วันนี้เราจะขออาสาพาทุกคนมาเยี่ยมชม วัดพิชยญาติการามวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร อีกหนึ่งวัดสวยในกรุงเทพฯ ที่อยากแนะนำให้ทุกคนได้มากัน
วัดพิชยญาติการามวรวิหาร เดิมทีเป็นวัดร้าง แต่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ครั้งตอนเป็นพระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา เมื่อปี พ.ศ. 2384 หลังจากที่บูรณะปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ได้น้อมเกล้าถวายวัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวง ในสมัยรัชกาลที่ 3
จุดแรกที่เราจะพบ เมื่อเข้ามายังรั้ววัดแห่งนี้ นั่นคือ พระอุโบสถ ที่สร้างขึ้นด้วยศิลปะจีน ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่อัญเชิญมาจากวัดพระวิหารหลวงของ พิษณุโลก มีชื่อว่า “พระสิทธารถ” หรือ “หลวงพ่อสมปรารถนา”
ด้านหน้าพระอุโบสถ : พระสังกัจจายน์ และ พระแม่ธรณี
ด้านหลังพระอุโบสถ
และเมื่อเดินมาด้านหลังพระอุโบสถจะพบกับลานกว้างๆ ตรงกลางลานมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่สามารถเข้าไปกราบสักการะกันได้
หลังจากกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุเสร็จเรียบร้อย ก็จะพบกับจุดที่เรียกว่าเป็นไฮไลท์ของวัดพิชยญาติการามวรวิหาร เลยก็ได้ นั่นคือ พระปรางค์ 3 องค์ ซึ่งแต่ละองค์ มีรายละเอียดดังนี้
พระปรางค์องค์ใหญ่
ตั้งอยู่ตรงกลาง ภายในประดิษฐานพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะพุทธเจ้า พระโกนาคมนะพุทธเจ้า พระกัสสปะพุทธเจ้า และ พระโคตมะพุทธเจ้า รวมถึงเป็นที่บรรจุอัฐิตระกูลบุนนาคอีกด้วย
พระปรางค์องค์เล็ก (ด้ายซ้าย)
ตั้งอยู่ทางด้ายซ้าย ภายในประดิษฐานพระศรีอริยเมตไตรย
พระปรางค์องค์เล็ก (ด้านขวา)ตั้งอยู่ทางด้ายขวา ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง 4 รอย ที่สลักไว้บนแผ่นศิลาสำริด
สำหรับสถาปัตยกรรมภายในของวัดพิชยญาติการามวรวิหาร จะเป็นการผสมผสานกันระหว่างไทยและจีนซึ่งให้อารมณ์ความรู้สึกคล้ายคลึงกับวัดอรุณราชวรารามฯ อีกทั้งบรรยากาศด้านในวัดนั้นเงียบสงบ ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว
วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หากกำลังหาที่เที่ยวในกรุงเทพ ลองแวะมาที่ วัดพิชยญาติการามวรวิหาร ได้ทำบุญแถมได้รูปสวยๆกลับไปอีกด้วย
ข้อมูล วัดพิชยญาติการามวรวิหาร
เว็บไซต์ : วัดพิชยญาติการาม วรวิหาร
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน เวลา 06.00 - 18.00 น.
พิกัด : พิกัดวัดพิชยญาติการามวรวิหาร
สถานที่จอดรถ : สามารถจอดรถได้ที่ วัดพิชยญาติการามวรวิหาร (มีค่าบริการ)
ภาพถ่ายและปรับแต่งภาพโดย SasisDiary ผู้เขียน
Sasi's Diary
วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567 เวลา 22.40 น.