ถ้าหากพูดถึงเวทมนต์คาถา (ที่ไม่ใช่ฮอกวอตส์) นับเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับความเชื่อความศรัทธาของคนไทย อยู่คู่กับชาวสยามมาอย่างช้านานหลายชั่วอายุคน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ต่างๆ พระอาจารย์เกจิหลายๆ รูป ที่เขาว่าเก่ง ว่าดี ว่าศักดิ์สิทธ์ ผู้คนต่างเสาะแสวงหาไปเคารพสักการะ หรือวัตถุมงคลต่างๆ ที่มีอิธิฤทธิ์ปฏิหาร ก็พยายามที่จะให้ได้มาครอบครองซึ่งวัตถุมงคลเหล่านั้น หรือเพื่อความสบายใจ และเป็นสิ่งยึดเหนียวจิตใจ
จากตำนานที่เล่าขานต่อ ๆ กันมาแหล่งตักศิลาด้านวิชาสายเวทย์ต่างๆ ของสยามประเทศ ถ้าเป็นทางภาคใต้ท่านอาจจะรู้จักสถานที่แห่งนั้นในนามว่า " สำนักตักศิลาไสยเวทย์ วัดเขาอ้อ พัทลุง " แต่หากถ้าพูดถึงภาคกลาง กลางเมืองหลวงที่เป็นราชธานีอย่างอยุธยาในสมัยนั้น สถานที่แห่งนี้ได้รวบรวมสรรพวิชาต่าง ๆ ทั้งเวทมนตร์คาถา ตลอดจนตำหรับตำราพิชัยสงคราม และศาสตร์ความรู้ต่างๆ ทั้งการแพทย์ และอื่นๆ ไว้ ณ ที่แห่งนี้ อีกทั้งยังมีประวัติและเรื่องราวของเหตุการณ์สำคัญๆ อยู่หลายเรื่อง ณ ที่แห่งนี้ด้วยเช่นกัน และที่นี่คือ "วัดประดู่ทรงธรรม"
วัดประดู่ทรงธรรม
วัดเก่าแก่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมือง เกิดจากการรวมพื้นที่วัดโบราณ 2 วัดคือ วัดประดู่ และ วัดโรงทาน (วัดโรงธรรม) เข้าไว้ด้วยกัน จนกลายเป็นวัดประดู่ทรงธรรมมาจนปัจจุบัน (Komchadluek.net, 2024)
วัดแห่งนี้มีเรื่องราวสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์จากพระราชพงศาวดารกล่าวว่า มีพระภิกษุสงฆ์ของวัดประดู่ 8 รูป ได้ให้การช่วยเหลือพระเจ้าทรงธรรม (พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา องค์ที่ 21) ให้หลบหนีจากการก่อกบฏของพวกญี่ปุ่นที่หมายปลงพระชนม์ชีพ และในบันทึกของเอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ ได้กล่าวว่าเจ้าพระยาพระคลัง (เจ้าพระยาโกษาเหล็ก) ได้ทำการบูรณะวัดหนึ่งและในแผนที่ของหมอแกมป์เฟอร์ พบว่าตำแหน่งวัดพระยาพระคลังตรงกับวัดแห่งนี้ด้วย
อีกทั้งวัดแห่งนี้เป็นวัดที่ พระเจ้าอยู่หัวอุทมพร ออกผนวชและเป็นที่พำนัก ก่อนที่พระองค์ถูกกวาดต้อนไปอังวะ หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 คม ชัด ลึก, 2565)
วิหารศักดิ์สิทธิ์
เมื่อมาถึงจอดรถตรงลานและเดินเข้ามายังทางเข้าวัด เราจะเจอกับพระวิหารเก่าแก่สุดเข้มขลังเป็นที่แรก ภายนอกจะมีองค์พระสยามเทวาธิราชประดิษฐานอยู่หน้าวิหาร และภายในพระวิหารมีประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยลงรักปิดทอง 3 องค์ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีเดียวกันมีนามว่า หลวงพ่อรวย หลวงพ่อรุ่ง หลวงพ่อเรือง หรือชาวบ้านนิยมเรียกรวมกันว่า "รวย รุ่ง เรือง" แค่ชื่อก็เฮงแล้ว
