ในครั้งนี้เราเดินทางมุ่งหน้าขึ้นเหนือ ไปยังจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นอีกหนึ่งจังหวัดทางภาคเหนือของไทยที่มีชุมชนชาติพันธุ์หลากหลายมาก และด้วยความโชคดีของเราที่ได้มีโอกาสร่วมเดินทางมายังบ้านหาดบ้าย ผ่านโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดเชียงราย
หาดบ้ายเดิมเป็นชื่อเกาะ ที่เกิดจากแม่น้ำโขงเปลี่ยนทิศทางการไหล ทำให้หาดส่วนหนึ่งขยายออก (บ้ายออกไป ) และตลิ่งส่วนหนึ่งถูกน้ำกัดเซาะพังทลาย ชาวบ้านจึงอพยพขึ้นไปบนที่สูงและตั้งชื่อหมู่บ้านว่า 'บ้านหาดบ้าย' ตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ของหาดที่มีรูปร่างคล้ายพัดที่แผ่กว้างออกด้านปลาย นอกจากนี้บริเวณบ้านหาดบ้ายยังได้รับการประกาศเป็นจุดผ่อนปรนไทย-ลาว โดยกำหนดเปิดจุดผ่อนปรนทุกวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. และอนุญาติให้เข้าออกได้ภายในเขตหมู่บ้านหาดบ้ายเท่านั้น
ชุมชนบ้านหาดบ้าย เป็นชุมชนที่อยู่เลียบริมแม่น้ำโขง ระหว่างเส้นทางเชียงแสน - เชียงของ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเชียงของเป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านของชาวไทยลื้อที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่งดงามน่าสนใจซึ่งสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยบรรพบุรุษของผู้คนที่นี่ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาจาก แคว้นสิบสองปันนาทางตอนใต้ของประเทศจีน และอพยพย้ายถิ่นตามริมฝั่งน้ำโขงหลายครั้ง ผ่านเหตุการณ์มามากมายตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 มาจนถึงสงครามอินโดจีน จนในที่สุดได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านหาดบ้ายในปัจจุบัน มีอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม ค้าขาย และทอผ้า
บ้านหาดบ้ายจะมีด้วยกัน 2 หมู่บ้าน คือ บ้านหาดบ้ายทรายทอง หมู่ 8 และบ้านหาดบ้าย หมู่ 1 ซึ่งทั้ง 2 หมู่บ้านจะใช้วัดร่วมกัน จารีตประเพณีต่างๆ ก็เหมือนกันทุกอย่าง อยากรู้แล้วใช่มั้ยล่ะว่าเราจะเลือกไปที่หมู่บ้านไหน⁉️
ทริปนี้เป็นโปรแกรมการท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน เราจะมาเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนลุ่มน้ำโขง ณ ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหาดบ้าย หมู่ 1 ต.น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเราจะมาใช้ชีวิตแบบคนไทลื้อ ไม่ว่าจะเป็นการกิน การอยู่ การใช้ชีวิต
