สะพานมอญ หรืออีกชื่อคือ สะพานอุตตมานุสรณ์ เป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และยาวเป็นอับดับ 2 ของโลก สิ่งที่ผมได้จากการเดินทางไปถ่ายรูปที่นี่ครั้งนี้นั้น มากกว่าที่คิด ผมพอจะรู้ว่าจะได้รูปอะไรกลับมา พอรู้ว่าบรรยากาศคงจะดี คงได้เห็นชีวิตของคนพื้นที่บ้าง แต่ในใจก็คิดว่ามันคงไม่มาก หรือเห็นอะไรได้ชัดเจน หรือร้ายที่สุด อาจจะเป็นการแสดงเพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นด้วยซ้ำ ... แต่ผมว่าผมคิดผิด
บรรยากาศดี มันไม่ใช่แค่ดีธรรมดา มันเป็นสะพานไม้สุดชิวที่มันชิวจริง ๆ ผู้คนต่างเดินออกมานั่ง เดินทอดน่อง ยืนคุยกันบนสะพาน ท่ามการฟ้าสีฟ้าเข็มเพราะดวงอาทิตย์ลาลับไปแล้ว บนตัวสะพานมีจุดให้นั่งได้ โดยเป็นม้านั่งยืนออกไปเล็กน้อย 8 จุด นักท่องเที่ยวนิยมมานั่งกินบรรยากาศจนอิ่มแทนข้าว ลมเอื่อย ๆ มองกระแสน้ำ และผู้คน มันมากกว่าที่ผมพูด มากกว่าที่ผมคิด ดีที่สุดคือคุณต้องสัมผัสเอง
วิถีชีวิต มันก็จริงมากกว่านั้น แน่นอนคงมีบ้างที่เดินเอาของเทินบนหัวเพื่อให้นักท่องเที่ยวมายืนถ่ายรูปด้วย แต่วิถีชีวิตของคนมอญที่นี่เขาก็เอาของเทินหัวเดินไปมาเป็นเรื่องปกติ ตักบาตรเช้า นักท่องเที่ยวแห่มาตักบาตร แต่ชาวมอญเขาก็ตักของเขาเองอยู่แล้ว เช้าตรู่ฟ้ายังไม่สางดี ผมออกมาเดินถ่ายรูป ก็พบสาวชาวมอญเดินมายืนคุยกันกลางสะพาน เขาก็ทำกันแบบนั้นทุกวัน บ้างก็จัดเตรียมของใส่บาตรให้นักท่องเที่ยว หรือเปิดร้านก็ว่ากันไป
ผมโชคดีที่ไปช่วงที่มีงานบุญประจำปี สวดมนต์ 24 ชั่วโมงเช้าจรดค่ำต่อเนื่อง 9 วัน ตั้งแต่วันที่ 5 - 13 มีนาคมของทุกปี บ้านพักที่ผมไปเช่าพักอยู่ เจ้าของบ้านเป็นลุง ชื่อ สมหมาย ก็พาญาติผู้ใหญ่อายุรุ่นคุณยาย เดินทางไปวัดดึก ๆ ดื่น ๆ เพื่อไปสวดมนต์ในงานบุญนี้ ซึ่งเป็นงานฉลองวันเกิดของหลวงพ่ออุตตะมะ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือเป็นอย่างมาก ผมฟังลุงสมหมายถูดแล้วก็รู้สึกได้ว่า คนพื้นที่เขานับถือท่านด้วยใจจริง สะพานมอญก็มาจากการผลักดันของท่าน
