บันทึกสด 6 - 7 ก.ค. 2559 [ผีตาโขน ศรัทธา ประเพณี และการท่องเที่ยว]


[บันทึกสด การเดินทางของข้าพเจ้า]


ติดตาม Page ของผู้เขียน ชมภาพ และการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว http://facebook.com/omeoyou



ที่มุดหัวนอน หาได้ก็เก่งแล้วในช่วงงานผีตาโขน


ด้วยความที่กลัวว่าจะไม่มีที่พักเหลือพอ ผมจึงออกจากภูเรือโดยพักแถวภูเรือเพียงวันเดียว มุ่งตรงสู่ด่านซ้ายท่ามกลางสายฝนพร่ำตลอดทางตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2559



ความกังวลผมถูกต้อง ที่พักส่วนใหญ่เต็มแล้ว (บางที่ถูกจองล่วงหน้าตั้งแต่ปีที่แล้ว) ที่พักไหนมีห้องเหลือก็จะราคาพุ่งสูง 2 - 3 เท่าตัวในช่วงวันที่ 6 - 8 ซึ่งตรงกับวันงานผีตาโขนนั้นแหละ



บ้านพักบางหลังอย่างหลังนี้ที่น่าจะได้รับการประชาสัมพันธ์ออกต่างประเทศ เพราะที่พักถูกจองในช่วงนี้ล่วงหน้าจนเต็มตั้งแต่ปีที่แล้ว และผู้เข้าพักเป็นชาวต่างชาติเสียเยอะ



ผมโชคดีที่ได้ที่พักในราคาที่ต่อรองที่ ‘ด่านซ้าย รีสอร์ท’ ผู้ดูแลที่นี่ใจดี และห้องที่เหลือห้องสุดท้ายนั้นสภาพไม่ดีนัก แต่สำหรับผมไม่มีปัญหา ซึ่งอันที่จริงพี่ที่ดูแลเขาก็แนะนำให้ไปนอนที่วัดเนรมิตวิปัสสนา พี่เขาบอกว่าที่นั้นนอนได้ มีคนไปนอนประจำ โดยเฉพาะช่วงงานผีตาโขนที่นักท่องเที่ยวมากันเยอะมากเกินกว่าที่พักในพื้นที่จะรองรับได้ ก็ได้อาศัยวัดแถวนั้นแหละนอน ซึ่งตรงกับที่ผมได้คุยกับคนในพื้นที่ท่านอื่น และพระที่วัดแห่งนั้นก็บอกกับผมไว้เช่นเดียวกัน



มุมหนึ่งในวัดเนรมิตวิปัสสนา วัดที่มีที่พักให้สำหรับท่านที่หาที่พักไม่ได้ ถ้าวัดไม่เต็มเสียก่อนนะ



วันที่ 4 ตั้งใจนอนให้เต็มที่ แทบไม่ได้ทำอะไรเลย กะว่าจะไปชมวัดพระธาตุศรีสองรัก และวัดเนรมิตวิปัสสนาในวันที่ 5 แทน (ซึ่งผมได้เขียนบันทึกสดของวันที่ 5 โพสต์ไว้แล้วในลิงก์นี้ครับ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.987723077991709.1073741837.967529293344421&type=3)



วันโฮม งานพิธีกรรม การเริ่มต้นของผี


วันที่ 6 ก.ค. ปีนี้คือวันแรกของงานบุญหลวง หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า ‘วันโฮม’ ซึ่งจริง ๆ แล้วงานพิธีกรรมบางอย่างเริ่มตั้งแต่ตี 4 แล้ว เป็นพิธีที่เรียกว่า ‘พิธีพระเบิกอุปคุต’ (พิธีนี้ทำตรงพื้นที่ระหว่างลำน้ำหมัน - ลำน้ำศอก ซึ่งก็อยู่แถวนั้นแหละ) และผมไม่ได้เดินดูให้ทั่ว มาเห็นกำหนดการเหล่านี้ช่วงที่เขากำลังเข้าสู่พิธีกรรมช่วง ‘พิธีบายศรีสู่ขวัญ เจ้าพ่อกวน - เจ้าแม่นางเทียม’ ที่บ้านเจ้าพ่อกวนซึ่งพิธีนี้เริ่ม 8.30 น.