นอกจากพระประธานภายในพระวิหาร ด้านหน้าพระประธานยังเป็นที่ประดิษฐานของพระเกจิอีกรูปหนึ่งครั้งสมัยอยุธยานั้นก็คือ หลวงพ่อรอด หรือ หลวงพ่อรอดเสือ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดประดู่ทรงธรรม และตรงข้ามหันหน้าเข้าพระประธานจะมีอีกหนึ่งฆราวาสผู้เรืองอาคม (ที่แม้แต่ "หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค" ยังนับถือ) ท่านมีนามว่า " ก๋งจาบ" หรือ ครูจาบ อาจารย์ใหญ่ผู้สอนกรรมฐานของสำนักวัดประดู่ทรงธรรม ท่านเป็นอาจารย์ของ หลวงพ่อเทียม วัดกษัตราธิราช หลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน หลวงพ่อกี๋ วัดหูช้าง นนทบุรี ซึ่งพระเกจิทั้ง 3 องค์นี้ มีประวัติคือผู้ที่จารตะกรุดแล้วหลอมไม่ละลายในพิธีวัดประสาทฯ ปี ๒๕๐๖ (Tnews, 2559)
และหากแหงานมองขึ้นไปตามผนังวิหารยังมีผลงานด้านศิลปะที่ทรงคุณค่าคือ ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง ที่มีความสวยงามมาก ๆ อายุนับ 100 ปี โดยบางส่วนนั้นยังมีสภาพที่สมบูรณ์อยู่ บางส่วนของภาพนั้นได้ลบเลือนหายไปตามกาลเวลาบ่งบอกถึงความเก่าแก่และเข้มขลัง ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากจะเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า วัดประดู่ทรงธรรมแล้ว ยังทรงให้มีการบูรณะภาพให้มีความงดงามที่แสดงถึงเรื่องราว ทศชาติชาดกพุทธประวัติ ภาพขบวนเสด็จทางสถลมารควิถีชีวิต และการละเล่นของคนไทยในสมัยก่อนอีกด้วย (stockpercy, 2020)
บริเวณด้านนอกพระวิหาร ยังมีเจดีย์ด้านหลังพระวิหารมีพระพุทธรูปอยู่ด้านบน ถัดออกมามีพระอุโบสถมหาอุตม์ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีการบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 บริเวณรอบ ๆ ยังมีพันธุ์ไม้โบราณขนาดใหญ่นานาชนิดขึ้นอยู่รอบวัด พาให้ร่มรื่นแก่ผู้มาเยือน
ส่วนด้านหลังพระอุโบสถ ยังมีเจดีย์เป็นที่เก็บอัฐิของ พระเจ้าทรงธรรม (เจดีย์ใหญ่) อีกทั้งยังมีอัฐิของก๋งจาบ รวมถึงบูรพคณาจารย์เจ้าอาวาสหลาย ๆ รูป และเชื่อกันว่ามีอัฐิของหลวงพ่อกลั่นวัดพระญาติการามอยู่ที่แห่งนี้ด้วย แต่ใช้ชื่อว่าหลวงพ่อกล่ำ (รายการเที่ยวได้ไม่ลบหลู่, 2024)
หากท่านใดมาเที่ยวจังหวัดอยุธยาก็ลองแวะเข้ามาที่วัดแห่งนี้ดูนะครับ เพราะนอกจากจะได้ทำบุญกันแล้ว ยังได้รับความเข้มขลังแบบรับรู้ได้อย่างชัดเจนอีกด้วย และยังได้เหมือนมาย้อนเวลากลับไปในอดีตอีกครั้งครับ
สำหรับวัตถุมงคล ใครสนใจก็แวะเข้ามาเช่าหาเป็นที่ระลึกกลับบ้านได้ด้วย ปัจจัยก็จะนำไปทำนุบำรุงพระศาสนา และช่วงนี้มีการซ่อมแซมหลังคาพระวิหารด้วย "วัดเล็ก ๆ แต่วัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่" ของให้ความสุขจงมีแก่ท่าน สาธุ สาธุ สาธุ
“โอม มหาระงับ หลับสิ้นทั้งบ้าน โอมชิดมหาชิด โอมปิดมหาปิด สิทธิสวาหะ (หับ)”
สวัสดี
- เสือซ่อนยิ้ม -
เสือซ่อนยิ้ม
วันพฤหัสที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 22.29 น.