เกริ่นมาพอสมควร ผมจะเอาข้อมูลที่ผมเขียนรีวิวไว้แล้ว copy มาวางใส่ต่อเลยแล้วกันครับเมื่อ 23 กุมภา ผมมากาญ และวางแผนเดินาทงไว้หลายจุด ซึ่งจุดที่กะจะมาเป็นจุดสุดท้ายคือสะพานมอญ แต่ก็ผิดแผนทำให้ต้องหยุดการเดินทางไว้แค่น้ำตกเอราวัณ และได้แต่บอกตัวเองว่า จะต้องมาซ้ำเร็ว ๆ นี้ให้ได้ และ 10 มีนา ผมก็มาสะพานมอญจนได้ โดยรอบนี้แผนการเดินทางเป็นดังนี้
กรุงเทพ - สะพานมอญ (ค้างคืนด้วยเต็นท์) - ห้วยซองกาเรีย - ด่านเจดีย์สามองค์ - วัดเสาร้อยต้น - ป้อมปี่ (ค้างคืนด้วยเต็นท์) - เส้นทางรถไฟสายมรณะ (สถานีถ้ำกระแซ)
ทั้งหมดเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ของตัวเอง ส่วนกระทู้นี้จะพูดถึงสะพานมอญอย่างเดียวก่อนครับ
- - - - - - - - - -
10 มีนาคม 2559 ออกจากบ้าน 9:00 น. ถึงสะพานมอญ 15:00 น. วิ่งมั่วไปรอบนึง และแวะไปดูทำเลป้อมปี่มาคร่าว ๆ ทำให้มาถึงช้ากว่าที่คิด แต่ก็ไม่ได้สายอะไรมากมาย ถึงจุดชมวิว ซึ่งสามารถกางเต็นท์ได้ฟรี มีที่จอดรถแยกออกมาต่างหาก ห้องส้วมมี แต่ห้องน้ำไม่เห็น ผมมาวันนี้คนมากางเต็นท์ยังไม่เห็น ไม่แน่ใจว่าเย็นกว่านี้จะมีมาไหม อย่างไรก็ดี ที่นี่มีที่กางเต็นท์หลายจุด เป็นศาลาเสียด้วย ทำให้ไม่ต้องห่วงเรื่องน้ำค้าง และฝนมากเท่าไหร่นัก แต่ถ้ามาวันหยุดอาจจะเลือกตำแหน่งกางเต็นท์มากไม่ได้ เพราะคนน่าจะมากันเยอะ (สำหรับข้อมูลจุดกางเต็นท์จะจะอยู่โพสต์ล่าง ๆ ครับ)
สะพานมอญในวันธรรมดา ๆ
ผมเผื่อเวลาไว้อยู่แล้วว่าจะต้องเดินสำรวจคร่าว ๆ ก่อน เพราะเท่าที่ดู จะกางเต็นท์จุดชมวิวแล้วทิ้งเต็นท์ไปถ่ายรูป ก็เกรงว่าของอาจจะหาย เพราะคนน้อยมาก ไม่เหมือนอุทยานแห่งชาติที่ผมกางเต็นท์แล้วทิ้งไปตะลอนถ่ายรูป ล็อคประตูเต็นท์ไว้ ไม่กลัวของหาย แต่ที่นี่ผมไม่มั่นใจ
สำรวจไป สำรวจมาก็เลือก "สมหมาย โฮมสเตย์" เป็นที่พัก (จะโพสต์ข้อมูลของที่พักแห่งนี้ด้านล่าง ๆ ครับ) ซึ่งที่นี่เป็นร้านอาหารด้วย ข้อมูลคร่าว ๆ สำหรับที่พักที่นี่คือ
เป็นร้านอาหารตามสั่ง
มีห้องพักแยกเป็นเรือนปลูกเดี่ยว ๆ ไม่ไกลกัน จำนวน 2 หลัง
หลังแรกมีแอร์ อีกหลังเป็นพัดลม ราคา 800 / 500 บาท / คืน
ในวันศุกร์ - เสาร์ ราคาจะแพงกว่านี้
เจ้าของใจดี คุยต่อราคาได้ ผมคุยกับเขาว่าอาจจะอยู่หลายคืน และต้องการถูกกว่านี้ เขาจึงเสนอลดราคา 100 บาท และต่อให้ผมพักยาวจนถึง ศุกร์ และเสาร์ ก็จะคิดผมราคาเดิม
