ใครยังช้า รีบไปให้ไวเลย เพราะงานหมดวันที่ 10 นี้แล้วกับนิทรรศการ "ตามรอยบาท พระจอมเกล้าฯ ทรงพระผนวช ๒๐๐ ปี" โดยคณะธรรมยุติกนิกาย
ถามว่าทำไมต้องจัดที่ 4 วัดนี้ล่ะ? .... เพราะวัดเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ ๔ ท่านทั้งสิ้น ใครสนใจอ่านบทความเต็มๆ ด้านล่างนี้ได้เลย
พระราชประวัติ
พ.ศ. ๒๓๔๗
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชสมภพวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ ในวันมหาปวารณา ออกพรรษา สมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธ- เลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และสมเด็จพระศรี- สุริเยนทราบรมราชินี
พ.ศ. ๒๓๕๕
ทรงเข้าพิธีลงสรงเฉลิมพระนามเจ้าฟ้า ทรงรับ
พระราชทานพระสุพรรณบัฏ มีพระนามตาม
จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้า
ลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงศ์
พงศาอิศวรกระษัตริย์ ขัติติยราชกุมาร”
มีพระนามเรียกกันอย่างลำลองว่า
“ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่”
พ.ศ. ๒๓๕๙
ทรงเข้าพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) และ ๑ ปี ถัดมาในพ.ศ.๒๓๖๐ ก็ทรงพระผนวชเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประทับ ณ วัดมหาธาตุ เป็นเวลา ๗ เดือน หลังทรงลาผนวช เสด็จขึ้นวัง ประทับ ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี
พ.ศ. ๒๓๖๗
ทรงพระผนวชเป็นภิกษุ ณ พระอุโบสถ วัดพระ ศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงษญาณ (มี) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “วชิรญาโณ” ประทับวัดมหาธาตุ ๓ วัน แล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) เพื่อศึกษากรรมฐาน ทรงพระผนวชได้ ๑๕ วันพระบรมชนกนาถสวรรคต กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระเชษฐาต่างพระมารดา เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เป็น พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
พ.ศ. ๒๓๖๘
ต่อมาพระวชิรญาโณภิกขุ ได้พบความประพฤติ ย่อหย่อนวินัยในคณะสงฆ์ จึงทรงตั้งสัจจาธิษฐาน ขอพบสงฆ์ที่มีวงศ์บริสุทธิ์ และมีปฏิปทาอันต้อง ตามพระธรรมวินัย ถัดมา ๓ วัน จึงได้พบกับ พระสุเมธมุนี (พุทฺธวํโส) พระรามัญนิกาย ซึ่งมี วงศ์อันน่าเลื่อมใส มีปฏิปทาต้องตามพระธรรม วินัย จึงทรงสมาทานรับวินัยวงศ์นั้นมาปฏิบัติ
พ.ศ. ๒๓๖๙
ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรม ตามคำอาราธนาของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่ง ดุสิตมหาปราสาท ทรงสอบได้เปรียญ ๕ ประโยค
พ.ศ. ๒๓๗๒
เมื่อทรงเริ่มปรับปรุงวัตรปฏิบัติก็เริ่มมีผู้เลื่อมใส และเข้าถวายตัวเป็นศิษย์ ทรงรู้สึกไม่สะดวก พระทัยที่จะประทับ ณ วัดมหาธาตุ อันเป็น สำนักสมเด็จพระสังฆราช จึงเสด็จไปประทับ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) นับเป็นจุดเริ่มต้น ของคณะธรรมยุต
พ.ศ. ๒๓๗๙
เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศวิหาร กิจการแห่ง คณะธรรมยุตเติบโตขยายขึ้นโดยลำดับ ทรงมี ศิษยานุศิษย์เพิ่มขึ้น ทรงพัฒนาการศึกษาทั้งด้าน ปริยัติและปฏิบัติ ส่งเสริมการเทศนาสั่งสอนโดย ปฏิภาณ ตั้งโรงพิมพ์หนังสือธรรมเผยแพร่
พ.ศ. ๒๓๙๔
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตทรงรับคำทูลเชิญของเสนามาตย์ จึงทรงลาพระผนวช
ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็น “พระบาทสมเด็จ
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์จอมปราชญ์ ทรงแตกฉานในศิลปวิทยาการรอบด้าน
ทรงปฏิรูป ขนบธรรมเนียมเดิมที่พ้นสมัย และยังทรงวาง รากฐานแห่งการพัฒนาไปสู่ความเป็นอารยประเทศ