เมื่อเรามาถึงที่นี่!!! เราได้รับการต้อนรับจากผู้นำชุมชนท่องเที่ยว แนะนำเจ้าของบ้านโฮมสเตย์ที่เราจะได้พักในทริปนี้ และพาเราไปดูร้านค้าชุมชนที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มาจากผ้าทอ อย่าง ผ้าซิ่น เสื้อ กระเป๋า เป็นต้น
จากความสวยงามของผืนผ้า พี่สนอง (ผู้นำชุมชนท่องเที่ยว) ก็พาเราไปเรียนรู้เรื่องการทอผ้าที่ศูนย์ทอผ้าไทลื้อ บ้านสุขาวดี ซึ่ง ณ ปัจจุบันบ้านหาดบ้าย ได้เปิดต้อนรับผู้คนให้เข้ามาสัมผัสถึงวิถีที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ที่น่าสนใจ
สุขาวดี ผ้าทอไทลื้อหาดบ้าย เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่บอกเล่าเรื่องราวของการทอผ้าได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่กระบวนการแรกไปจนถึงขั้นตอนการทอออกมาเป็นผืนผ้าที่สวยงาม
ผ้าทอพื้นเมืองของที่นี่ใช้สีธรรมชาติในการย้อม และผืนผ้าก็เต็มไปด้วยลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์จนทำให้มีชื่อเสียงกลายเป็นของฝากขึ้นชื่อประจำหมู่บ้าน อย่าง ผ้าทอลายน้ำไหล ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุด และยังมีผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งมีอยู่ 5 แบบ คือ ซิ่นลาว, ซิ่นดอกเกาะหรือซิ่นเกาะแหย่หางปลา, ซิ่น 3 ดอก, ซิ่นตาปิ๋ง และซิ่นดอกโตน แต่ผ้าซิ่นที่ชาวหาดบ้ายใส่กันมี 3 ส่วน คือ
🔸️ส่วนหัว - ผ้าแผ่นสีขาวหรือผ้าดิบ
🔸️ส่วนตัว - ผ้าทอลายทางขวาง (ซิ่นดอกเกาะหรือซิ่นเกาะแหย่หางปลา) สีสันต่าง ๆ
🔸️ส่วนตีน - ลวดลายที่เกิดจากเทคนิคการจกยกดอก
โดยต้องนำทั้ง 3 ส่วน มาต่อกันด้วยตะเข็บชนิดหนึ่งที่มีความแข็งแรงมากๆ เช่น ตะเข็บสันปาซ่อน ซึ่งลวดลายที่นิยมทอจกให้เป็นตีนซิ่น คือ ลายดอกฮ่อ ลายรูปหงส์ ลายรูปม้า ลายรูปช้าง และลายดอกขอใหญ่ ซึ่งทำสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษค่ะ และที่บ้านสุขาวดี ผ้าทอไทลื้อหาดบ้าย ก็ได้มีการจัดเก็บผ้าทอโบราณที่มีอายุร้อยกว่าปี และผ้าทอที่มีลวดลายเฉพาะเอาไว้ให้ได้ชมอีกด้วยค่ะ
หลังจากที่ได้อิ่มตากับผ้าสวยๆ ก็มาแวะที่ศาลเจ้าพ่อเดือยไก่แจ้ พร้อมฟังตำนานที่เล่าสืบทอดต่อกันมาว่า... เดิมที่ตรงนี้มีไก่แจ้ไก่ป่ามาอยู่ แล้วมีละอ่อนหนุ่มมาเห็นเดือยไก่แล้วอยากได้ เลยคิดที่จะมาทำร้ายไก่เพื่อเอาเดือย เพียงแค่คิดเท่านั้นก็ทำให้ในตอนเช้าเกิดอาการป่วยไข้ไม่สบายขึ้น จนกลายเป็นเรื่องเล่าลือถึงความศักดิ์สิทธิ์มาจนถึงทุกวันนี้
จากศาลเจ้าพ่อเดือยไก่แจ้ เราเดินต่อไปยังจุดลงเรือเพื่อไปชมความสวยงามของแม่น้ำโขง ช่วงที่เราไปเป็นช่วงฤดูฝนน้ำในลำน้ำโขงค่อนข้างสูง