ระหว่างพิธีบางศรีสู่ขวัญ ในภาพคือเจ้าพ่อกวน และเจ้าแม่นางเทียม



ผมเปิดมือถือ Google Map ตามฟอร์มของผม ค้นหาบ้านเจ้าพ่อกวน แต่รู้สึกอย่างไงไม่รู้ว่ามันน่าจะหาไม่เจอ ซึ่งมันก็ไม่เจอจริง ๆ จึงถามคนแถวนั้น บางคนก็ไม่รู้ แต่คนแก่ ๆ หน่อยจะรู้ เขาก็ชี้ทางไปให้ผมซึ่งอยู่ไม่ไกลจากแถวที่จัดงานหรอกครับ เดินไปได้ถ้าจะเดิน แต่ฝนตกตลอดนะครับ ไม่หนัก ปอย ๆ ตลอดเวลา



หน้าบ้านเจ้าพ่อกวน



ไม่ทันเห็นป้ายก็รู้ว่านี่คือบ้านเจ้าพ่อกวน (พิกัด https://goo.gl/maps/WonQkr1eoyD2) เพราะรถของสื่อโทรทัศน์จอดอยู่ และมีผู้คนอยู่หน้าบ้านไม้ทรงไทยหลังหนึ่ง หน้าบ้านมีป้ายเขียนชัดเจนว่าเป็นบ้านเจ้าพ่อกวน



พราหมณ์ผู้ดำเนินพิธีบาศรีสู่ขวัญ



จากที่ผมฟังมาจากคนในพื้นที่เล่าให้ฟังบอกว่า เจ้าพ่อกวนนั้นจะถูกเลือกจากพิธีกรรมที่จะทำที่วัดพระธาตุศรีสองรัก ซึ่งถ้าถูกเลือกแล้วจะไม่เป็นก็ไม่ได้นะครับ จะว่าไปผมก็ไม่แน่ใจว่า ข้อมูลนี้ผมจำสลับกับ ‘พ่อแสน’ และ ‘นางแต่ง’ หรือเปล่านะครับ แต่เจ้าพ่อกวน กับเจ้าแม่นางเทียม จะใหญ่กว่า พ่อแสน และนางแต่งนะ



ผู้ชายนั่งรวมกันแยกกับฝ่ายหญิง



ผู้เฒ่าผู้แก่เสียเป็นส่วนใหญ่ที่มางานพิธีกรรมแบบนี้ แต่ก็พอจะเห็นมีหนุ่มสาวบ้างเล็กน้อย



ผมเดินขึ้นไปในบ้านด้วยท่าทีที่สุภาพ พยายามจะรบกวนงานให้น้อยที่สุด โดยไปยืนอยู่รวมกล่มกับเหล่ามนุษย์กล้อง ซึ่งสังเกตุเห็นทีมงานถ่ายภาพยนตร์เรื่อง ‘ผีตามคน’



ผีตามคน เป็นชื่อเรียกตามพฤติกรรมในพระเวสสันดรชาดกช่วงที่พระเวสสันดรเสด็จกลับกรุงได้ เหล่าผีป่ารู้สึกอาลัยอาวรก็ตามเสด็จไปพร้อมกับขบวนของพระเวสสันดร จึงเรียกว่า ผีตามคน ก่อนจะเพี้ยนเป็น ผีตาโขน



มีทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์มาเก็บภาพด้วย

กระทู้รีวิวเก่า เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว


บันทึกสด 30 มิ.ย.- 3 ก.ค. 2559 [เชียงคาน หน้าฝน หมอก ยิ้มให้กัน] (http://pantip.com/topic/35345418)


บันทึกสด 29 มิ.ย. 2559 [เมืองเลย ภูบ่อบิด หน้าฝน หมอกและดาวบนดิน] (http://pantip.com/topic/35329482)

บันทึกสด 28 มิ.ย. 2559 [เมืองเลย หลง มันส์ เหนื่อย เปียก ประทับใจ น้ำใจ] (http://pantip.com/topic/35324083)

บันทึกสด 25 - 26 มิ.ย. 2559 [แรกเยือนเมืองเลย ประทับใจถนนลอยฟ้า] (http://pantip.com/topic/35316607)

ยอยักษ์ ตักตะวัน ทะเลน้อย ควายน้ำ นกอพยพ ต้นลำพู - ทะเลน้อย - พัทลุง (http://pantip.com/topic/34977668)