มีห้องน้ำในตัว มีน้ำอุ่นให้
ที่นอนใหญ่ นอนได้ 2 คนสบาย ๆ
มีทีวี
ที่พักไม่ไกลจากสะพานมอญ เดินแค่ 3 นาทีก็ถึง และเป็นซอยที่พระเดินบิณฑบาต ตอนเช้าก็ออกมาตักบาตได้เลย
ผมมาเข้าห้องเก็บของก็ปาไป 16:00 น. แล้ว กินข้าว เก็บของ แล้วก็เอากล้องกับขาตั้งกล้องออกไปเดินดูทำเลไว้ถ่ายตอนเช้า พร้อมกับถ่ายภาพช่วงเย็นไปด้วยเลย
ชุมชนบริเวณสะพานมอญจะมีร้านค้า ่และที่พักจำนวนมาก มีราคาตั้งแต่ 300 ไปจนถึงหลักพัน ร้านค้า ร้านอาหารมีเยอะอยู่ และมีตลาดซื้อของที่ระลึกด้วย แต่ผมมาในช่วงวันธรรมดา สังเกตุเห็นว่าร้านเปิดกันน้อย คาดว่าในวันหยุดน่าจะเปิดเต็มพื้นที่ และคนเดินก็น่าจะเยอะมาก
ถ้าคุณเดินอยู่แถว ๆ สะพาน คุณจะพบไกด์เด็ก บางคนเดินถือแป้งพม่า แล้วเข้ามาถามว่าคุณต้องการไกด์ไหม รู้ประวัติของสะพานมอญหรือยัง ต้องการเช่าเรือไหม มีที่พักหรือยัง หรืออยากจะแต่งหน้าด้วยแป้งพม่าก็ได้ โดยที่เด็กส่วนใหญ่จะไม่เรียกราคากับคุณ จะให้คุณจ่ายให้
แน่นอน ไกด์เด็กวิ่งมาหาผมอย่างไว เป็นเด็กผู้หญิงหน้าตาดี พูดจาเหมือนท่องเอาไว้ ดูตลกและน่าเอ็นดู ตอนเธอเล่าประวัติ และผมคุยด้วยนิดหน่อย ก่อนจากไปผมถามว่า มีค่าบริการหรือเปล่า เธอบอกว่าแล้วแต่จะให้ ผมให้ไป 100 บาท แต่ได้คุยกับคนที่เคยมา เขาบอกว่า 20 บาทก็ให้ได้ น่าเสียดายผมไม่ได้ถ่ายภาพเด็กคนนี้ไว้ เพราะจะรีบไปดูทำเลกลัวไม่ทันแสงเย็น อย่างไรก็ดี ผมถ่ายคลิปด้วย Action Camera เอาไว้ ก็หวังว่าจะเอามาใช้ได้ ภาพไม่เสียเหมือนทริปก่อน
สะพานมอญนั้นมีที่นั่ง ซึ่งผมรู้สึกว่ามันเจ๋งมาก ๆ เลยถ้าคุณมานั่งดูคนเดินไปเดินมา รับลมเย็น ๆช่วงตะวันลับขอบฟ้าไปแล้ว รู้สึกดี สบาย ๆ เอามาก ๆ แนะนำเลยครับ แต่ถ้ามาวันหยุด คงจะไม่ได้นั่งแน่
และใกล้ ๆ สะพานมอญ ยังมีสะพานแดงที่เดินทอดต่อกันได้อีกจุดด้วยครับ
ผมกะไว้ว่าอยากจะอยู่ที่นี่ยาวจนไปถึงวันหยุด เพราะอย่างไรก็ดี จุดหมายต่อไปวันพรุ่งนี้ก็อยู่ไม่ไกลจากที่นี่มากนัก และตามแผนก็คือจะพักอยู่ที่นี่แหละ (เพียงแต่ตอนวางแผนนั้นกะว่าจะกางเต็นท์ ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายเลย)
