หากในยามเช้าเวลาไปเที่ยวการเดินเท้าไปเรื่อย ๆ เพื่อดูความเป็นอยู่ อาจเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ผมชอบทำเอามาก ๆ พอรู้ตัวอีกทีก็พา 2 เท้ามาอยู่ ณ ศาสนสถานแห่งนึงที่ไม่ได้อยู่ในแพลนเที่ยว และที่แห่งนั้นก็คุ้มค่ากับกิโลกว่า ๆ ที่พาร่างเตร็ดเตร่มา ....
วัดเสื่อ เสนาสนาราม วัดร้างสมัยกรุงแตก
วัดเสื่อ สร้างขึ้นพร้อมกับพระราชวังจันทรเกษม หรือวังหน้าในสมัยอยุธยา โดย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมัยดำรงพระยศเป็นมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก และได้กลายเป็นวัดร้างเมื่อกรุงศรีฯ แตกใน พ.ศ. 2310 จนกระทั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ 300 ชั่งเศษและโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงคราม (ทัด หงสกุล) เป็นประธานในการบูรณะวัดเสื่อจนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2406 และพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร" หรือ "วัดเสนาสน์"
ภายในวัดยังใช้ผังเดิมตามสมัยอยุธยา โดยจะมีสถานที่สำคัญได้แก่ พระอุโบสถ พระเจดีย์ พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ และพระวิหารพระอินทร์แปลง เป็นต้น
พระอุโบสถ
เมื่อผ่านประตูนี้แล้วเลี้ยวขวาจะพบกับ พระอุโบสถ ศิลปะคงแบบสมัยอยุธยา แต่มีแปลงบ้างบางส่วนเป็นแบบรัตนโกสินทร์เช่น หน้าบัน ซุ้มประตูกับซุ้มหน้าต่าง ที่เป็นตราพระราชลัญจกรพระมหามงกุฎเหนือช้างสามเศียรของรัชกาลที่ 4 ถือเป็นแนวคิดใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4
ด้านหน้าพระอุโบสถมีพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัยลงรักปิดทองศิลปะสมัยอยุธยา ประดับด้วยซุ้มเรือนแก้วและซุ้มต้นโพธิ์ มีการใส่คำจารึกอักษรขอมเป็นคาถาพุทธานุสติ ด้านในมี "พระสัมพุทธมุนี "เป็นพระประธานดั้งเดิมครั้งกรุงเก่าของวัดที่ประดิษฐานอยู่
ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเทพชุมนุมและภาพพระราชพิธีเดือนสิบสองที่วาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และเหตุการณ์สุริยุปราคาที่หว้ากอ ภาพที่ รัชกาลที่ 4 ทอดพระเนตรสุริยุปราคา ได้ถูกบันทึกไว้ที่ผนังนอกจาก วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม แล้วภาพนั้นก็อยู่ที่แห่งนี้อีกวัดหนึ่ง วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร
พระวิหารพระพุทธไสยาสน์กับพระเจ้าพยาบาลภิกษุอาพาธ
จากประตูก่อนหน้านี้หากเลี้ยวซ้ายมาตามแนวองค์เจดีย์จะพบกับวิหารพระพุทธไสยาสน์หรือพระวิหารพระนอน ซึ่งพระพุทธรูปด้านในเป็นพระพุทธไสยาสน์ พระองค์นี้มาจากวัดมหาธาตุ เป็นศิลปะสมัยอยุธยาที่นำศิลามาเรียงต่อกันแล้วแกะสลักยาว 14.2 เมตร ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถถัดจากเจดีย์ประธานทรงระฆังสมัยกรุงศรีอยุธยา
นอกจากนี้ภายในพระวิหารหลังนี้ยังมีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปยืนที่ในพระหัตถ์ทั้ง 2 ข้างกำลังประคองพระภิกษุรูปหนึ่งเอาไว้ คือ "พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ" (ปางพิเศษที่หาชมได้ยาก) ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวพุทธประวัติเมื่อพระพุทธองค์ทรงพยาบาลพระภิกษุที่กำลังอาพาธอยู่ ซึ่งพระพุทธรูปปางนี้ปกติจะอยู่ในอิริยาบถนั่งแต่ ณ วัดเสนาสน์น่าจะเป็นที่เดียวที่แสดงพระพุทธรูปปางนี้ด้วยพระพุทธรูปยืน
พระวิหารพระอินทร์แปลง
ออกจากวิหารพระนอน เดินเลี้ยวขวามาจะพบ พระวิหารที่มีหน้าบันเป็นรูปพระมหามงกุฎคล้ายกับพระอุโบสถ แต่มีมุขขวางด้านหน้าอาคารตกแต่งด้วยซุ้มโค้งอย่างตะวันตก ภายในประดิษฐานพระประธาน “พระเจ้าอินทร์แปลง” พระพุทธรูปปางมารวิชัยที่อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์ เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง หล่อด้วยโลหะสำริดปางมารวิชัย สมัย พ.ศ. 2401 ที่มีการตกแต่งด้วยซุ้มต้นโพธิ์ ข้างซุ้มมีพระสาวกปูนปั้นขนาบ 2 ฝั่ง
มีตำนานกล่าวว่าพระพุทธรูปที่มีชื่อประมาณนี้ตอนสร้างเท่าไหร่ก็สร้างไม่เสร็จ จนกระทั่งมีชีปะขาวมาช่วยหล่อจึงเสร็จ และชีปะขาวนี้ก็มักหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เลยเชื่อว่าชีปะขาวที่ว่าน่าจะเป็น ‘พระอินทร์’ ที่ ‘แปลง’ กายลงมาช่วย
ด้านหลังซุ้มพระประธานองค์นี้ยังมีห้องขนาดเล็ก ประดิษฐานพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์สมัยอยุธยา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เคยประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารหลังนี้มาแต่ดั้งเดิมด้วย แต่จะไม่มีลิงและช้างคอยอุปัฏฐาก รัชการที่ ๕ จึงทรงให้ช่างเขียนภาพช้างและลิงถูกนายพรานไล่ล่าไปจนหมด เพราะฉะนั้น พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ในวิหารนี้จึงไม่มีลิงและช้างให้เห็นอีกต่อไป นอกจากนี้จิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารหลังนี้ ยังมีการแสดงเรื่องราวของ ‘มฆมาณพ’ อีกด้วย
เอาหละครับนอกจากบังเอิญพบสถานที่สวยงาม เรื่องชื่อ และได้บุญกันแล้ว วัดหน้าเราจะพาทุกท่านไปเที่ยววัดไหนโปรดติดตามตอนต่อไปครับ
สวัสดี
เสือซ่อนยิ้ม
อ้างอิง
(ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล, 2023)
(การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2023)
(วัดวา, 2021)
เสือซ่อนยิ้ม
วันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 20.17 น.