สะพานไม้สุดชิว วิถีชาวมอญ - สะพานมอญ - สังขละบุรี - กาญจนบุรี (http://pantip.com/topic/34907371)

ชมทะเลหมอก ชิมน้ำใจที่เขาพะเนินทุ่ง - เขาพะเนินทุ่ง - อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน - เพชรบุรี (http://pantip.com/topic/34582338)

อ่างเก็บน้ำบางพระ สวรรค์นักปั่นจักรยานหาก๊วนรู้ใจ - อ่างเก็บน้ำบางพระ - ชลบุรี (http://pantip.com/topic/35208447)



Page ถ่ายภาพ แนะนำสถานที่เที่ยวของผม https://www.facebook.com/omeoyou/

พิธีกรรม เหล่าผู้เฒ่าผู้แก่รอคนสืบสาน


ไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่จะสังเกตุเห็นว่า ภายในงานพิธีกรรมนี้ แทบจะมีแต่คนรุ่น ปู่ ย่า หรือลุง ๆ ป้า ๆ เกือบทั้งนั้น พิธีกรรมบางศรีสู่ขวัญเจ้าพ่อกวน - เจ้าแม่นางเทียมนี้ จะมีผู้กล่าวบทสวดต่าง ๆ ที่แต่งตัวเหมือนพราหมณ์ ซึ่งก็คงใช่แหละ แต่ผมไม่กล้ายืนยัน เพราะไม่ได้สอบถามใครชัดเจน ส่วนเจ้าพ่อ และเจ้าแม่ก็นั่งอยู่ด้วย โดยการนั่งของคนที่มาอยู่ในพิธีจะนั่งแยกชาย - หญิงออกจากกัน (ถ้าสังเกตุ การเดินแห่หลังจากนี้ หรือเดินเวียนรอบวัดก็จะแบ่งแยกชายหญิงไม่เดินปนกันด้วยนะ)



กลุ่มที่มีหน้าที่ทำเครื่องดนตรีให้เกิดเสียงเริ่มจับกลุ่มกันหลังจากบทสวดต่าง ๆ สิ้นเสียง



สิ้นเสียงพิธีกรรม บทสวดเงียบไป ด้านล่างก็ปรากฎผีตาโขนสองคนออกมาเต้นกับผู้คน



ผู้เฒ่าผู้แก่ยังทยอยเดินฝ่าสายฝนพร่ำมาร่วมงาน หน้าบ้านเจ้าพ่อกวนคนหนาตากว่าตอนที่ผมเข้ามามากนัก



ช่างภาพทั้งจากสื่อต่าง ๆ และช่างภาพอิสระ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่มีบ้างที่เข้าร่วมเก็บภาพพิธีกรรมสำคัญของงานผีตาโขน



เวลาผ่านไปร่วมชั่วโมงเห็นจะได้ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นหญิงบางท่านน ใส่เสื้อมีสีสัน ถือฆ้อง กลองยาว ฉิ่ง ฉาบเตรียมพร้อม ผมไม่แน่ใจว่าทำไมเห็นแต่ผู้หญิง ณ ตรงนั้น แต่ช่วงหลังก็เห็นมีผู้ชายนะ ในขณะเดียวกัน ที่ด้านหน้าบ้านก็เริ่มมีผีตาโขน 2 ตนออกมาเต้น มีการเปิดเพลง ตีกลอง ตีฉาบ และมีผู้คนมาร่วมรำกันกลางสายฝน



ขบวนผีตาโขนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มแรกที่เห็นเป็นกลุ่มเคลื่อนผ่านหน้าบ้านเจ้าพ่อกวน และตรงไปวัดโพนชัย



ถ้ากล้องส่องไปที่ผีตาโขนตนใด ส่วนใหญ่ก็จะทำท่าขู่กล้อง เล่นกล้องตามภาษาผี ๆ ทันที