หมายเหตุ : อ่านแล้วอาจจะงง ๆ เพราะบทความนี้ copy มาจากที่ผมเขียนรีวิววันต่อวันไว้ในอีกเว็บนึง
วิถีสะพานมอญ ... ย่ำรุ่งไปจนฟ้าสว่าง
เข้าวันที่ 11 มีนาคม ผมตื่นตั้งแต่ตี 4:45 น. อาบน้ำ แล้วขนกล้องออกมาเตรียมพบกับชีวิตในช่วงเช้าของที่นี่ หลังจากเมื่อคืนประทับใจบรรยากาศสุดชิวตรงที่นั่งกลางสะพานมาก่อนแล้ว ผมเชื่อว่าช่วงเช้าก็คงมีไฮไลท์น่าสนใจแน่ ๆ
คนมอญที่นี่หลาย ๆ คนอัธยาศัยดี อืม ... จะว่าไปผมก็ไม่แน่ใจว่าคนที่เดินผ่านแล้วทักผมนั้นจะเป็นคนมอญหรือเปล่า เพราะที่นี่มีตลาด ขายเสื้อผ้ามอญ บางร้าน บางบ้าน บางที่พักก็มีบริการให้เช่าชุดมุญไว้ใส่เล่น ใส่ตักบาตรด้วย ... คิดแบบนี้แล้วก็คิดว่า สงสัยที่ทัก ๆ ผมจะเป็นนักท่องเที่ยวมากกว่า เพราะสำเนียงไม่เพี้ยน
นอกจากคนไปคนมาจะอัธยาศัยดี เจ้าตูบบางตัวก็อัธยาศัยดีมากด้วยไม่แพ้กัน อย่างเจ้าตัวนี้ มันเดินเป็นเพื่อนผมตั้งแต่ตีนสะพาน ผมหยุดมันก็หยุด บางทีก็เข้ามาเป็นนายแบบที่ไม่ค่อยจะอยู่สุขให้บ่อย ๆ พอผมเดินต่อ มันก็เดินตาม จนบางทีผมเผลอมันก็มุดเข้ามาอยู่ระหว่างขาตั้งกล้อง (มันเข้ามาเอง ผมไม่ได้เอาไปวางครอบมันนะ)
ถึงแม้จะเช้ามากอยู่ ฟ้ายังไม่สว่าง แต่สะพานก็เริ่มมีชีวิตชีวา ผู้คนมีเดินผ่านบ้างนาน ๆ ที แต่ทุกนาทีที่ผ่านไป คนก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสาเหตุหลักนั้นน่าจะเป็นเพราะว่า หลายคนมารอตักบาตร หรือมาดูชาวมอญตักบาตร ซึ่งพระท่านจะอยู่ฝั่งตลาดมอญ ไม่เดินข้ามสะพานซึ่งเป็นฝั่งที่มีโรงแรม รีสอร์ทเยอะ ทำให้ผู้คนที่จะตักบาตรต้องรีบข้ามสะพานกันมา
คนมอญที่ตื่นเร็วบางคนทำธุระเตรียมพร้อมแล้วก็มายืนคุยกันที่กลางสะพาน บ้างก็รีบเดินไปเปิดร้านขายอาหารสำหรับใส่บาตร สะพานฝั่งตลาดมอญนั้นเริ่มคึกครึ้นตั้งแต่ก่อนตี 5 ครึ่งเสียด้วยซ้ำ แต่ก็เป็นเสียจอแจเล็ก ๆ ของเหล่าแม่ค้าปนเสียงบทสวดมนต์จากเครื่องเสียง ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเขาเปิดทุกวันหรือไม่ (น่าจะเปิดทุกวัน) เพราะช่วงที่ผมมาเป็นเทศกาลงานบุญประจำปี สวนมนต์ข้ามวันข้ามคืน 9 วัน จากวันที่ 4 มีนาถึง 13 มีนาของทุกปี เพราะเป็นวันเกิดของพระรูปสำคัญของที่นี่ (ท่านเสียไปแล้ว ท่านมีส่วนในการผลักดันการสร้างสะพาน) หลังจากงานบุญ 9 วัน ก็จะต่อด้วยงานรื่นเริง 5 วันติด เด็ก ๆ ที่นี่จะชอบ และมีกิจกรรมการละเล่นที่เด็ก ๆ จะเข้าร่วมด้วย ซึ่งใครต้องการจะไปสวดมนต์ทั้งวัน หรือตอนกลางคืนจนเช้าก็มาได้ช่วงนี้ของทุกปี