พ.ศ. ๒๓๙๘
ทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง เปิดให้ชาติตะวันตกเข้ามา ทำการค้าเสรีกับสยาม
พ.ศ. ๒๔๑๑
เสด็จสวรรคตในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ อันเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษา หลังจากที่ พระองค์เสด็จกลับจาก ทอดพระเนตรสุริยุปราคา ณ ตำบลหว้ากอได้ ๑ เดือน ๑๒ วัน
พระราชกรณียกิจ
• จุดกำเนิดคณะธรรมยุติกนิกาย
พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงพิจารณาว่าวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ สยามในเวลานั้นย่อหย่อน ถือประพฤติตามอาจารย์เป็นหลัก มิได้ไตร่ตรอง จึงทรงสลดพระทัย จึงทรงตั้งสัจจาธิษฐาน เบื้องหน้าพระประธานในพระอุโบสถ วัดมหาธาตุ ว่าขอให้ได้ พบวงศ์บรรพชาอุปสมบทที่บริสุทธิ์ภายในเร็ววัน หาไม่แล้วจะทรงลาสิกขาไปปฏิบัติธรรมอย่างฆราวาส ต่อมาไม่นานจึงทรงพบพระรามัญนิกาย นามว่า พระสุเมธมุนี (ซาย) มีศีลาจารวัตรปฏิปทางดงามแจกแจงพระวินัยได้ถูกตรง ตามพระไตรปิฎกจึงทรงเลื่อมใสรับวัตรปฏิบัตินั้นมาเป็น แบบอย่างต่อไป
เมื่อทรงรับวัตรปฏิบัติของสงฆ์รามัญแล้ว ปรากฏว่าทรงมี ศิษยานุศิษย์เพิ่มขึ้นโดยลำดับ จึงเกิดเป็นคณะสงฆ์กลุ่มหนึ่งขึ้น ต่อมาทรงย้ายจากวัดมหาธาตุไปประทับยังวัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) โปรดฯให้ขุดนิมิตสีมาขึ้นมาตรวจสอบ พบว่าเป็น สีมาวิบัติ ทำให้อุปสมบทกรรมไม่บริสุทธิ์ จึงทรงพระปริวิตก ถึงความบริสุทธิ์ของพระสงฆ์ทั้งหลาย โปรดฯให้สร้างโบสถ์แพ ขึ้นที่หน้าวัดสมอราย เป็นอุทกุกเขปสีมา (สีมาน้ำ) และ ทรง นิมนต์พระภิกษุรามัญนิกายซึ่งมีสายอุปสมบทสืบมาแต่กัลยาณีสีมาอันถือว่าบริสุทธิ์มาทำทัฬหีกรรม (บวชซ้ำ) ให้แก่พระองค์ และศิษยานุศิษย์เพื่อฟื้นฟูวงศ์อุปสมบท ที่บริสุทธิ์
• พัฒนาการของคณะธรรมยุติกนิกาย
คณะธรรมยุติกนิกายที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้กำเนิดเมื่อครั้งทรงพระผนวชนั้น นับได้ว่าเป็นคณะสงฆ์ ที่มีความก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง มีหลักคิดในการสืบสวนค้นหา ความรู้ให้แน่ชัดตามพระบาลี ยึดพระธรรมวินัยเป็นที่ยุติ และยังเผยแผ่ธรรมะโดยให้ความสำคัญแก่หลักธรรม ไม่เน้นปาฏิหาริย์ พยายามสืบเสาะไปถึงต้นทางของพุทธศาสนา เถรวาท คือ ลังกาทวีป ทรงส่งสมณทูตไปสืบการพระศาสนา ยืมคัมภีร์ที่สยามยังขาดมาคัดลอก นอกจากนี้ยังทรงติดต่อ กับชาติตะวันตก เพื่อศึกษาความรู้ตลอดจนรับวิทยาการสมัยใหม่ มาปรับใช้กับพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงศึกษา ภาษาและวิทยาการต่างประเทศกับทั้งบาทหลวงฝรั่งเศส และหมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน
• พระราชกรณียกิจอื่นๆ ระหว่างทรงพระผนวช
ในระหว่างทรงพระผนวช ทรงมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับพสกนิกร ระหว่างที่ทรงธุดงค์ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ในขณะเดียวกันก็ทรง แสวงหาความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ทรงเป็นผู้ค้นพบ พระปฐมเจดีย์จังหวัดนครปฐม ภายหลังเมื่อเสวยราชย์แล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่ครอบพระเจดีย์องค์เดิม จนสูงตระหง่านดังปัจจุบัน ระหว่างเสด็จไปเมืองสุโขทัยก็ทรง ค้นพบพระแท่นมนังคศิลา ศิลาจารึกหลักที่ ๑ และศิลาจารึก หลักที่ ๔ อันเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์สำคัญของชาติและ โปรดฯ ให้นำมาไว้ ณ กรุงเทพมหานคร
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก https://www.200-years-vajirana...
Plainswalker
วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เวลา 00.34 น.