ผ่านไปได้เกือบครึ่งชั่วโมง พิธีกรรมด้านบนนั้นจบแล้ว แต่เป็นการทานข้าวกันอยู่ (ไม่แน่ใจว่าการทานอาหารร่วมกันนั้นเป็นหนึ่งในพิธีกรรมไหม) แต่ที่หน้าบ้านเจ้าพ่อกวนมีขบวนผีตาโขนกลุ่มหนึ่งเดินแห่ไปที่วัดโพนชัย (พิกัด https://goo.gl/maps/4phiaBKEMBU2) ซึ่งวัดนี้คือวัดที่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของผีตาโขน เป็นจุดหมายปลายทางของพิธีกรรมต่าง ๆ ของงานผีตาโขน และยังมีพิพิธภัณฑ์ผีตาโขนอยู่ในวัดด้วยครับ



มีกลุ่มอรหันต์ทองคำด้วย เฮ้ยไม่ใช่ ผมก็ไม่รู้เรียกว่าอะไรนะ



หน้าตาของพวกพี่ ๆ เขา จะเดินแล้วร้องเพลงอะไรไปด้วยก็ไม่รู้ ฟังไม่ออก



ผมตัดสินใจเดินตามขบวนแห่ผีตาโขนนั้นไป ขบวนไปหยุดอยู่ในวัดโพนชัยพักหนึ่ง ก่อนจะเริ่มเดินกระจายตัวไปที่เวทีของเทศบาลที่จัดงานรื่นเริง (พิกัด https://goo.gl/maps/6tLhWN7Lf5x) ซึ่งเวทีนี้จะเป็นจุดสำคัญของงานรื่นเริง มีการแสดงคอนเสิร์ท และตั้งขบวนพาเรดใหญ่ของหน่วยงานรัฐ และเอกชนที่เข้าร่วมงานในวันที่ 7 ด้วยครับ ตกกลางคืนตรงนี้ก็จะคนเยอะ



ผีตาโขนหลากหลายหน้าตาเริ่มออกมา แต่ยังไม่เยอะเท่าช่วงค่ำที่ชาวบ้านเริ่มแต่งตัวเป็นผีตาโขนออกมาร่วมสนุก



ผีเที่ยวเมือง คนเมืองยิ้มเป็นสุข


จากคำบอกเล่าต่อเนื่องกันมาว่า ผีตาโขน หรือผีตามคน ที่ตามพระเวสสันดรเข้าเมืองมา ก็จะออกเที่ยวไปทั่วเมือง เพราะไม่เคยเห็นเมืองมาก่อน เพราะเหล่าผีเหล่านั้นเป็นผีป่า แต่ผีเหล่านี้มักจะติดนิสัยความเป็นผีที่ชอบแกล้ง หลอกผู้คนที่ผ่านไปมาในเมือง แต่ไม่ได้ทำอันตรายอะไรผู้คน ครั้นหมดเวลา หรือได้เวลา เหล่าผีก็กลับเข้าสู่ป่า พร้อมกับนำสิ่งร้าย ๆ ต่าง ๆ ออกจากเมืองไปด้วย ทำให้ผู้คนในเมืองมีความสุข



ผีตนนี้จะเก๋าหน่อย เที่ยวแกล้งชาวบ้านไปทั่ว



เด็กก็ไม่เว้น แต่เด็กส่วนใหญ่จะกลัวนิด ๆ แต่ไม่ถึงกับร้อง แต่ไอ้ตัวเล็กนี้ไม่กลัวนะ



เฮ้ยรอด้วย ตามกลุ่มไม่ทันเว้ย (พี่คงทันหรอก ก็เล่นหลอกทุกคนที่เดินผ่าน)



เพราะฉะนั้น ไม่แปลกเลยที่คุณจะเห็นงานผีตาโขนที่มีผู้คนแต่งตัวเป็นผีตาโขนเดินทั่วเมือง และเที่ยวแกล้งคนนั้นคนนี้ ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ก็ยิ้ม และเล่นด้วย วีดว้ายตามภาษา สนุกสนานกันไป (ยังไม่เจอ ไม่เห็นคนอารมณ์เสียเพราะโดนแกล้งนะ)



รอยยิ้มของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เห็นการละเล่นแบบนี้ สมแล้วที่ผีจากไปพร้อมกับความทุกข์โศก เหลือไว้เพียงความสุข และรอยยิ้ม



ซึ่งผีส่วนใหญ่จะเดินไปมาให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพด้วย เวลาเจอกล้องก็จะแอ็คท่าเป็นท่าเหมือนจะหลอกให้ถ่ายภาพ แต่ทั่วไปแล้วจะไม่ขี้เล่นถ้าไม่เจอกล้อง แต่ก็มีผีตาโขนบางตนที่ดูจะขี้เล่นเป็นพิเศษ เพราะแกล้งคนไปทั่ว ทำให้หลาย ๆ คนหัวเราะออกมา