แต่!!! สามารถล่องเรือชมได้ เพื่อความปลอดภัยแนะนำว่าต้องใส่เสื้อชูชีพกันด้วยน๊าาา เราใช้เวลาประมาณ 20 นาที ในการนั่งเรือ จะบอกว่าตื่นเต้นมากเพิ่งเคยนั่งเรือชมบรรยากาศริมน้ำโขงครั้งแรก ลมพัดเย็นสบาย ขุนเขาสองฝั่งโขงก็สวยงามมากค่ะ ที่สำคัญได้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงที่มายืนคนตกปลา แล้วก็ได้ปลาด้วยค่ะ
ด้วยความโชคดีพอขึ้นจากเรือ ฝนก็เริ่มโปรยปราย ก็เป็นเวลาที่เราเอากระเป๋าไปเก็บเข้าที่พัก ซึ่งที่พักของที่นี่จะเป็นโฮมเตย์ที่เป็นแบบวิถีการอยู่แบบเดิมๆ เลยค่ะ
บ้านที่เราได้พักในครั้งนี้มีชื่อบ้านว่า 'เฮือนนริศรา โฮมสเตย์' เป็นบ้านไม้ยกสูง มีใต้ถุนบ้าน มีครัว มีห้องน้ำ แยกกันเป็นสัดส่วน ที่นอนมีมุ้งกางไว้ให้เรียบร้อยเพื่อกันยุง เพราะด้วยที่เป็นบ้านไม้ก็จะมีช่องมีรูที่จะมียุงบินผ่านเข้ามาในห้องได้
จัดเก็บข้าวของเรียบร้อย ก็ได้เวลากินข้าวเย็นแล้วทู๊กคนน ลุ้นมากเพราะมื้อนี้เราจะได้กินแบบขันโตกที่เป็นอาหารไทลื้อแท้ๆ
ถ้ากรณีที่มากันเป็นหมู่คณะก็จะมีกิจกรรม ฮ้องขวัญแบบชาวไทลื้อ มีการแสดงฟ้อนขับลื้อ, เป่าปี่ขับลื้อ, ฟ้อนเจิง, เต้นบาสโลบ
และกิจกรรมปิดท้าย คือ การรำวงเพลงเกาะสวาทหาดสวรรค์ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ขึ้นอยู่กับจำนวนของแต่ละหมู่คณะที่ติดต่อมาพัก ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่เลือกค่ะ
กินข้าวเสร็จมาเดินย่อยอาหารมาถ่ายรูปที่จุดเช็คอินประจำหมู่บ้านกันค่ะ 📌 หาดสวรรค์ ที่หาดบ้าย ขอตัวไปนอนเตรียมความพร้อมสำหรับกิจกรรมในวันพรุ่งนี้ก่อนนะคะ ราตรีสวัสดิ์จ้า 🥱😴🤤😪
Good Morning เช้าวันที่ 2 ของการมาสัมผัสวิถีลุ่มน้ำโขง อยากจะเล่าว่าเมื่อคืนนอนโฮมสเตย์ที่นี่เป็นไงบ้าง 😄 ก่อนอื่นจะบอกว่าในใจลึกๆ แบบลึกสุดใจก็แอบกังวลว่าจะร้อน จะหนาว เพราะในห้องมีพัดลมเพียง 1 ตัวเท่านั่น!!! ปรากฎว่าอากาศดีแท้ เปิดพัดลมช่วงหัวค่ำแล้วดึกๆ ลุกมาปิดจ้า หลับสบายจนถึงเช้า แต่ถ้าใครที่ไม่ชอบการนอนแบบนี้ทางชุมชนก็มีบ้านพักแบบปูน มีแอร์ ให้เลือกด้วยค่ะ เล่าไม่เยอะเอาแค่พอเป็นน้ำจิ้ม ได้เวลาไปทำกิจกรรมของเช้านี้แล้วค่ะ
นี่เลย 'ข้าวโตมเตม' กิจกรรมเช้านี้ที่มาพร้อมกับสายฝน นั่นก็คือ การไปกินข้าวกลางทุ่ง เป็นการจำลองถึงกิจวัตรประจำวันด้านการเกษตรกรรม ไม่ต้อง...งงเลยค่ะ เพราะนี่คือวิถีของคนไทยลื้อที่มีอาชีพการทำเกษตร ที่ตอนเช้าจะหิ้วห่อข้าวไปทำสวน ทำนา เพื่อไปกินข้าวกันที่นั่น ซึ่งแต่ละบ้านก็จะเตรียมข้าวปลาอาหารของใครของมันแล้วไปนั่งล้อมวงกินข้าวด้วยกันค่ะ โดยกิจกรรมนี้ทางบ้านที่เราพักจะเป็นผู้เตรียมข้าวเหนียว กับข้าว ห่อด้วยใบตองมัดด้วยเส้นตอกไว้ให้ค่ะ
