมมาถึงก็มืดพอดี เลยไม่ได้ถ่ายภาพห้องพักไว้ เช้ามานึกขึ้นได้หันไปดูสภาพห้องแล้วไม่ถ่ายจะดีกว่า 55 เมื่อวานตอนมาถึงไฟดับ คาดว่าน่าจะเป็นเพราะลมพายุที่พัดต้นไม้หักมาพาดสายไฟระหว่างทางที่มา แต่พอสักชั่วโมงนึงก็มา พอเช้าวันรุ่งขึ้น น้ำไม่ไหล ไฟก็ดับอีกขลุกขลักอยู่พอสมควร มี ลุงกับป้าน่าจะเป็นคนดูแลที่นี่ เฝ้ากันอยู่สองคน ลุงก็แก้ปัญหาไปตักน้ำในลำธารมาให้ใช้ก่อน ป้าก็ไปเตรียมอาหารเช้ามาให้ ระหว่างรออาหารเช้าก็เดินสำรวจบริเวณโฮมสเตย์ที่พักของผมไปพลางๆก่อน รายละเอียดของราคาที่พักเข้าไปชมได้ใน link นี้ครับ อุ่นไอมาง ณ.สปัน

ตัวโฮมสเตย์มีห้องพักอยู่ 4 หลังเป็นห้องพักแบบกระโจมที่สร้างอยู่บนเพิงยื่นออกไปเสีย 3 หลัง อีกหลังเป็นบ้านหลังนี้จะนอนได้ 4 คน มีเรือนอาหารที่เป็นพื้นที่ส่วนกลางอยู่ครงกลางเลย วิวตรงบริเวณเรือนอาหารจะสวยที่สุด ด้านหลังของเรือนอาหารติดกับลำน้าว้าสีขุ่นคลั่กเพราะเป็นช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำจะแดง ถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวน้ำจะใส สะพานไม้ไผ่ที่เคยเห็นในรีวิวก็หายไปกับกระแสของน้ำป่าเมื่อไม่กี่วันก่อน ทิวเขาปกคลุมไปด้วยหมอกเพราะความชุ่มชื้นสูง

ภายในเรือนอาหารตกแต่งดูอบอุ่น ให้บรรยากาศเป็นกันเอง อาหารเช้าก็เป็นข้าวต้มไรซ์เบอรรี่ที่ชาวบ้านปลูกกันเอง กับไข่ดาวไส้กรอก ขนมหวานก็เป้นขนมแบบชาวบ้าน ป้าแม่บ้านจะวิ่งไปซื้อกับรถกับข้าวที่วิ่งเข้ามาขายในหมู่บ้านทุกเช้า

กินข้าวเสร็จรีบออกเดินทางต่อ เพราะต้องไปอีกหลายที่ก่อนเครื่องออกตอนบ่าย 4 โมงครึ่ง ตอนแรกว่าจะขึ้นไปชมนาขั้นบันได้ทางบ้านสว้า บ้านเวร แต่กลัวสภาพเส้นทางที่อาจทำเวลาไม่ได้เลยต้องเปลี่ยนแผน ลองสุ่มเข้าไปในหมู่บ้านสปันดู ขับเข้ามาสัก 20 เมตรก็ถึงทางเข้าหมู่บ้านแล้วเพียงแต่อยากจะลองแวะไปดูตามป้ายที่บอกว่าไปบ้านห้วยหมี-ห้วยโทนดูก่อนเพราะดูทำเลแล้วมันเป็นทางขึ้นเขาน่าจะได้ภาพมุมสูงอยู่พอสมควร ขับเลี้ยวข้ามสะพานเข้ามาถนนเริ่มเป็นทางลูกรัง ขับขึ้นเนินไปสักพักเห็นทางแล้วกลัวจะไปต่อไม่ไหว แต่วิวระหว่างทางสวยงามมากทีเดียวจอดรถถ่ายรูปสักพัก ลองเดินขึ้นเนินไปอีกหน่อย จ๊ะเอ๋กับนาขั้นบันไดอยู่แปลงหนึ่งสวยงามทีเดียวเชียว คิดว่าถ้าขับเข้าไปในหมู่บ้านห้วยหมี - ห้วยโทนน่าจะมีอีกแต่จนใจกับสภาพทาง หากมีโอกาสครั้งหน้าจะกลับมาแก้ตัวอีกครั้ง