ผู้คนทั่วไปในเมืองยังคงดำเนินชีวิตปกติในช่วงวันที่ 6

ฉันคือผีตาโขน


ผีตาโขนแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ผีตาโขนใหญ่ ซึ่งไม่ใช่ใครก็จะทำขึ้นมาก็ได้ ผู้ที่ทำผีตาโขนใหญ่จะได้รับการเลือก เมื่อได้เป็นผู้ทำผีตาโขนใหญ่ก็จะต้องทำต่อไปอย่างน้อย 3 ปี ห้ามเลิกทำกลางคันด้วย ในขณะที่ผีตาโขนน้อย หรือผีตาโขนที่เราคุ้นชินตานั้น มีเงื่อนไขน้อยกว่า ใครจะทำก็ได้ ใครจะใส่ก็ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีร้านขายชิ้นส่วนประกอบเช่น ชุดหัวผีตาโขน กระดิ่ง และอาวุธของผีตาโขนขายให้นักท่องเที่ยวได้ใส่กัน (แต่จากที่เห็น มีน้อยครับที่นักท่องเที่ยวจะซื้อมาใส่ แต่ก็มีนะ)



ผีตาโขนใหญ่ จะมีเพียง 1 คู่เท่านั้น เป็นชาย และหญิง ซึ่งในภาพกำลังเดินเวียนรอบโบสถ์วัดโพนชัยอยู่



ขบวนที่เดินเวียนรอบโบสถ์จะมีเจ้าพ่อกวนเดินนำ



ผีตาโขนน้อยจะมีอาวุธที่เป็นดาบ หรือง้าว โดยด้ามของมันจะมีลักษณะเป็นอวัยวะเพศชาย และจะมีเครื่องทำเสียง เช่นกระดิ่งผู้วัว ควาย (หมากกะแหล่ง) หรือกระป๋อง ปี๊บอะไรก็ได้ มักจะมาผูกที่ด้านหลัง เมื่อเดิน หรือเต้นจะมีเสียงดัง และก็ส่วนของหน้ากาผีตาโขนที่ทำจากที่หุงข้าวเหนียว และกาบมะพร้าว



กระดิ่ง หรือสิ่งที่ทำให้เกิดเสียง มีขายตามร้านค้าทั่วไปในบริเวณนั้น



ผีตาโขนน้อยนั้นไม่ใช่แค่มีในขบวนแห่ เพราะชาวบ้าน และเด็ก ๆ หลายคนก็แต่งตัวเป็นผีตาโขนแบบต่าง ๆ ออกมาเล่นกันเพื่อความสนุกสนาน และเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพด้วย โดยเฉพาะเด็ก ๆ หลายคนดูท่าทางจะชอบมากกับงานแบบนี้



ยังมีองค์กรเอกชนหลากแห่ง ก็เข้าร่วมงาน และจัดงานผูกการประชาสัมพันธ์องค์กรตนเองไปด้วยเช่นกัน



แดดร่ม ลมตก ฟ้ามืด ผู้คนเริงร่า


คงไม่เกี่ยวกับแดด เพราะงานผีตาโขนอยู่ในช่วงเข้าหน้าฝนที่มีฝนตกพร่ำเกือบตลอดเวลา แดดหรอ ถ้าได้เห็นซักหน่อยก็คงดีนะ ผมเห็นแต่ฝน กับหมอก แต่อย่างไรก็ดี เมื่อฟ้าค่ำ ผู้คนเดินเที่ยวกับมากขึ้น หรือเพราะว่าวันที่ 6 นั้น ผู้คนเริ่มมาถึงเพื่อเตรียมสนุกกับงานแห่ใหญ่ในวันที่ 7 ก็เป็นไปได้ แต่คืนวันที่ 7 อาจจะไม่มีผีตาโขนเดินเล่นแล้วก็ได้นะครับ (ไม่ยืนยัน) เพราะช่วงเย็นมีพิธีทิ้งหน้ากาผีตาโขนแล้ว เพราะฉะนั้น จะเที่ยวงานกลางคืนผีตาโขนต้องมาคืนแรกของวันแรกนะครับ