ฟ้าเริ่มอมฟ้า อมม่วง พระอาทิตย์ใกล้ขึ้น ละได้เวลาพระเดินมาที่ซอยประจำเพื่อบิณฑบาตรแล้ว ทำให้นักท่องเที่ยวทยอยเดินมาเป็นกลุ่มเรื่อย ๆ และเราจะได้ยินเสียงคนมอญพูดบอกเป็นระยะ ๆ ว่าให้รีบเดิน เพราะพระท่านกำลังมา
พระท่านจะเดินมาซอยนี้แล้วอ้อมไปอีกซอยแล้วก็น่าจะกลับวัดเลย เดิมทีแล้วพระท่านจะไม่ได้รับบาตรที่ซอยนี้ แต่ผมได้ยินมาว่าก่อนหน้านี้ พระท่านจะรับบาตรที่ซอยหลักที่ตรงไปสะพานได้โดยตรง แต่แม่ค้าที่นั้นแย่งลูกค้ากันจนทะเลาะกันบ่อย ๆ พระท่านจึงเดินเลี่ยงมาที่ซอยข้าง ๆ ซึ่งก็อยู่ห่างกันไม่กี่สิบก้าวเท่านั้น
แม่ค้าจะมาตั้งแผงขายของใส่บาตร และเตรียมเก้าอี้วางเรียงเป็นแถวไว้ให้นักท่องเที่ยวที่สนใจใส่บาตรเอาของมาวางรอพระ
ร้านในตลาดส่วนอื่นก็เริ่มมีร้านเปิดมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะช่วงเวลานี้ก็มีนักท่องเที่ยวเดินรับลมยามเช้าหลังใส่บาตรเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ตัวตลาดมอญจุดนี้จะอยู่ตรงสะพาน และบริเวณใต้สะพาน ขายเสื้อผ้า ของประดับ ของฝาก บริเวณนี้จะไม่มีโรงแรมใหญ่ ๆ แต่จะเป็นบ้านชาวบ้านดัดแปลงทำเป็นโฮมสเตรย์ หรืออย่างเก่งก็เป็นตึกแถวเล็ก ๆ เปิดให้เช่าห้อง จะต่างจากอีกฝากของสะพานที่จะเป็นที่พักเชิงธุรกิจขนาดใหญ่กว่า ถ้าต้องการสัมผัสวิถีชาวบ้านก็ควรมาพักฝั่งนี้จะดีกว่าครับ
สีสันของสะพานมอญก็คือคนมอญ นอกจากไกด์เด็ก เราจะพบเห็นคนมอญใส่ชุดมอญเดินกันทั่วไป และก็จะมีเด็กบางคนเอาข้าวของเทินไว้บนหัวเหมือนเดินโชว์ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพคู่ด้วย อย่างน้องคนนี้ผมเห็นเดินบ่อย ทั้งเช้าทั้งเย็น นักท่องเที่ยวมาขอถ่ายภาพด้วยเยอะมาก ไม่เห็นน้องเขาคิดเงิน