ย้อนกลับมาทางเก่าแล้วเลี้ยวเข้าไปชมวิวมุมสูงในหมู่บ้านสักหน่อย เพราะเห็นมีทางขึ้นไปบนภูเขาหลังจากที่ยืนมองตรงจุดที่ถ่ายภาพนาขั้นบันได ทางขึ้นไปยังจุดถ่ายภาพมุมสูงของหมู่บ้านคือขับเลยจากน้ำตกสปันมานิดเดียวแล้วเลี้ยวขวาตรงโรงเรียนเป็นทางบังคับอยู่แล้วทางชันพอสมควรคล้ายๆม่อนแจ่ม แต่เส้นทางสั้นกว่าแป๊ปเดียวก็ถึง แต่ยังมีทางไปต่อยังบ้านป่าก๋อแต่จะเป็นทางลูกรังแล้ว แต่จุดนนี้ยังไม่ใช่จุดสูงสุด จุดสูงสุดมีทางขึ้นไปจะมีวัดอยู่ข้างบนแต่ผมว่าแค่นี้ก็พอแล้ว การทำนาของที่นี่จะเป็นลักษณะการทำนาตามที่ราบเชิงเขาซึ่งมีพื้นที่ไม่มาก บางจุดต้องทำนาตามความลาดเอียงของภูเขาจึงต้องทำเป็นขั้นบันได เพราะไม่มีพื้นที่ราบเพียงพอ และลักษณะแปลงนาจะเป็นบล็อคๆไม่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนทางภาคอื่นๆ

อุทยานแห่งชาติขุนน่าน

ออกจากบ้านสปันก็ย้อนกลับมาทางเก่าแวะมายังอุทยานแห่งชาติขุนน่านซึ่งอยู่ไม่ไกลกันสักเท่าไหร่ และเป็นทางกลับด้วย เข้า่ไปถามในอุทยานว่ามีจุดชมวิวหรือเปล่าเจ้าหน้าที่เขาบอกว่ามีแต่เดินไปอีก 3 กิโลเลยถอยรถกลับ เห็นป้ายอุทยานแห่งชาติขุนน่านและมีเพิงยื่นออกไปคิดว่าคงจะเห็นวิวแจ่มๆที่ไหนได้ ต้นไม้บดบังหมดคิดว่าเมื่อก่อนต้นไม้คงยังไม่โต เขาเลยมาสร้างเพิงเป็นจุดชมวิว


บ่อเกลือ - สันติสุข - สนามบินน่านนคร

ถนนขากลับเข้าเมืองน่านผมวิ่งเส้น 1081 บ่อเกลือ - สันติสุข ซึ่งถนนเส้นนี้เขาบอกว่าเป็นถนนลอยฟ้ามีความสวยงามเป็นพิเศษในช่วงอาทิตย์ตกดิน แต่ผมคงไม่รอชมเพราะไม่งั้นคงตกเครื่อง จากสามแยกบ่อเกลือขวาไปปัว ผมขับตรงไปทางอ.สันติสุข วิวสองข้างทางก็เป็นอย่างที่เขาพูดกัน แต่เป็นความสวยงามที่แลกมากับความหายนะของพื้นที่ป่าไม้ซะมากกว่า ถ้ามีป่าเราอาจไม่เห็นวิวแบบนี้..สองข้างทางส่วนใหญ่จะปลูกข้าวโพดกันมากกว่าทางโซนนี้