หน้าเวทีใหญ่ของทางเทศบาลจัดคนเสิร์ต คนเยอะขึ้นมาก



สภาพคนที่มาชมคอนเสิร์ต แม้ว่าฝนจะยังไม่หยุดตกเลย



ร้านค้าต่าง ๆ มาจากทั่วทุกสารทิศก็มาเปิดร้านขายของกันที่นี่ พี่ที่ขายสายไหมจากมุกดาหาร มาขายที่นี่ครั้งแรก พี่เขาบอกว่าโชคดี บุญมี จึงได้มาขายในงานทั้ง ๆ ที่คนอื่นหาที่กันไม่ได้ แต่เขาเพิ่งมาได้ทีเฉยเลย เพราะร้านสายไหมเหมือนกันดันปวดท้องคลอดลูก เขาจึงได้เข้ามาแทนที่



ร้านอาหาร ขนม ของกินต่างขายดิบขายดี ส่วนร้านของฝากร้านนี้ผมโดนเสื้อของพี่เขาไป 2 ตัว



พี่จากกรุงเทพ มาขายเสื้อผ้าถึงที่นี่ มาพร้อมกับเต็นท์ที่กะจะนอนตรงนี้ เพราะน่าจะหาที่นอนที่อื่นไม่ได้แล้ว



ร้านเสื้อผ้าที่ระลึก มีลวดลายแตกต่างกันหลากลายมากนะครับสำหรับที่นี่ ไม่เหมือนที่ท่องเที่ยวอื่นที่ผมเจอบางที่ลายเสื้อผ้าคล้ายกันหลายร้าน อย่างเสื้อร้านนี้ ผมถึงกับซื้อไป 2 ตัว พี่เขาเป็นคนเมืองเลยเองด้วย



จริง ๆ ร้านรวงต่าง ๆ นั้นเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 5 ก็มีนีะครับ



พี่คนนี้เอาเต็นท์มากางไว้ในรถนอนเฝ้าแผงกันไปเลย เพราะอย่างไงก็หาที่พักลำบากอยู่แล้ว



นอกจากนี้ก็ยังมีอาหารอื่น ๆ ให้เลือกซื้อ ถือกินกันไประหว่างเดินเที่ยวชมงาน



ผู้คนต่างพาลูกหลานออกมาร่วมสนุกในงานรื่นเริงช่วงค่ำ



พี่คนนี้แต่งตัวเป็นผีตาโขนหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่ก็คล้ายนะ



นักท่องเที่ยวก็ยืนถ่ายรูปกันทั่วละครับ



หน้าตาผีตาโขนแบบนี้ก็มีครับ



งานรื่นเริ่งคงจะเด่นสุดที่เวทีแถวเทศบาลนั้นแหละครับ เพราะมีการจัดที่นั่งแบบสแตนให้ผู้คนได้มาชมงาน ชมคอนเสิร์ท และตรงจุดนี้ในวันที่ 7 ยังเป็นจุดเริ่มเดินขบวนขององค์กรต่าง ๆ ด้วย แต่สำหรับคืนนี้ คือ งานสนุกสนานเท่านั้น ไม่มีแห่ ผู้คน ผี ออกมาเริ่งร่ากัน



ผีตาโขนแล้วแต่ไอเดียก็เยอะนะครับ ซึ่งทางผู้จัด และคำบอกเล่าจากคนพื้นที่ก็บอกว่า สมัยก่อนผีตาโขนจะดูน่ากลัว ๆ และของที่นำมาแต่งก็เป็นผ้าเก่า ๆ โทรม ๆ ต่างกับสมัยนี้ที่ดูสวยงาม หรือตามแต่ไอเดียจะคิด