รวมแก๊งกับกลุ่มบ้าง แต่ในกลุ่มไม่มีใครเด่นกว่าคนนี้อีกแล้ว และเป็นเด็กที่ฉลาด รู้ดีว่านักท่องเที่ยวต้องการอะไร นักท่องเที่ยวที่พาลูก ๆ มา เด็กบางคนไม่กล้าที่จะยืนถ่ายคู่ หรือพ่อแม่ไม่ได้พูดอะไร เด็กมอญคนนี้จะเดินไปหาเด็ก ๆ ลูกของนักท่องเที่ยวเอง แล้วยืนจับคู่ให้นักท่องเที่ยวถ่ายผู้เป็นพ่อ ถ่ายน้องคนนี้กับลูกนักท่องเที่ยวเองเลย
ผมขำมากตรงที่น้องคนนี้พูดว่า "มานี่ พี่ไม่กัดหรอก" กับลูกของนักท่องเที่ยวคนนึงที่ท่าทางจะกลัว ๆ เกรง ๆ แต่ก็เกรงไม่ออกเพราะโดนคว้ามือเข้าไปกอดถ่ายรูปคู่ด้วยเลย ทำให้พ่อแม่เด็กขำออกมาพลางถ่ายรูปไปด้วย
นอกจากจะมีดาราจำเป็นอย่างน้องคนนี้แล้ว ก็มีดาราตัวจริงเด็กชาวมอญที่เอาของเทินบนหัวจริง ๆ เพื่อขายของ หรือเพื่อเอาของไปส่งด้วย
เหนื่อยแล้ว นั่งพักก่อน (ทั้งเจ้าตูบ และน้องมอญ)
ชีวิตที่สะพานแห่งนี้ ยังคงดำเนินไปเรื่อย ๆ บางวันมีนักดนตรีมาเปิดหมวกดีดกีต้าร์ร้องเพลง บ้างก็มากระโดดน้ำโชว์ บ้างก็เตรียมเรือไว้รอรับลูกค้า นักท่องเที่ยวบางคนก็มาทิ้งตัวชิว ๆ สมกับเป็นสะพานไม้แห่งความชิวจริง ๆ
ข้อมูลห้องพักโฮมสเตย์ที่ผมไปพัก
ที่สะพานมอญจะมีบ้านพัก โรงแรม โฮมสเตย์ ห้องเช่า สารพัดครับ แต่ผมเลือกมาพักที่ "สมหมายโฮมสเตย์" เพราะไม่ไกลจากสะพานมอญ (เดินไม่เกิน 4 นาทีก็ถึง) และยังเป็นร้านอาหารซึ่งอาหารอร่อยมาก ผมเห็นมีลูกค้ามาจากที่อื่น เพื่อมากินฝีมืออาหารของที่นี่ โดยมองว่ามาเที่ยวสะพานมอญเป็นเรื่องรองด้วยซ้ำ
ราคาอาหารก็ไม่ถือว่าแพง ถึงแม้ว่าอาหารจานเดียวจะอย่างกระเพราะไก่จะราคาจานละ 40 บาท แต่เนื้อเยอะกว่าในกรุงเทพมาก อย่างหมูทอดกระเทียมพริกไทย ก็ทำอย่างตั้งใจ มีผักอะไรซักอย่างใส่เข้าไปเล็กน้อย ทำให้ดูน่ากิน และอร่อยมากขึ้น แต่ก็มีข้อติเรื่องนึงตรงที่ ลุงกับป้าจะทำอาหารใช้เวลาพอสมควร ถ้าใครมากันเยอะ ๆ ต้องมาสั่งไว้ก่อน จากนั้นไปเดินเที่ยว แล้วลุงกับป้าจะเอาไปส่งให้ที่บ้านพักหลังอื่น (ในกรณีเราพักที่อื่น) ก็ได้ครับ ครัวนี้ปิดประมาณ 2 ทุ่ม แต่ถ้ามีแขกมาเรื่อย ๆ ก็จะทำไปจนกว่าแขกจะได้กินกันครบ
สำหรับห้องที่เราพัก จะแยกเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ขนาด 1 ห้องออกจากกัน โดยมีห้องน้ำที่มีฝักบัว และเครื่องทำน้ำอุ่นในตัว ห้องนอนขนาดเตียงใหญ่นอนได้ 2 คนสำหรับห้องพัดลม มีทีวี ส่วนอีกห้องจะเป็นห้องแอร์ ผมไม่ได้เข้าไปดู แต่ลุงบอกว่าพักได้มากสุดถึง 5 คน