ร้านข้าวซอยต้นน้ำ

ขับมาถึงตัวเมืองน่านตอนเที่ยงครึ่งยังมีเวลาเหลืออีกสัก 3 ชั่วโมงพอที่จะเก็บภาพวัดในตัวเมือง แต่ก่อนอื่นหาอะไรรองท้องก่อน แนะนำร้านอาหารจานเดียวง่ายๆชื่อร้าน ข้าวซอยต้นน้ำเป็นร้านเล็กๆคูหาเดียวใกล้ๆกับเสาหลักเมือง มีโต๊ะนั่งอยู่ 4-5 โต๊ะ ถ้าไม่มีที่จอดรถข้างทาง แนะนำให้ไปจอดข้างในศาลหลักเมืองห่างออกไปไม่กี่เมตรได้เลยครับ สั่งอาหารมา 2 อย่างคือข้าวซอยอาหารขึ้นชื่อของคนเหนือ กับ ข้าวหมูแดง สั่งไปก็ไม่ได้คิดถึงความอร่อยอะไรเลย เพราะข้าวซอยก็เคยกินในกทม.แต่พอคำแรกที่ตักเข้าปากทำให้รู้ถึงรสชาติข้าวซอยที่แท้จริงว่ามันควรเป็นแบบนี้นี่เอง ที่กินตามห้างในกทมทั่วไปจะออกหวานๆเลี่ยนๆ แต่นี่รสชาติกลมกล่อมถึงเครื่องจริงๆ ส่วนข้าวหมูแดงก็ทำออกมาได้ดี น้ำซอสราดก็ไม่หวานเกินไป หมูก็แล่มาได้หนาจริงๆและก็หมักได้นุ่มลิ้นมาก

วัดมิ่งเมือง - ศาลหลักเมือง

กินอิ่มก็ได้เวลาสำรวจวัดกันต่อ เหลือเวลาอีกประมาณ 2 ชม.ขอคัดเฉพาะวัดที่อยากไปก่อน ถึงแม้จะมีวัดตั้งอยู่ใกล้ๆกันก็ตาม วัดแรกที่ไปคือวัดมิ่งเมือง เป็นเพราะว่ามาเมืองน่านแล้วถ้าไม่เข้าไปสักการะศาลหลักเมืองเพื่อเป็นศิริมงคลแล้วก็เหมือนมาเที่ยวบ้านท่านโดยไม่ไปลามาไหว้เลยมันก็ดูยังไงอยู่ วัดมิ่งเมืองกับศาลหลักเมืองอยู่ในบริเวณเดียวกัน ตั้งอยู่ที่ถนนสุริยพงศ์ เป็น เป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองของจังหวัดน่าน ประวัติของวัดมิ่งเมือง คือ เดิมเป็นวัดร้าง มีเสาหลักเมืองที่เป็นท่อนซุงขนาดใหญ่สองคนโอบ พบที่ซากวิหาร ในราวปี 2400 เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าครองนครน่านสถาปนาวัดใหม่ ตั้งชื่อว่า วัดมิ่งเมือง ตามชื่อที่เรียกเสาหลักเมืองว่า เสามิ่งเมือง ต่อมาปี 2527ได้มีการรื้อถอนและสร้างอุโบสถหลังใหม่เป็นแบบล้านนาร่วมสมัยแบบในปัจจุบัน ส่วนประวัติวัดหาอ่านได้ตาม link นี้ครับ ประวัติวัดมิ่งเมือง

วัดภูมินทร์

วัดนี้ก็เป็นวัดดังอีกวัดของเมืองน่าน ห่างจากวัดมิ่งเมืองประมาณ 200 เมตรแค่อยู่คนละถนนกัน ซึ่งภาพเขียนของวัดนี้เผลอๆจะมีคนรู้จักมากกว่าพระประธานในโบสถ์เสียอีก จะเป็นวัดไหนไปไม่ได้ก็คือวัดภูมินทร์นั่นเอง และภาพเขียนที่พูดถึงก็คือภาพกระซิบรักบรรลือโลกที่วาดโดย"หนานบัวผัน" ศิลปินพื้นเมืองชาวไทลื้อ เป็นภาพที่ปู่ม่านย่าม่าน คือบุคคลในภาพที่เป็นคุ่รักกันกำลังกระซิบกระซาบอะไรบางอย่างอยู่จน อ.สมเจตน์ วิมลเกษมได้ประพันธ์คำกระซิบกระซาบนั้นมีใจความว่า