กลุ่มผีตาโขนหน้าเวทีคอนเสิร์ต เต็นกันสะใจไปเลย



เหนื่อยก็ต้องนั่งพักนะ จะเต้นยาว ๆ ทั้งคืนทั้งใส่หน้ากากก็ไม่ไหวนะครับ



ผีเจอกล้องไม่ได้ครับ ต้องแอ็คท่า



ชาวต่างชาติสองคนนี้เจอผี 3 ต้นแฮ่ใส่ เขาก็แฮ่กลับด้วย



แฮ่ชาวต่างชาติไม่พอ ก็กระโดดโลดเต้นต่อ



ไม่แวะ 7-eleven หน่อยหรอครับพี่ผี

วันที่ 7 ผู้คนหลั่งไหลจากทั่วสารทิศ


งานผีตาโขนจะจัดวันไหนไม่มีใครรู้ได้ เพราะจะถูกกำหนดจากการเข้าทรง ซึ่งบางปี อย่างเช่นปีนี้ ก็จะไม่ตรงกับวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ แต่กับงานวันที่ 7 นั้นดูเหมือนไม่ใช่ปัญหา เพราะผู้คนมาจากไหนไม่รู้เยอะแยะผิดหูผิดตากับวันที่ 6 เป็นอย่างมาก ผมไม่อยากคิดว่า ถ้าตรงกับวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ คนจะเยอะขนาดไหน



ผู้คนเยอะมาก ๆ นี่ถ้าตรงกับวันหยุดเสาร์ อาทิตย์จะขนาดไหน คิดภาพไม่ออก



คือกล้องผมเป็นไอเลยตอนไปยืนตรงคนเยอะ ๆ นาน ๆ



มันรู้สึกตลก และสนุกเมื่อเดินผ่านรถที่จอดกันเยอะ ๆ แล้วเห็นว่าป้ายทะเบียนเหล่านั้นไม่ซ้ำจังหวัดกันเลย เออเนอะ อยู่กรุงเทพ เดินเข้าตลาดก็เห็นแต่ป้ายทะเบียนกรุงเทพ อยู่เลย ก็เห็นแต่เลยเสียส่วนใหญ่ แต่ในงานผีตาโขน ป้ายทะเบียนรถข้างเคียงนั้นไม่เคยตรงกัน



มอเตอร์ไซค์คันใหญ่ ๆ คันคลานสิก คันแม่บ้าน คันเท่ ๆ เยอะแยะครับ แต่ท่ออ่ะเบานิดก็ดีนะครับ บางคันขับผ่านคืนวันที่ 6 อยากจะบอกว่ามันไม่เข้ากับงานเลยครับ รบกวนงานเขาด้วย



ไม่ใช่แค่รถยนต์ เพราะมอเตอร์ไซค์คันใหญ่ คันน้อย คลาสิก หรือทันสมัยขี่จรวด ก็เห็นกันเยอะแยะ แต่ในงานวันที่ 7 นั้นจะปิดถนนแก้วอาสา ซึ่งเป็นถนนที่ผ่านหน้าวัดโพนชัยนะครับ แม้ขณะที่ผมเดินทางออกจากด่านซ้ายมาเพชรบูรณ์เพื่อรอถ่ายภาพงานให้น้องสาว ก็ยังพบเหล่าก๊วนมอเตอร์ไซค์สารพัดแบบวิ่งสวนทาง ซึ่งคาดว่าจะไปงานผีตาโขนนั้นแหละ



พิธีกรรมในงานวันที่ 7 - 8


นอกจากผีตาโขนที่จะเยอะมากขึ้นในวันที่ 7 ที่ตระเวณไปทั่วเมืองแล้ว ก็จะยังมีพิธีกรรมสำคัญอีกดังนี้ ซึ่งในงานเหล่านี้ผมไม่ได้อยู่รอถ่ายรูป เพราะต้องออกเดินทางต่อ เสียดายในหลายส่วนมากที่น่าสนใจ เพราะฟังจากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่แล้วน่าจะเป็นงานที่สนุก และตื่นตาตื่นใจสำหรับคนนอกพื้นที่อย่างผมมาก



ปิดถนนแก้วอาสาในงานวันที่ 7 แต่วันที่ 6 ไม่ได้ปิดนะครับ



เจ้าพ่อกวนเดินำขบวนมาที่เวทีเทศบาลเพื่อเตรียมเปิดงานแห่ ซึ่งจะมีตัวแทนจากบางชาติส่งเข้ามร่วมงาน และมีรองนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธาน สังเกตุว่าชาย และหญิงจะเดินแยกกัน



เบื้องหน้าคือนักท่องเที่ยว ตรงกลางคืนขบวนของเจ้าพ่อกวน เบื้องหลังคือวัดโพนชัย



ผู้คนเดินตามก็มีไม่น้อย



ผีตามคนคงเป็นแบบนี้



วันที่ 7


15.00 น.