ลุงเป็นคนใจดี ราคาพอต่อรองได้ โดยเฉพาะสำหรับท่านที่กะจะมาพักมากกว่า 1 คืน โดยที่ราคาปกติของห้องจะอยู่ที่
- ห้องพัดลม คืนละ 500 บาท
- ห้องแอร์ คืนละ 1000 บาท
แต่ถ้าคุณมาหลายคน แล้วที่นอนเต็ม ลุงก็อนุญาตให้เอาเต็นท์มากางบริเวณภายในบ้านได้ไม่คิดค่าใช้จ่าย ส่วนใครกะจะมากางเต็นท์โดยไม่เช่าห้องพักเลย ลุงขอแค่ค่าน้ำ ค่าไฟเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น
ใครที่มาค้างหลายคืน โดยเฉพาะวันธรรมดา คุณอาจจะต่อรองราคาลุงให้ลดราคาลงได้อีก
ถ้าใครจะมาวันศุกร์ - อาทิตย์ อย่าประมาท เพราะลุงมีบริการแค่ 2 ห้อง ถึงแม้ลุงจะบอกว่าเปิดที่พักให้เช่ามาเป็นคนรุ่นแรก ๆ เลย แต่ก็มีแค่ 2 ห้อง และมักจะเต็ม โดยเฉพาะช่วงเทศกาลควรจะโทรมาจองก่อนซักครึ่งเดือน
เบอร์โทร 089-079-0969 ลุงให้บริการทั้งบ้านพัก อาหารตามสั่งไปส่งให้ถึงที่ และมีเรือนำเที่ยวด้วย
จุดชมวิวสะพานมอญ กางเต็นท์ฟรี ห้องน้ำ ห้องส้วมพร้อม ฝนตกไม่กลัว ร้อนไม่กลัว
ถือเป็นจุดที่ผมกะจะมากางเต็นท์นอนตั้งแต่แรก เพราะนอกจากฟรีแล้ว ทุกอย่างก็พร้อม มีห้องน้ำ ห้องส้วม กางเต็นท์บนพื้นปูนสะอาด มีหลังคาทำให้ไม่กลัวฝน ไม่ต้องกลัวแดด ที่สำคัญ มีไฟฟ้าให้ใช้ บางจุดมีปลั๊กไฟใช้เสียบชาร์จมือถือได้สบาย ๆ
หน้าทางเข้าจะเขียนไว้ชัดเจนว่าเป็นจุดชมวิว เลี้ยวเข้ามาจะเจอลานจอดรถกลางแจ้งขนาดใหญ่ ซึ่งในวันหยุด หรือช่วงเทศกาลอาจจะเต็มไปด้วยผู้คน ส่วนวันธรรมดาก็อย่างที่เห็นในภาพ คือไม่มีคนเลย ทำให้ผมไม่กล้าที่จะกางเต็นท์ทิ้งไว้แล้วไปเดินตระเวณถ่ายรูป เนื่องจากกลัวของหาย เพราะจะมีเด็กวัยรุ่นมาเดินเที่ยวเล่นบ้าง ถ้าเป็นวันหยุดนักท่องเที่ยวเยอะ ใครจะมาพังเต็นท์ขโมยของก็ต้องดูคนหน่อย แต่ถ้าวันธรรมดาแบบนี้ ไม่มีคนเลย
เดินเข้ามาจากลานจอดรถก็จะเจอศาลากางเข้ามากางเต็นท์ได้เลย และก็จะพบห้องน้ำอยู่ใกล้ ๆ ซึ่งด้านล่างก็มีห้องน้ำอีก แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าใช้ห้องน้ำตรงด้านบนนี้เท่านั้น โดยห้องส้วมมีจำนวนหลายห้องอยู่ แต่ห้องอาบน้ำมีห้องเดียว