"คำฮักน้องกูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมาขะลุ้ม จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป ก็เลยเอาไว้ในอกในใจ๋ตัวชายปี้นี้ จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้ ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา..." แปลได้ว่า "ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะเอาความรักของพี่ไป เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น"

ส่วนประวัติวัดหาอ่านได้ตาม link นี้ครับ ประวัติวัดภูมินทร์

วัดพระธาตุแช่แห้ง

วัดนี้ก็เป็นวัดสำคัญของเมืองน่านอีกวัดหนึ่ง ห่างจากวัดภูมินทร์ไปประมาณ 3-4 กิโล เป็นพระธาตุประจำราศีเกิดของคนเกิดปีเถาะอยู่ที่ ตำบล ม่วงติ๊ด อำเภอ ภูเพียง ห่างจากตัวเมืองน่าน 2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นศูนย์กลางของเมืองน่านเดิม พระธาตุแช่แห้ง เป็นปูชนียสถานที่สำคัญมีอายุกว่า 600 ปี พระบรมธาตุแช่แห้ง เป็นพระธาตุประจำปีกระต่าย ชาวล้านนาเชื่อว่า หากได้เดินทางไป "ชุธาตุ" หรือนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดจะได้รับอานิสงส์อย่างยิ่ง

ส่วนประวัติวัดหาอ่านได้ตาม link นี้ครับ ประวิติวัดพระธาตุแช่แห้ง


วัดพระธาตุเขาน้อย

หลังจากขับออกจากเมืองไป ก็ขับย้อนกลับเข้าเมืองอีกรอบ ซึ่งอยู่คนละทิศกับวัดพระธาตแช่แห้งเลย นั่นคือวัดพระธาตุเขาน้อย รีบทำเวลากันอย่างรีบเร่ง และเป็นการส่งท้ายที่วัดนี้เลย เพราะเวลาเหลืออีกประมาณครึ่งชั่วโมง วัดนี้ถือเป็นจุดไฮไลต์สำคัญ อยู่ที่วิวของด้านหน้าองค์พระที่มองเห็นตัวเมืองน่านทั้งเมือง ซึ่งใครมาเมืองน่านแล้วขาดไม่ได้ที่ต้องมา check in ยัง landmark จุดนี้เพื่อถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันที่นี่ ส่วนประวัติวัดหาอ่านได้ตาม link นี้ครับ ประวัติวัดพระธาตุเขาน้อย

...สุดท้ายก็มา check in ได้ตามกำหนดแบบเฉียดฉิว ทริปนี้เป็นทริปที่เหนื่อยจริงๆกับการไปยังสถานที่ต่างๆ ภายในระยะเวลา 3 วัน 2 คืนไม่สามารถเก็บได้หมดตามแผนที่ตั้งไว้เพราะที่ท่องเที่ยวของเมืองน่านเยอะจริงๆ คิดว่าจะหาโอกาสกลับมาใหม่แล้วใช้ชีวิตแบบ น่าน..เนิบเนิบ อีกสักหลายครั้ง เพราะตอนนี้หลงรักเมืองน่านเข้าแล้วเต็มเปา..


-ขอขอบคุณ เพื่อนๆที่ได้เข้ามาชม

-ขอขอบคุณข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวต่างๆของจังหวัดน่าน จากเพจ เสน่ห์น่านวันนี้ ที่นี่เมืองน่าน

-รายละเอียดข้อมูลเส้นทาง ที่พัก ข้อมูลการเดินทาง,โรงแรม,ที่พัก,รถเช่า

-แลกเปลี่ยนข้อมูล หรือพูดคุย สอบถามข้อมูลการเดินทาง ได้ที่ Fanpage : สตั๊ดดอยร้อยเรื่องราว

-ติดตามบทความเก่าๆ ได้ที่นี่ครับ ทริปเดินทางทั้งหมด














Rangsan Boontana

สตั๊ดดอย ร้อยเรื่องราว

 วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เวลา 13.30 น.

ความคิดเห็น