- พิธีบายศรีสู่ขวัญพระเวสสันดร (ที่บ้านเจ้าพ่อกวน)



15.30 น.

- ขบวนพิธีอัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง (จากบ้านเจ้าพ่อกวน ไปวัดโพนชัย)

- พิธีอัญเชิญพระพุทธรูป (องค์แทนพระเวสสันดร) เข้าโบสถ์

ซึ่งจากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ จะมีการนำพระภิกษุคนจริง ๆ ขึ้นไปนั่งบนแคร่ แล้วให้คนแห่ คนแห่ก็กระโดดไปมา พระท่านก็ต้องจับให้ดี ๆ ไม่งั้นหล่นแน่ ๆ พี่คนที่เล่าให้ฟัง พูดพลางหัวเราะ พี่ไม่สงสารพระท่านเลยหรอ 555

- จุดบั้งไฟบูชาพญาแถนเพื่อขอฝน (หลังวัดโพนชัย)

- พิธีทิ้งหน้ากาผีตาโขน (ที่วัดโพนชัย)



19.00 น.

- พิธีเจริญพระพุทธมนต์ เทศน์พระมาลัยหมื่น พระมาลัยแสน (ที่วัดโพนชัย)



วันที่ 8

2.30 - 18.00 น. (แต่พี่ที่ผมได้คุยด้วย เขาบอกว่า 6 โมงเช้า ถึงเย็น) เทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ (วัดโพนชัย) วันนี้จะไม่มีการเล่นผีตาโขนแล้วนะครับ แต่เขาว่าฟังเทศน์ครบทุกกัณฑ์ จะสมประสงค์



งานที่ไม่เคยสนใจ แต่เมื่อได้เจอมันทำให้รู้สึกดีได้เสมอ


จริง ๆ แล้วผมเป็นคนที่ไม่สนใจเรื่องประเพณีมากนัก แต่ทุกครั้งตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะงานประเพณีใด ๆ ก็มักจะพบว่ามันวิเศษเสมอที่ผมได้เข้าไปอยู่ในงานเหล่านั้น เช่น สงกรานต์ อันนี้หลายคนคงเช่นเดียวกัน เวียนเทียน ส่วนงานนอกพื้นที่กรุงเทพ ผมแทบไม่สนใจ จะว่าไปสงกรานต์ผมไม่เข้าร่วมผมก็เฉย ๆ นะ แต่ถ้าเข้าร่วมก็สนุก



ครั้นเริ่มออกเดินทาง สิ่งแรก ๆ ที่ผมได้พบในงานต่าง ๆ เหล่านี้คือ กลิ่นไอของความสุข ความศรัทธาที่ทำให้ใจฟู ผมไม่ได้เข้าถึงแก่นของงานหรอก อย่างงานผีตาโขน นี่คือครั้งแรกในชีวิตของผม จะให้ผมเข้าใจของแก่นของงาน คงเป็นไปได้ยาก แต่สิ่งที่สัมผัสคือ ศรัทธา ความเชื่อ ความพยายามในแง่ของความร่วมมือกัน และความสนุกรื่นเริ่ง



เบื้องหลังของงานนั้นมีหน่วยงานต่าง ๆ และชาวบ้านช่วยกันทำให้ประเพณีนั้นครบถ้วนไปด้วยความศรัทธา ความสนุก และความปลอดภัย



เจ้าหน้าที่ และผู้ที่อยู่เบื้องหลังทั้งหลายที่เสียสละเพื่อให้งานเกิดขึ้น ขอขอบคุณครับ



มีมากกว่านี้ แต่ผมเก็บภาพมาแค่พอสมควรสำหรับผู้ช่วยอำนวยความสะดวก และความปลอดภัย



สิ่งแรกที่เราจะออกจากบ้านควรทำเสมอคือ ‘เปิดใจ เปิดกาย’ แล้วคุณจะรู้สึกใจฟูที่ได้เจอสิ่งต่าง ๆ



ขอขอบคุณ พี่ ๆ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐ และเอกชนที่พยายามทำงานอยู่เบื้องหลัง พี่ ๆ ตำรวจ ทหาร และหน่วยกู้ภัย อาสาสมัครทั้งหลายที่ช่วยดูแลความเรียบร้อย



ลากันไปด้วยภาพนี้ครับ

ความคิดเห็น