เดินพ้นศาลากลุ่มแรกไปก็จะเป็นทางเดิน ซึ่งทางการกำลังซ่อมแซม ทาสีใหม่ เลยอาจจะเห็นข้าวของช่างทาสีวางเกะกะตามพื้น แต่คงเสร็จภายในสัปดาห์นี้แหละครับ เราจะเห็นว่าเดินลงบันไดไปก็จะมีแยกซ้ายขวาเป็นศาลากางเต็นท์ต่อได้อีก ลงไปจนสุดจะเป็นลานกว้าง ๆ กลางวันแดดค่อนข้างร้อนสำหรับหน้าร้อน แต่ช่วงเย็น หัวค่ำอากาศจะเย็น ตกดึกไปอาจจะเย็นมากขึ้นอีก ส่วนหน้าหนาวก็คงอากาศเย็นจนถึงขั้นหนาว และได้ยินบางคนบอกว่า ผิวน้ำในแม่น้ำจะเห็นไอหมอกด้วยในหน้าหนาว
ที่จุดชมวิว จะมีต้นไม้ดอกไม้หลายประเภท และมองทะลุไปเห็นสะพานมอญด้วย มองผ่านภาพอาจจะดูสวยดี แต่จริง ๆ แล้วก็เห็นสะพานมอญไกลไปนิด เราเดินไปดูใกล้ ๆ จะดีกว่า
วิถีชาวมอญ ศรัทธา และวัฒนธรรม
ผมโชคดีที่มาสะพานมอญตรงกับช่วงงานบุญสำคัญของคนในพื้นที่สะพานมอญพอดี เนื่องด้วยเป็นวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่ออุตตะมะ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือคนที่นี่พื้นที่อย่างมาก ผมแค่ฟังลุงเจ้าของบ้านเล่าเรื่องให้ฟังก็รู้สึกถึงน้ำเสียง และลักษณะได้เลยว่า คนที่นี้เคารพ และบูชาหลวงพ่อจริง ๆ เพราะหลวงพ่อเป็นคนผลักดัน พัฒนาพื้นที่ ทำให้มีสะพานมอญ แต่ตอนนี้ท่านเสียแล้วนะครับ ซึ่งทุก ๆ ปีช่วงวันที่ 5 - 13 จะมีงานบุญ สวยมนต์เช้าจรดค่ำทั้งวันทั้งคืนตลอด 9 วัน
คนแก่คนเฒ่าจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าวัดแม้จะกี่โมงกี่ยามก็ตาม เช้า ๆ เราจะเห็นผู้ใหญ่พาเด็ก ๆ เข้าวัดทำบุญ ทำกิจกรรมบุญ ซึ่งมันเป็นข้อดีของชุมชน เป็นการปลูกฝังให้เด็กพื้นที่เข้าใจถึงรากฐานของวัฒนธรรมของตนเอง และทำให้ประเพณีไม่สูญหายไปง่าย ๆ
เมื่องานบุญ 9 วันผ่านไป ก็จะต่อด้วยงานรื่นเริง 5 วัน โดยจะมีการละเล่นต่าง ๆ ให้ชม ซึ่งผมกลับมาก่อนแล้ว แค่แวะไปถ่ายรูปงานบุญช่วงเช้าเล็กน้อยเท่านั้น
ผมว่าสะพานมอญ นอกจากตัวสะพาน มันสำคัญที่เราจะเห็นวัฒนธรรม วิถีชีวิตจริง ๆ ของคนมอญ ไม่ใช่แค่แต่งตัวโชว์ว่าเป็นมอญเท่านั้น เราจะรู้สึกดีลึก ๆ มากกว่าแค่มาชมสะพาน โดยเฉพาะมาช่วงงานบุญเช่นนี้
เดินทางตามฝัน
วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เวลา 20.56 น.