เราเดินทางกันด้วยรถสามล้อพ่วงข้างเพื่อไป 'ไฮ่ฮอมฮัก' ระหว่างทางก็ได้แวะตลาดเช้าซึ่งเป็นตลาดเล็กๆ ชาวบ้านจะเอาพืชผัก เนื้อหมู เนื้อไก่ กับข้าวปรุงสุก ขนม ผลไม้ มาวางขาย
ถึงแล้วค่ะ'ไฮ่ฮอมฮัก' เพราะฝนตกเราเลยไม่สามารถทำกิจกรรมอย่างอื่นภายในสวนได้นอกจากการล้อมวงกินข้าว 🤣🤣🤣 ขอตัวแกะห่อข้าวแป๊ปนึงค่ะลุ้นมากว่าอะไรอยู่ในห่อบ้าง⁉️
และทั้งหมดที่เห็นก็เป็นอาหารที่ทางโฮมสเตย์แต่ละหลังเตรียมไว้ให้ผู้ที่เข้าพักค่ะ ล้วนแต่เป็นเมนูที่ไม่คุ้นเคยเลย แต่รสชาติก็อร่อยแปลกดีค่ะ
ทานข้าวเสร็จก็จิบ 'ชาดอกซ้อ' ล้างปากซึ่งเป็นชาออร์แกนิค สรรพคุณช่วยให้ผ่อนคลายสดชื่น แก้อาการอ่อนเพลีย เป็นอีกผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้านค่ะ
ทีนี้ก็ได้เวลา 📸 เก็บภาพความทรงจำที่สวยงามของสถานที่แห่งนี้ เพราะมันเป็นธรรมชาติที่ยังไม่ถูกปรุงแต่ง ยังคงเป็นธรรมชาติที่เราสัมผัสได้ถึงความบริสุทธิ์ จึงเหมาะสำหรับคนที่อยากจะมาพักผ่อนแบบใกล้ชิดธรรมชาติ มาให้ความเป็นสีเขียวของทุ่งนา ต้นไม้โอบกอด มาชาร์จพลังให้กับชีวิต ที่ชุมชนบ้านหาดบ้ายก็เป็นอีกตัวเลือกนึงที่น่าสนใจค่ะ
ต้องขอขอบคุณกองการท่องเที่ยวและกีฬา อบจ.เชียงราย ที่ได้ให้เรามีโอกาสมาร่วมเส้นทางท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำโขงในครั้งนี้ และสำหรับใครที่สนใจอยากไปพักผ่อนทำกิจกรรมตามแบบวิถีคนไทลื้อ สามารถติดต่อได้ พี่สนอง จันต๊ะคาด (ผู้ประสานงานชุมชน)
🎯 : ตำบล ริมโขง อำเภอ เชียงของ เชียงราย 57140
📱 : 088 495 5884 , 097 920 4906
💻 : ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านหาดบ้าย 👉 https://www.facebook.com/profi...
เพจไฮ่ฮอมฮัก 👉 https://www.facebook.com/profile.php?i...
🌏 : https://maps.app.goo.gl/hgMm3t...
-----------------------📝
#เก็บเรื่องราวผ่านSamsungS24Ultra
🤗 สนุกกับการเที่ยว สนุกกับการกิน
ในแบบฉบับของตัวเองน๊าา 🚘🧳🏖
-----------------------🌅
#เที่ยวได้กินกินได้เที่ยว #เที่ยวเชียงราย #เที่ยวเชียงของ #เชียงราย #เชียงของ #ชุมชนไทลื้อ #ชุมชนไทลื้อบ้านหาดบ้าย #บ้านหาดบ้าย #หาดบ้าย #ชุมชนท่องเที่ยวOTOPนวีตวิถีบ้านหาดบ้าย #ไฮ่ฮอมฮัก #ศูนย์ทอผ้าไทลื้อบ้านสุขาวดี #เฮือนนริศราโฮมเตย์ #ผ้าทอลายน้ำไหล #ผ้าซิ่นตีนจก #บ้านหาดบ้ายทรายทอง
เที่ยวได้กิน กินได้เที่ยว
วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เวลา 08.30 น.